ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต


ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต

นัทธี จิตสว่าง

เรือนจำจังหวัดอุทัยธานีซึ่งเป็นเรือนจำเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี นอกจากจะเป็นเรือนจำต้นแบบในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตามกำหนดกรุงเทพของสหประชาชาติแล้ว ยังเป็นเรือนจำที่มีห้องสมุดแตกต่างไปจากห้องสมุดเรือนจำอื่นๆ คือเป็น “ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต”

ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต เป็นห้องสมุดที่ผู้ต้องขังมาใช้บริการแล้ว อาจทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปภายหลังพ้นโทษ ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตนี้ถูกออกแบบให้ต่างไปจากห้องสมุดของเรือนจำโดยทั่วไป ซึ่งมักจะเป็นห้องสมุดที่ไม่ค่อยมีผู้ต้องขังมาใช้บริการ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการจัดระเบียบเรือนจำ การเข้าถึงห้องสมุดและการยืมหนังสือไปอ่านข้างนอกทำได้อย่างจำกัด ผู้ต้องขังเองก็ไม่สนใจที่จะอ่านหนังสือ แต่ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตนี้ออกแบบมาเพื่อให้เป็นห้องสมุดที่ผู้ต้องขังได้เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยนอกจากจะเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือตามระบบแล้ว ยังเป็นที่ทำกิจกรรมในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่จะบ่มเพาะแรงบันดาลใจให้กับผู้ต้องขังในการปรับเปลี่ยนตัวเอง ปรับเปลี่ยนชีวิตและพร้อมกลับคืนสู่สังคม

ความแตกซึ่งจะแตกต่างจากห้องสมุดเรือนจำโดยทั่วไป ที่เป็นการจัดหมวดหมู่ตามสาขาวิชาต่างๆ แต่ที่ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตจะออกแบบให้มีการจัดหมวดหมู่เป็นต้นไม้ 5 ต้น แต่ละต้นจะเป็นเรื่องราวที่จำเป็นต่อผู้ต้องขังในการกลับเข้าสู่สังคม ได้แก่

- ต้นครอบครัว

- ต้นอาชีพ การงาน

- ต้นทักษะชีวิต สุขภาพ อบายมุข ความพอเพียง

- ต้นสมาธิและต้นปัญญา

- ต้นเพื่อน และสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย

แต่ละด้านจะมีเรื่องราวที่จำเป็นสำหรับผู้ต้องขังได้เรียนรู้ หรือซึมซับเอาความรู้สึก ที่ลึกซึ้งกินใจและเกิดแรงบันดาลใจ ในการที่จะปรับเปลี่ยนตนเอง เช่น ต้นครอบครัวก็จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ เพลงเกี่ยวกับแม่ หรือภาพประทับใจต่างๆ ที่ผู้ต้องขังจะต้องทำกิจกรรมเกี่ยวข้อง เช่น การเขียนจดหมายถึงแม่ หรือการเขียนเรียงความเกี่ยวกับความรักความประทับใจและสิ่งที่จะทำเพื่อแม่

ห้องสมุดแห่งนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียง “ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต” แต่ยังเป็น “ห้องสมุดที่มีชีวิต” ซึ่งผู้ต้องขังอยากเข้ามาใช้บริการ อยากเข้ามาอ่านหนังสือ เขียนหนังสือและทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมีชีวิตชีวา

ที่สำคัญ ที่ห้องสมุดแห่งนี้ยังมีต้นแรงบันดาลใจ และมีบุคคลต้นแบบ ที่เป็นฮีโร่ ของพวกเขาที่เป็นอดีตผู้ต้องขัง ที่พ้นโทษออกมาแล้วประสบความสำเร็จในสังคม เช่น คนดังๆ หลายคน หลายอาชีพ เคยต้องโทษมาก่อนแต่กลับออกมามีชื่อเสียงได้ ซึ่งรวมถึงนักมวยหลายคนที่กลายเป็นแชมป์โลกในเวลาต่อไป หลังจากฝึกมวยในเรือนจำ นอกจากนี้ผู้ต้องขังยังได้พบกับ “คำคม” หรือ “สุภาษิตสอนใจ” ต่างๆ หลากหลายที่จะพบในห้องสมุดแห่งนี้ เช่นคำคมที่กินใจ โดนใจ เพียงท่อนเดียวก็อาจเป็นพลังที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาได้

ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต ไม่ใช่ที่สำหรับมาอ่านหนังสือเพียงประการเดียว แต่เป็นที่กิจกรรมเชิงแก้ไขพฤติกรรมต่างๆ เช่น “โปรแกรมผู้กระทำผิดทางเพศ” ก็มาใช้ที่นี่ในการทำความเข้าใจและควบคุมพฤติกรรมทางเพศโดยอาศัยข้อมูลจากต้นไม้ต่างๆ สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งเร้า รวมถึงปรับทัศนคติ และเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นอกจากนี้ ยังใช้ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรที่มีอยู่ในห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต เช่นการค้นหาแรงบันดาลใจจากต้นไม้ ห้าต้นในห้องสมุด แต่การให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้คิดดี คิดได้ เท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องทำให้เกิดความสามารถที่จะทำได้ตามที่คิด จึงต้องมีการฝึกฝนที่จะทำให้ “ฝันให้เป็นจริง” โดยมีกิจกรรมการบรรยาย การฝึกสมาธิ สัมมนากลุ่ม การพบญาติ และการฝึกฝนอาชีพต่างๆ ประกอบด้วย เพื่อมิให้ความคิดที่อยากจะเปลี่ยนเป็นแค่ความคิด แต่นำไปสู่การเปลี่ยนชีวิตได้จริงหลังพ้นโทษ

ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต เป็นความร่วมมือของกรมราชทัณฑ์ กับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพของสหประชาชาติ ที่จะปรับเปลี่ยนห้องสมุดของเรือนจำ ให้มีผู้ต้องขังหญิงและชายสลับกันมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างปัญญา ให้มีความพร้อมสมดังชื่อของห้องสมุด “พร้อมปัญญา” ที่จะเตรียมผู้ต้องขังให้กลับสู่สังคมอย่างผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง

----------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 611205เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2016 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2016 00:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ห้องสมุดเป็นความคิดที่ดีมากค่ะ และอยากให้นักโทษได้มีโอกาสได้พูด ได้เล่าประสบการณ์ของตัวเองด้วยค่ะ เคยอ่านจดหมายของนักโทษในวารสารsectret ที่เขาเขียนมาขอบคุณทางบรรณาธิการและผู้เขียนว่าซีเคร็ดทำให้เขาคิดได้ แต่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดี แต่ข้อความสั้นมากค่ะ และในความรู้สึกเหมือนเราอยู่คนละโลก ทั้งที่อยู่ประเทศเดียวกัน น่าจะมีโครงการ เรื่องเล่าจะแดนไกลอะไรประมาณนี้ ให้เขาได้เขียนได้เล่าเรื่องราวของชีวิตเขา จะได้สะท้อนชีวิตจริงๆและ สร้างความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องของนักโทษ คนจะได้ไม่คิดว่าคนที่ทำผิดนั้นมีโทษต้องทำให้หลาบจำเท่านั้น แต่ต้องมีกลวิธีทำให้เขากลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ทำผิดเหมือนที่ผ่านมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท