บานประตูต้นไม้นารีผล วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม


เรื่อง บานประตูต้นไม้นารีผล วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (15/8/2016)

บานประตูต้นไม้มักกะลีผล หรือ นารีผล (ในที่นี้ขอใช้คำว่า นารีผล) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม งดงามด้วยลายรดน้ำ เด่นด้วยลายดอกไม้ใบไม้อย่างเทศ ภาพรวมผสมศิลปะจีนและศิลปะไทย เล่าเรื่องราวต้นไม้นารีผลในป่าหิมพานต์ อันที่อยู่ของพวกนักสิทธิ์ วิทยาธร สัตว์หิมพานต์ทั้งหลาย ด้านล่างของบานประตูจะเป็นรูปสระน้ำมีดอกบัว ต้นนารีผลจะขึ้นบนภูเขา มีสัตว์ในป่าหิมพานต์อยู่โคนต้น ลำต้นคดโค้งพองามแทงกิ่งก้านใบออกไป ส่วนยอดมีผลเป็นนารีผลในสภาพเปลือยมีก้านยึดกับศีรษะและกิ่ง ตอนบนสุดเป็นรูปนักสิทธิ์ วิทยาธร ผู้ทรงฤทธิ์อุ้มนารีผลเหาะไป บ้างก็ปีนเพื่อเด็ดเอานารีผล

ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พญาลิไทได้อธิบายถึงป่าหิมพานต์ว่าอยู่ในดินแดนชมพูทวีป มีของดีมากมาย "แลในป่าพระหิมพานต์นั้นสนุกนิ์นักหนาแล" และมีต้นนารีผลที่ออกลูกเป็นมนุษย์เพศหญิงสาววัย 16 กำลังขบเผาะ ชายใดเห็นจะหลงรักหัวปักหัวปำ

เมื่อต้นนารีผลออกผลจะเป็นนารีสวยพราวเสน่ห์งามอ่อนแอ่นอรชร แม้แต่เหล่านักสิทธิ์ วิทยาธรมิอาจทนต่อเสน่ห์ยวนใจได้ต้องมาช่วงชิงแย่งเด็ดไปเชยชม อนิจจามีเวลาเสพสมนารีผลได้เพียง 7 วัน ก็สิ้นเหี่ยวตาย สุนทรภู่บรรยายถึงต้นนารีผลในบทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องกากี ความว่า

"ที่สูงเยี่ยมเทียมฟ้า นั่นต้นนารีผล

รูปร่างเหมือนอย่างคน ดูงามพ้นคณนา

ยิ้มย่องผ่องพักตร์ วิไลลักษณ์ดังเลขา

น้อยน้อยย้อยระย้า เพทยาธรคอย

ที่มีฤทธิ์ปลิดเด็ด อุ้มระเห็ดเหาะลอย

พวกนักสิทธิ์ฤทธิ์น้อย เอาไม้สอยเสียงอึง

บ้างตะกายป่ายปีน เพื่อนยุดตีนตกตึง

ชิงช่วงหวงหึงส์ เสียงอื้ออึงแน่นอนันต์

ที่ไม่ได้ก็ไล่แย่ง บ้างทิ่มแทงฆ่าฟัน

ที่ได้ไปไว้นั้น ถึงเจ็ดวันก็เน่าไป"

ในวรรณกรรมเรื่อง กากีกลอนสุภาพ โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กล่าวถึงพระยาครุฑพานางกากีเที่ยวชมเขาพระสุเมรุแล้วชี้ให้นางกากคดูต้นนารีผลดังนี้

"แล้วชี้บอกรุกขชาตินารีผล

อันติดต้นเปล่งปลั่งดั่งสาวสวรรค์

แต่ไม่มีวิญญาเจรจากัน

วิชาธรคนธรรพ์มาเชยชม

ครั้นเจ็ดวันก็อันตรธานไป

แล้วบันดาลเกิดใหม่ได้สู่สม

พลางบอกพลางหยอกสำราญรมย์

แล้วพาบินลอยลมมาสิมพลี"

ในสมัยผมยังเป็นวัยรุ่น (ตอนนี้ก็ยังรุ่นอยู่) มีข่าวเรื่องนารีผล ในปี พ.ศ. 2539 มีผู้พบซากแห้ง ๆ รูปร่างคล้ายมนุษย์ มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายไม้หอม ผู้พบอ้างว่าเป็นนารีผลได้มาจากวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสิงห์บุรี มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ลงข่าวพักหนึ่งทีเดียว

ภาพจิตรกรรมลายรดน้ำที่กล่าวถึงต้นนารีผลยังมีอีกหลายแห่งเช่น บานหน้าต่างพระอุโบสถ วัดพระบรมธาตุ อ.บ้านตาก จ.ตาก เป็นต้น

เอกสารประกอบการเขียน

พระมหาธรรมราชาที่ 1 ลิไท. (2555). ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของ สกสค.

วิกิพีเดีย. นารีผล. (ม.ป.ป.). https://th.m.wikipedia.org/wiki/นารีผล. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคา 2559.

สุรศักดิ์.(2553). มักกะลีผลหรือนารีผล น่าจะเป็นเรื่องในชาดกเท่านั้นหรือ. http://www.oknation.net/blog/surasakc/2010/04/15/entry-1. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2559.

บทเห่กล่อม เห่เรื่องกากี.(ม.ป.ป.). http://www.sisaketphp.net/krujarun/thai/sontorn/heklom/kakee.php3.htm. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2559.

วชิรญาณ. (ม.ป.ป.)กากีกลอนสุภาพ. http://vajirayana.org/กากี-กลอนสุภาพ/กากี-กลอนสุภาพ. ค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2559.

หมายเลขบันทึก: 612742เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2016 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2016 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท