ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๔๔ : ผลการประเมินโครงงานเรื่อง "ถั่วงอกขาวในขวดพลาสติก" โรงเรียนเทศบาลสามัคคีวิทยา


<p “=”“>โครงงานระดับปฐมวัยจากโรงเรียนเทศบาลสามัคคี มีชื่อว่า “ถั่วงอกขาวในขวดพลาสติก” โดยมีครูดาลัด นะตะ เป็นครูที่ปรึกษา (ผมเข้าใจว่าเป็นครูประจำชั้นด้วย) ผมได้รับทั้งแบบรูปเล่มและแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ (ท่านที่สนใจดาวโหลดได้ที่นี่ครับ) บันทึกนี้ไม่ได้หวังจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่าน แต่เขียนเพื่อสื่อสารกับคณะครูใน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม โดยเฉพาะ เพื่อสะท้อนป้อนกลับผลการจัดการเรียนรู้จากการทำโครงงานของนักเรียนปฐมวัย เพื่อท่านที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปพิจารณา </p>

ที่มา ที่ไป ทำอย่างไร เกิดอะไร เด็กได้อะไร

วันหนึ่งครูสังเกตเห็นเด็กๆ เหลือถั่วงอกไว้ในจานกับข้าวอาหารกลางวัน เด็ก ๆ เลือกกินหมูและเต้าฮู้แต่ไม่กินผัก ครูจึงนำเรื่องการกินถั่วงอกมาคุยในชั้นเรียน ในบทเรียนชื่อ "ผักแสนอร่อย" ครูใช้วิธีการตั้งคำถาม ให้เด็กๆ ตอบ โดยเชื่อมโยงไปถึงประสบการณ์ที่บ้านของเด็กและความสนใจของเด็ก ๆ สุดท้ายได้เรื่องว่า จะปลูกถั่วงอกในขวดพลาสติก โครงงานผลิตและทดลองโดยใช้เวลา ๕ วันจึงเริ่มขึ้น

กระบวนการ "พาเพลิน" (ผมเรียกเองครับ เป็นคำอ่านจาก PAR-PLEAN ย่อมาจาก Participatory Action Research by Play and Learn) มี ๓ ระยะ ดังนี้ ระยะที่ ๑) (ระยะเริ่ม) ครูตั้งคำถามเกี่ยวกับถั่วงอกให้เด็ก ๆ ตอบ ครูสรุปเป็นแผนผังความคิด (Mind Mapping) ระยะที่ ๒) (ระยะพัฒนาโครงการ) ครูพานักเรียนปลูกถั่วงอกในขวดพลาสติกใส (หนึ่งขวดต่อหนึ่งคน) โดยครูเป็นผู้ช่วยเท่าที่จำเป็น เช่น ใช้คัดเตอร์ตัดขวด ฯลฯ ให้เด็กๆ รดน้ำเช้า-เย็น เป็นเวลา ๓ วัน พร้อมจดบันทึกด้วยการวาดรูปลงในกระดาษ และระยะที่ ๓) (ระยะสรุปโครงการ) เอาถั่วงอกมาประกอบอาหารรับประทานและพาเด็ก ๆ สรุปสะท้อนการเรียนรู้ด้วยการตั้งคำถามให้ตอบ สรุปเป็นผังความคิด แล้วมอบให้ตัวแทนกลุ่มออกมานำเสนอ

ครูดาลัด ฝึกกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้เด็ก ๆ โดยให้สังเกตเปรียบเทียบความแตกต่างในการเจริญเติมโตของถั่วงอกในขวดพลาสติกที่ปิดในถุงดำกับไม่ปิดในถุงดำ ให้ตัวแปรต้น(ตัวแปรอิสระ)แสงสว่าง ตัวแปรตามเป็นการเจริญเติบโตของถั่วงอก และตัวแปรควบคุมคือภาชนะปลูก จำนวนถั่วเขียว และการรดน้ำเหมือนกัน

เด็ก ๆ ที่ได้ลงมือทำตามกระบวนการวัฏจักรนักวิทย์น้อยย่อมได้รับการปลูกฝังทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ความสุขและความสนุกกับการเรียนผ่านการทำโครงงานนี้ถือเป็นการบ่มเพาะเจตคติที่ดีต่อการเป็นนักวิทย์ฯ ต่อไปในอนาคตนอกจากนี้แล้ว โครงงานนี้จะมีจุดเด่นเรื่องการปลูกฝังทักษะชีวิตให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างดียิ่ง

ผลการประเมิน

ผมจะเขียนผลการประเมินเป็นข้อ ๆ เพื่อให้เห็นเหตุและผลของการให้คะแนนในแต่ละข้อของเกณฑ์ประเมิน (ดาวน์โหลดที่นี่) ตามความเห็นเมื่อพิจารณาจากหลักฐาน ทั้งที่ได้อ่านจากเล่มและทั้งจากที่ได้ฟังการนำเสนอเมื่อครั้งไปลงพื้นที่โรงเรียน

๑) เป็นโครงงานหรือไม่

วิธีให้คะแนนข้อนี้ เกณฑ์กำหนดให้ดูว่ามีวัฏจักรวิจัย ๖ ขั้นตอนและต่อเนื่องเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่ให้หยุดตรวจ ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ถ้าใช่... ให้ ๑ คะแนน และหากครบกระบวนต่อเนื่องมากกว่า ๒ วงรอบ ให้ ๓ คะแนน

โครงงานนี้ผมให้คะแนน ๑ คะแนน ผ่านเกณฑ์การประเมิน ถือเป็นโครงงานประเภททดลองได้ชัดเจน และมีการฝึกทักษะตามวัฏจักรนักวิทย์น้อยครบถ้วน ๑ วงรอบ โดยเฉพาะการบูรณาการเพื่อสอนทักษะชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม ดังนี้

  • ชี้ชวนให้สงสัย (ตั้งคำถาม) : ครูตั้งคำถามนำไปสู่ความสนใจและสงสัย เด็กได้ฝึกตั้งคำถามจากความสงสัยของตน โดยหยิบเอาปัญหาจริงที่พบและใกล้ตัวเด็ก
  • พาให้คาดเดาคำตอบ (รวบรวมความรู้และตั้งสมมติฐาน) : ขั้นนี้ครูตั้งคำถามให้เด็ก ๆ ได้ระดมความรู้และประสบการณ์จากทางบ้านในการปลูกถั่วงอก (ของผู้ปกครองบางท่าน) เป็นการพาเด็กสืบสวนความรู้ได้ดียิ่ง จนนำมาสู่การทดลองเกี่ยวกับ "อาหารของถั่วงอก"
  • พิสูจน์ตรวจสอบคำตอบนั้น (สำรวจตรวจสอบ พิสูจน์สมมติฐาน) : ครูพาเด็กๆ ทำได้ดีมาก เด็กๆ ได้ฝึกหลายหลากทักษะวิทยาศาสตร์
  • แบ่งปัน อธิบาย (อธิบายอภิปรายผลการทดลอง) :ครูใช้การตั้งคำถาม ให้เด็กๆ อธิบายและแสดงความคิดเห็น
  • ระบาย บันทึก (จดบันทึกผลการทดลอง) : การบันทึกโดยการวาดภาพถั่วงอกเป็น ๒ คอลัมน์เปรียบเทียบกัน
  • สรุปผลและนำเสนอ (สรุปการทดลองและนำเสนอ) : ครูใช้การตั้งคำถาม นำให้เด็ก ๆ สรุป ครูเขียนลงในกระดาษปลู๊ฟ แล้วให้เด็ก ๆ ออกมานำเสนอหน้าชั้น (แม้ว่ารูปที่เด็กนำเสนอแผนผังหน้าชั้นจะดูเกินจริง)

๒) ที่มาของคำถามในการทำโครงงาน

เกณฑ์กำหนดว่า ถ้าเกิดจาครู ๑ คะแนน ถ้าเป็นเด็กและครูช่วยกันตั้งคำถาม ได้ ๒ คะแนน และถ้าเป็นเด็กตั้งคำถามเอง จะได้ ๓ คะแนน

ผมให้ ๒ คะแนนครับ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและการไกด์ด้วยคำถามของครู จนนำมาสู่โครงงาน ... ผมคิดว่า หากทำโครงงานต่อเนื่อง เด็กๆ จะเกิดทักษะในการตั้งคำถามเองได้ในปีถัด ๆ ไป

๓) การะบวนการในการสำรวจตรวจสอบ

เกณฑข้อนี้มี ๒ ข้อย่อย ๑) ดูที่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการสำรวจตรวจสอบ ถ้าครูคิดให้ ๑ คะแนน เด็กและครูร่วมกันให้ ๒ คะแนน และถ้าเป็นเด็กคิดให้ ๓ คะแนน

ข้อนี้ผมให้ ๑ คะแนนครับ ครูเป็นคนพาคิด พาทำ .... ซึ่งผมคิดว่าจำเป็นสำหรับเด็กอนุบาลและการเริ่มต้นฝึกในปีแรก

เกณฑ์ข้อย่อย ๒) เด็กทำเองหรือไม่ ถ้าใช่!! ให้ ๓ คะแนน ถ้าเด็กมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมได้ ๒ คะแนน และถ้าครูพานำทำตลอด จะได้ ๑ คะแนน

ข้อนี้ผมให้ ๒ คะแนนครับ

๔) การรายงานผลและการบันทึกการสำราวจตรวจสอบ

<p “=”“>เกณฑ์บอกว่า มีการบันทึกหรือไม่? ถ้ามี ให้ดูต่อว่าสอดคล้องกับสมมติฐานหรือไม่ ถ้าใช่ ให้ ๒ คะแนน ถ้าไมสอดคล้องให้ ๑ คะแนน ถ้าไม่มีการบันทึกให้ ไม่ให้คะแนน </p>

ข้อนี้ ๒ คะแนนแน่นอนครับ

๕) การสรุปและอภิปรายผลการตรวจสอบ

ข้อย่อย ๕.๑) เกณฑ์กำหนดว่า ถ้าสิ่งที่สรุปสอดคล้องกับคำถามและผลการสำรวจให้ ๑ คะแนน ถ้าไม่ให้ ๐ คะแนน ส่วนข้อย่อย ๕.๒) ถามว่าใครเป็นนสรุป ถ้าเป็นครูให้ ๐ คะแนน เด็กต้องมีส่วนร่วมในการสรุป ถึงจะได้ ๑ คะแนน

ข้อ ๕.๑) ให้ ๑ คะแนน และ ๕.๒) ให้ ๑ คะแนนครับ ... อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกว่า คุณครูอาจจะห่วงคะแนนมากเกินไป ดูจากภาพที่ ๒๖ ที่เด็กปฐมวัยที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กำลังชี้ไม้ไปที่ชาร์ทที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือที่ครูเขียน

๖) การส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

เกณฑ์กำหนดว่า ถ้าเด็กได้ฝึกการสังเกต การวัด การจำแนก การเปรียบเทียบ การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส และสเปสกับเวลา การคำนวณ การจัดกระทำกับข้อมูลและสื่อความหมายข้อมูล การลงความเห็นจากข้อมูล การพยายกรณ์ ฯลฯ เหล่านี้ อย่างน้อย ๔ ทักษะขึ้นไป ให้ ๓ คะแนน ถ้า ๓ ทักษะให้ ๒ คะแนน และถ้า ๒ ทักษะให้ ๑ คะแนน

ข้อนี้ได้ไป ๓ คะแนนครับ ได้แก่ สังเกต เปรียบเทียบ การวัด การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส และสเปสกับเวลา

๗ การส่งเสริมพัฒนาการหรือทักษะด้านอื่นๆ

เกณฑ์ข้อนี้ส่งเสริมการบูรณาการวัฏจักรนักวิทย์น้อยกับการฝึกทักษะด้านอื่นๆ เช่น ด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้านสังคมเช่นการทำงานร่วมกัน ด้านการเคลื่อนไหวหรือฝึกร่างกายให้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ให้แข็งแรง หรือ ด้านอารมณ์และจิตใจให้เด็ก ๆ มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ทักษะชีวิต ฯลฯ โดยกำหนดว่า ถ้ามี ๔ ด้าน ขึ้นไปให้ ๓ คะแนน ถ้ามี ๓ ด้านให้ ๒ คะแนน ถ้ามี ๒ ด้านให้ ๑ คะแนน

ข้อนี้ให้ ๓ คะแนนครับ ได้แก่ ด้านการเรียนรู้ ด้านสังคม และด้านอารมณ์และจิตใจครับ ยิ่งไปกว่านั้นคือเด็กได้ทักษะชีวิตตามหลักปรัชญาของเศษรฐกิจพอเพียงในการพึ่งตนเองด้วย

๘) ความริเริ่มสร้างสรรค์ของโครงงาน

โครงงานมีความแปลใหม่หรือไม่ ถ้าคัดลอกหรือปรับเปลี่ยนโครงงานจากผู้อื่นโดยไม่ได้ทำจริง ให้ปรับตก แต่ถ้านำหัวเรื่องคนอื่นมาทำเองให้ ๑ คะแนน ถ้าครูและเด็กริเริ่มขึ้น ให้ ๒ คะแนน แต่ถ้าเป็นโครงงานที่แปลกใหม่จริงๆ ให้ ๓ คะแนน

ข้อนี้ผมให้ ๑ คะแนน ครับ

สรุปผลการประเมิน

สรุปทั้ง ๘ ข้อ โครงงานนี้ได้คะแนนรวม ๑๗ คะแนน ผ่านเกณฑ์ประเมิน เหมาะสมที่ได้รับตราพระราชทานครับ

สู้ต่อไปครับ... ต้องทำต่อเนื่องให้เด็กเกิดทักษะกระบวนการจริง ๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 609288เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2016 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2016 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท