ครั้ง สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เสริมรายได้ชาวสวนยาง


ครั้ง สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เสริมรายได้ชาวสวนยาง

ต้นลำไยใบสีเขียว ชูช่อมีลูกเม็ดเล็ก ๆ กำลังติดลูก ลุงผัด สุกันทา เกษตรกร ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เจ้าของสวนมองดูอย่างมีหวังมากที่สุดกว่าในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้ ได้ทุ่มทุนตัดแต่งกิ่ง บำรุงใส่ปุ๋ย จนต้นลำไย เจริญงอกงาม แตกผลิใบ ปิดท้ายด้วยการใส่สารโปรแตสเซี่ยมคลอเรตอีกชุดใหญ่ เพื่อกระตุ้นการแทงช่อออกดอกของต้นลำไย


ปีที่แล้วลำไยราคาดี เกษตรกรเพื่อนบ้านหลายคนขายลำไยได้เงินหลักแสนบาท ขณะที่สวนของลุงผัดขายได้เงินมาไม่มาก ทั้งนี้เพราะผลผลิตรวมทั้งสวนได้ไม่เยอะ จากการวิเคราะห์ของตัวเองว่าที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้ดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร เนื่องด้วยขาดเงินทุนปัจจัย และต้องทำงานด้านอื่นควบคู่ไปด้วย หากนับย้อนเวลาเมื่อประมาณสิบปีที่แล้วลุงผัดได้นำกล้าลำไยมาจากจังหวัดลำพูนมาปลูกในสวน จากคำชักชวนและแนะนำของเพื่อนบ้าน เพราะตนเองมีพื้นที่ว่างเปล่าไม่รู้จะปลูกอะไรดี ฉะนั้นสวนลำไยจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งและคาดหวังจะเป็นพืชเศรษฐกิจมาจุนเจือเศรษฐกิจครอบครัว แต่ตลอดระยะสิบกว่าปีไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เพราะยังไม่เคยได้ขายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย บางปีที่ผลผลิตออกมาเยอะ สวนทางกับราคาไม่ดี ขณะที่บางปีที่ราคาดี ผลผลิตไม่เยอะ ฉะนั้นปีนี้จึงมีความหวังเต็มเปี่ยมกับสวนลำไยจากการทุ่มเทดูแลที่ผ่านมาและแนวโน้มราคาทีดีต่อเนื่องตลอด

ช่วงบ่ายวันหนึ่งปลายเดือนเมษา กลางปี 2548 อากาศอบอ้าว มวลอุณหภูมิก่อตัวอย่างช้า ๆ ลมร้อนค่อยๆ พัดมา แล้วทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ก่อนสาดใส่สรรพสิ่งที่ขวางหน้า ลูกเห็บก้อนสีขาวหลากขนาด ทะลุจากฟ้าลงมาสู่เบื้องล่าง จนหลังคาที่อยู่อาศัยมุงด้วยกระเบื้องพรุนเป็นรู พายุสงบ สำรวจรอบบ้านพังระเนระนาด ไม่เว้นแม้แต่หลังคาบ้านมุงกระเบื้อง มองขึ้นไปทะลุฟ้าเสมือนมองเห็นดาวในค่ำคืน บทภาวนาลุงผัดไม่เป็นผล สวนลำไยก็ไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน ทั้งลูกบนช่อดอกและใบสีเขียว บัดนี้มากองเต็มไต้ต้น เหลือไว้แค่กิ่ง ความหวังที่เคยมีพังทลายอย่างสิ้นเชิง ชักท้อแท้หมดกำลังใจกับการทำสวนลำไย นั่นคือเหตุผลที่ตัดสินใจ เอากล้ายางพารามาปลูกแซมเข้าไปในสวนลำไย พร้อมกับโค่นลำไยทิ้งบางส่วน แต่ยังเหลือจำนวนต้นบางส่วนเก็บไว้เผื่อความคิดถึง ช่วงที่ต้นยางยังเล็ก ต้นลำไยที่เหลือก็พอมีผลผลิตให้พอได้ขายอยู่บ้าง พอกาลเวลาผ่านไปต้นยางเจริญเติบโตคลุมต้นลำไยมิดชิดไม่ได้รับแสงอีก คงยากที่จะชูช่อ ต้นลำไยไม่พ้นต้องกลายเป็นฟืน


จากประสบการณ์ตนเอง ทำให้ลุงผัดฉุดคิดขึ้นถึงการเลี้ยงครั่ง ทั้งนี้เพราะครั่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดท้องถิ่นจำนวนมาก ที่สำคัญคือครั่งชอบขึ้นเกาะต้นไม้บางประเภทเท่านั้น ได้แก่ จามจุรี สะแก พุทราป่า สีเสียดออสเตรเลีย ไทร และลำไยคือหนึ่งในประเภทไม้ที่ครั่งชอบขึ้น เมื่อมีความคิดเช่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรีรออะไร ลุงผัด เข้าป่าไม่ไกลจากหมู่บ้าน เพื่อเสาะแสวงหารังครั่งที่มีไข่กำลังจะฟักออกมา เมื่อเจอตัดออกมาความยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร ห่อด้วยฟางข้าวเพื่อรักษาตัวอ่อน มัดเป็นคู่ แล้วนำมาแขวนไว้บนต้นลำไยกิ่งที่สมบูรณ์ ซึ่งลุงผัดมีแนวหลักการในการจัดการง่ายๆ คือต้องไม่ปล่อยครั่งทั้งต้น ไม่เช่นนั้นต้นลำไยอาจตายได้ เพราะแมลงครั่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากกิ่งไม้ การเลือกกิ่งไม้ที่อวบ สมบูรณ์ จะมีน้ำเลี้ยงให้ตัวครั่งเยอะ ปล้องเมื่อเก็บรังครั่งแล้ว ก็ตัดแต่งทิ้ง เพื่อให้แตกกิ่งใหม่รอเลี้ยงในรุ่นต่อไป

แมลงครั่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Laccifer lacca kerr เป็นเพลี้ยนิดหนึ่งที่อาจจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจหรือจัดเป็นศัตรูของต้นไม้ เพราะด้วยลักษณะการดำรงชีวิตของแมลงครั่งจะอาศัยเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ แล้วใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นงวงดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้เป็น เป็นอาหาร แล้วขับถ่าย ออกมาจาก แมลงครั่งเป็นสารสีแดง เพื่อห่อหุ้มตัวป้องกันอันตรายจากศัตรูภายนอก เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งและกลายเป็นสีน้ำตาล รังนี้คือสารที่เรียกว่า ครั่ง ซึ่งมนุษย์ได้นำมาใช้ประโยชน์กันตั้งแต่สมัยโบราณกว่า ๔,๐๐๐ ปี มาแล้วโดยใช้เป็นสมุนไพร เป็นยารักษาโรคโลหิตจาง โรคลมขัดข้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการทำเชลแล็ก, แลกเกอร์, เครื่องใช้, เครื่องประดับต่าง ๆ ย้อมสีผ้า สีโลหะ หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆคนไทยสมัยก่อนนิยมนำครั่งมาเป็นส่วนประกอบในการเข้าด้ามมีด โดยเฉพาะมีดอีเหน็บและมีดที่มีด้ามคนละส่วนกับใบ เช่น อีโต้ มีดพกขนาดเล็ก


จากความทรงจำตัวเอง (ผู้เขียน) สมัยเป็นเด็กหน้าบ้านมีต้นลำไยป่า อายุเก่าแก่อยู่ต้นหนึ่ง พ่อจะเลี้ยงครั่งไว้ ทั้งนี้เพราะพ่อเป็นช่างตีมีดประจำหมู่บ้าน จึงเลี้ยงครั่งไว้ใช้เป็นองค์ประกอบในการประกอบด้ามมีด ต้นไม้ที่มีครั่งขึ้นสังเกตที่กิ่งจะมีปมห่อหุ้มกิ่งไว้ และใบไม้บริเวณนั้นและใต้ต้นจะเป็นสีดำ จากการขับถ่ายตัวครั่ง เมื่อกลับจากเรียนหนังสือ หน้าที่ประจำคือต้องขึ้นต้นลำไย ตัดเอากิ่งครั่งที่ใช้ได้มาให้พ่อ เพื่อนำมาทุบเป็นก้อนเล็ก ๆ ยัดเข้าไปในช่องด้ามมีด จากนั้นเอาส่วนโคนมีดที่จะเสียบเข้าต่อกับด้าม ไปเผาไฟจนแดง มาเสียบตรงช่องด้ามมีด รังครั่งโดนความร้อนจะหลอมละลาย พอแห้งจะแข็งมากทำหน้าที่ยึดประสานตัวมีดกับด้ามมีด ไม่ให้หลุดจากกันง่าย ๆ

ลุงผัด เล่าว่าจากที่ได้ปล่อยครั่งไปชุดแรกเมื่อปีที่แล้ว ผลปรากฏว่าครั่งได้ขยายสร้างรังเร็วมาก จากสภาพต้นลำไยที่สมบูรณ์ทำให้รังมีน้ำหนักดี ได้เก็บครั่งมาขาย เป็นจังหวะโชคดีที่ขายได้ในราคาดี จากจำนวนต้นลำไยประมาณ 20 กว่าต้น กระจายห่างๆ ในพื้นที่สวนยางพาราพื้นที่ 12 ไร่ ได้เงินจาการขายครั่งทั้งหมด 30,000 กว่าบาท เป็นรายได้เสริมเพิ่มเข้ามานอกเหนือรายได้ที่ได้จากการขายยางพารา การดูแลนั้นแทบไม่ต้องทำอะไร นอกจากคอยระวังไม่ให้มดเข้าไปทำลายตัวอ่อน ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งบ้าง แค่นั้นเอง

หลังจากเก็บชุดแรก ในการขยายพันธุ์ครั้งต่อไป ไม่ต้องไปค้นหาในป่าอีก เพียงแค่คัดเลือกรังครั่งสมบูรณ์ ที่มีไข่กำลังจะแตกลูกอ่อนมาขยายพันธุ์ต่อ นำไปแขวนบนกิ่งลำไยที่ปล่อยว่างไว้เมื่อปีที่แล้วซึ่งกำลังสมบูรณ์ อวบ ไม่แก่เกินไป ส่วนกิ่งที่ที่เก็บเกี่ยวไป จะมีลักษณะซีด เหี่ยวแห้งจากการถูกดูดน้ำเลี้ยง จะทำการตัดทิ้ง ตัดแต่งใหม่ บำรุงใส่ปุ๋ยให้แตกกิ่งเพื่อปล่อยครั่งในปีต่อไป

ซึ่งวงจรชีวิตของครั่ง มีการเจริญเติบโตจากไข่เป็น ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ตามลำดับ ไข่ มีสีแดง โดยครั่งตัวเมียจะวางไข่ในช่องว่างภายในเซลล์ มีอายุในสภาพไข่ประมาณ 8-20 นาที ไข่นั้นจะถูกฟักเป็นตัวอ่อนหรือเป็นลูกครั่งในช่องว่างนั้น และจะคลานออกมาทางช่องสืบพันธุ์ ตัวอ่อนหรือลูกครั่ง จะไม่สามารถแยกเพศผู้หรือเพศเมียได้ ลูกครั่งจะหาที่ยึดเกาะบนกิ่งไม้ แล้วดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้เป็นอาหาร โดยไม่เคลื่อนย้ายที่อยู่อีกต่อไป แต่จะเกาะเรียงตัวกันประมาณ 220 ตัวในพื้นที่ 1 ตามรางเซนติเมตร ต่อจากนั้นจะขับสารเหนียวออกมาห่อหุ้มตัว และลอกคราบหลายครั้งเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นครั่งตัวผู้และครั่งตัวเมียเกาะจับกิ่งไม้สีขาวโพลน

ในภาวการณ์ราคายางที่ตกต่ำเช่นปัจจุบัน การเสริมสร้างอาชีพเสริมรายได้ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะปลูกพืช ปศุสัตว์ ประมง ล้วนเป็นทางเลือกที่ดี ขอเพียงไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปอย่างเปล่าประโยชน์ ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม และความถนัด ภูมิความรู้ของแต่ละบุคคล ซึ่งรวมถึงการเลี้ยงครั่งอย่างลุงผัด สุกันทา ผู้ซึ่งมีต้นทุนปัจจัยการผลิตอยู่แล้วอย่างต้นลำไย มาผสานกับภูมิปัญญาที่ตนเอง ก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม โดยแทบไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ


นายผัด สุกันทา เกษตรกรชาวสวนยาง ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ผู้เลี้ยงครั่งบนต้นลำไย ในสวนยางเป็นอาชีพเสริม



ข้อมูลอ้างอิง

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดขอนแก่น

เลขที่ 400 หมู่ 12ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอ

เมือง จังหวัดขอนแก่น 40001
โทรศัพท์ 0 4325 5066 โทรสาร 0 4325 5066
E-mail : [email protected]

การเลี้ยงครั่ง

โดย นายอุดม จิรเศวตกุล กองป้องกันและกำจัดศัตรูพืช

นายนิพนฑ์ เดชะ กองป้องกันและกำจัดศรัตรูพืช

http://www.servicelink.doae.go.th/webpage/book%20P...

http://guru.sanook.com/743/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87/

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87

http://board.trekkingthai.com/board/print.php?forum_id=75&topic_no=132131&topic_id=133773&mode=lite

หมายเลขบันทึก: 609686เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2016 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เคยใช้ครั้งแต่ไม่เคยเห็นตัวครั่ง

ขอบคุณที่นำข้อมูลครั้งมาให้เรียนรู้

ติดต่อลุงผัดได้อย่างไร สนใจอยากเลี้ยง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท