เพราะตามรอยเมือง "กรุง" จึงพานพบคำว่า "รุ่ง"


การโอบล้อมของแสงแห่งอรุณรุ่ง

โลกใบเล็ก ที่มาของภาพ: maxo.vn

เพราะคำว่า “กุรุง” และ “กรุง” ถูกสืบค้นตามรอยโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ว่าไทยลุ่มเจ้าพระยาขอยืมมาจากเขมร ในความหมายว่าเมืองใหญ่เมืองหลวง กษัตริย์ และเป็นกษัตริย์ โดยคำว่า “กุรุง” เริ่มเรียกใช้มาตั้งแต่ต้นยุคพระนครหลวง ในพุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสมัยของพระเจ้าชยวรรมันที่ 2 เจ้าชายเขมรผู้เสด็จกลับจากเมืองชวาเพื่อ “กุรุง ณ นครอินทรปุระ” และเคลื่อนรูปคำมาเป็น “กรุง” ในภายหลังราวกลางยุคพระนครหลวง

เพราะการปรากฏของวรรคตอน “จึงพระบาทปรเมศวรมาจากชวา” ให้นึกไปยังคำชวาควบอินโดนีเซียดั้งเดิมว่า “kurung” ที่แปลว่าวงล้อม โอบล้อม กระท่อมเล็กๆ อันคับแคบ ตลอดจนความหมายของกรงขัง ว่าเป็นที่มาของคำ “กุรุง” และ “กรุง” ของพวกเขมรสืบต่อมายังพวกไทย กับความหมายขยายขึ้นเป็นเมืองหลวง กษัตริย์ และเป็นกษัตริย์ ที่ไม่รวมเอานัยยะแห่งการกักขังหน่วงเหนี่ยวเข้าไว้แต่อย่างใด จนอาจตีความในอีกแนวทางว่า “กุรุง ณ นครอินทรปุระ” ที่ถูกจารภายหลังการล่วงลับของพระเจ้าชยวรรมันที่ 2 อาจหมายถึงกษัตริย์ผู้เคยตกเป็นเชลยก็เป็นได้

เพราะยิ่งสอบค้นกับคำเพื่อนพ้องทั้ง “karung”, “kerung”, “kelung”, “gulung”, “kalung”, “palung” และ “lung” ก็ยิ่งมั่นใจในพื้นฐานของรากคำ ว่าหมายถึงบางอย่างโค้งเว้า เป็นวง และถูกล้อมโดยรอบ เป็นความมั่นใจบนพื้นฐานคำเก่าแก่ ที่มีบางอย่างเชื่อมโยงถึงคำของพวกไท-ไตทั้งเครือว่า “รุ่ง” ซึ่งแปลว่าแสง สว่าง (light, bright)

เพราะ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้สืบค้นคำเรียก “รุ่ง” ในความหมายว่าแสงและสว่างไว้เมื่อปี 2009 เช่น

พวก Siamese เรียก “ruŋB2

พวก Sapa เรียก “huŋB2

พวก Bao Yen เรียก “ruŋB2

พวก Cao Bang เรียก “ruŋB2

พวก Lungchow เรียก “ɬuŋB2

พวก Shangsi เรียก “løŋB1

พวก Yay เรียก “roŋB2

พวก Saek เรียก “rɔ:ŋB2 -i”

และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ได้ว่า “*roŋB

เพราะถ้าใครบางคนก้าวขาออกจากเงาคล้ำแห่งความมืดลับ ไปยืนในที่โล่งขณะแสงทองจับขอบฟ้า และหมุนมองบนฟ้ารอบตัวในแบบพาโนราม่า จะสัมผัสได้ในเกือบทันทีว่า ท้องฟ้ายามสว่างนั้นโค้งเว้า เป็นวง และโอบล้อมเข้าหาแผ่นดินในทุกทิศทางของสายตา ในแบบเดียวกับกะลาครึ่งซีกที่คลุมครอบกบน้อยไว้ภายใน

เพราะผู้คนในสมัยดึกดำบรรพ์ บนที่ราบลุ่มใหญ่และผืนทะเลกว้างแห่งทวีปซุนด้า ก็คงสัมผัสได้ในแบบเดียวกับใครๆ ในสมัยปัจจุบันว่า แสงสว่างที่เคลื่อนตัวเข้ามาให้เห็นนั้น แท้จริงแล้วคือการได้เป็นประจักษ์พยานความโค้งแห่งอรุณ “รุ่ง” เช่นเดียวกับการโป่งพองของหนังพุงแห่งเมืองผีฟ้า จนถึงลายเส้นของสายรุ้งยามออกมาไล่กินละอองน้ำ

จึงพานพบว่าคำ “รุ่ง” ของไท-ไตและอินโดนีเซีย ต่างเป็นคำร่วมเหง้าเหล่ากอเดิม ที่สาแหรกหนึ่งยังคงความโค้งโอบล้อมรอบไว้ได้ดังเก่าก่อน ในขณะที่อีกสาแหรกนำมาขยายใช้เป็นรูปธรรมเข้าจับแสงแห่งท้องฟ้า และหลงลืมความหมายต้นรากไปชั่วขณะ จนต้องไปขอยืมคำ “กุรุง” และ “กรุง” มาจากกษัตริย์เชลยผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองพระนครหลวง

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 13 สิงหาคม 2559

หมายเลขบันทึก: 612978เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2016 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2016 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท