(134) 'โรงเลี้ยงช้าง' ของ 'คนตาบอด'


ที่นี่คือพระศรีมหาโพธิ์ และสิ่งนี้ก็คือเสนห์ของคนพระศรี เราพูดกันตรงๆ ยอมรับกันได้ และเรื่องนี้ก็แค่ 'เส้นผมบังภูเขา' เท่านั้นเอง

บันทึกนี้เป็น การจัดการความรู้ กับ การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ตอนที่ 3 นะคะ

ณ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี

ความเดิม ตอนที่ 1, 2 คณะกรรมการ Care Team โรคสมองเสื่อม ดำเนินการตามรอย (Clinical Tracer) ระบบการดูแลผู้ป่วย ณ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชเรื้อรัง (ในที่นี้ดิฉันขอกล่าวถึงคณะกรรมการ Care Team โรคสมองเสื่อม ว่า 'CT สมองเสื่อม' และกล่าวถึง กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชเรื้อรัง ว่า 'หน้างาน') โดยตอนที่ 1 ดิฉันเล่าถึงประวัติศาสตร์การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ที่พัฒนามาถึงปัจจุบัน ตอนที่ 2 ประเด็นการ AAR ของทีม CT สมองเสื่อม และหน้างาน โดยมีดิฉันทำหน้าที่ 'จับภาพ' สิ่งที่ได้เรียนรู้แบบไม่เป็นกลาง เพราะทำหน้าให้ข้อมูลในลักษณะ 'ผู้ก่อการ' เป็นระยะ

วัตถุประสงค์หลักของการตามรอย (Clinical Tracer) ระบบการดูแลผู้ป่วยครั้งนี้คือ การทดลองใช้แบบประเมิน ADL

ตอนที่ 3 นี้จะเขียนเรื่อง CT สมองเสื่อมวางแผนนำแบบประเมิน ADL (การจำแนกผู้สูงอายุตามกลุ่มศักยภาพ ตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน : Barthel Activities of Daily Living) มาทดลองประเมิน จำแนกกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง สูงอายุและสมองเสื่อม เพื่อนำข้อมูลการประเมินไปใช้ในการออกแบบระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มนี้ จะนำมาใช้ ก็ต้องนำมาทดลองประเมินกันก่อน ซึ่งทำการประเมินผู้ป่วยสูงอายุจำนวน 3 ราย โดยจิตแพทย์ในทีม ดิฉันขอเล่าบางส่วนนะคะ

กรณีศึกษา ทดสอบการประเมิน 3 ราย

Case ที่ 1 ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายแข็งแรงดี นั่งนิ่งๆ ก้มหน้า หลบสายตา ไม่แสดงท่าทางประกอบ ตอบคำถามทั้งหมดอย่างสั้นๆ วนไปมาเพียง 3 คำตอบว่า “ครับ” “ไม่รู้” “ดีอยู่”

ข้อมูลเพิ่ม ที่ไม่มีในแบบประเมิน ADL .. ผู้ป่วยมีวิจารณญาณ รู้จักเลือกคำตอบที่ปลอดภัยสำหรับตนเอง ตอบรับสัมพันธภาพที่ผู้อื่นยื่นให้ นอกจากมีทักษะการสร้างสัมพันธภาพ แล้วยังมีทักษะการทำงานในระดับที่ไม่ต้องการคำสั่ง ทำได้เองเมื่อถึงเวลา ทำต่อเนื่องจนเสร็จงาน การพยาบาลสำหรับผู้ป่วยรายนี้ เน้นส่งเสริมทักษะการสร้างสัมพันธภาพ คำพูดทักทาย สัมผัสเป็นกันเอง อบอุ่น สม่ำเสมอ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณค่าในตนเอง

Case ที่ 2 ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายแข็งแรงดี ตอบคำถาม ชัดเจน ตรงไปตรงมา ตอบได้ก็ตอบทันที ลืมก็บอกว่า “จำไม่ได้แล้ว” สบตาผู้ถาม ยื่นหน้าเข้าหาเมื่อได้ยินคำถามไม่ชัด

ข้อมูลเพิ่ม ที่ไม่มีในแบบประเมิน ADL .. ระยะหลัง ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย ชอบแอบเข้าห้องน้ำเจ้าหน้าที่ หรือไม่ก็ ‘เข้าป่า’ จะไม่ถ่ายในห้องน้ำ ผู้ป่วยมีอาการทางจิตมาแล้วทุกระยะ เคยมีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เคยหลบหนี พยายามทำร้ายตนเอง ทะเลาะวิวาท รวมทั้งเคยรับการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้วทุกอาชีพที่จัดให้ได้ เคยจำหน่ายกลับโดยไปอยู่กับญาติอุปถัมภ์ อาศัยอยู่ในวัด แบบฆราวาส แบบบวชเป็นพระภิกษุ สุดท้ายเมื่อร่างกายเสื่อมลง ก็กลับมาอยู่ในโรงพยาบาล ปัจจุบันความจำในอดีตเสียไป หลงลืม จำชื่อดิฉันซึ่งเป็นพยาบาลเจ้าของไข้ในอดีตไม่ได้แล้ว .. ดิฉันเสนอทีม ให้วาดภาพโรงพยาบาลจิตเวช ประวัติการดูแลรักษาด้านจิตเวชผ่านเรื่องเล่า เส้นทางชีวิตของผู้ป่วยรายนี้ค่ะ การพยาบาลสำหรับผู้ป่วยรายนี้ เน้นจัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และการดูแลด้านจิตใจในเรื่องความคาดหวังกับสิ่งที่เคยทำได้ เพราะมีแนวโน้มซึมเศร้าอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเอง

Case ที่ 3 ผู้ป่วยนั่งในรถเข็นนั่ง ยกขาข้างซ้ายที่ขาดใต้เข่าขึ้นมาแกว่งเล่นเป็นระยะ แบบอารมณ์ดี ตอบคำถามโดยไม่มองแพทย์(ผู้ชาย) แต่โยกหน้าเข้าใกล้พยาบาลผู้ถามในระยะใกล้มาก มองด้วยสายตาเจ้าชู้

ข้อมูลเพิ่ม ที่ไม่มีในแบบประเมิน ADL .. สายตาของผู้ป่วยแบบนี้แสดงบุคลิกเจ้าชู้ ที่ไม่เสื่อมตามวัย ยังไม่รวมพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบตีผู้ป่วยอื่น เลือกตีเฉพาะผู้ป่วยที่อ่อนแอกว่า ร้องขอความช่วยเหลือไม่ได้อีกด้วย ผู้ป่วยรายนี้ไม่ต้องการความช่วยเหลือ แม้มีขาข้างเดียว ตรงข้าม กลับต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยทำร้ายร่างกายผู้ป่วยอื่น ยังไม่รวมแต๊ะอั๋งพยาบาลนะคะ

เครื่องมือใหม่ ไม่ครอบคลุมด้านจิตใจ

จากการประเมินผู้ป่วย 3 ราย พบว่า แบบประเมิน ADL ไม่ครอบคลุมปัญหาของผู้ป่วยซึ่งมีหลายด้าน หากจะแยกง่ายๆ เพียงสองด้าน ร่างกาย-จิตใจ แบบประเมิน ADL ก็ไม่ครอบคลุมด้านจิตใจ ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชเป็นผู้บกพร่องทาจิต และเราก็ 'เล่น' ที่จิตใจค่ะ (เห็นแนวโน้มความเสื่อมถอยของผู้ป่วย ขณะที่พยาบาลพากันตกงานไหมคะ)

มีหลักการ ในการเลือกใช้เครื่องมือวัดนะ รู้ยัง!

ดิฉันขออนุญาตนำมะพร้าวห้าวมาขายสวนนะคะ .. หลักการเลือกเครื่องมือวัดหรือประเมิน ข้อแรกคือ พิจารณาวัตถุประสงค์ของการวัด ต้องการวัดอะไร วัดแล้วได้สิ่งที่ต้องการวัดหรือไม่ ผลที่ได้ครบถ้วนหรือไม่ ยังไม่รวมการประเมินมาตรฐานของเครื่องมือ สภาพแวดล้อมขณะประเมิน หรืออื่นๆ

ตัวอย่างง่ายๆ ที่กินใจคือ ถ้าคุณประเมินลักษณะความเป็นผู้นำ โดยประเมินว่าเคยดำรงตำแหน่งทางการบริหารหรือไม่ ประเมินลักษณะผู้บริหารยุคใหม่ว่าเป็น ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ หรือไม่โดยประเมินเฉพาะบุคลิกภาพการแต่งกายเรื่องเดียว .. ดิฉันนึกถึงญาติผู้ใหญ่ห่างๆ ห่างมากๆ ทักทายครอบครัวเราเมื่อแรกพบกันว่า “ตอนนี้เอ็งขับรถอะไร” (ฮา .. ฮาไม่ออกค่ะ)

ทำนองเดียวกัน ถ้าต้องการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่เป็นผู้สูงอายุ สมองเสื่อม โดยใช้แบบประเมิน ADL เราก็กลายเป็นตาบอดคลำช้าง ได้ภาพ ‘ช้าง’ เพียงบางส่วน ไม่ใช่ช้างทั้งตัว ดิฉันนึกภาพโรงเลี้ยงช้าง version คนตาบอดออกแบบไม่ถูกค่ะ

บันทึกนี้ออกแนวก้าวร้าวคุกคาม แต่ดิฉันบอกแล้วนะคะว่าบรรยากาศการ AAR น่ารักเป็นกันเอง .. ที่นี่คือพระศรีมหาโพธิ์ และสิ่งนี้ก็คือเสนห์ของคนพระศรี เราพูดกันตรงๆ ยอมรับกันได้ และเรื่องนี้ก็แค่ 'เส้นผมบังภูเขา' เท่านั้นเอง .. เมื่อเรามีวิกฤตเรื่องเวลา มันกระชั้นชิด เราจะมุ่งไปที่เป้าหมาย จนอาจละเลยรายละเอียดปลีกย่อยที่สำคัญไปได้

บันทึกนี้มีไว้ให้ 'เรียนรู้' ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 612274เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2016 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2016 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท