ธรรมะหน้าเดียว / ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง


ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง

ถ้าใครมีพื้นเพมาจากบ้านนอก อยู่กับป่ากับเขา น่าจะเข้าใจสำนวนสุภาษิตไทยดังกล่าวนี้ดี เราจะเห็นว่า ต้นไม้บางต้นนั้น เมื่อพิจารณาจากภายนอกแล้วเหมือนๆต้นไม้ทั่วไป มีดอก มีผล เปลือก ที่ดูแล้วสมบูรณ์ทีเดียว แต่เมื่อเราเข้าไปใกล้ เราจะเห็นโพรงไม้ที่ลำต้นของบางต้น ในบางครั้งมีสัตว์อย่างจรเข้ตัวน้อยไปอาศัยผงกหัวหงึกๆอยู่ เมื่อเราไปถึงต้นไม้ชนิดนี้ เราจะร้องอ๋อ "แท้จริงกลวงอยู่ข้างใน ไม่ได้สมบูรณ์เหมือนอย่างที่เห็นเลย"

สังคมรอบกายของเรามีความหลากหลายของผู้คน แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนแต่งตัวดูดี กิริยามารยาท ท่วงท่า วาจา ได้รับการฝึกฝนเพื่อการเข้าสังคมมาเป็นอย่างดี แต่บางคนไม่ได้เป็นอย่างนั้น

สำนวนสุภาษิตไทยที่ว่า "ข้างนอกสุดใส ข้างในเป็นโพรง" นั้น เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงคนบางคนซึ่ง "ดูดี" เฉพาะภายนอกที่แสดงออกมาเท่านั้น แต่เมื่อได้ใกล้ชิดแล้ว เขาไม่ได้เป็นอย่างที่แสดงออกต่อสังคม อาจพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

วาจาอ่อนหวาน..........................จิตใจเคืองโกรธ,ริษยา,อาฆาต,คิดทำลายผู้อื่นฯลฯ

แนะนำคนรอบข้างให้รักษาความสะอาด มีความเป็นระเบียบฯลฯ......ที่บ้านรกรุงรัง ไม่เอาใจใส่ ปล่อยปละละเลย

กิริยา ท่วงท่าเยื้องกาย การเดิน การนั่ง การหยิบของ ดูดีน่าชื่นใจ..................ภายในคิดเพียงแค่การแสดงให้สังคมได้ชื่นชมตนเท่านั้น เยอะเย้ยเหยียดหยันคนอื่นว่าต่ำว่าเตี้ย

ให้ทุกอย่างที่คนขอ...............แต่ไม่เคยพอที่จะเอาของคนอื่นด้วยวิธีการต่างๆ

รับปากว่าจะดำเนินการให้.................แต่พูดไปอย่างนั้น,พูดเพื่อขอไปที

อย่างนี้เป็นต้น

ในพุทธศาสนามีสุภาษิตสำนวนว่า "ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตน" คำว่า "บริสุทธิ์" หมายเอา ใจที่บริสุทธิ์ โดยพุทธศาสนาเห็นว่า ความบริสุทธิ์ทางใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด ทำอย่างไรก็ได้ให้ใจเรานี้มีความเมตตา กรุณา เสียสละ แบ่งปัน รู้เท่าทันสภาพที่เป็นจริง ปล่อยวางตัวตนลง แล้วใจจะบริสุทธิ์ เมื่อใจบริสุทธิ์แม้ร่างกายเปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นโคลน ก็ยังน่าไว้วางใจกว่าคนมีใจไม่บริสุทธิ์ ดังนั้น สิ่งที่พุทธศาสนาจะสอนที่สอดคล้องกับภาษิตนี้คือ เมื่อข้างนอกสุกใสแล้ว ข้างในไม่ควรให้เป็นโพรง เพราะคำว่า "โพรง" หมายถึง ความบกพร่องของจิตใจ เราต้องปิดโพรงของจิตใจนี้ให้ได้ ด้วยการคิดที่จะทำเรื่องที่ดีๆ หมั่นทำเรื่องที่เหมาะสม

โพรงของชีวิต มีอยู่ ๓ อย่างหลักๆ คือ ๑) ความอยากได้ไม่รู้จบ ขาดเหตุผลเพื่อประโยชน์ที่ดี ตลอดถึงการสนับสนุนเติมความอยากเข้าไปในชีวิตอย่างลืมตัว ๒) ความขัดแย้ง ขัดเคืองภายในใจ อารมณ์ร้อน ฉุนเฉียว การยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ตลอดถึงการลุแก่อารมณ์นั้นๆ อย่างขาดสติ ๓) การขาดการศึกษาเพื่อการเข้าใจโลกและชีวิตตามสภาพที่เป็นจริง เชื่อมันยึดติดว่าสิ่งนั้นดีที่สุด สิ่งนี้ดีที่สุด ตลอดถึงการไม่รู้ว่าอะไรดีร้ายอย่างไร โพรง ๓ อย่างนี้จะคอยบ่อนทำลายชีวิตให้ตกต่ำ จากที่ดูสดใสกลายเป็นหมองเศร้าทั้งภายในและภายนอก พุทธศาสนาจึงสอนให้ปิดโพรงดังกล่าวนี้เสีย ทั้งนี้เพื่อดำเนินชีวิตที่โปร่งใส ซื่อตรงระหว่าง กาย วาจา และใจ

กายสะอาด <------------------ใจสะอาด = ข้างนอกสุกใส ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง = ซื่อตรงกัน / โปร่งใส

วาจาสะอาด<------------------ใจสะอาด = ข้างนอกสุกใส ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง = ซื่อตรงกัน / โปร่งใส

2556-06-05 / 10.17 น.

หมายเหตุ เรื่องเขียนนี้ เกิดจากความต้องการนำเอาภาษิตไทยมาเรียบเรียงแล้วสนับสนุนด้วยเนื้อหาทางศาสนาโดยเฉพาะข้อความที่กล่าวไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการสะสมเขียนในแต่ละวันเท่าที่จะเขียนได้ เพื่อหวังว่า หลายเรื่อง หลายวัน จึงจะได้มากเรื่อง

หมายเลขบันทึก: 613026เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท