การปฎิรูปการศึกษาไทย (ตอนที่ ๑๑)


ประเทศไทยคงจะต้องมาคิดวางแผนกำลังคน เหมือนการจัดกองกำลังและกระบวนทัพ กันก่อนว่าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 'ประเทศไทย 4.0" ซึ่งจะต้องใช้ฐานความรู้และงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประเทศไทยจะต้องใช้กำลังคนในภาคส่วนต่างๆ จำนวนเท่าไหร่ ในอนาคต 5 ปี 10 ปี 20 ปี และ 30 ปี ข้างหน้า

การปฏิรูปอุดมศึกษาไทย

ก่อนจะลงมือปฏิรูปอุดมศึกษา ประเทศไทยควรจะต้องมองภาพรวมในเรื่องความต้องการกำลังคนในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ ทั้งหมด เสียก่อน และควรจะมีการวางแผนกำลังคนของประเทศในแต่ละภาคส่วน สู่อนาคตในอีก 5 ปี 10 ปี 20 ปี และ 30 ปี ข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะถ้าหากจะผลักดันและเอาจริงกับยุทธศาสตร์ 'ประเทศไทย 4.0' ซึ่งจะต้องมีการกำหนดสถานการณ์ (scenario) ในอนาคตไว้ด้วย ว่าต้องการอย่างไร

เพราะ 'คน' คือ 'ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จและความล้มเหลว (the most important success and failure factor)' ในทุกๆ เรื่อง รวมถึงยุทธศาสตร์ 'ประเทศไทย 4.0' ด้วย

ขณะนี้ประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ได้มีการวางแผนกำลังคนของประเทศตามภาคส่วนต่างๆ โดยรวม หรือถ้าหากมีก็คงจะคงยังไม่ดีพอ ตัวอย่างที่เห็นชัดก็ในเรื่องที่ประเทศไทยขาดกำลังคนที่จบการศึกษาในด้านอาชีวศึกษา เทคโนโลยีและวิศวกรรม จำนวนปีละนับแสนคน แต่เรากลับผลิตกำลังคนทางด้านสังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จนล้นเกินและตกงานจำนวนมากนับแสนคน เป็นต้น

ประเทศไทยคงจะต้องมาคิดวางแผนกำลังคน เหมือนการจัดกองกำลังและกระบวนทัพ กันก่อนว่าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 'ประเทศไทย 4.0" ซึ่งจะต้องใช้ฐานความรู้และงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประเทศไทยจะต้องใช้กำลังคนในภาคส่วนต่างๆ จำนวนเท่าไหร่ ในอนาคต 5 ปี 10 ปี 20 ปี และ 30 ปี ข้างหน้า

การที่จะวางแผนกำลังคนในอนาคตได้นั้น คงจะต้องทราบข้อเท็จจริงกำลังคนในปัจจุบันเสียก่อน จึงจะต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำพอสมควรและเป็นปัจจุบันมากที่สุด ในวงการวิจัยทางด้าน วทน. เขารู้กันว่าตัวเลขที่หน่วยราชการเก็บแบบให้เข้าไปลงทะเบียนนั้น เชื่อถือไม่ได้

เมื่อทราบอุปสงค์ (demand) กำลังคนของแต่ละภาคส่วน ซึ่งจะต้องวางแผนและคาดการณ์ไปในอนาคตแล้ว จึงจะมากำหนดอุปทาน (supply) ในการผลิตกำลังคน สำหรับภาคส่วนนั้นๆ ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ จึงจะกำหนดนโยบายให้มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาผลิตกำลังคนในสาขาต่างๆ ทั้งที่จะต้องใช้ความรู้และทักษะ สามารถจะปฏิบัติงานในระดับพื้นฐาน ขั้นเชี่ยวชาญระดับกลาง และขั้นเชี่ยวชาญระดับสูง จำนวนมากน้อยเท่าไหร่และมีคุณภาพอย่างไร

หากเริ่มต้นอย่างนี้ จึงจะรู้ว่ามหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา จะต้องปรับเปลี่ยนและปฏิรูปตัวเองอย่างไร เพื่อให้ตอบสนองและสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทย 4.0 เพราะไม่เช่นนั้นคงจะสับสนวุ่นวาย ซึ่งถ้าไม่ไร้ทิศทาง ก็คงจะไปกันคนละทิศละทาง หรืออาจจะไม่ตอบสนองต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ของชาติอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้

หมายเลขบันทึก: 613871เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2016 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2016 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท