Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุตรที่เกิดในประเทศไทยจากมารดาสัญชาติไทยและบิดาสัญชาติอเมริกันจะต้องถือวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?


กรณีศึกษานางเพ็ญศรี : การกำหนดสิทธิเข้าเมืองอเมริกันของบุตรที่เกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ จากมารดาสัญชาติไทย กับบิดาสัญชาติอเมริกัน

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

-----------------

ข้อเท็จจริง

------------------

ปรากฏข้อเท็จจริง[1] ว่า นางเพ็ญศรี ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนายโทนี่ ณ จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ใน พ.ศ.๒๕๕๐ และบุคคลทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า “เด็กหญิงแองเจลินา” ซึ่งเกิด ณ โรงพยาบาลพญาไท ๒ กทม. ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

เราพบอีกว่า ในขณะจดทะเบียนสมรสกันนั้น นางเพ็ญศรี มีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ในขณะที่นายโทนี่ มีสถานะคนสัญชาติอเมริกันในทะเบียนราษฎรอเมริกัน และมีสถานะเป็นคนต่างด้าวสัญชาติอเมริกันในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ในทะเบียนราษฎรไทย ส่วนเด็กหญิงแองเจลินาได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย อันทำให้เธอได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้มีการแจ้งการเกิดของเด็กหญิงผู้นี้ในทะเบียนราษฎรอเมริกัน อนึ่ง กฎหมายอเมริกันไม่ห้ามการถือสองสัญชาติ

นางเพ็ญศรีไม่เคยร้องใช้สิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยการสมรสกับชายสัญชาติอเมริกัน และไม่เคยร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรอเมริกัน เธอไม่เคยเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกันแต่อย่างใด

ส่วนนายโทนี่ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท AIM ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายอเมริกัน ซึ่งเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทดังกล่าวเข้ามาตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ นายโทนี่ถูกส่งมาทำงานในสำนักงานนี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน

ในราว พ.ศ.๒๕๕๖ นางเพ็ญศรีและนายโทนี่เริ่มมีปากเสียงกัน จนแยกกันอยู่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ แต่ยังมิได้จดทะเบียนหย่าจากกัน

ในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นางเพ็ญศรีร้องขอมายังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อขอความเห็นทางกฎหมาย เนื่องจากเธอมีความต้องการจัดการปัญหาครอบครัวกับนายโทนี่หลายประการ กล่าวคือ (๑) เธออยากหย่าขาดจากนายโทนี่ (๒) เธอต้องการให้นายโทนี่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ รวมถึง (๓) เธอต้องการให้นายโทนี่ดำเนินการทำหนังสือเดินทางอเมริกันให้แก่บุตร เพื่อที่บุตรจะมีเอกสารแสดงความเป็นคนสัญชาติอเมริกัน

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ในระหว่างที่เด็กหญิงแองเจลินายังมิได้รับรองสถานะคนสัญชาติอเมริกันในทะเบียนราษฎรของรัฐอเมริกัน จะต้องใช้กฎหมายใดบ้างกำหนดสิทธิเข้าเมืองอเมริกันของเด็กหญิงแองเจลินา ? เพราะเหตุใด ? เธอจะต้องร้องขอวีซ่าเพื่อการเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สิทธิในการเข้าเมืองย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐเจ้าของดินแดนซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เพราะเรื่องการเข้าเมืองเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของดินแดน ซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

ในข้อเท็จจริงนี้ กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ก็คือ กฎหมายอเมริกันว่าการเข้าเมืองอเมริกัน

โดยหลักกฎหมายสากลว่าด้วยการเข้าเมือง การเข้าเมืองของคนชาติเป็นสิทธิที่เด็ดขาด ในขณะที่การเข้าเมืองของคนต่างด้าวเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข จะเห็นว่า บทบัญญัติกฎหมายอเมริกันว่าด้วยการเข้าเมืองอเมริกัน ก็น่าจะยอมรับแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน โดยผลของกฎหมายคนเข้าเมืองดังกล่าว คำว่า “คนต่างด้าว” หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติอเมริกัน และคำว่า “คนเข้าเมือง” หมายถึงคนต่างด้าวเท่านั้น

เมื่อเด็กหญิงแองเจลินามีบิดาตามกฎหมายเป็นคนสัญชาติอเมริกัน เธอจึงมีสิทธิในสัญชาติอเมริกันตามบิดา เธอจึง “น่า” จะมิใช่คนต่างด้าวและคนเข้าเมืองในสายตาของสหรัฐอเมริกา เธอจึง “น่า” จะมีสิทธิเข้าเมืองอเมริกันโดยไม่มีเงื่อนไข

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อยังไม่มีการรับรองรายการสถานะบุคคลของเด็กหญิงแองเจลินาในทะเบียนราษฎรอเมริกัน รัฐอเมริกันจึงยังไม่มีโอกาสรับรองสิทธิในสัญชาติอเมริกันให้แก่เด็กหญิงผู้นี้ แม้ว่าเธอน่าจะมีสิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย จึงอาจจะใช้สิทธิได้โดยพลัน แต่หากเขายังไม่ใช้สิทธิในสัญชาตินี้ เขาจึงยังไม่ได้รับการรับรองว่า มีสถานะเป็นคนสัญชาติอเมริกัน โดยผลต่อไป เด็กหญิงแองเจลินาก็น่าจะถูกถือว่า “คนต่างด้าว” โดยกฎหมายอเมริกันว่าด้วยคนเข้าเมือง จนกว่าจะพิสูจน์ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติอเมริกัน

ดังนั้น ตราบเท่าที่เด็กหญิงแองเจลินายังไม่อาจได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติอเมริกัน เขาก็จะต้องเดินทางเข้ามาในประเทศอเมริกันโดยใช้หนังสือเดินทางไทยในสถานะคนสัญชาติไทย ในสถานการณ์นี้ เธอก็จะต้องร้องขออนุญาตเข้าเมืองตามกฎหมายอเมริกันว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งสหรัฐอเมริกาบังคับใช้กฎหมายนี้ต่อคนต่างด้าวในสถานการณ์ทั่วไป

โดยสรุป เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาย่อมทำให้เด็กหญิงแองเจลินามีสิทธิเข้ามาในประเทศไทยอย่างเด็ดขาดและไม่มีสิ้นสุด ตราบเท่าที่ยังไม่เสียสิทธิในสัญชาติอเมริกัน แต่อย่างไรก็ตาม การที่เธอผู้นี้ไม่มีเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติอเมริกันที่ออกโดยรัฐอเมริกันอาจทำให้เธอมีปัญหาในการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอเมริกัน การขอวีซ่าเข้าเมืองอเมริกันดังเช่นคนต่างด้าวจึงเป็นการจัดการปัญหาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

-------------------------------------------------------------



[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคบัณฑิต วิทยาเขตท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ภาคที่ ๒




หมายเลขบันทึก: 608749เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท