พระบ้านนอกกับพระในเมือง : ความแตกต่างสมัยใหม่


พระบ้านนอกกับพระในเมือง : ความแตกต่างสมัยใหม่

14 กรกฎาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

วันนี้วกมาพูดเรื่องบ้าน ๆ ในสถาบันทางสังคมสถาบันหนึ่งที่ชาวบ้านเคารพนับถือบูชากันหน่อย คือ ว่าด้วยพระในสังคมชาวบ้าน หรือ เรื่องพระสงฆ์ในสังคมชนบท ที่มีทั้งพระไสยศาสตร์ พระสายวิปัสสนา พระการเมือง พระพุทธพาณิชย์ เพราะ “ความจำเป็นของพระสงฆ์ที่มีต่อชุมชนยังมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ ศูนย์กลางพัฒนาชุมชน หรือ เป็นตัวแทนของผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมของพระพุทธศาสนา”

บทบาทพระสงฆ์ไทยบ้านนอก

นอกชนบทแต่ละหมู่บ้านจะมีวัดประจำหมู่บ้านของตนทุกหมู่บ้าน เพื่อ “เป็นศูนย์กลางเป็นสมบัติรวมของคนทั้งหมู่บ้าน” วัดจึงเป็นศูนย์รวมประชาชนและมีบทบาทต่อสังคมบ้านนอกมากมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน อาทิ วัดเป็นสถานศึกษา สำหรับชาวบ้านจะส่งบุตรมารับการ ฝึกอบรม ทางศีลธรรมและเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ เป็นสถานสงเคราะห์ บุตรหลานของชาวบ้านที่ยากจน ได้มาอยู่ อาศัยเลี้ยงชีวิตและศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนผู้ใหญ่ที่ยากจนมาอาศัยเลี้ยงชีพ เป็นสโมสรที่ชาวบ้านพบปะสังสรรค์ และพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่บันเทิง ที่จัดงานเทศกาลและมหรสพต่าง ๆ สำหรับ ชาวบ้าน เป็นศูนย์กลางการบริหารหรือการปกครอง ที่กำนันหรือผู้ใหญ่- บ้าน จะเรียกลูกบ้านมาประชุม เพื่อบอกแจ้งกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเป็นที่ประกอบพิธีกรรมหรือให้บริการด้านพิธีกรรม อันเป็นเรื่อง ผูกพันกับชีวิตของทุกคนในระยะต่าง ๆ ของชีวิต ฯลฯ เป็นต้น

แต่ในช่วง 70-80 ปีที่ผ่านมา บทบาทของวัดและพระสงฆ์เริ่มสูญเสียไป เริ่มจากสังคมเมืองไปสู่สังคมชนบท เพราะความเจริญแบบตะวันตก (Westernization) เข้ามาสู่สังคมไทย [2] พระสงฆ์ไทยจึงเริ่มขาดพัฒนาการทางสังคมที่ติดยึดกับบ้านลงเรื่อย ๆ

การตรวจสอบและถ่วงดุลกัน

มีข้อสังเกตว่า พระกับสังคมชนบท และองค์กรชุมชน อาจมีการ “ตรวจสอบและถ่วงดุลกัน” มีเฉพาะในสังคมชนบทส่วนใหญ่ ที่ไม่มีในสังคมเมือง เพราะ สังคมบ้านนอก วัดยังเป็นศูนย์กลางทางสังคมที่เข้มแข็ง ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของบ้านนอก (Rural Identity) อยู่ โดยเฉพาะสังคมชนบทบ้านนอก ห่างไกล แต่ในสังคมเมืองกลับกลายเป็นว่า ได้สูญเสียอัตลักษณ์ส่วนนี้ไปหมดสิ้นแล้ว ในสังคมเมือง จึงเป็นเพียง “สถาบันเชิงสัญลักษณ์ของชุมชน” เท่านั้น ฉะนั้น ในสังคมบ้านนอก หากวงการพระสงฆ์ หรือวัดมีการผิดศีล ผิดทำนองคลองธรรม บ้านนอกจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ถึงขนาดประท้วง จับพระสึกได้ ด้วยพลังของคนในชุมชน เป็นต้น วงการพระบ้านนอก ส่วนใหญ่จึงยังคงถือว่ามีความบริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อนมลทินเหมือน พระในสังคมเมืองใหญ่ ที่ขาดองค์กรชุมชนที่จะตรวจสอบในส่วนนี้ไปหมด ความมิดีมิร้ายในวงการสงฆ์จึงเป็นอีกแบบ ที่ปิดซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งอาจมีรูปแบบต่าง ๆ ที่เห็น อาทิ พุทธพาณิชย์ [3] พระการเมือง เพราะ หากเป็นเช่นนี้ในชนบท แน่นอนเหลือเกินว่า พระพาณิชย์ พระการเมือง อาจไม่รอดพ้นจากการที่ถูกสังคมบ้านนอกประณามขับไล่ เป็นต้น

อลัชชีมีเยอะไหม

ในเรื่อง พระอลัชชี [4] หรือพระที่มิใช่พระ ดูอย่างสังคมต่างประเทศข้างเคียง ที่พม่า ที่สังคมตราว่าล้าหลัง แต่ในด้านศาสนากลับเป็นว่า พุทธศาสนาในพม่าบริสุทธิ์กว่า การผิดทำนองคลองธรรมไม่ได้เลย พุทธศาสนิกชนค่อนข้างเคร่งครัดมากกว่าฝ่ายไทยมาก

ในสังคมเมืองไทย ญาติโยมในเมืองใหญ่ หรือ กทม. มีการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระ ด้วยลาภ ยศ เงินทอง มีสำนักพระที่ออกหน้าออกตา ใหญ่โต เป็นต้น เอาเป็นว่า ค้ำจุนกันอย่างออกหน้าออกตาที่จะผิดแผกแตกต่างจากชนบทมาก อันเป็นที่มาของความเสื่อม หรือ อลัชชีที่แอบแฝงอยู่ในสังคมเมืองที่หลงระเริงมากมาย

ตัวอย่างพระในเมืองที่ไม่เคร่งครัดเหมือนพระบ้านนอก อย่างเช่น ไม่บิณฑบาต แต่กลับมีปัจจัยทรัพย์สิน มากมาย เลี้ยงญาติโยมได้ มีการขยายอาณาจักรวงการความเคารพนับถือไปในหมู่ญาติโยม แถมอาจมีการเมืองมาปน เสริมสร้างบารมีแก่นักการเมืองได้ แม้อาจมองว่าเป็นเรื่องดี ในแค่ชั่วเวลาขณะใดขณะหนึ่ง แต่สุดท้ายวงการสงฆ์ก็อาจเสื่อมลง เพราะไม่เป็นไปตามแนวทางพระธรรมวินัยที่สังคมไทยยึดถือมาแต่เก่าก่อน

นี่ยังมีข่าว เรื่องพระอิทธิพล พระใบ้หวย พระไสยศาสตร์ อาคม พระหลอกสาว พระเณรแอ อีกหลายอย่าง ที่สังคมบ้านนอกหลายแห่ง แม้สังคมเมือง ต่างยังหลงเชื่อคลั่งไคล้ ในกระแสสังคมบริโภคที่หวังร่ำรวยทางลัด โดยหวังวาสนา อำนาจลึกลับ ให้มีโชคลาภ ร่ำรวย โดยไม่มีการพัฒนาสังคมที่เป็นรูปธรรม

เอาเป็นว่า ถึงตรงนี้ก็ลองชั่งน้ำหนักดูว่า พระอลัชชี หรือ ไม่อลัชชี ระหว่างวัดบ้านนอก กับวัดในเมือง ที่ใดจะมี “อลัชชี” มากกว่ากัน

นี่ไง มีข่าวการจับกุมพระปลอมกันที่จังหวัดแห่งหนึ่งในภาคีสาน เป็นพระปลอมกันทั้งหมู่บ้าน เพื่อออกเรี่ยไร ไปตามเมืองใหญ่ ทำได้ไง เป็นอาชีพเลย ก็เพราะความอ่อนแอของ “สถาบันทางสังคมศาสนา” ที่แตกต่างกันระหว่างพระบ้านนอก กับพระในเมืองนั่นแหละ

แน่นอนว่า “ธรรมมะต่างหาก ที่อยู่เหนือกาลเวลา” พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อมตะ จีรังยั่งยืน ไม่ตาย ซึ่งพักหลังนี้ สังคมตะวันตก อย่างเช่น ประเทศอิตาลี เยอรมัน ต่างยกย่องให้เครดิตในพระพุทธศาสนามาก กระทั่งประเทศอิตาลีถึงกับประกาศให้ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” เลยทีเดียว [5]

พระกับการเมือง

พระมาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองได้อย่างไร เรื่องนี้ มีแนวคิดว่า เพราะพระสงฆ์ไม่ได้หนีไปจากสังคมแต่ประการใด ดังนั้น บทบาทหน้าที่ที่สำคัญ คือ การตอบแทนแก่ชาวบ้าน ซึ่งการตอบแทนแก่ชาวบ้านนั้น พระสงฆ์จะทำตอบแทนอย่างไร แค่ไหน จึงจะเหมาะสม พอดีและพองาม ในส่วนของคฤหัสถ์หรือชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำให้บ้านเมืองสงบสุขนั้น พระสงฆ์ได้วางตนดำรงสถานะอย่างไรต่อเรื่องดังกล่าว เพราะความหมายหนึ่งที่พระสงฆ์ให้ความสำคัญ คือ การเมือง หมายถึง การจัดการทำให้คนที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เป็นไปอย่างสันติสุข สงบสุข [6] เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสงฆ์ย่อมมีหน้าที่โดยตรงเช่นกันที่จะสอนธรรม แสดงธรรม หรือเผยแผ่ธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สุข สันติสุขแก่ชาวเมือง

หลายประเทศที่พระสงฆ์จึงเข้าไปมีบทบาททางการเมือง จากการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองมาก เช่น ประเทศศรีลังกา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า

ที่ผ่านมาถึงขนาดเป็นประวัติศาสตร์ พระสงฆ์พม่าได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมประท้วงทางการเมือง ดังตัวอย่างในปี 2531 (1988) ที่มีการประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลทหาร ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 3,000 คน ซึ่งคาดว่ามีพระสงฆ์และสามเณรรวมอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิต และพระจำนวน 100 รูปที่เข้าร่วมการประท้วงครั้งนั้นได้ถูกจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปีด้วย เป็นต้น [7]

ในประเทศไทยอดีตเอาไม่ไกลแค่ 40 ปีก่อนสมัยคน 14 ตุลา 2516 ที่ได้สร้างคนนักปฏิวัติสังคมหลายคน ทั้งเข้าข้างฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็ตาม การสนับสนุนการปฏิวัติสมัยก่อน เรียกร้องโค่นล้มเผด็จการ รัฐประหารดูออกจะง่ายมากกว่าในปัจจุบัน เพราะสังคมยังอาจบริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อนเหมือนปัจจุบันที่ร้อยพ่อพันแม่

ปัญหาคำถามในเรื่องความเหมาะสม เป็นเรื่องยากที่สังคมต้องตัดสิน เพราะ เป็นความก้าวหน้าของสังคมยุคติจิตอล ออนไลน์ 4.0 [8] ความเปลี่ยนแปลงย่อมมีเป็นธรรมดาตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป

ท่านคิดอย่างไรกับพระบ้านนอก พระในเมือง ท่านยังเห็นว่า พระเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญสถาบันหนึ่งอยู่เพียงใด และจะมีแนวทางในการอุปถัมภ์ค้ำชู หรือที่เรียกว่า “สร้างศรัทธา” เหมือนดังเช่นสังคมบ้านนอกในภาคเหนือที่จะมีชุมชนบ้านนอกท้องถิ่น เรียกว่า “คณะศรัทธา” คอยอุปถัมภ์ค้ำชูสถาบันพระสงฆ์อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าวัดจะมีกิจกรรมทางศาสนาหรือชุมชนในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม

โดยเฉพาะถือเป็นบทบาทหน้าที่ขงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “การส่งเสริมและสนับสนุนที่ให้ประโยชน์ บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น” หรือ การส่งเสริมการศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม นั่นเอง



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2559 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23089 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 42 วันศุกร์ที่ 15 – วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2559, หน้า 66, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในสังคมไทย, เวบบ้านจอมยุทธ, www.baanjomyut.com/library/thai_culture3/03.html

[3] พุทธพาณิชย์ คือ การใช้ความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาพุทธ มาทำให้เกิดรายได้หรือข้าวของเงินทองให้กับตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดกับหลักคำสอนของพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดูใน http://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net/พุทธพาณิชย์/

[4] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, อลัชชีว. ไม่อาย นอกจารีต. น. ผู้ไม่อาย (ใช้แก่นักพรต) ผู้ประพฤตินอกจารีต เช่น พระรูปนี้เป็นอลัชชี. (ป.).

& คำวัด - อลัชชี-เดียรถีย์, 1 เมษายน 2554, www.komchadluek.net/news/lifestyle/93497

“พระปลอม” และ “พระนอกรีต” คือ คนห่มผ้าเหลืองที่เรียกตัวเองว่า “พระ” และให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นพระ แต่ทำในสิ่งที่ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระไม่ควรทำ เช่น ใบ้หวย ดูหมอ

[5] พุทธศาสนา…เป็นศาสนาประจำชาติอิตาลี...แล้วครับ, เว็บบอร์ด วิชาการ.คอม, 26 กันยายน 2550, www.vcharkarn.com/vcafe/120279

& 8 สิงหาคม 2551, http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2008/08/Y6873987/Y6873987.html

& http://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=8259

อิตาลีได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ยกพระพุทธศาสนาให้เป็นหนึ่งในศาสนาสำคัญของชาติ ไม่ต่างอะไรกับศาสนาคริสต์

ปัจจุบันอิตาลีได้รับรองสถานะพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ลงนามความตกลงกับประธานสหภาพสมาคมพุทธในอิตาลี เพื่อให้พุทธศาสนามีสถานะเป็นทางการในอิตาลี ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถแสดงความจำนงให้แบ่งภาษีในอัตราร้อยละ 0.8 ของภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐบาล เพื่อบริจาคให้องค์กรทางพุทธศาสนาได้

& ดูใน “ต่อไปพุทธศาสนาอาจจะเติบโตในยุโรป”, 27 ตุลาคม 2558, http://pantip.com/topic/34365410 & 6 มิถุนายน 2559, http://board.postjung.com/969927.html

[6] พุทธทาสภิกขุ, ม.ป.ป.: 6

[7] ชูชาติ สุทธะ, พระสงฆ์กับการเลือกตั้ง:ส่งเสริมประชาธิปไตยหรือทำลายความเป็นกลาง, รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา, ในวารสาร บัณฑิตศึกษาปริทรรศน์ ฉบับพิเศษ (วิทยาเขตพะเยา) ประจำปี 2555, www.mcupyo.com/2013/research/word/2พระสงฆ์กับการเลือกตั้งส่งเสริมประชาธิปไตยหรือทำลายความเป็นกลาง%20%20ชูชาติ%20สุทธะ.docx

[8] ยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม - Digital Thailand 2016, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 5 เมษายน 2559, www.digitalthailand.in.th/drive/Press/แผนพัฒนาดิจิทัล.pdf

หมายเลขบันทึก: 610253เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 07:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 07:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you.

This is informative and useful - especially info on the roles of monks in rural areas.

The capacity of monks to influence rural development should be further evaluated and enhanced. Dhamma-society (of the 21C) may be realized sooner via rural monks!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท