การปฏิรูปการศึกษาไทย (ตอนที่ ๑๔)


การเอาอุดมศึกษามารวมอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นความผิดพลาดครั้งมหันต์ของประเทศไทย

ถอยหลังเข้าคลองหรือเดินหน้าออกจากคลอง

“การวางตุ๊กตาแยก สกอ.ออกจาก ศธ.ในรัฐบาลหน้า ก็คงไม่มีปัญหาอะไร อย่าไปกลัวผีที่มองไม่เห็น การแยก สกอ.ออกจาก ศธ.อีกครั้ง ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเคยมีการรวมแล้วแยกมหาวิทยาลัยออกจาก ศธ. เป็นทบวงมหาวิทยาลัย แล้วก็รวมทบวงเปลี่ยนชื่อเป็น สกอ.มาอยู่ใน ศธ. และก็กำลังคิดจะแยก สกอ. ออกไปจาก ศธ.อีกครั้ง ซึ่งเหมือนเป็นการถอยหลัง ดังนั้นหากผมจะถอยหลังเข้าคลอง ผมก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมถึงถอยเรือเข้าคลอง ถ้าคิดอะไรเร็วไป ก็จะถูกต่อว่าได้” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว

ผมเพิ่งจะชื่นชม รมต.กระทรวงศึกษาธิการและทีมงานอยู่หยกๆ ว่ามีวิสัยทัศน์ทางด้านการศึกษา แต่พอได้อ่านข่าววันนี้แล้ว สงสัยอย่างยิ่งว่าทำไมท่านจึงมองว่าการจะแล่นเรือออกจากคลอง กลับกลายเป็นการถอยหลังเข้าคลองไปได้ ไหงเป็นอย่างนั้นไป

"การเอาอุดมศึกษามารวมอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นความผิดพลาดครั้งมหันต์ของประเทศไทย" นี่เป็นคำพูดของอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในวงการการศึกษาของไทย ที่ผมเคยได้ยินมา และผมก็คิดและเห็นตลอดมาว่าเป็นเช่นนั้น

การศึกษาพื้นฐานในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กับอุดมศึกษามีลักษณะคนละอย่างกัน แตกต่างกันมาก และจะต้องใช้วิธีบริหารจัดการที่แตกต่างกัน พูดง่ายๆ คือ การศึกษาพื้นฐานเป็นการศึกษาของเด็กเล็กหรือเยาวชนช่วงต้น ส่วนอุดมศึกษาเป็นการศึกษาของวัยรุ่นช่วงปลายและผู้ใหญ่

การศึกษาพื้นฐานเป็นการสอนเด็กให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้ต่อไปได้ (คือ การฝึกระเบียบวินัยและปลูกฝังค่านิยม การฝึกให้การอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ต่อไป การฝึกทักษะการทำงานเบื้องต้น เป็นต้น) เป็นความรู้ทักษะร่วม ไม่แยกเฉพาะทาง หรือไม่ได้แยกสาขาอาชีพ

แต่อุดมศึกษาเป็นการศึกษาขั้นสูงมุ่งเน้นความรู้และทักษะขั้นสูงหรือขั้นอุดม เพื่อการทำงานประกอบอาชีพ และเน้นความชำนาญเฉพาะด้าน และเลือกเป็นสาขาอาชีพด้านต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตในสังคมอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ อุดมศึกษายังต้องเน้นการทำงานวิจัยและพัฒนา สร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรม ซึ่งจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาระดับปริญญาตรี และเข้มข้นจริงจังมากขึ้นในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและเอก) และการฝึกฝนต่อในระดับหลังปริญญาเอก

โดยเฉพาะถ้าหากประเทศไทย จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ก็จะต้องเพิ่มและขยายงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย อุดมศึกษายิ่งควรจะต้องแยกออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการเดิม จัดการศึกษาพื้นฐานให้ดีและมีคุณภาพ ส่วนอุดมศึกษา ควรจะแยกออกเป็น "กระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยหรือนวัตกรรม" เสียเลย เพียงแต่ว่าจะต้องทำให้กระทรวงใหม่นี้ เป็นกระทรวง 4.0 นำร่องให้กระทรวงอื่นๆ ด้วย เพราะการจะทำให้ประเทศไทยเป็นเวอร์ชั่น 4.0 แต่รัฐบาลและกระทรวงทบวงกรม ซึ่งเป็นผู้บริหารและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยังอยู่ในเวอร์ชั่นต่ำกว่า 4.0 จะเป็นไปได้อย่างไร อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องเปลี่ยนให้เป็นเวอร์ชั่น 4.0 ไปด้วยกัน

การเอาภารกิจคนละแบบมารวมอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เป็นความผิดพลาดและเป็นปัญหาทำให้การพัฒนามหาวิทยาลัยทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร ยิ่งบางยุคบางสมัย มีการเอาผู้บริหารที่รู้เรื่องการศึกษาพื้นฐานดี แต่ไม่รู้เรื่องอุดมศึกษาหรือรู้ไม่มากพอมาเป็นผู้บริหารอุดมศึกษา ก็ยิ่งทำให้การพัฒนาอุดมศึกษาเกิดความติดขัดชงักงัน

การแยกอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นการเดินหน้าแล่นเรือออกจากคลอง สู่แม่น้ำและทะเลใหญ่ ไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลองอย่างที่เข้าใจแต่อย่างใด

หมายเลขบันทึก: 615951เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2016 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2016 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท