สภานักเรียนกับกลไกการเรียนรู้ Learning by Doing ที่ประชารัฐวิทยาเสริม


พลังของนักเรียนที่ถูกปลุกขึ้นมาเพื่อการเรียนรู้

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ผมได้รับเชิญจากโรงเรียนประชารัฐวิทยาเสริม อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ให้ไปช่วยเหลือกิจกรรมค่ายส่งเสริมศักยภาพคณะกรรมการนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2559 เป็นวิทยากรจากภายนอก แต่ส่วนหนึ่งก็คุ้นเคยกับโรงเรียนอยู่บ้างแล้ว ก้ด้วยเคยไปช่วยเหลืองานค่ายสภานักเรียนแล้ว 1 ครั้ง และ มข. โดยชมรมคอรัปชั่นฉันไม่ขอรับ ก็เคยไปขอความอนุเคราะห์นักเรียนและพื้นที่จัดกิจกรรมค่ายอยู่ 2-3 วัน และโดยส่วนตัวก็สนิทชิดเชื้อกับครูที่ปรึกษาสภานักเรียนอยู่ด้วย เพราะไปมาหาสู่กันอยู่เนืองๆ การไปคราวนี้ จึงเป็นการอาสาไปช่วยเหลือภารกิจแบบไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆแม้กระทั่งค่าเดินทางและค่าตัว แต่ในที่นี้มิได้มาเรียกร้องความเห็นใจใดๆ หากแต่มาเล่าให้ฟังว่าในชีวิตคนเราหลายครั้ง เงินมิใช่ปัจจัยหลักในฐานะกัลยาณมิตร (พูดให้ดูสวยหรูเกินไปไหมครัชคุณภาส) แต่ไปช่วยงานเพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ ก็เห็นจะเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ

สภานักเรียน มีมาแต่เดิม เนิ่นนาน หลากหลายรูปแบบและวิธีปฏิบัติ กระทรวงศึกษาธิการ ก้ได้กำหนดแกนกลางของสภานักเรียนจนมีการผลิตคู่มือ 2 เล่ม คือ แนวทางการปฏิบัติงานกิจกรรมสภานักเรียน กับ คู่มือการจัดกิจกรรมฝึกอบรมสภานักเรียน เพราะคิดว่าน่าจะมีการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศของสภานักเรียนในระดับต่างๆ เพื่อหวังกระตุ้นให้ “สภานักเรียน” เป็นกลไกการเรียนรู้ประชาธิปไตย พร้อมทั้งฝึกให้นักเรียนมีกระบวนการคิด วางแผน การลงมือปฏิบัติ และการแก้ปัญหา ตามช่วงวัยภายใต้การกำกับดูแลของครูที่ปรึกษา

ครั้งเป็นนักเรียนชั้นประถม ผมเคยลงสมัครประธานนักเรียน แต่ก็สอบตก แต่ด้วยเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (ในสมัยนั้น) ก็มาช่วยเป็นคณะกรรมการ จำได้เลาๆว่าปีนั้น มีการมาประเมินสภานักเรียนเพื่อแข่งขันด้วย ถัดมาตอนเรียนชั้นมัธยม ก็เป็นหัวหน้าชั้นอยู่บ้าง ซึ่งถือเป็นคณะกรรมการสภานักเรียนโดยตำแหน่ง จนปีสุดท้าย มัธยม 6 ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานนักเรียน ก็ทำหน้าที่ตามที่อยากทำ เพราะในคราวนั้นสภานักเรียน ไม่มีรูปแบบอะไรเลยนอกเสียจากอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ก็ช่วยเหลือกัน ประชุมร่วมกับหัวหน้าชั้นแต่ละชั้น หรือประธานคณะสี เพื่อทำงานหลายๆอย่างไปด้วยกัน จนสำเร็จเสร็จสิ้น โรงเรียนไม่ได้มีรูปแบบตายตัวหรือไม่ได้สร้างระบบกลไกไปสู่ความเป็นเลิศอย่างโรงเรียนอื่นเขา เพราะด้วยศักยภาพของโรงเรียนที่เกิดใหม่ สภานักเรียนดูจะเป็นเรื่องท้ายๆที่โรงเรียนจะให้ความสำคัญในขณะนั้น


เมื่อมาเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ได้เรียนรู้การทำงานของระบบงานของคณะกรรมการนักศึกษา คือ องค์การนักศึกษา เป็นฝ่ายบริหาร สภานักศึกษา เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คิดว่าน่าจะเป็นการจำลองแบบมาจากระบบรัฐสภาไทย แม้จะดูไม่เข้มข้นมากนัก แต่ก้ได้เรียนรู้มาโดยตลอด จนกระทั่งมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือภารกิจของสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษา ในหลายวาระและหลายบทบาท ก้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาอย่างสม่ำเสมอ

การไปช่วยเหลือภารกิจของประชารัฐวิทยาเสริมในคราวนี้ จึงเอาประสบการณ์ที่พอมีมาบ้าง ไปช่วยให้คำแนะนำเพียงเล็กน้อย เพราะเมื่อได้ไปฟังการนำเสนอในหัวข้อ 1 ห้องเรียน 1 โครงการ เศรษฐกิจพอเพียง ( 1 Class 1 Project) ทำให้ได้เรียนรู้ไปด้วยว่า แนวคิดของนักเรียนก็น่ารัก มีสาระ และเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนงานสภานักเรียนให้สำเร็จได้ และที่สำคัญได้เห็นพลังของนักเรียนที่ถูกปลุกขึ้นมาเพื่อการเรียนรู้ แม้บางโครงการอาจจะยิ่งใหญ่ดูเกินกำลังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะล้วนถูกกลั่นออกมาจากจิตใจที่สะอาดงดงาม และหวังจะทำสิ่งดีๆให้โรงเรียน จึงฉุกคิดได้ว่า พลังสำคัญอันสะอาด บริสุทธิ์นี่แหละ จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาโรงเรียน เป็นตัวช่วย “ครู” ได้เป็นอย่างดี หาก “ครู” หรือ “ผู้บริหาร” มองเห็นถึงศักยภาพข้อนี้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ Learning by Doing ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะหลายด้านมากกว่าทฤษฎี แต่นั่นก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ “ครูเพื่อศิษย์” จะต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน และสามารถสร้างกลไกการดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาบนเวทีแห่งการเรียนรู้ “สภานักเรียน” ก็จะทรงพลัง “นักเรียน” ก็เกิดทักษะจากการเรียนรู้ “ครู” ก็เกิดองค์ความรู้ในการกำกับดูแลนักเรียน และเกิด “ห้องเรียน” ที่ยิ่งใหญ่



มอดินแดง

18 สิงหาคม 2559

หมายเลขบันทึก: 612528เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2016 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2016 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท