(133) AAR การตามรอย (Clinical Tracer) ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม


ดิฉันไม่ได้เป็นคณะกรรมการ Care Team โรคสมองเสื่อม แต่ดิฉันร่วม AAR ที่หน้างาน และจะขอเขียนถึง AAR ก่อนประเด็นอื่นๆ เพราะเป็นเหมือน 'ข้อตกลงเบื้องต้น' ในการวิเคราะห์เชื่อมโยง

บันทึกนี้เป็น การจัดการความรู้กับการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ตอนที่ 2 ตอนแรก ใช้ชื่อว่า (132) เรื่องราวเล่าอดีต .. การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ (https://www.gotoknow.org/posts/612263)

ดิฉันจะเล่าภาพ 'การจับประเด็น' การจัดการความรู้ ของการมาสังเกตการณ์ครั้งนี้ แต่ขอออกตัวก่อนว่า ได้รับอนุญาตให้จับแบบไม่กำหนดขอบเขตนะคะ ..

โดยทั่วไปวิธีการดำเนินการ KM ที่สอดแทรกในการปฏิบัติงานประจำนั้น เมื่อมีการประชุม หรือมีกิจกรรมภาคสนาม ไปเยี่ยมเยียนผู้ปฏิบัติที่หน้างานก็ตาม จะมีการทำ BAR : Before Action Review และ AAR : After Action Review เพื่อเก็บประเด็นที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน หากทำครบทั้งสองอย่างก็เป็นการประเมินผลไปในตัวว่าหลังทำกิจกรรมนั้นๆ แล้วได้ผลตามที่คาดหวังหรือไม่ เพื่อนำเทคนิควิธีการดีๆ ไปประยุกต์ใช้ต่อไป .. ดิฉันเรียนรู้มาจาก Gotoknow และที่พระศรีมหาโพธิ์บ้านดิฉันก็มีแบบนี้ 'ประปราย'

สำหรับคณะกรรมการ Care Team โรคสมองเสื่อม โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า 'CT สมองเสื่อม' แม้จะฟังดูแปลกๆ นะคะ) CT สมองเสื่อมเป็นทีมแนวราบ คร่อมสายงานแบบสหวิชาชีพ ทีมใหญ่ ประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักอาชีบำบัด นักกิจกรรมบำบัด โภชนากร ฯลฯ ที่ทำงานร่วมกันมาแล้วมากกว่า 1 ปี เดาว่าทีมได้ทำ BAR ก่อนเดินทางมาเยี่ยมหน้างานแล้ว (หน้างาน หมายถึง กลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังชาย) ดิฉันไม่ได้เป็นสมาชิกทีม แต่ดิฉันร่วม AAR ที่หน้างาน และจะขอเขียนถึง AAR ก่อนประเด็นอื่นๆ เพราะเป็นเหมือน 'ข้อตกลงเบื้องต้น' ในการวิเคราะห์เชื่อมโยงประเด็นที่จะเขียนในตอนต่อไป

ดิฉันในบทบาทคณะกรรมการ KM สนับสนุนให้ผู้มาประชุมกันในวันนี้ทำ AAR การตามรอย (Clinical Tracer) ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ณ กลุ่มงานการพยาบาลจิตเวชเรื้อรัง ต่อไปนี้เป็นบันทึกตามมุมมองของดิฉันเองล้วนๆ (ผ่านการส่งคืนข้อมูลให้ทีมบางท่านตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริง แต่ไม่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบบันทึกนี้) ดังนี้

  1. ยาบาลที่หน้างาน ให้การยอมรับ ไว้วางใจ (Trust) CT สมองเสื่อม โดยสังเกตจากพฤติกรรมการมีส่วนร่วมดีมาก ไม่มีท่าทีต่อต้าน เรื่องนี้ CT สมองเสื่อมท่านหนึ่งให้เหตุผลว่า เคยร่วมงานกันมามากกว่า 1 ปีในรูปแบบกรรมการ ประชุมร่วมกันบ่อย ช่วยให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน อีกทั้ง CT สมองเสื่อมแจ้งวัตถุประสงค์ของการตามรอยข้อหนึ่งว่า มาทำหน้าที่ช่วยเหลือทีมปฏิบัติที่หน้างานด้านวิชาการ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พยาบาลหน้างานให้การยอมรับ ไว้วางใจ .. ส่งผลให้การแสดงความคิดเห็นอย่าง 'เอาเรื่อง' ในวันนี้มีบรรยากาศเป็นมิตร ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ดูหนักหน่วงชวนมีเรื่อง (ฮา)
  2. CT สมองเสื่อม มองผู้ป่วยกลุ่มจิตเวชเรื้อรังแบบ 'คนนอก' เนื่องจากไม่ได้ศึกษาผู้ป่วยกลุ่มจิตเวชเรื้อรังซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายมากพอ เป็นที่มาของการเลือกใช้เครื่องมือคือ แบบประเมิน ADL (การจำแนกผู้สูงอายุตามกลุ่มศักยภาพ ตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน : Barthel Activities of Daily Living) มาใช้คัดกรองผู้ป่วย เพื่อนำผลการคัดกรองไปวางแผนพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยอธิบายให้พยาบาลที่หน้างานเข้าใจอย่างชัดเจนไม่ได้ว่า
    1. ทำไมต้อง ADL?
    2. แบบประเมินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ที่เราเรียกสั้นๆ ว่าทักษะ 6 ด้าน นั้นบกพร่องตรงไหน? อย่างไร?
    3. จุดบำพร่องดังกล่าวแก้ไขไม่ได้หรือ จึงนำเครื่องมือใหม่มาใช้
    4. แล้วจะยกเลิกเครื่องมือเก่าหรือไม่
    5. และ.. มีคำถามอีกมากมา
  3. การมาของ CT สมองเสื่อม ทำให้พยาบาลหน้างานรู้สึกขาดความมั่นใจในตนเอง ว่าสิ่งที่ปฏิบัติกันมานั้นถูกต้องเหมาะสมแล้ว หรือไม่ แต่ก็เป็นโอกาสให้พยาบาลหน้างานนำเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในมุมมองของผู้ปฏิบัติ (ที่มาของการแสดงความคิดเห็นอย่าง 'เอาเรื่อง') ใช้เป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยในภาพรวมได้
  4. CT สมองเสื่อม(บางท่าน) ยอมรับว่า ‘ช่วยเหลือตนเองไม่ได้’ กล่าวคือ ยังหาประเด็นสำหรับการพัฒนาที่เห็นผลในระยะสั้นไม่ได้ เนื่องจากระบบการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ หรือโรคสมองเสื่อมมีความซับซ้อนและใช้ระยะเวลานานในการพัฒนากว่าจะเห็นผล การตามรอยครั้งนี้จึงเป็นการมาขอความช่วยเหลือด้านข้อมูลจากผู้ปฏิบัติหน้างาน เรียกว่า 'มาเรียนรู้ร่วมกัน

เนื้อหาซีเรียสจัง! พักก่อนนะคะ

ตอนที่ 3 ดิฉันจะเล่าเรื่องการนำเครื่องมือเจ้าปัญหานี้มาทดลองใช้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 612270เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2016 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2016 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท