ความตาย : ความหมาย และพิธีกรรม


#บทความ

ความตาย : ความหมาย และพิธีกรรม

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (16 ตุลาคม 2559)


มนุษย์ทุกคนล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย มีความตายเป็นเบื้องหน้าด้วยกันทั้งสิ้น ร่างกายย่อมสูญสลายไปตามสัจธรรม หลงเหลือเพียงคุณงามความดีสืบไว้กับญาติมิตรและบุคคลรุ่นหลัง การจากไปของบุคคลอันเป็นที่รักสร้างความโศกเศร้าอาลัยแก่ผู้อยู่เบื้องหลังเป็นธรรมดา

พิธีกรรมเกี่ยวกับประเพณีวิถีชีวิตที่มนุษย์ประกอบขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นความเชื่อเกี่ยวกับวงจรชีวิตที่จะต้องประกอบพิธีในโอกาสสำคัญของชีวิต เป็นการแสดงถึงการพ้นผ่านจากสถานภาพหนึ่งไปสู่สถานภาพหนึ่ง เช่น การเกิด การเข้าสู่วัยรุ่น การสมรส และการตาย เรียกว่า “พิธีผ่านภาวะ” (rite of passage) อาร์โนลด์ ฟาน เจเนป อธิบายว่า เป็น “พิธีที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทุกครั้งในเรื่องสถานที่ ภาวะ สถานภาพทางสังคมและอายุ” (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ 2543. หน้า 244)

มนุษย์มีความกลัวเป็นที่ตั้ง เนื่องจากไม่รู้ว่าเมื่อตายไปแล้ว โลกหลังความตายจะเป็นอย่างไร จึงต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เกิดประเพณี คติความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านแต่ละช่วงชีวิต เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดความรู้สึกถึงความมั่นคงในการดำเนินชีวิต เสถียรโกเศศ (2539. หน้า 2) กล่าวว่า “ความตายเป็นของลึกลับเกี่ยวกับคนเป็น คนที่อยู่ร่วมกันเห็นอยู่หลัด ๆ เมื่อมาพลัดพรากตายจากไป เราก็อาลัยและใจหาย รู้สึกความความคุ้นเคยที่มีอยู่ขาดสะบั้น ไม่มีวันได้พบปะกันอีก เมื่อได้เห็นเขาเอาศพเข้าโลง มีพิธีรีตองเกี่ยวกับเรื่องทำศพ เห็นคนร้องไห้หรือได้ยินเสียงพระสวดเลื่อนลอยมาตาม ลมในเวลาดึกสงัด เกิดความหดหูเยือกเย็นใจ นี้เป็นเพราะอะไร ก็เป็นเพราะเรากลัวความตายนั่นเอง”

ในแต่ละสังคมย่อมมีวิธีการรับมือกับสภาวะเช่นนี้ในการจัดการตามธรรมเนียมประเพณีและวิธีปฏิบัติแตกต่างกันไปตามแต่ละคติความเชื่อทางสังคมที่ต่างกัน ทุกสังคมเชื่อว่าความตายไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตอย่างสมบูรณ์ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาวะจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง นักวิชาการหลายท่านได้อธิบายความสำคัญของการจัดพิธีศพไว้เช่น

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ (2543. หน้า 253 - 256) กล่าวว่า ในสังคมดั่งเดิม การตายคือสภาวะสุดท้ายของมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ ความตายไม่ใช่สิ่งสุดท้าย วิญญาณไม่ใช่สิ่งที่ตายแต่ยังคงอยู่เป็นอมตะอยู่ตลอดกาลไป การผ่านสภาพจากภาวะทางโลกไปเป็นภาวะการคงอยู่ของวิญญาณที่เมื่อตายแล้ว มาจากความศรัทธาและจินตนาการ เป็นการวางแผนในชีวิตในระยะยาวจากที่มีร่างกายจับต้องได้ มาเป็นภาวะที่ไม่มีตัวตนที่ได้รับการสนับสนุนอยู่ในลัทธิความเชื่อเชิงวัฒนธรรม โดยเชื่อว่าผู้ตายไปแล้วจะไม่อยู่รวมอยู่กับคนอีกต่อไป แต่จะมีอิทธิพลทางอ้อมต่อบุคคลทั่วไป ความเชื่อที่เป็นส่วนรวมที่มีอยู่ในทุกวัฒนธรรมคือ หากไม่ประกอบพิธีกรรมศพที่กำหนดไว้ตามความเชื่อตามลัทธิจะเป็นบาปหนัก และจะเกิดความเดือดร้อนเกี่ยวกับผู้ตาย จะกลายเป็นผีดิบดุร้าย ไม่มีทางไปผุดไปเกิด ลูกหลานจะไม่สบายใจ

ปราณี วงษ์เทศ ( 2539. หน้า 174 – 175) กล่าวว่า ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย พิธีศพส่วนใหญ่จะสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดกลัววิญญาณหรือผีของคนตาย ซึ่งมักเชื่อว่าผู้ที่ตายจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นวิญญาณที่ดุร้าย อาจนำอันตรายมาถึงคนได้

งามเพชร อัมพรวัฒนพงศ์, (2555. หน้า 62 - 136) กล่าวว่าการจัดงานศพให้คนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ที่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ใช้ต่อรองและยืดระยะเวลาความโศกเศร้าออกไป เพื่อให้ยอมรับและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตายของบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลที่จากไป และรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นของการจากไป การประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายให้กับผู้ตายสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่จากไปกับผู้มีชีวิตอยู่ ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ สภาวะอารมณ์ และความรู้สึกโดยตรงกับบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง

อรุณ กนกพงศ์ชัย (2548. หน้า 89) กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานพิธีศพว่า เพื่อเป็นการปลอบประโลมญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่ ช่วยเสริมความเข้มแข็งสามัคคีในหมู่เครือญาติใกล้ชิด

อี. แอดัมสัน โฮเบล กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของพิธีศพว่า การประกอบพิธีศพด้วยความศรัทธาในความเป็นอมตะ เป็นการเตรียมตัวให้ผู้ตาย หรือให้ผู้ใกล้ตายได้รู้ถึงชีวิตอมตะ จะเป็นพิธีกรรมที่ขลังเพื่อยืนยันว่าวิญญาณของผู้ตายได้แยกออกจากร่างอย่างแน่นอนผ่านสภาพไปอย่างปลอดภัย พิธีศพจะปรับสภาพของชุมชนใหม่หลังจากเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักให้เป็นปกติ และหากมีการเลี้ยงหรือแจกของชำร่วยในงานศพ จะเป็นการแสดงถึงฐานะและสถานะภาพของเจ้าภาพ การประกอบพิธีคือสิ่งที่ให้สีสัน ความเข้มข้นและความซับซ้อนของชีวิต ( เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ , 2543 หน้า 255 - 256 )

เสถียรโกเศศ (2539. หน้า 16 - 17) จำแนกพิธีศพไว้ 3 พิธีด้วยกันคือ (1) ทำพิธีเซ่นไหว้อุทิศให้แก่ผู้ตาย โดยเข้าใจว่าผู้ตายมีลักษณะความเป็นอยู่คล้ายคลึงกับคนเป็นแต่อยู่กันคนละโลกเท่านั้น ผู้ตายไปแล้วจึงยังกินใช้สิ่งของเหมือนคนยังมีชีวิต (2) ทำพิธีปัดรังควาน เพื่อป้องกันผีร้ายมารบกวน เพื่อให้ผู้ตายอยู่นิ่ง ๆ อย่าได้กลับมาคบหาสมาคมกับคนเป็นอีกต่อไป (3) ทำพิธีทางลัทธิศาสนา เพื่อเป็นการแสดงความไว้อาลัยระลึกรักถึงผู้ตาย เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตา ต้องการให้ผู้ตายได้รับประโยชน์แห่งความสุขในโลกหน้าให้มากที่สุด ซึ่งความเชื่อทางศาสนาจะสามารถอำนวยให้เป็นไปได้

คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า พิธีกรรมการปลงศพมีด้วยกัน 3 ช่วงคือ การชำระล้างให้บริสุทธิ์ การเคารพศพ และการทำลายล้าง (อคิน รพีพัฒน์. 2551, หน้า 218)

พิธีศพสะท้อนเป็นถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะเชื่อมระหว่างโลกที่ตนเองรู้จักกับโลกที่ไม่รู้จัก มีความคิดว่าโลกหลังความตายจะต้องสวยงาม เพียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบายเพื่อให้วิญญาณของผู้ตายได้ไปอยู่อย่างมีความสุขตามอุดมคตินี้ที่เรียกว่าสวรรค์ และไม่ไปสู่โลกที่น่าสะพรึงกลัวที่เรียกว่านรก

การเตรียมตัวตายเป็นเรื่องสำคัญ หาเตรียมตัวได้ก็เป็นสุข คนที่อยู่ข้างหลังก็คลายความเศร้าโศกเสียใจ การจากไปก็จะเป็นเรื่องดีเพราะเชื่อวิญญาณจะไปสาคติสุขที่ดี

#ภาพประกอบ ภาพจำหลักหิน หีบบรรจุพระพุทธสรีระการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ศิลปะคันฐารราฐ ราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 ที่มา : แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. 2555, หน้า 26.

#เอกสารประกอบการเขียน เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2543). ทฤษฎีคติชนและวิธีการศึกษา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง. เสถียรโกเศศ. (2539). ประเพณีเนื่องในการตาย. กรุงเทพฯ : ศยาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. ปราณี วงษ์เทศ. (2534). พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในประเทศไทย. กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์.งามเพชร อัมพรวัฒนพงศ์. (2555). พื้นที่เปลี่ยนผ่านจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง ระหว่างพื้นที่ปัจจุบัน กับพื้นที่หลังความตาย. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร. แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. (2548). วัฒนธรรมในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อคิน รพีพัฒน์. (2551). วัฒนธรรมคือความหมาย : ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ. กรุงเทพฯ : โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์ จำกัด. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, มรว. และคณะ (2555). สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม. เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ.

หมายเลขบันทึก: 617288เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2016 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท