วิชาภาวะผู้นำ : รู้จักฉันรู้จักเธอ (รู้จักแม่)


ผมเพิ่มกระบวนการพิเศษเข้ามาใหม่ กล่าวคือ เมื่อวาดภาพเสร็จแล้วก็ชวนให้นิสิตแต่ละคนใช้มือถือถ่ายภาพ หรือบันทึกลงในมือถือ จากนั้นจึงให้ส่งภาพผ่านมือถือกลับไปยังคุณแม่ของนิสิต



กระบวนการเรียนการสอนวิชาภาวะผู้นำในวันที่ 11 สิงหาคม 2559 เป็นกระบวนการเรื่อง "รู้จักฉันรู้จักเธอ" ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องจัดการเรียนการสอนในแบบ "ภาษาอังกฤษ" แต่วันนี้ อาจารย์ผู้สอนติดราชการด่วน ภารกิจของผมและน้องๆ ทีมกระบวนจึงต้อง "ลุย" กันเอง


โดยหลักๆ แล้ว กระบวนการ "รู้จักฉันรู้จักเธอ" -- เป็นกระบวนการที่เน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ ประกอบด้วยการละลายพฤติกรรมให้นิสิตได้เปิดเปลือยตัวเองออกมาสู่การแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ผ่านภาพวาดและการเล่าเรื่องเป็นหัวใจหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เราจะให้วาดภาพที่เกี่ยวกับความทรงจำดีๆ ที่มีในชีวิตของแต่ละคน

นอกจากนี้แล้วกระบวนการดังกล่าว ยังสร้างการเรียนรู้ในเรื่อง "นิสิตกับการจัดการความรู้" (Km) ไปพร้อมๆ กัน โดยไม่จำเป็นต้องบรรยายทางวิชาการว่า การจัดการความรู้คืออะไร สำคัญอย่างไร หรือเครื่องมือของการจัดการความรู้มีอะไรบ้าง !







แน่นอนครับ กระบวนการ "รู้จักฉันรู้จักเธอ" เราเน้นให้นิสิตได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นทีม เรียนผ่านการลงมือทำ จากนั้นจึงค่อยมาสรุปเป็นองค์ทฤษฎีว่าที่มีอะไรบ้าง เป็นต้นว่า

  • ถอดบทเรียนชีวิต
  • การเล่าเรื่อง-เรื่องเล่าเร้าพลัง
  • การฟังแบบฝังลึก
  • การสนทนา
  • การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • การโชว์-แชร์
  • การค้นหาความสำเร็จ/สิ่งดีๆ รอบตัว






ภาพวาดแม่ : การเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม "ฮีต 12 คองกิจกรรม" และ "ฮีต 12 คองสังคม"


รู้จักฉันรู้จักเธอในวันนี้ เราบูรณาการแนวคิดจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผมเป็นหัวหน้าโครงการฯ มาสู่ชั้นเรียน

กล่าวคือ กำหนดให้นิสิตได้วาดภาพในประเด็นที่เกี่ยวกับ "แม่" หรือ "ความทรงจำที่มีต่อแม่" เพื่อยึดโยงการเรียนรู้แก่นิสิตให้ตระหนักถึงวาระอันสำคัญของสังคม นั่นก็คือการบ่งชี้ว่า "เดือนนี้คือเดือนแปด" ในวิถีสังคมอีสานคือ "ประเพณีเข้าพรรษา" และสัมพันธ์กับเหตุการณ์สำคัญในสังคมไทยคือ "วันแม่แห่งชาติ" โดยซ่อนนัยยะสำคัญของการบ่มเพาะเรื่องความกตัญญูที่มีต่อ "แม่" แก่นิสิตอีกครั้ง ซึ่งใช้สถานการณ์จริงทางสังคม หรือ "จารีต-ประเพณี" ของสังคมเป็นฐานการเรียนรู้






การวาดภาพครั้งนี้เราให้นิสิตเขียนคำบรรยาย หรือ เขียนคำจำกัดความของเรื่องเป็น "ภาษาอังกฤษ" และเท่าที่สังเกตการวาดภาพครั้งนี้นิสิต (ผู้เรียน) ใช้เวลามากเป็นพิเศษ เพราะเรากำหนดประเด็นที่ชัดเจน เหมือนการจำกัดกรอบอย่างเป็นรูปธรรมให้นั่นเอง เป็นกรอบทางความคิดแต่ไม่ปิดกั้นเรื่องจินตนาการอันหมายถึงบริบท หรือรายละเอียดในองค์ประกอบของเรื่องนั้นๆ




แน่นอนครับ-- พอวาดเสร็จ ผมก็ยังคงยึดขนบธรรมเนียมเดิมๆ นั่นก็คือให้นิสิตแต่ละคนเล่าเรื่องราวของภาพให้เพื่อนในกลุ่มได้ร่วมรับฟัง โดยมีข้อห้าม /ครรลอง / เนียมเนียมอันเป็นกติกาเล็กๆ คือ "ขณะที่เพื่อนเล่าเรื่อง ไม่อนุญาตให้มีการซักถามใดๆ" (เน้นการฟัง ฝึกการสังเคราะห์ และฝึกการให้เกียรติ)






เสร็จจากนั้นก็ให้นิสิตร่วมสะเคราะห์ประเด็นจากภาพในกลุ่มว่ามีประเด็นอะไรบ้าง สังเคราะห์เสร็จก็ให้เขียนสะท้อนในรูปแบบต่างๆ เท่าที่นิสิตจะพึงใจ หรือ "คิดออก" ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็น "ผังมโนทัศน์" เสมอไปก็ได้

ตรงนี้แหละครับที่นิสิตเริ่มมีโอกาส "โสเหล่-เสวนา" กันมากขึ้น ถามทักเรื่องส่วนตัวกัน ถามทักถึงมูลเหตุของเรื่องราวในภาพ ชื่นชมและให้กำลังใจกัน เสมอเหมือนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันความดีงาม หรือประสบการณ์ชีวิตดีๆ ร่วมกัน รวมถึงการฝึกกระบวนการทำงานเป็นกลุ่มไปในตัวแบบเนียนๆ (ย้ำว่า เนียนๆ) ฯลฯ

เสร็จจากนั้นก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอให้เพื่อนทุกคนในชั้นเรียนได้ร่วมรับรู้ตามกระบวนการของการ "แบ่งปัน" หรือ Show & Share ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ







คัดเลือก เชิดชู : ส่งสารความรักกลับถึงแม่


กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอในวันนี้ ผมและทีมงานกำหนดให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกเรื่องราวที่ประทับใจกลุ่มละ 1 เรื่อง โดยให้มีการอภิปรายถึงเหตุผลที่เลือกสรรภายในกลุ่ม และให้เจ้าของเรื่องราวที่ถูกคัดเลือกมา "นำเสนอ" หรือ "เล่าเรื่อง" หน้าชั้นเรียนให้เพื่อนๆ ฟังร่วมกัน




โดยปกติแล้ว เราไม่ค่อยนิยมให้มีการตัดสินใจหรือคัดเลือกเช่นนี้ ทว่าครั้งนี้เราจำเป็นต้องฝึกฝนกระบวนการบางอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องผู้นำ หรือภาวะผู้นำ เช่น การอภิปรายร่วมกัน การตัดสินใจในวิถีประชาธิปไตย การสื่อสารสาธารณะ -การสื่อสารสร้างสรรค์ หรือสื่อสารสร้างพลังผ่านภาษาอังกฤษ ฯลฯ

ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นชมว่ากระบวนการดังกล่าวดำเนินการผ่านไปด้วยดี นิสิตตั้งใจฟัง บางครั้งคราปรบมือส่งเสียงให้กำลังใจกันและกัน ขณะที่บางครั้งคราก็นิ่งเงียบ เพราะต่างก็มีสมาธิต่อการซึมซับเรื่องราวเหล่านั้น เสมือนอยู่ในบริบทนั้นๆ ด้วยตนเอง ขณะที่บางคนก็ถึงขั้นน้ำตาคลอ ส่วนคนเฃ่าเรื่องก็มีบางคนร้องไห้ออกมา ฯลฯ




ครั้งนี้--- ผมเพิ่มกระบวนการพิเศษเข้ามาใหม่ กล่าวคือ เมื่อวาดภาพเสร็จแล้วก็ชวนให้นิสิตแต่ละคนใช้มือถือถ่ายภาพ หรือบันทึกลงในมือถือ จากนั้นจึงให้ส่งภาพผ่านมือถือกลับไปยังคุณแม่ของนิสิต เรียกได้ว่าดึงเรื่องไอทีเข้ามาเป็นเครื่องมือของการจัดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลยก็ว่าได้

พอถึงขั้นตอนนี้ บรรยากาศในห้องคึกคักและมีชีวิตชีวาเป็นที่สุด มีทั้งหัวเราะและยิ้่มแก้มปริ

สาบานได้เลยว่า กระบวนการนี้ไม่ได้บอกกล่าว หรือตระเตรียมมาล่วงหน้า หากแต่เป็นกระบวนการที่ผมคิดขึ้นหน้างานสดๆ ร้อนๆ เป็นการหยิบจับสถานการณ์ "หน้างาน" เอามาเป็นโจทย์ หรือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เสมอเหมือนการสื่อสารให้เห็นถึงการหยิบจับสถานการณ์จริงมาเรียนรู้ หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปในตัวด้วยก็ไม่ผิด



ท้ายที่สุด ผมโยนคำถามกลับไปยังนิสิตเพื่อให้เขียนสรุป หรือเขียนสะท้อนการเรียนรู้ในประเด็นประมาณว่า "ได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือได้เรียนรู้ความเป็นผู้นำผ่านกระบวนการเหล่านี้อย่างไรบ้าง"

โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมมีความสุขกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้อยู่มากเลยทีเดียว เป็นการเรียนรู้ในมิติบันเทิงเริงปัญญาที่ได้มากกว่าการละลายพฤติกรรม หรือเตรียมความพร้อมสู่การเรียนรู้ในแบบทั่วไป ตรงกันข้ามกลับเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ยึดโดยงกับมิติทางวัฒนธรรม หรือการจัดการเรียนรู้บนฐานเหตุการณ์จริงของสังคมตามครรลอง "ฮีต 12 คองกิจกรรม" หรือ "ฮีต 12 คองสังคม"




เช่นเดียวกับการสร้างการเรียนรู้ที่ผูกโยงไว้กับเครื่องมือของการจัดการความรู้ในหลายๆ ประเด็น ซึ่งนิสิสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจะได้นำไปใช้จริงในการเรียนและการใช้ชีวิตทั้งในระบบส่วนตัวและระบบกลุ่ม -ทีม

และนั่นยังไม่รวมถึงการได้รับรู้ถึงโลกทัศน์ของนิสิตที่มีต่อ "แม่" ซึ่งนิสิตนิยามความเป็น "แม่" หลากหลายประเด็นที่มีทั้งเหมือนและต่างกันไป เสมือนการถอดบทเรียนไปสู่วาระของแม่ที่ว่าด้วยบทบาทและหน้าที่ของแม่ที่มีต่อนิสิตนั้นๆ ด้วยเช่นกัน




...

เขียน : 12 สิงหาคม 2559
ภาพ : จันเพ็ญ ศรีดาว / พนัส ปรีวาสนา / อติรุจ อัคมูล


หมายเลขบันทึก: 612218เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2016 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2016 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท