​เสมา วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม


เสมา วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (18/8/2558)


จากคติความเชื่อเรื่องการตั้งหินของชาวอุษาคเนย์ที่มีดาษเดื่อนจนเรียกว่า "วัฒนธรรมหินตั้ง" ที่มาก่อนคติเรื่องศาสนาพุทธจะเดินทางเข้ามา จากความเชื่อเดิมไม่ว่าจะเป็นการบูชา การกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ เป็นไปได้ว่าไม่มากก็น้อยได้ส่งต่อความเชื่อมาสู่การสร้างสิ่งกำหนดเขตโบสถ์ในพุทธศาสนสถาน หรือสถานที่สำหรับสงฆ์ทำสังฆกรรม "เสมา" ก็เรียกหรือ "สีมา" ก็เรียก (ในที่นี้ขอเรียกเสมา เพราะผู้เขียนชอบพระเอกไทยชื่อ เสมา ในวรรณกรรมเรื่อง ขุนศึก ทั้งเก่งรบ เก่งอาคม ทั้งรูปงาม แถมเจ้าชู้ใช่เล่น) หากมีลักษณะเป็นหลักเป็นแท่ง เรียกว่า "หลักเสมา" หากคล้ายใบไม้ก็เรียก "ใบเสมา" โดยมากพบว่าทำจากศิลา นอกจากนี้การกำหนดเขตสงฆ์ยังสามารถกำหนดได้จาก ภูเขา ป่าไม้ ต้นไม้ ถนน จอมปลวก ทะเล หนอง บึง แม่น้ำที่ไหลไม่หยุดนิ่ง

ยังมีคำที่น่าสนใจคือ "วิสุงคามสีมา" สมคิด จิระทัศนกุล อธิบายว่า เขตที่แยกออกจากบ้าน สำหรับสงฆ์ เขตพื้นที่ที่พระสงฆ์ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งวัด แต่เฉพาะพระอุโบสถ์เท่านั้น วัดที่ได้รับพระราชทานถือว่าเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีฐานะเป็นนิติบุคคล และ "สีมาสังกระ" คือ มีเสมาผูกไว้เดิม แต่พระสงฆ์ไม่ทราบจึงผูกขึ้นมาใหม่ เป็นการสมมติแบบทับซ้อน เสมาผูกใหม่จึงไม่มีผล เรียกว่าเสมาสังกระ

รูปแบบและลวดลายของเสมานั้นไม่มีการกำหนดตายตัว สุดแท้แต่จินตนาการของช่าง บ้างเรียบ บ้างวิจิตรบรรจง

ส่วนการติดตั้งเสมานั้น บ้างก็ปักบนพื้น บ้างก็ยกสูงบนแทน เรียกว่าเสมานั่งแท่น บ้างก็อยู่ในกูบ บ้างก็อยู่ในซุ้มยอดเจดีย์ ซุ้มมณฑป ซุ้มปรางค์ บ้างก็ติดกับผนังโบสถ์ บ้างก็อยู่บนกำแพงแก้ว แสดงถึงการไม่มีข้อกำหนดตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหน้าที่ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน

ส่วนขนาดของเสมา ตามพุทธบัญญัติกำหนดต้องไม่น้อยกว่าเขตหัตถบาทของภิกษุ 21 รูป และไม่ใหญ่กว่า 3 โยชน์

จากภาพคือเสมาจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีรูปแบบคล้ายกับเสมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พิทยา บุนนาค เรียกว่า "โก่งคิ้ว ทรงเครื่อง" โคนเสมาทั้งสองข้างประดับด้วยเศียรนาค อีกทั้งเสมาเป็นแบบคู่ นิยมสร้างไว้ในวัดหลวง ซึ่งอาจมีความเชื่อว่าโบสถ์แห่งนี้สามารถทำสังฆกรรมได้ 2 นิกายคือ "ลังกาวงศ์" และ "สมณวงศ์" ในสยาม? หรือทำสังฆกรรมได้ 2 ฝ่ายคือ "อรัญวาสี" กับ "คามวาสี"? ถึงอย่างไร เราพบว่ามีการปักใบเสมาคู่ย้อนกลับไปอย่างน้อยในสมัยสุโขทัย อีกทั้งยังพบในประเทศกัมพูชา

ผู้ใดสนใจศิลปกรรมและคติความเชื่อเรื่องเสมา แนะนำให้อ่านงานวิจัยของ พิทยา บุนนาค เรื่อง เสมา สีมาในศิลปะไทย สมัยอยุธยาช่วงคหลังเสียกรุงครั้งแรก ถึงครั้งหลัง และกรุงธนบุรี โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจะวิเคราะห์เจาะลึกจนจุใจเลยครับ

อ้างอิง

สมคิด จิระทัศนกุล. (2554). รู้เรื่อง วัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส.

โชติ กัลยาณมิตร.(พจณานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเกี่ยวเนื่อง. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

พิทยา บุนนาค. (ม.ป.ป.). เสมา สีมา หลักสีมาในประเทศไทยสมัยอยุธยาช่วงหลังเสียกรุงครั้งแรก ถึงครั้งหลัง และกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.

หมายเลขบันทึก: 612741เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2016 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2016 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท