ปัญหาภาษาไทย....ฟัง...ไม่เป็น


ผลของการขาดทักษะการฟังนี้ ยังส่งผลโดยตรงถึง การพูด การอ่าน และ การเขียน อันเป็นทักษะสำคัญของการเรียนของเด็ก ๆ อีกด้วย


" วันนี้..ใครไม่ได้ส่งการบ้านบ้าง"

" ผมส่งครับ...หนูส่งค่ะ "

" ใครมีหนังสือวรรณคดีลำนำติดกระเป๋ามาบ้าง"

" ผมไม่มีครับ หนูไม่มีค่ะ"


มิตรรักแฟนเพลงที่อาชีพเดียวกับคุณมะเดื่อ

และเป็นครูประถมศึกษาเหมือนคุณมะเดื่อ คงมี

ประสบการณ์ กับการถาม - ตอบเหมือนกับที่

คุณมะเดื่อได้เจออยู่บ่อย ๆ

" คำตอบที่ไม่ตรงกับคำถาม "




จากประสบการณ์ที่คุณมะเดื่อวนเวียนอยู่กับโรงเรียน

อยู่กับเด็ก ๆ และอยู่กับการเรียนการสอน มา ๓๗ ปีเต็ม

พบว่า....ยุคสังคมโซเชียลนี้ เด็กประถม...

" ไม่ฟัง ...ฟังไม่เป็น...ฟังไม่รู้เรื่อง (ไม่เข้าใจ) "

เพิ่มมากขึ้นทุกปี ในชั่วโมงเรียนเด็ก ๆ คุยกันไม่สนใจ

ว่า ครูจะพูดหรือสอนอะไร แม้ในเวลาทำงาน

เด็ก ๆ ก็จะคุยกันตลอดเวลา.....เมื่อครูถามคำถาม

เด็ก ๆ ก็จะตอบทันทีโดยไม่ต้องคิดอะไร และ มักจะ

เป็นคำตอบที่ไม่ตรงกับคำถามของครู.....




การฟัง....คือ ปัจจัยสำคัญยิ่งของการเรียนรู้ของเด็กปกติทุกคน

แม้ทางทฤษฎีจะกล่าวไว้ว่า การเรียนรู้ที่เกิดจากการฟัง

จะมีเพียง ร้อยละ ๒๐ ก็ตามหากเด็ก ๆ

ไม่มีทักษะในการฟัง ฟังไม่เป็น ฟังไม่เข้าใจ

ไม่มีสมาธิในการฟังแล้ว ก็เท่ากับไม่เกิดการเรียนรู้

ในด่านแรกของปัจจัยทีเดียว




หากย้อนรำลึกนึกถึงเด็ก ๆ ในระยะแรก ๆ ที่คุณมะเดื่อเคยสอน

( เป็นธรรมดาของครูเก่า และแก่ที่สอนมานานย่อมมีข้อเปรียบเทียบ

ยุคต่อยุค รุ่นต่อรุ่น น่ะแหละ) ซึ่งปัจจุบัน เด็ก ๆ รุ่นนั้นก็อาจจะ

เป็น พ่อ แม่ หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย ของนักเรียนปัจจุบันนี้

เด็ก ๆ ในระยะแรก ๆ เป็นเด็กที่มีทักษะการฟังที่ดีมาก ฟังเข้าใจ

สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของครูได้ถูกต้อง ห่างไกลจากเด็กรุ่นปัจจุบัน

มากที่เดียว สังเกตดูว่า เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้ หากครูสั่งอะไร ก็ต้องย้ำแล้ว

ย้ำอีก ถึงก็ต้องให้เด็กทวนคำพูดของครู อีกอย่าง ถ้าเป็น

คำสั่งซ้อน ครูจะต้องพูดช้า ๆ และให้เด็กทวนคำพูดของครูด้วย

เช่น ครูสั่งให้ไปเอากระดาษเอ.๔ ที่โต๊ะครู

ซึ่งอยู่ในห้องพักครู หากพูดครั้งหรือสองครั้ง

เด็กจะจำไม่ได้ว่าครูให้ไปเอาอะไร ...?




หากจะถามถึงสาเหตุของ " ความบกพร่องในการฟัง" ของเด็ก ๆ ยุคใหม่นี้

ว่า เกิดจากอะไร ก็คงจะอนุมาน ได้ว่า.....

๑. ความล้มเหลวของสถาบันหลัก คือ " ครอบครัว " ปฏิสัมพันธ์

ระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ลดน้อยลง พ่อ แม่ หรือ

ผู้ปกครอง ไม่ค่อยได้พูดสื่อสารกับลูกหลาน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง

ไม่มีเวลาที่จะพูดจา สนทนา กับเด็ก ๆ เหมือนพ่อ แม่

ผู้ปกครองสมัยก่อน ๆ ซึ่งจะสืบเนื่องมาจากสาเหตุใด

ก็แล้วแต่ เหตุผลของแต่ละครอบครัวละกัน

๒. ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่แพร่หลาย ระบาด

อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก และสมาชิกในครอบครัว

มีอิทธิพลสูงมาก จนดึงเวลาของสมาชิกในครอบครัว

ที่จะพูดจาก สื่อสารกันด้วยวาจาไปจนแทบหมด

ซึ่ง ทำให้การพูดคุยกันของสมาชิกในครอบครัวไป

ปรากฏอยู่หน้าจอมือถือ แทนที่การพูดคุยกันโดยตรง

ก็อาจจะเป็นได้

๓. ภารกิจ ในชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ การทำมาหากิน

กับการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบของคนในปัจจุบัน

ทำให้ปฏิสัมพันธ์ ของบุคคลทั้งในครอบครัว และในสังคม

เกิดเป็นช่องว่างที่กว้างขึ้นทุกขณะ จะเห็นว่า แม้แต่

คนในครอบครัวเดียวกัน ก็ต้องพูดคุยกันทางหน้าจอ

มือถือ หรือโทรศัพท์ติดต่อกันในการทำภารกิจระหว่างวัน



สาเหตุทั้งสามประการนี้ ไม่ได้อ้างอิงจากตำราใด ๆ นะจ๊ะ

แต่ เป็นการอ้างอิงจากประสบการณ์และการสังเกตของตัวเอง

ซึ่งใครจะเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นตามนี้ ก็ไม่ผิดเพี้ยนประการใด

เพราะนี่คือ ความคิดเห็นส่วนตัวของคุณมะเดื่อเองจ้ะ




ผลของการขาดทักษะการฟังนี้ ยังส่งผลโดยตรงถึง การพูด การอ่าน

และ การเขียน อันเป็นทักษะสำคัญของการเรียนของเด็ก ๆ อีกด้วย

คุณมะเดื่อจะขอกล่าวถึงในบันทึกต่อ ๆ ไปจ้ะ


หมายเลขบันทึก: 610909เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2016 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2016 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

Thank you for this blog.

It is an important issue for children development. We like our human resources to be sufficient (or just right) in listening, speaking, thinking and doing.

But from news, I would say many adults can learn to listen and to answer directly too ;-)

ปัญหาคล้ายๆกับผมเลยครับ

สวัสดีจ้ะอาจารย์ sr การฟังเป็น ฟังเข้าใจ

ของนักเรียน เป็นพื้นฐานที่จะนำไปเป็นเครื่องมือ

ในการเรียนรู้ และใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป

แต่การฟัง หรือการโต้ตอบของผู้ใหญ่

เป็นอีกเหตุผลหนึ่งจ้ะ ขอบคุณที่ให้กำลังใจจ้ะ

หวัดดีจ้ะอาจารย์ต้น ไม่เฉพาะครูต้น กับครูมะเดื่อ

เท่านั้นที่พบปัญหาแบบนี้ คุณมะเดื่อว่า คงจะเหมือน ๆ กัน

ทั่วบ้านทั่วเมืองแหละจ้าา ขอบคุณสำหรับกำลังใจนะจ๊ะ

คิดถึงที่ลูกๆเคยเล่าให้ฟัง คิดว่ารุ่นคุณครูของเราก็มีแล้วเหมือนกันนะคะ ครูที่ไม่ฟังเด็กถาม และตอบไม่ตรงกับที่ถามก็มีค่ะ เป็นที่น่าเป็นห่วงจริงๆ บ้านและครอบครัวเป็นต้นทางที่สำคัญจริงๆค่ะ เพราะเราก็ต้องเป็นคนอธิบายให้ลูกเข้าใจคุณครูแบบนั้นด้วยเหมือนกัน

เห็นใจครูมะเดื่อจริงๆค่ะ ที่ต้องเจอทั้งเด็กและ"รุ่นน้อง"ที่มีปัญหานี้ เป็นปัญหาระดับชาติเลยนะคะนี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท