(128) Best Practice: ฝึกผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังจัดยารับประทานเอง


ดิฉันยังไม่ทันเอ่ยปากซักถามอะไร เธอก็พูดต่อเป็นชุด ยิ่งพูดยิ่งรัวเร็ว ได้อารมณ์ เหมือนเธอรอเวลานี้มานาน แสนนาน .. เวลาที่จะมีคน ‘รับฟังอย่างตั้งใจ’ เข้าทางดิฉันนะคะ ก็ตั้งใจมาฟังใครสักคนแต่แรกแล้ว ใจเราตรงกันพอดี

21 ก.ค.59 วันนี้ดิฉันปฏิบัติหน้าที่ผู้นิเทศทางการพยาบาลเวรบ่ายตามปกติ แต่วันนี้มีเหตุการณ์ไม่ค่อยปกตินักสำหรับโรงพยาบาลจิตเวช กล่าวคือ วันนี้ไม่มีผู้ป่วยที่ต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษเลยสักคนเดียว

'ความสงบของผู้ป่วยจิตเวชในช่วงเข้าพรรษา'

น่าคิดนะคะ เพราะปกติเราเคยฉีดยาระงับอาการทางจิตผู้ป่วยมากเป็นพิเศษ ในช่วงวันโกน-วันพระ!!

ดิฉันจึงวางแผนในใจ ว่าจะใช้เวลามากขึ้น ในกิจกรรม 'ตรวจเยี่ยม' บุคลากร จำนวน 11 หอผู้ป่วยใน กับอีกหนึ่งหน่วยบริการฉุกเฉินนอกเวลา ด้วยรถจักรยานไฟฟ้าคู่ใจที่ช่วยให้ถึงที่หมายได้เร็วทันใจในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน .. เพื่อชักชวนน้องพยาบาลพูดคุยถึงเรื่องดีๆ ที่ทำแล้ว ‘มีความสุข’ ‘มีความภาคภูมิใจ’ มาเขียนเป็นเรื่องเล่า (story telling) แล้วนำมา share ให้ช่วยกันชื่นชมในวงกว้าง

round ward (ตรวจเยี่ยม) มาถึงหอผู้ป่วยจิตเวชหญิง 3 ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยเรื้อรังที่มีโรคแทรกซ้อนทางกายเป็นส่วนใหญ่ เป็นคนละหลายโรค ยังไม่รวมผู้ป่วยที่มีความพิการซ้ำซ้อนอีกหลายคน พยาบาลที่นี่จึงมีบทบาทเป็นทั้งหู ตา แขน ขา ฯลฯ บางคนถึงกับต้องเคี้ยวและกลืนอาหารให้ด้วย คิดรำพึงได้เพียงเท่านี้ ดิฉันก็มาถึงบันไดตึก ได้ยินเสียงดังแว่วลงมาจากหน้าอาคารกว่า

“คนข้างบนน่ะ ลงมาจัดยาได้แล้ว”

มองขึ้นไปบนอาคาร เห็นผู้ช่วยเหลือคนไข้คนหนึ่ง กำลังร้องตะโกนซ้ำๆ .. เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนบทบาทให้ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ‘สั่ง’ พยาบาลทำงานแล้วหรือ?

“เธอเรียกใคร คนข้างบนน่ะ?” หมึนเด้! .. (ภาษาดิฉันเองค่ะ แปลว่าฉันไม่ค่อยพอใจนะ)

“เรียกคนไข้ค่ะพี่ เรามีคนไข้ฝึกจัดยากินเอง 3 คน เขาอยู่ข้างบน” .. อ้อ! เหรอ

ดิฉันยังไม่ทันเอ่ยปากซักถามอะไร เธอก็พูดต่อเป็นชุด ยิ่งพูดยิ่งรัวเร็ว ได้อารมณ์ เหมือนเธอรอเวลานี้มานาน แสนนาน .. เวลาที่จะมีคน ‘รับฟังอย่างตั้งใจ’ เข้าทางดิฉันนะคะ ก็ตั้งใจมาฟังใครสักคนแต่แรกแล้ว ใจเราตรงกันพอดี เนื้อหามีอยู่ว่า ..

“เรามีคนไข้ฝึกกินยาเอง 3 คน” (เป้าหมายน้อยจัง) “มีแค่นี้ละคะ คนอื่นน่ะลองแล้วไม่ไหว” (อ๋อ.. ทดลองแล้วเหลืออยู่แค่นี้) “อ่านไม่ค่อยออกหรอก ทำทุกวันก็จำได้” (อ่านไม่ออกก็ฝึกจนเกิดทักษะ) “เขียนตัวหนังสือใหญ่ๆ ที่ฝากล่อง เขาจะหยิบยาในซองใส่กล่องไว้ เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน” (มีอุปกรณ์เสริม-ตัวช่วย) “พยาบาลจะมาตรวจดูว่าถูกหรือไม่ ก่อนให้เขาเก็บเข้าล็อคยา” (มีการตรวจสอบความถููกต้อง) “ถ้าผิด พยาบาลจะเรียกมาสอน ให้ทำใหม่” (มีการแก้ไขด้วยตนเอง) “ถ้ากลับบ้านจะได้กินยาเอง” (อ้อ เป้าหมายสุดท้าย ..ไกลจัง)

“ฝึกนานไหม กว่าจะใช้ได้?” “นานค่ะ ตั้งแต่หมอไก่อยู่”

หมอไก่ หรือไก่น้อยของพวกเรา คือ ‘คุณหทัยรัตน์ ปฏิพัทธ์ภักดี’ ปัจจุบันเธอย้ายไปปฏิบัติงานที่ศูนย์วิจัยฯ ของโรงพยาบาลนานเป็นปีแล้วค่ะ แต่ผลงานของเธอดี มีคุณค่ามากพอที่ผู้ร่วมงานจะสานต่อ หรืออาจเป็นเพราะเธอ ‘เป็นที่รัก’ ของผู้ร่วมงานด้วย

เธอทำผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่หอผู้ป่วยนี้ .. แต่ไม่จบแค่ปริญญา ยังพัฒนาต่อยอด ขยายวงออกไปไม่สิ้นสุด มีผลงานนำเสนอในเวทีวิชาการต่างๆ ทุกปี โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์เรามีบุคลากรลักษณะนี้จำนวนมาก กระจัดกระจายในหลายหน่วยย่อย ใกล้จะถึงเวลานำมาโปรโมท เพื่อหาจิตอาสารับถ่ายทอดวรยุทธ์จากพวกเธอ .. ดิฉันตั้งใจจะทำสำเนาบุคลากรเหล่านี้ไว้คนละหลายๆ ชุดเลยค่ะ (ฮา)

ดิฉันยืนดูผู้ป่วยทั้ง 3 คนจัดยาจนเสร็จ ทุกคนประณีต ใจเย็นมาก จัดเสร็จก็เดินนำยาไปใส่ล็อคยาไว้ อันที่จริงเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนดิฉันก็เคยฝึกลักษณะนี้ในผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังชาย แต่รุ่นนั้นล้มหายตายจากไปหมดแล้ว .. ทีนี้รู้หรือยังว่าดิฉันน่ะ รุ่นไหน!

ก่อนลงจากตึก ดิฉันแจ้งให้บุคลากรในหอผู้ป่วยนี้ทราบว่าจะนำมาเขียนเป็นเรื่องเล่า เพื่อเล่าเรื่องดีๆ ที่ได้พบเห็นในวันนี้ พวกเธอแสดงความยินดีที่จะได้ออกอากาศ .. เผอิญดิฉันหันไปเห็นสมุดสีชมพูสองเล่มวางบนโต๊ะพยาบาล

‘สมุดบันทึก Morning Talk’ ‘สมุดบันทึก Pre-conference’

ลองเปิดๆ ดู แล้วต้องประหลาดใจ เพราะมีการบันทึกเกือบทุกวันทั้งสองเล่ม ทำได้ยังไง!

คุณปิยะดา พยาบาลเวรบ่ายวันนี้เล่าว่า บันทึกทั้งสองเล่มนี้ถูกนำมาใช้หลายปีแล้ว บันทึกโดยอัตโนมัติ ไม่บันทึกเหมือนไม่ได้ทำงาน ยังไม่รวมการบันทึกรายงานพยาบาลและอื่นๆ อีกมากมายนะคะ เมื่อดิฉันถามซ้ำว่า ทำได้ยังไง เธอตอบแบบถ่อมตัวว่า “คงพอมีเวลามังคะ”

ดิฉันแย้งเธอว่า มันไม่ใช่เรื่องของเวลา แต่เป็นจิตสำนีก ค่านิยม หรือจะเรียกว่า ‘วัฒนธรรมองค์กร’ ของที่นี่ก็ได้ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ ที่สร้างได้ เมื่อปฏิบัติเป็นปกติ เป็นวิถี เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

วันนี้ดิฉันบรรลุเป้าหมายที่ได้พูดคุยถึงเรื่องดีๆ ที่มี 'ความสุข' ทั้งผู้ 'อยากเล่า' และผู้ 'อยากฟัง'

หมายเลขบันทึก: 611681เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2016 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2016 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท