KM ผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไป (๕) : ประชุมกำหนดแนวทางการจัดทำเอกสารประกอบการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปปี ๑/๒๕๕๙ (๑)


วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ GE นัดประชุม KM อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาศึกษาทั่วไป หลักสูตรใหม่ ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีอาจารย์ผู้ประสานงานมาร่วมประชุมทั้งหมด ๒๕ ท่าน จาก ๒๕ รายวิชา จากทั้งหมด ๓๒ รายวิชา ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ดังต่อไปนี้ที่มาร่วมประชุมครับ

  1. การบริโภคเพื่อคุณภาพชีวิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมเสาวนุช คณะพยาบาลศาสตร์
  2. ภูมิศาสตร์กับสถานการณ์โลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สาวิตรี รตโนภาสสุวรรณลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. วิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
    1. อาจารย์วชิรวัชช์ อารยะสิริโชติ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
    2. อาจารย์วรรณา คำปานบุตร คณะการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม
  4. ศิลปะวิจักษ์ อาจารย์ ดร. กฤษกร อ่อนละมุล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
  5. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมโลกาภิวัตน์ อาจารย์ ดร. อนุวัฒน์ วันทอง คณะวิทยาศาสตร์
  6. การประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ในวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ผิวอ่อน คณะวิทยาศาสตร์
  7. แนวคิดทางวิทยาศาสตร์และปรัชญา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย แก้ววังชัย คณะวิทยาศาสตร์
  8. เทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชุน เทียมทินกฤต คณะวิทยาการสารสนเทศ
  9. ภาษาอังกฤษเพื่อความมุ่งหมายเฉพาะด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยมาศ นานอก โสภาลดาวัลย์ คณะวิทยาศาสตร์
  10. ภาษาญี่ปุ่นเพื่อการสื่อสาร อาจารย์มนสิชา แก้วนันไชย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  11. ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ ถนนแก้ว สถาบันวิจัยวลัยรุกเวช
  12. การดูแลสุขภาพบุคคลและชุมชน อาจารย์ ดร.สุรชาติ สิทธิกรณ์ คณะพยาบาลศาสตร์
  13. การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ อาจารย์ ดร.ณภัสวรรณ ธนาเงษ์อนันท์ คณะศึกษาศาสตร์
  14. ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิต อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ อาภาศรีทองกุล คณะเภสัชศาสตร์
  15. การสนทนาภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และ ภาษาอังกฤษเพื่อความมุ่งหมายเฉพาะด้าน (กลุ่มมนุษฯ) อาจารย์ทวีพงษ์ สืบวัฒนะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  16. ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารเชิงสุนทรียภาพ อาจารย์ ดร.กีรติ ธนะไชย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  17. ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารเชิงวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  18. กฎหมายและจริยธรรม อาจารย์นพดล นิ่มหนู คณะนิติศาสตร์
  19. ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน อาจารย์อัจจิมา แสงรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  20. ภาษาเกาหลีเพื่อการสื่อสาร อาจารย์ฤทธิพล ศรีสงกา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  21. ภาษาฝรั่งเศสเพื่อการสื่อสาร อาจารย์อำนวย สมตัว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  22. มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์นารีรัตน์ ปริสุทธิวุฒิพร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  23. ปรัชญาและเศรษฐกิจพอเพียง และ ความเป็นมนุษย์กับการเรียนรู้ อาจารย์ ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม
  24. ภาวะผู้นำ นางสาวฉันทพร อยู่สะอาด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (แทน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา คณะสารสนเทศ)

การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้ดำเนินการประชุมแบบ "แจ้งให้รู้ ดูรับรอง เสนอแบบต้องการมติ" แต่ผมตั้งใจอยากให้เป็นบรรยายกาศแบบกึ่ง KM ที่มุ่ง "คุยแบบร่วมมือ โดยเน้นการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม" จึงได้เตรียมเอกสารประกอบประชุมแบบกึ่งๆ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่) ..... AAR ว่า ไม่ประสบผลสำเร็จนัก แต่หากทำแบบนี้ต่อเนื่อง อาจารย์ที่เข้าร่วมจะเข้าใจและทำงานกันแบบรวมใจกันง่ายขึ้น


ในเอกสารประกอบการประชุม KM ส่วนแรก เป็นการนำเอาประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากเวที KM ผู้อาจารย์ผู้ประสานงานที่ขอนแก่น มาให้อ่าน เพื่อให้สะดวกมากขึ้น ผมขอคัดลอกมาวางในบันทึกนี้อีกครั้ง ดังนี้ครับ

1.สรุปประเด็นจากเวที KM อาจารย์ผู้ประสานงาน

ต่อไปนี้เป็นสรุปประเด็นจากเวทีประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนระหว่างอาจารย์ผู้ประสานงานกับบุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2559 ณ วิชชิ่งทรี รีสอร์ท ขอนแก่นที่ผ่านมา

1.1.กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) ระหว่างอาจารย์ผู้ประสานงานกับบุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป กำหนดขั้นตอนคร่าวไว้ดังนี้

วันแรก เดินทางจาก มมส. ๑๐.๓๐ น. ไปถึงวิชชิ่งทรีรีสอร์ท ขอนแก่น ๑๒.๐๐ น. - > ทานอาหารเที่ยง -> เข้าที่พัก -> เริ่มแลกเปลี่ยนตอน ๑๓.๓๐ น.

- ระดมปัญหา "การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ปีการศึกษา ๒๕๕๘"

- กำหนดเป้าหมายของการ ลปรร. (BAR)

ตอนเย็นๆ วิทยากรเดินทางมาถึง ให้สื่อสารถึงผลสรุปการ ลปรร. และเป้าหมายของการมา KM ให้วิทยากรกำกับทิศทางทราบ พร้อมทั้งชี้แจงกระบวนการวันถัดมาให้ทราบ

วันที่สอง เริ่มรวม ๘.๓๐ น.

- ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ประเทพา บรรยายถึงเป้าหมายของการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป (ดังที่ได้สรุปไว้ในบันทึกที่ ๑)

- แยกกลุ่มย่อย Mapping เป้าหมายของรายวิชา กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่คาดหวังของหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

- แต่ละกลุ่มนำเสนอจุดมุ่งหมายและการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาต่อเวทีรวม สลับกับฟังคอมเมนต์จากวิทยากรหลัก

- หลังเที่ยง นำเอาประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ได้ระดมรวบรวมไว้ มาอภิปราย ตอบคำถาม และหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขร่วมกัน

จบวันที่สองตอนเย็นมากครับ (เกือบ ๑๘.น.) รับประทานอาหารเย็นร่วมกันแล้วเดินทางกลับ

1.2.สรุปปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไข

ประเด็นปัญหาทั้งหมดสามารถจัดไว้ใน ๖ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านการพัฒนาหลักสูตรฯ ๒) ด้านการบริหารจัดการหลักสูตร ๓) ด้านอาจารย์ผู้สอน ๔) ด้านการจัดการเรียนการสอน ๕) ด้านห้องเรียนรวม สื่อและสิ่งแวดล้อม และ ๖) ด้านการประเมินผลและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ส่วนนอกเหนือจากนี้ก็มีบ้างบางประเด็น และได้รวมไว้ในด้านอื่นๆ

1.2.1.ด้านการพัฒนาหลักสูตรฯ

อาจารย์หลายท่านสะท้อนว่า การพัฒนาหลักสูตรฯ ที่ผ่านมา อาจารย์ผู้สอนไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือบางท่านสะท้อนว่ "อาจารย์ไม่ได้มีส่วนร่วมเลย" และเสนอให้การปรับปรุงครั้งถัดไป สำนักศึกษาทั่วไปต้องเปิดโอกาสให้อาจารย์ผู้สอนเข้ามาร่วมด้วย

ผมเสนอว่า เมื่อหลักสูตรฯ ใช้ไปครบกึ่งหนึ่ง (๒ ปี) ของวงรอบการปรับปรุง (๔ ปี) เราจะจัดเวที ลปรร. สำหรับอาจารย์ผู้สอนในแต่ละรายวิชา และเปิดประเด็นสำหรับการปรับปรุงคำอธิบายรายวิชา เพื่อให้อาจารย์สามารถเพิ่มเติมแก้ไขคำอภิบายรายวิชา หรือ "ปรับเล็ก" ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ลงตัวกับบริบทของนิสิต อาจารย์ และมหาวิทยาลัยมากขึ้น

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์ท่านหนึ่งเสนอว่า สำนักศึกษาทั่วไป ควรจะเอาจุดมุ่งหมายและเป้าหมายของแต่ละรายวิชาทั้ง ๓๐ หน่วยมาร่วมพิจารณา ให้เห็นภาพรวมและความสอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตร ... ซึ่งตรงกับกระบวนการที่เราออกแบบไว้พอดี

อาจารย์ชุนเสนอแนะว่า หากสำนักศึกษาทั่วไปนำเอาตัวชี้วัดต่างๆ ที่ตอนนี้ สกอ. กำกับไว้เพื่อการพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี มาใช้ในระบบประกันคุณภาพของหน่วยงานด้วย จะถือเป็นการประกันคุณภาพหลักสูตรฯ ได้อย่างดี เพราะปัจจุบันนอกจากการทวนสอบผลสัมฤทธิ์แล้ว ศึกษาทั่วไปยังไม่มีการประเมินผลลัพธ์การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป โดยเฉพาะด้านคุณธรรมจริยธรรม

เกี่ยวกับประเด็นนี้ งบวิจัยของสำนักศึกษาทั่วไป ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้มอบทุนวิจัยให้ศูนย์วิจัยทดสอบและประเมินผลการศึกษา ( ERTEC) คณะศึกษาศาสตร์ ทำการวิจัยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ๘ ด้าน (ไม่รวมทักษะภาษา) โดยใช้กลุ่มเป้าหมายของนิสิตชั้นปี ๑ ที่เรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปหลักสูตรฯ เดิม (พ.ศ. ๒๕๕๔) และนิสิตชั้นปี ๒ ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปในหลักสูตรฯ (พ.ศ. ๒๕๕๔) รวมจำนวน ๑ ,๐๐๐ คน ปรากฎผลที่น่าสนใจหลายอย่าง ขอนำไปเล่าไว้ในบันทึกถัดๆ ไปก็แล้วกันนะครับ

1.2.2.ด้านการบริหารหลักสูตรฯ

๑) เรื่องค่าตอบแทนการสอน

ปัญหา : ตารางสอนซึ่งมหาวิทยาลัยกำหนดให้ใช้เป็นหลักฐานแสดงภาระงานสำหรับเบิกค่าสอนของรายวิชาศึกษาทั่วไป ไม่แสดงสัดส่วนการปฏิบัติงานจริงของอาจารย์ ทำให้สำนักศึกษาทั่วไปไม่สามารถคำนวณภาระงานให้ได้ตามการปฏิบัติจริง

คำอธิบาย : ปัญหานี้เกิดขึ้นในกรณีที่ในรายวิชาเฉพาะของสาขาวิชา มีอาจารย์ผู้สอนหลายท่านแต่สอนไม่เท่ากัน การคำนวณภาระงานจะใช้วิธีตั้งหาร อาจารย์แต่ละท่านจะมีภาระงานเท่า ๆ กันในรายวิชานั้นๆ จึงทำให้ตารางสอนไม่สะท้อนภาระงานจริง

วิธีแก้ไข : อาจารย์ต้องให้ทางคณะ-วิทยาลัย ทำบันทึกข้อความชี้แจ้งรายละเอียดสัดส่วนภาระงาน ของรายวิชานั้นๆ มายังสำนักศึกษาทั่วไป ฝ่ายการเงินจะใช้ "ต้นเรื่อง" นั้น ในการคำนวณภาระงานเพื่อเป็น "หน่วยกิตฐาน" ในการคำนวณค่าตอบแทน

กระบวนการที่ควรจะเป็น : ความจริงแล้ว ผู้รับผิดชอบการคำนวณภาระงาน "หน่วยกิตฐาน" ควรจะเป็นงานของภาควิชาฯ ผ่านขึ้นมายังคณะ-วิทยาลัย เนื่องจากจะมีรายละเอียดภาระงานที่แท้จริงของอาจารย์ผู้สอน แต่ที่ผ่านมา การเงินของสำนักศึกษาทั่วไป รับหน้าที่นี้มาทำ เพื่อลดขั้นตอนการส่งเอกสารระหว่างคณะ-วิทยาลัยกับสำนักฯ และเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทนได้รวดเร็ว

๒) อาจารย์ผู้ประสานงาน

ปัญหา : บทบาทหน้าที่ไม่ชัดเจน อาจารย์ผู้สอนไม่ให้ความร่วมมือ และขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่

ข้อสรุปของการแลกเปลี่ยน : สำนักศึกษาทั่วไปควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาให้ชัดเจน และสร้างระเบียบหรือมาตรการในกรณีที่อาจารย์ไม่ให้ความร่วมมือกับอาจารย์ผู้ประสานงาน รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา โดยการพาไปศึกษาดูงานและเข้ารับการฝึกอบรมด้านการศึกษาทั่วไปตามสมควร

๓) นิสิต LA

ปัญหา ๑ : นิสิต LA ไม่ทั่วถึง ค่าตอบแทนน้อยเกินไป

ชี้แจง : สำนักศึกษาทั่วไปพยายามพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับชั้นเรียนขนาดใหญ่ การกำหนดให้มีนิสิตช่วยงานมีมานานแล้ว ภายใต้ระเบียบว่า หากชั้นเรียนได้มีนิสิต ๑๕๐ - ๓๙๙ มีนิสิตช่วยงานได้ ๑ คน (๓๐ ชั่วโมง) ถ้ารายวิชานั้นมีนิสิตรวมกัน ๔๐๐ -๕๙๙ จะมีนิสิตช่วยงานได้ ๒ คน (๖๐ ชั่วโมง) ถ้ามี ๖๐๐ - ๗๙๙ คน มีนิสิตช่วยงานได้ ๓ คน (๙๐ ชั่วโมง) ถ้ามีนิสิต ๘๐๐ - ๙๙๙ คน จะมีนิสิตช่วยงานได้ ๔ คน (๑๒๐ ชั่วโมง) และถ้ามีนิสิตลงทะเบียนเรียนในรายวิชานั้นตั้งแต่ ๑ ,๐๐๐ คนขึ้นไป จะมีนิสิตช่วยงานได้ ๕ คน (๑๕๐ ชั่วโมง) ระเบียบนี้เหมาะสำหรับหลักสูตรเก่า (พ.ศ. ๒๕๕๔) ที่มีจำนวนวิชากว่าร้อย ซึ่งรายวิชาส่วนใหญ่จะมีนิสิตลงทะเบียนเรียนไม่มาก แต่สำหรับหลักสูตรใหม่ จำนวนวิชาน้อยลงมาก นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนในแต่ละรายวิชามีตั้งแต่ ๑ ,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ ดังนั้นระเบียบนี้จึงต้องปรับ

วิธีแก้ไข : สำนักศึกษาทั่วไป ได้ดำเนินการปรับระเบียบใหม่ให้เอื้อต่อการจ้างนิสิตช่วยงานแล้ว โดยหากมีงบสนับสนุนเต็มที่ ด้วยระเบียบใหม่ จะมีนิสิตช่วยงานได้ทุกกลุ่มเรียน ส่วนเรื่องค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป คงต้องเป็นการขับเคลื่อนระดับมหาวิทยาลัยต่อไป ... อาจารย์หลายท่าน ใช้วิธีแบ่งค่าสอนของตนเองเพิ่มให้นิสิตช่วยงานเท่าตัว จาก ๒๕ บาทต่อชั่วโมง เป็น ๕๐ บาทต่อชั่วโมง

ปัญหา ๒ : ความรับผิดชอบและคุณภาพการปฎิบัติงานของนิสิต LA บางคนไม่โอเค

แนวทางแก้ไข : สำนักศึกษาทั่วไป ได้จัดให้มีโครงการนิสิตผู้ช่วยอาจารย์ ( Lecturer Assistant) หรือนิสิต LA โดยใช้ระเบียบการจ้างนิสิตช่วยงานที่มีอยู่เดิม และสร้างกระบวนการรับสมัคร จัดฝึกอบรม และจัดระบบการปฏิบัติงานและรายงานผลของนิสิต LA ให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน

การดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า อาจารย์ผู้สอนอาจเข้าใจผิดระหว่าง " LA" กับ "TA" จึงคาดหวังให้นิสิต LA สามารถตรวจงานได้ ความจริงแล้วนิสิต LA ไม่ได้มีหน้าทีตรวจงาน หรือทำงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะต้องไม่ให้ช่วยสอน ( Teaching Assistant) แต่มีหน้าที่เพียง ช่วยเช็คชื่อการเข้าเรียน การรวบรวมงานของนิสิตให้อาจารย์ตรวจ รับงานจากอาจารย์มากรอกคะแนนลงใน Excel แล้วส่งคืนให้อาจารย์ และทำหน้าที่ปิดเปิดหรือช่วยเหลือในการใช้สื่อโสตในชั้นเรียน

1.2.3.การจัดการเรียนการสอน

๑) การจัดสอบย้อนหลัง

ปัญหา ๑) : เป็นความยากลำบากของนิสิตในการตามหาอาจารย์ผู้สอนเพื่อให้เซ็นชื่อในแบบฟอร์มการขอสอบย้อนหลัง อาจารย์ก็ไม่สะดวกที่จะตัดสินใจให้สอบย้อนหลังหรือไม่ เนื่องจากระเบียบการอนุญาตนั้นไม่ชัดเจน และเหตุผลและหลักฐานของนิสิต โดยเฉพาะใบรับรองแพทย์นั้น ยากจะตรวจสอบ และบางแห่งได้มาโดยง่าย ... โดยภาพรวมคือ กระบวนการอนุมัติให้นิสิตสอบย้อนหลังนั้นซับซ้อนเกินไป สำนักศึกษาทั่วไปควรให้นิสิตส่งเรื่องถึงศึกษาทั่วไปโดยตรง แล้วแจ้งให้อาจารย์สอนของกลุ่มการเรียนนั้นทราบ เพื่อให้กรอกคะแนนสอบปลายภาคย้อนหลังต่อไป

คำชี้แจง : กระบวนการสอบย้อนหลัง เริ่มที่นิสิตมาติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไป เพื่อขอรับแบบฟอร์มขอสอบย้อนหลัง (เจ้าที่จะเข้าระบบสอบย้อนหลัง) โดยจะยื่นได้ใน ๒ กรณี ตามระเบียบมหาวิทยาลัย คือ ๑) ป่วย ให้ยื่นภายใน ๓ วันหลังสอบ ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุสาเหตุและอาการไว้อย่างชัดเจน และ ๒) กรณีต้องไปราชการสำคัญ ให้ยื่นล่วงหน้าอย่างน้อย ๓ วัน - > แล้วสั่งพิมพ์บันทึกข้อความที่เรียนถึงผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป เพราะตามระเบียบการวัดผลประเมินผลของมหาวิทยาลัย ผู้มีสิทธิ์อนุมัติให้สอบย้อนหลังได้คือคณบดีเท่านั้น ในกรณีรายวิชาศึกษาทั่วไป จึงต้องให้ผู้อำนวยการสำนักฯ อนุมัติเท่านั้น - > ในแบบฟอร์มบันทึกข้อความ จะกำหนดให้นิสิต แนบหลักฐาน แล้วนำไปยื่นให้อาจารย์ผู้สอนเซ็นรับรอง - > ก่อนจะนำกลับมายื่นให้สำนักฯ และรอการประกาศผลต่อไป

แนวทางแก้ไข : สำนักศึกษาทั่วไปจะตัดขั้นตอนที่นิสิตต้องนำบันทึกข้อความไปให้อาจารย์ผู้สอนเซ็นรับรองออกไป เพื่อความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะใช้วิธีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบย้อนหลังไปยังอาจารย์ เพื่อให้ทราบว่า ในกลุ่มการเรียนที่สอนนั้น มีนิสิตยื่นสอบย้อนหลังหรือไม่ เพื่อความรอบคอบในการตัดเกรดนิสิตต่อไป และจะดำเนินการปรับปรุงระเบียบของการขอสอบย้อนหลังให้เข้มงวดขึ้น อนุญาตเฉพาะนิสิตที่มีความจำเป็นเท่านั้น

๒) วิธีสอนและเทคนิคการสอน

ปัญหา ๑) : วิชาเดียวกันแต่สอนแตกต่างกัน

สรุปผลการแลกเปลี่ยน : ๑) สำนักศึกษาทั่วไปควรจัดเวทีพัฒนาอาจารย์ผู้สอนแต่ละรายวิชา เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนรู้และเข้าใจจุดมุ่งหมาย แผนการสอน วิธีประเมินผลร่วมกัน เช่น จัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการการเขียน มคอ. ๓ ของรายวิชา ฯลฯ ๒) ควรพัฒนาเอกสารประกอบการสอนให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับแผนการสอนตาม มคอ.๓ และกำหนดให้อาจารย์ผู้สอนยึดเป็นแนวทางร่วมกัน

ปัญหา ๒) : หนึ่งรายวิชามีอาจาารย์ผู้สอนหลายท่าน นิสิตสะท้อนว่า การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง

ชี้แจง : รายวิชาศึกษาทั่วไปตามหลักสูตรใหม่ (พ.ศ. ๒๕๕๘) มีธรรมชาติของรายวิชาแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของแต่ละรายวิชา

บางรายวิชาเน้นเรื่องความรู้รอบ รู้กว้างขวาง รู้ทันการเปลี่ยนแปลง รู้ไกล เข้าใจธรรมชาติ จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ หลาย ๆ ท่าน เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนเหล่านั้น เวียนกันเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สรุปภาพรวมและเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นกับชีวิตนิสิต เรียกว่านำสิ่งที่ท่านเชี่ยวชาญและคลุกคลีมาตลอดชีวิต มาเล่าให้นิสิตฟังภายในเวลา ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที อาจารย์ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและทำวิจัยเรื่องนั้นๆ มาอย่างต่อเนื่องหรือเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ ที่จะสามารถย่อนสิ่งที่ยากให้ง่ายและถ่ายทอดได้ภายในเวลาจำกัด กรณีนี้ อาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องมีหลายท่าน สอนจบเป็นเรื่อง ๆ เป็นกรณีศึกษา ๆ ไป ... ผมเสนอว่าวิชาเหล่านี้ได้แก่ วิชา ๐๐๓๒๐๐๑ มนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา วิชา ๐๐๓๒๐๐๓ ศิลปะวิจักษ์ ฯลฯ

บางรายวิชาเน้นทักษะกระบวนการ โดยเฉพาะทักษะด้านการเรียนรู้ เช่น ทักษะทางภาษา ทักษะชีวิตและความเข้าใจตนเอง ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการทำงานเป็นทีม ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง และเน้นการสอนผ่านกิจกรรมและการทำงานร่วมกัน กรณีนี้ควรมีอาจารย์ผู้สอนเพียงท่านเดียวต่อกลุ่มการเรียน เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนอย่างต่อเนื่อง อาจารย์ผู้สอนทำหน้าที่เป็นกระบวนกรการเรียนรู้ ( Learning Facilitator) และเป็น "ครู" มากขึ้น ... ผมเสนอว่ารายวิชาเหล่านี้ ได้แก่ รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๒ กฎหมายและจริยธรรม รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์กับการเรียนรู้ ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ

ส่วนเรื่องสะท้อนของนิสิต เกี่ยวกับจำนวนอาจารย์ผู้สอนมากแล้วไม่ต่อเนื่อง น่าจะแก้ไขได้ด้วยการทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงจุดประสงค์และลักษณะของรายวิชา และรวมถึงวิธีการประเมินของรายวิชานั้นด้วย

ปัญหา ๒) : ช่วงเวลาของการเพิ่มถอนล่วงเวลาเรียนถึง ๓ สัปดาห์กว่ารายชื่อนิสิตจะนิ่ง ทำให้นิสิตที่มาเพิ่มทีหลังขาดเวลาเรียนไปถึง ๑๕ %

คำชี้แจง : การกำหนดปฏิทินการลงทะเบียนเรียนรับผิดชอบโดยกองทะเบียน แต่ฝ่ายวิชาการสำนักฯ ได้นำแจ้งเรื่องนี้กับกองทะเบียนในการประชุม KM ร่วมกันในวันที่ ๙ มิถุนายน ที่ผ่านมา

ข้อตกลง : ให้อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไปทุกท่าน เริ่มเช็คการเข้าเรียนตั้งแต่สัปดาห์แรกของการเรียนการสอน

๓) เอกสารประกอบการสอน

ปัญหา ๑) : รูปแบบของการเขียนยังไม่อยู่ในแบบฟอร์ม (องค์ประกอบ) และมาตรฐานเดียวกัน และบางวิชามีเนื้อหาเฉพาะสาขามากเกินไป บางวิชามีเนื้อหามากเกินไป

ข้อเสนอแนะ : สำนักศึกษาทั่วไป ควรดำเนินการร่วมกับอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา เพื่อพัฒนาเอกสารประกอบการสอนให้อยู่รูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของรายวิชาศึกษาทั่วไป โดยด่วน

นัดหมาย : สำนักศึกษาทั่วไป นัดหมายประชุมร่วมกับอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา เพื่อร่วมกันพัฒนาเอกสารประกอบสอนให้ทันปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๙

ปัญหา ๒) กระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายเอกสารประกอบการสอนยังไม่ชัดเจน

คำชี้แจง : ในปีการศึกษา ๒๕๕๘- ๑/๒๕๕๙ นี้ สำนักศึกษาทั่วไป ขอยกเลิกกระบวนการผลิตเอกสารประกอบการสอนและจัดจำหน่ายซึ่งเคยปฏิบัติมา เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ระงับการดำเนินของสำนักพิมพ์ไป และอยู่ในช่วงของการปรับปรุงเอกสารประกอบการสอนตามหลักสูตรปรับปรุงใหม่ อย่างไรก็ตาม เอกสารประกอบการสอนที่อาจารย์ผู้สอนจะผลิตขึ้นจำหน่ายเองนั้น ยังต้องให้สำนักศึกษาทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการกำหนดราคาขาย เพื่อไม่ให้ราคาสูงเกินไปซึ่งไม่เป็นธรรมต่อนิสิต โดยต้นฉบับต้องผ่านความเห็นชอบของสำนักศึกษาทั่วไป

ในกรณีที่อาจารย์ผู้สอนประสงค์จะให้ สำนักศึกษาทั่วไป ช่วยเหลือในการผลิต สามารถทำได้โดยการส่งต้นฉบับเอกสารประกอบการสอนมายังสำนักฯ สำนักศึกษาทั่วไปจะดำเนินการจัดรูปเล่มและส่งกลับให้ผู้ประสานงานรายวิชา เพื่อทำการแก้ไขจนได้ต้นฉบับที่พอใจ (ในเวลาที่กำหนด) แล้วสำนักฯ จะประสานไปยังโรงพิมพ์เพื่อต่อรองให้ได้ราคาต่ำที่สุดโดยใช้จำนวนจากประมาณการจากแนวโน้มการลงทะเบียนของนิสิต แล้วเชิญอาจารย์ผู้สอนมากำหนดราคาขายร่วมกัน ก่อนการจัดพิมพ์

ในการจำหน่ายเอกสารประกอบการสอนนั้น ในปีการศึกษา ๑/๒๕๕๙ นี้ สำนักศึกษาทั่วไปยังไม่สามารถดำเนินการขายได้ จึงมี ๒ ทางเลือก ได้แก่ ๑) นำไปฝากศูนย์หนังสือขาย ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการขาย (ประมาณ ๗%) และ ๒) นำไปขายเอง ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น ให้นิสิต LA นำไปขายในชั้นเรียนคาบการเรียนแรก หรือให้นิสิตส่งตัวแทนมาซื้อที่ละมากๆ ซึ่งทั้งสองกรณีอาจให้ค่าตอบแทนในการขายกับผู้ขายตามสมควร ฯลฯ

1.2.4.ข้อสอบและคลังข้อสอบ

กระบวนการเรื่องข้อสอบและคลังข้อสอบ มี ๖ ขั้นตอน ได้แก่ อาจารย์ออกข้อสอบ - > ประสานต้นฉบับข้อสอบ -> ผลิตข้อสอบ -> วิเคราะห์ข้อสอบ -> ส่งผลการวิเคราะห์สอบให้อาจารย์ประกอบการปรับปรุงข้อสอบ ปัญหาที่พบมาจากหลายจุด โดยเฉพาะปัญหาการรวบรวมข้อสอบ แต่น่าจะเป็นเฉพาะช่วงแรกๆ ของการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ หากร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง น่าจะมีพัฒนาการตามลำดับ

1.2.5.การจัดตารางสอน

ปัญหา : จำนวนอาจารย์ผู้สอนต่อกลุ่มเรียนมากเกินไป

ชี้แจง : น่าจะขึ้นอยู่กับธรรมชาติของรายวิชาที่มีจุดมุ่งหมายและวิธีการสอนที่แตกต่างกัน ดังที่ได้กล่าวแล้วในบันทึกที่ (๒)

ปัญหา : จำนวนนิสิตต่อกลุ่มเรียนมากเกินไป

ชี้แจง : จำนวนนิสิตต่อกลุ่มเรียนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่คาดหวังของรายวิชานั้น เช่น รายวิชาที่เน้นให้เกิดทักษะด้านภาษา จะจัดการเรียนการสอนแบบให้ฝึกฟัง อ่าน เขียน พูด ดังนั้น จำนวนนิสิตต่อกลุ่มเรียนจึงต้องน้อยที่สุดเท่าที่จะจัดได้ เช่น รายวิชาภาษาอังกฤษ เป็นต้น ส่วนรายวิชาที่จัดการเรียนการสอนแบบบรรยาย ควรจะจัดห้องเรียนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วบันทึกคลิปบรรยายออนไลน์ให้นิสิตสามารถเรียนซ้ำได้ตามอัธยาศัย เช่น รายวิชามนุษย์กับอารยธรรมและศาสนา เป็นต้น .... อย่างไรก็ดี ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่มีของมหาวิทยาลัย ที่ต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของนิสิตและสังคม

1.2.6.การประเมินผลและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

ปัญหา ๑) : รายชื่อนิสิตหายไปจากระบบเนื่องจากชำระค่าลงทะเบียนช้า แล้วปรากฎกลับมาภายหลัง ทำให้ไม่มีคะแนนเก็บ จึงติด F ในรายวิชานั้น

ชี้แจง : เป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบระเบียน ซึ่งในปัจจุบันจำนวนนิสิตที่มีปัญหานี้ได้ลดจำนวนลงมากแล้ว เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้กำหนดมาตรการเข้มงวดกับการชำระค่าลงเบียนช้ากว่ากำหนดให้ต้องเสียค่าปรับและต้องดำเนินเรื่องหลายขั้นตอน

แนวทางแก้ไข : ผู้ที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ที่ดีที่สุดคือ การตัดเกรดอย่างรอบคอบและระมัดระวังของอาจารย์ผู้สอน ด้วยการตรวจเช็คทีละคนสำหรับกรณีที่คะแนนเก็บบางช่องหายไป และเก็บบันทึกข้อมูลคะแนนของทุกคนที่เข้าเรียน แม้จะไม่มีชื่อในระบบ

ปัญหา ๒) : สัดส่วนคะแนน ๗๐ : ๓๐ ไม่เหมาะสำหรับทุกวิชา

คำชี้แจง : สำนักศึกษาทั่วไป ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการวัดผล การประเมิน การอนุมัติ การรายงาน และการแก้ไขผลการศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งกำหนดให้ใช้ระเบียบการวัดผลตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ (หมวด ๖) โดยอนุโลม และกำหนดแนวปฏิบัติ ให้คิดคะแนนสอบระหว่างภาคการศึกษาและสอบเมื่อสิ้นสุดภาคการศึกษารวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ นั้น เมื่อพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) จะเห็นว่าสำนักศึกษาทั่วไปต้องการส่งเสริมให้อาจารย์ผู้สอน "ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน" ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ ดังนั้น จึงได้ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงกระบวนการวัดผลประเมินให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังของแต่ละรายวิชาโดยอนุโลม ให้ใช้การทดสอบย่อย หรือการทดสอบด้วยกระบวนการต่างๆ ที่มีหลักฐานชัดเจน แทนการสอบปกติ ระหว่างที่กำลังศึกษาดำเนินการปรับปรุงระเบียบให้ทันสมัยต่อไป

แนวทางแก้ไข : ให้ฝ่ายวิชาการของสำนักฯ รวบรวม มคอ.๓ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารสำนักศึกษาทั่วไป เพื่อพิจารณา และรวมถึงเสนอให้มีการปรับปรุงประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ปัญหา ๓) : ความแตกต่างของมาตรฐานการให้คะแนน

แลกเปลี่ยน : อาจารย์ร่วมกันกำหนดเกณฑ์ ๓ ระดับสำหรับ ได้แก่ ผ่าน ดี ดีมาก โดยให้คะแนนเป็น ๒ ๓ ๔ ตามลำดับ หากมีกรณีที่งานมีคุณภาพมากๆ อาจให้คะแนนเต็ม ๕ ได้ หรือกรณีที่งานไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้เลย ก็อาจให้คะแนนต่ำกว่า ๑ ได้ แต่กรณีไม่ส่งงานคือ ๐ คะแนน เป็นต้น

ปัญหา ๔) นิสิตรับจ้างเรียน

มาตรการ : มหาวิทยาลัยได้ประกาศเอาผิดวินัยสำหรับนิสิตที่ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงจากการโพสท์รับจ้างเรียนแล้ว โดยกำหนดโทษหักคะแนนความประพฤติ ๔๐ คะแนน และกำหนดให้บำเพ็ญประโยชน์เพิ่มจาก ๒๐ ชั่วโมงเป็น ๘๐ ชั่วโมง

แนวทางการป้องกัน : รายวิชาศึกษาทั่วไปจำเป็นต้องมีการตรวจสอบการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเข้มงวด เพื่อปลูกฝังบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมและฝึกทักษะที่จำเป็นต่างๆ (ดังที่ได้อธิบายไว้ที่นี่ และที่นี่) และแนวทางที่กำลังจะนำมาทดสอบใช้ในการตรวจสอบและระบุบุคคลเข้าเรียนคือ การใช้ QR code มาใช้ โดยให้นิสิตติด QR code เฉพาะตนและเฉพาะวิชาใว้บนบัตรหรือชิ้นงาน เมื่อาจารย์อ่านด้วย app QR code Reader ก็จะปรากฎข้อมูลนิสิตเพื่อตรวจเทียบทันที นอกจากนี้ ระบบนี้ยังจะสามารถกรอกคะแนนและส่งคะแนนไปยังไฟล์ Excel เพื่อความสะดวกให้อาจารย์อีกด้วย

1.2.7.อาจารย์ผู้สอน

ปัญหา : ไม่ทราบกระบวนการคัดเลือกอาจารย์ผู้สอน

ข้อเสนอแนะ : อาจารย์ผู้สอนควรมีความชำนาญในเนื้อหารายวิชาที่สอน มีคุณวุฒิตรงกับรายวิชาที่สอน และอาจารย์ผู้ประสานงาน ควรมีบทบาทในการคัดเลือกอาจารย์ผู้สอนด้วย

คำชี้แจง : กระบวนการคัดเลือกอาจารย์ผู้สอนในปัจจุบัน เริ่มจาก อาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยยื่นใบสมัครมายังผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป (ผ่านคณบดีในสังกัดของตน) - > คณะกรรมการบริหารพิจารณาให้ความเห็นชอบตามคุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งกำหนดไว้ ดังนี้

(๑) เป็นอาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านการสอนในมหาวิทยาลัยมหาสารคามหรือสถาบันอุดมศึกษา ของรัฐหรือเอกชนไม่น้อยกว่า ๒ ปี

(๒) ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ (ตามคุณสมบัติแนบท้ายประกาศ)

(๓) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโทหรือเทียบเท่า และมีคุณวุฒิตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชาที่จัดการเรียนการสอนในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) หรือเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่มรายวิชาศึกษาทั่วไป ดังต่อไปนี้ (ก) กลุ่มภาษา (ข) กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ค) กลุ่มวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (ง) กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพและนันทนาการ (จ) กลุ่มสหศาสตร์ (ฉ) กลุ่มวิชาเลือกเพิ่มเติม ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการประจำสำนักศึกษาทั่วไปจะพิจารณาเป็นกรณีไป

-> จากนั้น สำนักศึกษาทั่วไปจะประกาศรายชื่ออาจารย์ผู้สอนให้ทราบ เพื่อผู้ประสานงานสามารถนำไปพิจารณาจัดตารางสอนต่อไป

แนวทางการพัฒนา : แม้ว่าอาจารย์ผู้สอนที่สมัครใหม่ ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว อนุกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนของแต่ละรายวิชา (กำลังอยู่ในระหว่างขับเคลื่อนให้มีการแต่งตั้งให้ครบทุกรายวิชา) ควรกำหนดกระบวนการพัฒนาอาจารย์ก่อนการจัดให้สอน เช่น กำหนดให้ต้องผ่านการฝึกอบรมการสอนหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของรายวิชาก่อน เป็นต้น

สรุปการแลกเปลี่ยน : สำนักศึกษาทั่วไปควรจัดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ และมอบใบประกาศผ่านการฝึกอบรม โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอน

ปัญหา ๒) : การจัดโครงการพัฒนาอาจารย์กำหนดหัวเรื่องไม่ตรงกับความต้องการของอาจารย์ผู้สอน และช่วงเวลาในการจัดโครงการไม่เหมาะสม อาจารย์หลายท่านไม่สามารถมาร่วมได้

ข้อเสนอแนะ : สำนักศึกษาทั่วไปควรสำรวจความต้องการในการพัฒนาตนเองด้านการจัดการเรียนการสอนของอาจารยผู้สอน แล้วนำมาจัดเป็นหลักสูตรอบรมฯ ก่อนจะสำรวจและให้ยืนยันการเข้าร่วมฝึกอบรมฯ โดยกำหนดให้มีหลายช่วงเวลาให้เลือก


(บันทึกต่อไป มาสรุปข้อตกลงกันครับ)

หมายเลขบันทึก: 608859เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2016 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2016 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท