พระนิรันตรายในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส


พระนิรันตรายในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (8/8/2559)




พระประธานในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส เรียกว่า "พระนิรันตราย" เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งนิยมการสร้างพระพุทธขนาดไม่ใหญ่โตแบบรัชกาลที่ 3 ลักษณะโดยรวมรูปกึ่งสมจริงคือ แม้จะมีพระรัศมีแต่ไม่มีพระอุษณีษะหรือพระเกศมาลา (กระโหลกที่นูนขึ้นมาที่รองรับพระรัศมี) ครองจีวรเป็นริ้วแบบธรรมชาต สังฆาฏิผืนใหญ่ ขัดสมาธิแบบเพชร พระวรกาย สัดส่วน ลักษณะท่าทางมีความ (กึ่ง) สมจริง ลักษณะดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนแนวคิดสัจจนิยมและตามคติธรรมยุติกนิกาย ซึ่งต่างกับพระพุทธรูปแบบสุโขทัย ล้านนา หรือแบบอื่นที่เน้นสร้างตามอุดมคติโบราณ หรือเน้นลักษณะพิเศษของผู้มีบุญที่เรียกว่า "ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ" พระนิรันตรายกระจายทั่วไปตามวัดสำคัญของนิกายธรรมยุติ เช่นวัดบวรนิเวศวิหาร หรือ หอสุลาลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง

ที่มาชื่อนิรันตรายคือ ขุดได้จากดงศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองคำ มีลักษณะแบบศิลปะทวารวดีผสมศิลปะเขมร ต่อมานำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่หอเสถียรธรรมปริตร พระบรมมหาราชวัง ต่อมามีคนร้ายรอบเข้าไปขโมยของแต่พระพุทธรูปองค์นี้กลับไม่ถูกขโมย ทั้ง ๆ ที่เป็นพระทองคำ ด้วยความที่รอดพ้นจากการขุดค้นและการขโมยนี่เอง ร.4 จึงตั้งพระนามว่าพระนิรันตราย จากนั้นมีการสร้างใหม่ตามแบบพุทธลักษณะแบบพระราชนิยมในสมัย ร.4 แล้วนำไปประดิษฐานตามวัดสำคัญ

พระนิรันตราย (พระพุทธเจ้า) ในพระอุโบสถขนาบด้วยพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและพระสารีบุตรเถระเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาประครองอัญชลี ทั้งสามประทับนั่งภายในอาคารหลังคารซ้อนชั้นแบบไทยประเพณี

ท้องหลังคาพระอุโบสถประดับดาวเพดานประกอบด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัย ร.4 ทำให้คิดถึงบานประตูพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามที่ประดับด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์เช่นกัน บรรยากาศโดยรวมเป็นสีแดงตัดทองและสีครีมสวยอร่ามตระการตายิ่งนัก

ด้านนอกพระอุโบสถเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยที่ผสมสถาปัตยกรรมตะวันตก เครื่องหลังคาประกอบด้วยช้อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันเป็นรูปพระราชสัญลักษณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระเกี้ยวประดิษฐานบนพานเหนือช้างเอรวัณ ขนาบซ้ายขวาด้วยฉัตรและเทวดา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เสาพาไลรองรับชายคาเป็นเสากลมหัวเสาลายบัวแวง ด้านล่างเสาเป็นกำแพงซี่ลูกกรงรองรับ ซุ้มประตูและหน้าต่างลักษณะเป็นซุ้มยอดมงกุฎที่นิยมทำในสมัยรัชกาลที่ 5 บานประตูด้านนอกลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งลงรักปิดทอง ประตูด้านในเป็นเทพทวารบาลถือพระขรรค์

วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2419 เพื่อทรงเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายในวัดมีอาคารสถาปัตยกรรมมากมายมีทั้งรูปแบบศิลปะไทย ศิลปะจีน ศิลปะตะวันตก มีการผสมผสานกันอย่างกลมกลืนลงตัวสวยงาม อีกทั้งยังมีเมรุ 2 เมรุ คือเมรุหลวงที่เป็นเมรุปูน ใช้พระกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ พระบรมวงศานุวงศ์ พระสังฆราช พระสมณศักดิ์ชั้นสูงที่จัดขึ้นโดยสำนักพระราชวัง และเมรุของวัดใช้สำหรับบุคลทั่วไป จัดว่าเป็นวัดหนึ่งที่สวยงามน่าเที่ยวชมยิ่งนัก

ภาพโดย วาทิน ศานติ์ สันติ ถ่ายเมื่อ 7 สิงหาคม 2559

อ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2556). พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. (2550). ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพ ฯ : มติชน.


หมายเลขบันทึก: 612070เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2016 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2016 02:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท