เจ้าแม่สองนางสถิต(เรื่องเล่าอื่นๆ)


ตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระธิดาหรือลูกหลานของเจ้าเมืองหรือนักรบเวียงจันทน์ในสมัยโบราณ เป็นบุคคลสำคัญที่ชาวบ้านในอีสานหลายจังหวัดเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของตนมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถปกป้องคุ้มครองให้ตนและชุมชนรอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวงได้

ตำนานเจ้าแม่สองนางส่วนใหญ่มีลักษณะโครงเรื่องที่คล้ายกัน คือ พระธิดาหรือลูกหลานของเจ้าเมือง หรือนักรบ ซึ่งเป็นพี่น้องกันหรือฝาแฝดกัน ล่องเรืออพยพมาตามแม่น้ำโขง แล้วเรือล่มเสียชีวิตในแม่น้ำโขง ต่อมาวิญญาณได้ปรากฏให้ชาวบ้านตามชุมชนต่าง ๆหรือเป็นผู้ติดตามนักรบไปทางบก ต่อมาเสียชีวิตบ้าง ตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางเป็นเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับประวัติการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนและชุมชนที่เคยเป็นหัวเมืองเก่าในสมัยอาณาจักรล้านช้างมาก่อนเกือบทั้งสิ้น

เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางนอกจากจะเป็นความเชื่อร่วมกันของผู้คนที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์แล้ว
ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มชนในแต่ละกลุ่มชนว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน หรือได้อพยพหนีภัยสงครามมาจากนครเวียงจันทน์เหมือนกันและอาจจะอยู่ในช่วงสมัยเดียวกัน

ตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางเป็นเรื่องเล่าที่แพร่หลายในชุมชนชายฝั่งแม่น้ำโขงและภาคอีสานตอนกลางที่มีศาลหรือหอเจ้าแม่สองนางตั้งอยู่หลายพื้นที่ คือ ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ ตำบลเวียงคุก ชุมชมวัดหายโศก อำเภอเมือง และ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ บ้านแพงใต้ ตำบลบ้านแพง อำเภอบ้านแพง บ้านนาเขท่า ตำบลนาเข อำเภอบ้านแพง บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น บ้านสิงห์ท่า และบ้านสิงห์โคก อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

ชุมชนต่าง ๆ ที่นับถือเจ้าแม่สองนางจึงต้องบวงสรวงและเซ่นไหว้เป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตนรวมทั้งการร้องขอความอุดมสมบูรณ์และความสันติสุขของชุมชน ในทุกชุมชนยังมีความเชื่อในตำนานเรื่องเจ้าแม่สองนางอย่างแนบแน่นและยังถือปฏิบัติการบวงสรวงเซ่นไหว้ในช่วงเดือน ๖ กันเป็นประจำทุกปี

ตำนานและความเชื่อเรื่องเจ้าแม่สองนางในเขตชุมชนเมืองและจังหวัดมักจะได้ความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะหน่วยงานการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดจะนำตำนานเกี่ยวกับเจ้าแม่สองนางลงในเว็บไซต์ของจังหวัดในเชิงประชาสัมพันธ์สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของจังหวัด จึงทำให้ตำนานและความเชื่อเรื่องเจ้าแม่สองนางได้รับการเผยแพร่และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในเมืองไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน

หมายเลขบันทึก: 610288เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท