วิพากษ์ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... ตอนที่ 4 : ว่าด้วย “สัดส่วนผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ในคณะกรรมการบุคคลฯ


วิพากษ์ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... ตอนที่ 4 : ว่าด้วย “สัดส่วนผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น” ในคณะกรรมการบุคคลฯ

21 กรกฎาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

วิพากษ์ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น [2] มา 3 ตอนแล้ว อดวกมาดูข้อห่วงใยของคนท้องถิ่นไม่ได้ ด้วยมีกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับ ที่เกี่ยวพันกันอยู่คือ (1) ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และ (2) ร่าง ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือกฎหมายจัดตั้ง อปท. ดูไปดูมา ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่น่าจะเกี่ยวพันกันเหมือนข้าราชการพลเรือน คือ “กฎหมายว่าด้วยสหภาพข้าราชการ (Syndicates)” รวมเป็น 3 ฉบับ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิชาการยังคงยืนยันว่า ใน “การบริหารงานยุคใหม่” นั้น ถือว่า “คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” หากการบริหารงานบุคคลหรือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลล้มเหลว เชื่อมั่นได้ว่า 80% ของกิจการจะล้มเหลว บ่งชี้ว่า คน คือ ตัวแปรสำคัญ การบริหารงานบุคคลจึงเป็นหัวใจของความสำเร็จ [3]

มาดูประเด็นผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตาม มาตรา 17 (3) [4] ไม่รวมประเด็นผู้แทนในคณะอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด (อ.ก.ถ. จังหวัด) ตาม มาตรา 28 [5]

หลากหลายความเห็นเรื่องสัดส่วนจำนวนผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น

เพราะ อปท. เป็นองค์กรที่เป็น “การเมือง” ที่มีบุคลากรฝ่ายบริหารและฝ่ายสภามาจากการเลือกตั้งที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง จึงถือเป็นฝ่ายการเมือง ที่นอกเหนือจากฝ่ายประจำ (ข้าราชการและลูกจ้าง)

(1) โครงสร้างของคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ควรกำหนดสัดส่วนให้เป็น 4 ฝ่าย หรือ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มส่วนราชการ กลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น (นายกฯ) กลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น (รวมลูกจ้างซึ่งเป็นฝ่ายประจำ) และ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นฝ่ายหนึ่งแยกออกจากตัวแทนของกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีจำนวนมาก พึงที่จะให้มีตัวแทนที่มีจำนวนเหมาะสมที่จะดูแลรับฟังปัญหาต่าง ๆ ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งลูกจ้าง และพนักงานจ้าง ได้อย่างทั่วถึง [6]

(2) ตามมาตรา 17 (3) กำหนด “สัดส่วนผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ผู้แทนผู้บริหารเท่ากับผู้แทนข้าราชการ ในทางปฏิบัติจริงการบริหารงานบุคคล อาจจะทำหน้าที่เพื่อความถูกต้องไม่ได้ โดยเฉพาะมติที่มีผลกระทบต่อฝ่ายประจำ เพราะการใช้มติด้วยสัดส่วนที่เท่ากัน แต่กรรมการอีกฝ่ายเป็นฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจและบารมีสูงกว่าฝ่ายประจำ โดยมิได้ตรวจสอบหลักฐาน ข้อเท็จจริง ที่ยังไม่อาจถือได้ว่า ถูกต้อง เป็นธรรม หากเป็นไปได้การขอให้มีมติ ต้องมีหลักฐาน ข้อเท็จจริง ประกอบมติที่ชัดแจ้งด้วย เพื่อให้สามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องของขั้นตอนตามกฎหมายได้

(3) มีผู้เสนอว่าสัดส่วนข้าราชการ ควรให้มีสัดส่วนที่มากกว่าฝ่ายการเมืองด้วยซ้ำ เพราะอาจมีปัญหาตามมาว่า ผู้แทนฝ่ายข้าราชการที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่แล้ว ต้องสามารถเป็นตัวแทน รับเรื่อง ดูแลปัญหาของข้าราชการ โดยรวมได้ หากไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้แทนได้ จะทำอย่างไร เพราะอีกสถานะหนึ่งของข้าราชการก็คือ ผู้ปฏิบัติรับใช้ตามนโยบายของฝ่ายการเมือง ที่ย่อมตกยู่ภายใต้อาณัติฝ่ายการเมืองได้ในทุกสถานการณ์

(4) ในคณะกรรมการ ก.ถ. รวมถึง อ.ก.ถ. จังหวัด การถ่วงดุล กลั่นกรอง เป็นสิ่งจำเป็น เพราะคนที่รู้จริงก็คือ อปท. เองว่าบ้านของตนเองเป็นอย่างไร หากมีมติไม่ถูกต้องก็ต้องมีหน่วยตรวจสอบที่มากกว่ามหาดไทย เช่น การตรวจสอบในผลประโยชน์ได้เสีย หรือการทุจริตต่าง ๆ ในการบริหารงานบุคคล อปท. โดยเฉพาะการเข้าตรวจสอบฝ่ายการเมืองท้องถิ่น หรือฝ่ายอื่นใดที่อาจมีช่องทางร่วมกันแสวงหาประโยชน์ เพื่อมิให้อำนาจไปผูกขาดอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการใช้ “ดุลยพินิจร่วมกัน” โดยเฉพาะบันทึกหลักการ ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณานั่นเอง

(5) ปัญหาทางปฏิบัติในระดับจังหวัด ซึ่งต่อไปจะหมายถึง “อ.ก.ถ.จังหวัด” ฝ่ายเลขานุการผู้เตรียมเอกสารวาระการประชุมจะมีบทบาทมาก สามารถชี้นำล็อบบี้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และส่วนราชการได้ กรรมการส่วนที่เหลือ คือ อปท. ได้แก่ นายกฯ ประธานสภาฯ และปลัดฯ จึงไม่สามารถมีมติสู้ได้ ซ้ำยังมีความเห็นแตกต่างขัดแย้งกันอีก แม้ตามร่าง พรบ. ใหม่มีการตัดกรรมการในส่วนของจังหวัดที่เป็น ประธานสภา อปท. ออกไป ทำให้เหลือสัดส่วนกรรมการ อปท. ที่เท่ากันก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นปัญหาอยู่เช่นเดิม ตามที่กล่าวในข้อ (3) ฉะนั้น การลงมติของคณะกรรมการฯ จึงอาจเป็นในรูปของ การดำเนินการตาม “ใบสั่ง” ที่ไม่ได้คิด ไม่ว่าจะมีประโยชน์แอบแฝงอื่นใดหรือไม่ ที่ไม่อาจตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการลงมติที่มีส่วนได้เสียสำคัญ ไม่ว่า กรณีวินัยอย่างร้ายแรง หรืออื่นใด ที่แม้ว่าจะเป็นการลงมติที่ผิดพลาด ก็ยังหาหลักฐานเพื่อเอาคนชี้นำผิดมาลงโทษมิได้ เป็นต้น

(6) แม้ตามร่างรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้มีการคุ้มครองข้าราชการ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ที่มิให้ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือมิให้ข้าราชการเอาอำนาจทางการเมืองไปแทรกแซงกันเองก็ตาม ในเรื่องนี้จะหมายรวมไปคุ้มครองถึงข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วยหรือไม่ เพียงใด เพราะในสถานะทางปฏิบัติของข้าราชการท้องถิ่น มักถูกกำหนดด้วยกฎหมายอีกหลายต่อหลายฉบับที่พิจารณาแล้ว “ไม่มีหนทางที่สถานะจะเท่าเทียมกับข้าราชการฝ่ายพลเรือนได้” ที่ผ่านมาข้าราชการส่วนท้องถิ่นบางคนจึงเสียอนาคต เสียผู้เสียคนไป ไม่ว่าจะเป็นด้านความเจริญก้าวหน้าตามระบบคุณธรรม เรื่องวินัย เรื่องการถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา เป็นต้น

ข้อเรียกร้องของกลุ่มข้าราชการแท่งวิชาการ และแท่งทั่วไป

แม้จะมีร่าง พ.ร.บ. การบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ… ฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ก็มิได้หมายความว่ารัฐบาล หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้นำร่างกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาทั้งหมด เพราะมีรายละเอียดข้อเสนอที่แตกต่างจากร่างที่ สนช. ได้รับร่างไว้ ได้จัดทำร่าง [7]

แม้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะเข้าแท่งเหมือนข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 ก็ตาม กลุ่มข้าราชการแท่งวิชาการ และแท่งทั่วไปยังมีกระแสข้อเรียกร้อง ที่เรียกภารกิจว่า “ทวงคืนคุณค่า ตามหาศักดิ์ศรี” สู่เป้าหมาย “คืนความเป็นธรรมของระบบราชการ” ที่สัมผัสได้ [8] ได้แก่ (1) การเรียกร้องขยายระดับควบของแท่งทั่วไป/วิชาการ เพราะจาก 4 แท่งเสมือนมี 2 แท่ง คือ แท่งเทพ และแท่งทาส (2) การเรียกร้องให้กำหนดมาตรการมาเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบซีเป็นระบบแท่ง ขอให้ผู้ที่บรรจุก่อนการเปลี่ยนระบบได้รับสิทธิเดิมที่เคยได้รับจากระบบซี และข้อเรียกร้องล่าสุด กระทรวงมหาดไทยได้รับไปพิจารณาแล้วก็คือ การเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งผู้แทนจากกลุ่มข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นแท่งทั่วไป/วิชาการ เพื่อเป็นคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ที่ราชการทุกสายงานเข้าไปทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานงานบุคคลของคน อปท. มิใช่จำกัดไว้ที่ตำแหน่งปลัด อปท. เท่านั้น [9]

การควบรวม อปท. แล้วได้อะไร

ในส่วนของกฎหมายจัดตั้ง อปท. เป็นข้อห่วงใยที่ผูกโยงมาการบริหารงานบุคคลว่า เมื่อมีการควบรวม อปท. เข้าด้วยกัน เพื่อหวังลดจำนวนให้น้อยลงแล้ว อปท. จะได้ประโยชน์อะไร

มีผู้ให้ความเห็นท้วงติงว่า การควบรวมท้องถิ่น อาจมิใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพราะหากยุบ 1-5 ท้องถิ่นให้รวมกัน แต่ยังใช้ฐานของพื้นที่ ประชากร รายได้ ซึ่งแต่ละ อปท. แทบจะไม่แตกต่างกัน บาง อปท. มีรายได้มากจัดเก็บเองได้มาก น้อย ต่างกัน เพราะสภาพพื้นที่ต่างกัน เมื่อเอา อปท. มารวมกันแล้วอาจไม่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น เพราะพื้นที่ ประชากร รายได้ และเงินอุดหนุนที่ได้รับมีเท่าเดิม [10] เพียงแต่ทำให้องค์กรใหญ่ขึ้นเท่านั้น ที่จะเป็นผลให้ฝ่ายประจำ มีตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น

มีคำถามว่า การควบรวม อปท. ประชาชนจะได้อะไร หรือเหมือนเดิม มองมุมกลับการบริหารอาจยากขึ้น เพราะพื้นที่ใหญ่ขึ้น ประชากรมากขึ้น แต่งบประมาณเท่าเดิม ซึ่งตามวิสัยทางการเมืองที่ต่างแบ่งงบประมาณที่น้อยลงพื้นที่ เพื่อแย่งฐานเสียงคะแนนกัน การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะต่อสู้กันรุนแรง ประชาชนแตกแยกกันยิ่งขึ้น สุดท้ายเวรกรรมก็จะตกที่ประชาชน

อีกประการหนึ่ง กระแสการควบรวม และเปลี่ยนชื่อ อปท. ไม่ได้หมายความว่าระบบการบริหารราชการของ อปท. จะเป็นเหมือนแบบข้าราชการ ก.พ. จึงเป็นการคาดหวังต่อการสร้างกระแสที่อาจหลงผิดว่า อบจ. เทียบเท่าส่วนกลาง เทศบาลเทียบเท่าส่วนภูมิภาค โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่เป็นการให้การบริการประชาชนด้านการปกครอง อปท. ทำหน้าที่ให้การบริการประชาชนในระดับปฏิบัติการตั้งแต่เกิดไปจนตาย ในพื้นที่ของใครของมัน เพราะการบริหารงานบุคคลของ อปท. เกิดจากการจัดเก็บภาษีของ อปท.เอง ฉะนั้น จึงเกิดภาระการคลังแก่ อปท. แต่ หน่วยราชการ ก.พ. ใช้งบประมาณจากส่วนกลางโดยตรงจึงแตกต่างกัน

กฎหมายว่าด้วยสหภาพข้าราชการ (Syndicates)

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 64 [11] บัญญัติให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ ฯ แต่ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

และ พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 43 [12] บัญญัติเนื้อหาให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ โดยเปิดโอกาสให้ข้าราชการมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มจัดตั้งสมาคม สหภาพ สมาพันธ์ สหกรณ์ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

ด้วยจำนวนข้าราชการพลเรือนที่มากเกือบสี่แสนคน [13] รัฐบาลโดย สำนักงาน ก.พ. จึงมีความพยายามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2554 ได้เสนอ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการ” [14] หรือ “กฎหมายว่าด้วยสหภาพข้าราชการ” (Syndicates) โดยมีวัตถุประสงค์ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ขอบเขตของเสรีภาพ ในเรื่อง (1) การรวมกลุ่ม (2) การรักษาความต่อเนื่องในการจัดทำบริหารสาธารณะ (3) การคงประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน (4) การไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง และ (5) เน้นข้าราชการสัมพันธ์ [15]

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนสหภาพข้าราชการ ของสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าว ไม่คืบหน้านัก ถูกเก็บดอง กลายเป็นหมันไป นอกจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกายังได้แก้ไขร่าง พรฎ. โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “พระราชกฤษฎีกาการรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. ….” [16] เรื่องจึงขาดหายชะงักไป

หันมาเทียบกับท้องถิ่น ที่มีจำนวนข้าราชการ (รวมลูกจ้าง) เกือบสี่แสนคน [17] จำนวนพอกับข้าราชการพลเรือน จึงถือเป็นกลุ่มจำนวนบุคลากรที่ใหญ่มากกลุ่มหนึ่ง ท่านอดีต ส.ส. ถวิล ไพรสณฑ์ ก็ได้พยายามเสนอกฎหมายการรวมตัวเป็นสหภาพของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเช่นกัน ล่าสุด เมื่อกลางปี พ.ศ. 2555 [18] ก็ได้นำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อที่ประชุมกลุ่มสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการรวมกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่นเฉกเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนทั่วไป

นี่คือความเคลื่อนไหว และข้อห่วงใยในสัดส่วนจำนวนบุคคลากรฝ่ายประจำที่มีจำนวนมากของท้องถิ่น




[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra & Vajarin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2559 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23096 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 43 วันศุกร์ที่ 22 – วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2559, หน้า 66, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... , (ฉบับ สปท.), http://www.thailocalgov2013.com/upload/ส่วนที่%20๒%20ร่างพรบ_ฉบับสปท_.pdf

[3] อุดม ทุมโฆสิต, จากเวทีสัมมนาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ… ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.), 4 กรกฎาคม 2559, http://www.thansettakij.com/2016/07/04/66677

[4] มาตรา 17 ให้มีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.ถ.” ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย

(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

(2) กรรมการผู้แทนส่วนราชการจำนวนหกคน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

(3) กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนแปดคน ประกอบด้วย

(ก) ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่นจำนวนสี่คนได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน นายกเทศมนตรีหนึ่งคน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน และนายกหรือผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งหนึ่งคน

(ข) ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นจำนวนสี่คนได้แก่ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน ข้าราชการเทศบาลหนึ่งคน ข้าราชการองค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน และข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งหนึ่งคน

(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการบริหารงานท้องถิ่น ด้านการศึกษา ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ ด้านกฎหมาย และด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวนแปดคน โดยให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

[5] มาตรา 28 ในจังหวัดหนึ่งให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัดคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารงานบุคคลสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบที่อยู่ในเขตจังหวัดนั้น เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ถ.จังหวัด” ประกอบด้วย

(1) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ

(2) อนุกรรมการผู้แทนส่วนราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนดจำนวนสี่คน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ถ.กำหนด

(3) อนุกรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในเขตจังหวัดจำนวนหกคน ประกอบด้วย

(ก) ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่นจำนวนสามคนได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน นายกเทศมนตรีหนึ่งคน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน

(ข) ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นจำนวนสามคนได้แก่ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน ข้าราชการเทศบาลหนึ่งคน ข้าราชการองค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน

(4) อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการบริหารงานท้องถิ่น ด้านการศึกษา ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ ด้านกฎหมาย และด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวนหกคน โดยให้มีอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

ให้หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

ในกรณีที่จังหวัดใดตามวรรคหนึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งอยู่ในจังหวัด ให้เพิ่มผู้แทนส่วนราชการในจังหวัดสองคน ผู้แทนบริหารท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งหนึ่งคน ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิสองคน ประกอบเป็นอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (4) ของวรรคหนึ่งให้นำความในมาตรา 19 มาใช้บังคับ เว้นแต่คุณสมบัติตาม ก.3(1) และ (2) ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

(1) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะกรรมการพนักงานเทศบาล คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล หรือคณะกรรมการเมืองพัทยา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

(2) เคยเป็นข้าราชการตำแหน่งไม่ต่ำกว่าประเภทอำนวยการสูง ประเภทอำนวยการท้องถิ่นสูงหรือประเภทวิชาการเชี่ยวชาญ หรือเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในการทำงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านใดด้านหนึ่ง ตามมาตรา 17(4) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี นับถึงวันสมัคร

[6] พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง, นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย, จดหมายเปิดผนึก ถึง รมว.มหาดไทย : ขอให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ... (ฉบับของ สปท.), 7 มิถุนายน 2559

[7] สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก) จัดประชุมเผยแพร่ ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ .... หลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานบุคคลองค์กรท้องถิ่น พ.ศ…., 11 กรกฎาคม 2559, https://th-th.facebook.com/314671658581245/posts

& เวทีสัมมนาร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานบุคคลองค์กรบริหารท้องถิ่น พ.ศ…. ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.), 29 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ จังหวัดนนทบุรี, http://www.lrct.go.th/th/?p=19959

[8] กิตติยา ทิพยโสตถิ (tiya Tippayasotti), ภารกิจ “ทวงคืนคุณค่า ตามหาศักดิ์ศรี”, 14 กรกฎาคม 2559, ประธานสมาพันธ์ข้าราชการสายทั่วไป/วิชาการ อปท. ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ณ ทำเนียบรัฐบาล ตอบตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0209.2/11066 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2559

[9] ว่าด้วย ตัวแทนในคณะกรรมการ ก.ถ. “ ข่าวดีสำหรับสายทั่วไปวิชาการ แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับวงการปลัด อปท.”, 18 กรกฎาคม 2559, http://www.topicza.com/news8940.html?f=160

ข้อเสนอของนางกิตติยา ทิพยโสตถิ ประธานสมาพันธ์ข้าราชการสายทั่วไป/วิชาการ อปท. แนวทางการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้แทนจากกลุ่มข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

ถึงกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ที่ สผ (สปท) 0001/4079 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 เรื่อง ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น,

ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0209.2/11066 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2559 เรียน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่อง รายงานผลการพิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ข้าราชการสายทั่วไป/วิชาการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.topicza.com/news7278.html?f=2900

[10] อปท. เล็ก คัดค้านการควบรวม ร้องสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (สทท.), ข่าว สยามรัฐรายวัน กรอบวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2559 หน้า 10 & เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยื่นหนังสือต่อรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คัดค้านการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 25 มีนาคม 2559, http://nwnt.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail?NT01_NewsID=WNPOL5903250010008

[11] มาตรา 64 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น

ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ

[12] มาตรา 43 ข้าราชการพลเรือนสามัญมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ และต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

[13] จำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญ 361,445 คน ระดับผู้บริหาร 1,108 คน รวม 362,553 คน ข้อมูลกำลังคน ก.พ. ปี 2553

[14] ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. .... (48 มาตรา), www.phrae.go.th/file_data/540628.pdf

& ก.พ.ผ่านกฎหมายตั้งสหภาพข้าราชการ, ไทยรัฐออนไลน์, 23 ธันวาคม 2553, http://www.thairath.co.th/content/pol/136417

[15] ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนสหภาพข้าราชการ, สำนักงาน ก.พ., 2554, http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/POPProvince/02Union.pdf

[16] ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนสหภาพข้าราชการ, อ้างแล้ว.

[17] ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กุมภาพันธ์ 2558 จำนวนบุคลากรของ อปท. ดังนี้ ข้าราชการ 173,547 คน ลูกจ้างประจำ 19,687 คน พนักงานจ้าง 211,279 คน รวมบุคลากรฝ่ายประจำ 404,513 คน (ข้อมูล ดร.จรัส สุวรรณมาลา, 2557, ข้าราชการท้องถิ่น จำนวน 392,945 คน)

[18] “ร่างพระราชบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .....” (สส.ถวิล ไพรสณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์, มิถุนายน 2553), http://www.tessaban.com/tessaban2008/images/stories/book/sssociation.pdf

& ดู ร่างพระราชบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …., 26 เมษายน 2553, http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/download/article/article_20111012110400.doc



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท