ที่ไหน...ถ้าใจถึง...ก็ถึงกัน


เป็นเรื่องแปลก เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่เรากลับมองไม่เห็นสิ่งนั้น ภาษาคนภาษาธรรมของอาจารย์พุทธทาส เท่าที่ผมสังเกตเป็นภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แต่หลวงพ่อสามารถเก็บขึ้นมาทำเป็นงานโด่งดังไปทั่วโลก (ปรัชญาภาษา) จากการอ่านภาษาคนภาษาธรรมเมื่อหลายปีก่อนแบบฉาบฉวย (ไม่ได้อ่านทั้งหมด/อยากอ่านเรื่องไหนก็อ่าน) แล้วหยิบมาอ่านอีกเพื่อทำความเข้าใจเมื่อสามสี่ปีก่อน ทำให้เกิดความคิดอย่างหนึ่งคือ "ภาษาบังความจริง" และ "ความจริงที่ภาษาระบุ ไม่ใช่ความจริง"

วันนี้ ผมมานั่งอ่านบันทึกฉบับหนึ่งที่เขียนไว้เมื่อสองสามวันก่อน มีข้อความหนึ่งในบันทึกนั้น ข้อความนั้นคือ "ที่ไหน ถ้าใจถึง ก็ถึงกัน" ผมนั่งทบทวนว่าข้อความนั้นคืออะไร ปรากฎว่า ในขณะที่ผมเขียนข้อความนั้น ผมมีความคิดบางอย่างเบื้องหลังข้อความ แต่บริบทของเนื้อหาในบันทึกอาจมีผลต่อการเข้าใจที่ไม่ตรงหรืออาจตรงก็ได้กับข้อความนี้ เมื่อเราอ่านเนื้อหาที่เป็นบริบทของ "ที่ไหน ถ้าใจถึง ก็ถึงกัน" หลายคนจะมองว่า "ถ้าเราใจถึง หมายถึง ความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น มั่นใจว่าจะขับรถไปถึง จะเป็นที่ไหนๆ เราก็ไปถึงแน่นอน" จริงๆ แล้วข้อความนั้น ผมมีภาพความคิดหนึ่งปรากฎก่อนที่ข้อความนั้นจะปรากฏแล้วเขียน (พิมพ์) ลงไป ภาพอะไรปรากฏแก่ผมก่อนที่ข้อความจะผุดขึ้น?

(จำเรื่องราวได้ลางเลือน ประมาณว่า) พระภิกษุรูปหนึ่งขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนภูเขา ซึ่งห่างไกลจากที่อยู่ของพระพุทธเจ้ามาก การปฏิบัติธรรมของท่าน ท่านตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ โดยไม่เคยเงยหน้าขึ้นมองบนท้องฟ้าเลย แต่ท่านจะกำหนดฤดูด้วยการมองพื้นแล้วกำหนดด้วยใบไม้ที่ร่วงหล่น คราวหนึ่ง น่าจะติดขัดเรื่องการปฏิบัติธรรม (หากมีเวลา จะไปค้นคว้าต้นฉบับมาอีกที) จึงหวังจะเดินทางไปพบพระพุทธเจ้า แต่มีปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถเดินทางไปได้ (เข้าใจว่าเป็นช่วงเข้าพรรษา) ท่านจึงส่งพลังงานทางจิตไปหาพระพุทธเจ้า (ตามเนื้อหาจำได้ว่า) พระพุทธเจ้ามาปรากฎต่อหน้าพระภิกษุรูปนี้ พร้อมกับแนะนำแนวทางเพื่อแก้ปัญหาในการปฏิบัติธรรมให้ พระภิกษุรูปนี้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำ แล้วเข้าถึงธรรมในที่สุด

เท่าที่สังเกตเรื่องเล่าในคัมภีร์นั้น พระพุทธเจ้าจะให้ความสำคัญกับคนที่จะบรรลุธรรมเป็นอันดับที่ ๑ ก่อน อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฎแก่ผมคือ ภาพการส่งจิตถึงกันระหว่างพระพุทธเจ้าและพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรม โดยที่พระภิกษุไม่ต้องเดินทางไปหาพระพุทธเจ้า เรื่องนี้อาจเป็นเพียงความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยการทดลองทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ในเวลานี้ ผมเคยทดลองเรื่องดังกล่าวนี้อย่างน้อย ๒ หน (ผมไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม) ครั้งหนึ่งขับรถไปส่งยายเพื่อนวดเส้นจากบ้านบางเหรียง อ.ควนเนียง สงขลา ไป อ.สิงหนคร (ไปหลายครั้ง แต่มีครั้งหนึ่งที่ลอง) หมอพื้นบ้านไม่ได้นวดแบบบีบเส้น หรือนวดเค้นเส้นใดๆ แต่ใช้ฝ่ามือสัมผัสบางเบา จากที่ยายเดินไม่ได้ พูดไม่ได้ (อัมพาต) เป็นพูดได้ เดินได้ ความเข้าใจของชาวบ้านตลอดถึงความเชื่อว่า หมอพื้นบ้านมีวิชาบางอย่าง เกี่ยวกับการรักษาด้านนี้ วิชาดังกล่าวถ่ายทอดจากครูซึ่งอยู่ในมิติของจิตวิญญาณ ซึ่งน่าจะสังเกตได้จากโต๊ะหมู่ที่ตั้งไว้บูชาและการทำพิธีก่อนมีการนวดเส้น ผมเป็นคนไม่ค่อยอะไรๆกับเรื่องทัั้งหลาย (เฉยๆ) ครั้งหนึ่งที่ว่านี้ ผมนั่งอยู่ข้างนอก มองเห็นวิธีการรักษาของลุงหมอ ซึ่งเป็นชายร่างผอมสูงอายุ เป็นคนแก่ที่ดูแล้วน่านับถือ รูปร่างบุคลิกคล้ายพ่อแก่ (พ่อเฒ่า/ตา) ของผม ระหว่างนั้น ผมคิดว่า น่าเสียดายวิชาแบบนี้ ที่จะต้องหายไปกับบุคคล หมายถึง ถ้าหมอพื้นบ้านตายไป วิชาเหล่านี้ก็หายตามไปด้วย (ถ้าเรามองแบบวิทยาศาสตร์ ก็น่าจะไม่ต่างจากยาหมอหลอก คือยาเม็ดที่หมอทำขึ้น แต่ไม่ได้มีผลในทางรักษา เมื่อคนไข้กินลงไป ก็สามารถหายจากโรคบางอย่างได้) ผมทราบมาว่า วิชาแบบหมอพื้นบ้านที่ว่านี้ จะมีการสืบทอดต่อไปยังลูกหลานในสายเลือดเท่านั้น ไม่ถ่ายทอดให้คนนอก ระหว่างนั้น ผมมองไปที่หมอพื้นบ้าน พร้อมกับคิดว่า "รู้สึกเสียดายจัง ถ้าคนนอกอย่างผมจะเรียน ลุงหมอจะให้ผมไหมนะ หรือผมจะเรียนได้ไหมนะ เพราะไม่ใช่ลูกหลาน" (แค่คิด) ลุงหมอก็มองมาที่ผม พร้อมกับพูดเสียงดังว่า "เรียนได้ แต่จะทำได้หรือเปล่าล่ะ การเรียนรู้วิชาแบบนี้มีรายละเอียดที่ต้องถือให้มั่น ห้ามผิด เด็กๆ เดี๋ยวนี้มันเรียนไม่ได้ เพราะมันทำไม่ได้" ผมไม่ได้รู้สึกตกใจ แต่ก็ยิ้มออกไปอย่างไมตรี เหมือนกำลังคุยกัน ปัจจุบัน ท่านเสียชีวิตไปแล้ว อีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับความคิดบางอย่าง แต่ร่างทรงโนราห์รับรู้ความคิดนั้น นี้เป็นเรื่องที่ผมลองเอง แต่ก็เฉยๆ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่ชาวบ้านเล่าขานกันถึงหลวงปู่สงฆ์ ที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จ.ชุมพร อีก ที่ท่านสามารถรู้ความคิดของชาวบ้าน แต่ผมไม่ได้ลองเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ขอให้เรื่องเล่านั้นเป็นความเชื่อก็ได้ (ก่อนศึกษาเรื่องราวใดๆ อ่านหลักกาลามสูตรก่อนเสมอ) แต่สิ่งที่ผมนำมาบันทึกนั้น จุดเดียวที่ปรากฏก่อนจะมีข้อความว่า "ที่ไหน ถ้าใจถึง ก็ถึงกัน" คือภาพการส่งจิตถึงกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระภิกษุผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อจะบอกว่า "เรายืนอยู่ที่ไหนของประเทศหรือของโลก ถ้าจิตใจของเราสัมผัสถึงกัน ก็คือถึงกันได้โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงที่" ดังนั้น อยู่ที่ไหน ไกลใกล้ ก็แผ่พื้นที่ความบริสุทธิ์ของจิตส่งถึงกันได้

ข้อความที่ผุดขึ้นนี้ แล้วเขียนลงในบันทึก น่าจะคือตัวอย่างของภาษาคนภาษาธรรมได้หรือเปล่า ไม่แน่ใจ? หากเป็นได้ก็เป็นเพียงภาษาคนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้รู้ทางพุทธมักเตือนเสมอว่า ในการอ่านคัมภีร์ทางศาสนา ไม่ว่าคัมภีร์ศาสนาไหน ให้ค่อยๆอ่านอย่างละเอียดละออ

หมายเลขบันทึก: 617545เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2016 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2016 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท