​แนวคิดเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เมืองไทยง่ายๆ ตอนที่ 2


แนวคิดเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เมืองไทยง่ายๆ ตอนที่ 2

ทำได้ ทันที ถ้ารัฐบาลใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา

2 มิถุนายน 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ข่าวการบุกรุกทำลายป่า ภาพภูเขาหัวโล้น ในท้องที่จังหวัด อุตรดิตถ์ สระแก้ว แม่ฮ่อองสอน แพร่ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ น่าน ตาก และข่าวภาพความแห้งแล้ง แม่น้ำแห้งขอด ที่จังหวัด หนองคาย สุโขทัย ยโสธร พิจิตร บุรีรัมย์ พิษณุโลก ตาก ชัยภูมิ กำแพงเพชร นครนายก ยังเป็นภาพที่ติดตาตรึงใจ นั่นหมายความว่า “ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ที่พังทลายไป ทำให้เกิดผลกระทบวิกฤตภัยแล้ง และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน” ตอนที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอสามบทเรียนประสบการณ์ในอดีตของรัฐที่ผ่านมาเกี่ยวกับการบุกรุกป่า และ การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้

จากทั้งสามบทเรียนดังกล่าว ผู้เขียนขอเสนอแนวทางตอบโจทย์ เพื่อการแก้ไขปัญหาการบุกป่าไม้ของประชาชนจากการเกษตรเชิงเดี่ยว (Monoculture) การรักษาพื้นที่ป่าของประเทศ การส่งเสริมการปลูกป่าให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร รวมทั้งการเสนอข้อคิดในการเพิ่มพื้นที่การปลูกป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อการแก้ไขปัญหาการบุกป่าไม้ได้

ประการที่หนึ่ง คนอยู่ร่วมกับป่าได้

(1) การนำปรัชญาของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีพระราชดำรัสเมื่อ 20 ธันวาคม 2525 ว่า “...พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า” [2] เพราะคนอยู่ร่วมกับป่าได้ และมีการพิสูจน์ให้เห็น เป็นที่ประจักษ์ แต่ขาดการส่งเสริมเพราะไปมองว่าคนที่อยู่กับป่าคือบุกรุก ชุมชนคีรีวงษ์ สุราษฎร์ธานีมีการอยู่ร่วมกับป่าโดยการ “ปลูกป่าผสมผสาน” [3]ใน 5 ระดับชั้น โดยปลูกสวนผลไม้ แบบผสมผสานกับป่า ได้แก่ ชั้นแรก ปลูกทุเรียนป่า ไม้เรือนยอด ชั้นรองลงมา มีขนุน มังคุด ชั้นรอง ยังมีกล้วย ไม้กินใบ พืชพันธุ์พื้นถิ่น ไม้เล็กๆ ชั้นล่าง มี หัวขิง ข่าตะไคร้ กระชาย สำหรับการปลูกไม้ผลนั้น ต้องใช้เมล็ดเพราะมีระบบรากที่ยึดเกาะดิน ทำให้ดินไม่เกิดการพังทลายและรักษาความชุ่มชื้น จนถึงชั้นราก

(2) สิ่งที่รัฐควรจะทำคือ การรับรองการใช้ที่ดินชาวบ้านทำกินมาเป็นเวลานาน เพื่อเขาจะได้มีความมั่นคงในการ ปลูกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนานขึ้น ที่สำคัญเพราะเขาคือประชาชนที่อยู่กับแหล่งต้นน้ำ และต้องกำหนดโซนการทำการเกษตรแบบนี้หรือส่งเสริมการปลูกพืชเช่นนี้ในพื้นที่ต้นน้ำ ย้ำว่าต้องเป็น “พื้นที่ต้นน้ำ ทุกสายทางภาคเหนือ” แต่หากเป็นสวนผลไม้อย่างปัจจุบัน เช่นสวนลำไย สวนลิ้นจี่ ก็เป็นลักษณะพืช เชิงเดี่ยวที่ใช้น้ำเยอะ เป็นการทำลายระบบนิเวศน์เช่นเดียวกับพืชระยะสั้นอื่น เพราะการกำจัดความหลากหลายของพืช

(3) การสกัดกั้นการบุกรุก เช่น ในการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยม โครงการฯ ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดทำแนวเขตพื้นที่ให้ชัดเจน ป้องกันการบุกรุกพื้นที่และพยายามรักษาพื้นที่ป่าที่เหลือน้อยอยู่แล้วให้คงอยู่ต่อไป [4]

(4) การประกาศนโยบายรับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ถูกต้อง [5] การทำสมาร์ทฟาร์ม (smart farm) [6] ที่รัฐพยายามรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2555 ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทยว่าด้วยรูปแบบ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” (smart farmer) หรือ เกษตรกรปราชญ์เปรื่อง ซึ่งปราชญ์ หมายถึง คนที่มีความรวดเร็ว เปรื่อง คือ คนที่รู้จักใช้ความคิด ดังนั้น สมาร์ทฟาร์มเมอร์ หมายถึง ตัวเกษตรกรที่มีความรู้ในการประกอบอาชีพของตัวเองอย่างดีและสามารถแก้ไขปัญหาได้ มีความคิดรู้จักการวางแผน การผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ให้ “เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง” เพราะการที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือในโครงการต่างๆ จะเกิดผลกระทบเรื่องของกลไกตลาด กระบวนการในการผลิตของเกษตรกร รวมไปถึงความเชื่อมั่นและการการค้าในตลาดต่างประเทศ เช่นเดียวกับเกษตรกรประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น และเพื่อรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) [7] ในปี 2558

ประการที่สอง การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่า ปลูกต้นไม้

(1) ตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายปิดป่าห้ามตัดไม้สงวน กฎหมายประเทศไทย ตาม พรบ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 [8] และ พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 [9] ไม่ส่งเสริมให้ราษฎรปลูกป่า เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ที่แม้ปลูกในที่เอกชนก็ต้องขออนุญาตตัด [10]

(2) การปลูกต้นไม้ แม้จะเป็นไม้หวงห้ามโดยการลดกฎระเบียบที่เป็นเหมือนกฎเหล็ก จนทำลายความพยายาม ความต้องการจะปลูกสวนป่าของประชาชนลง หากถามว่าใครรู้ดีว่ากฎระเบียบ ข้อใดต้องแก้ไข หน่วยงานที่รู้ดีก็คือกรมป่าไม้ เจ้าของผู้รักษาการตามกฎหมายนั่นแหละ หลักการก็คือ “ใครปลูก ใครก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของ เจ้าของต้นไม้ย่อมมีสิทธิ์ที่ ดำเนินต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แห่งทรัพย์สิน ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ” แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราจะได้ป่าจากเอกชนจำนวนมหาศาล และเป็นป่าอยู่ไปอีกตราบนานเท่านาน

(3) กระแสทั่วโลกตอนนี้ให้หันกลับมาใช้ไม้จากป่าปลูก ส่งเสริมการซื้อขายไม้ หันมาใช้วัสดุไม้แทน มีการรณรงค์เรื่อง Wood is good เพื่อสร้างโลกให้เป็นสีเขียว จากการที่ใช้ไม้ คนไทยกลับไปผูกติดกับเรื่องของการทำลายป่าอย่างเดียว การปลูกป่าที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีคนใช้ มีคนตัดไปทำประโยชน์ สร้างงานสร้างอาชีพ ให้กับคนไทยอย่างทั่วถึง แทนที่จะห้ามเราควรหันกลับมาส่งเสริมให้มีการใช้ไม้ให้มาขึ้น พร้อมทั้งความเข้าใจเรื่องไม้ที่ถูกกฎหมาย อย่างเช่นในต่างประเทศเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนอยากลงทุนปลูกป่าเพื่อสร้างป่าเศรษฐกิจ เพื่อนำมาสร้างรายได้ และผลที่ตามมา สร้างโลกให้เป็นสีเขียวอย่างแท้จริง [11]

(4) เราไม่ควรผูกไม้ทุกชิ้นกับคำว่าป่าธรรมชาติหรือป่าอนุรักษ์เพราะนั่นคือสิ่งทำให้คนหลงประเด็นจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่อยากฝาก การใช้ไม้ไม่ใช่การทำลายป่า ตรงกันข้ามกลับเป็นการสร้างป่าให้กับประเทศ หากเราต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน เราต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อการส่งเสริมการใช้ไม้จากป่าปลูก และรณรงค์การใช้ไม้อย่างถูกต้อง และเมื่อถึงวันนั้น เราจะเห็นป่าปลูกและป่าเศรษฐกิจที่ยั่งยืนทั่วไทยเพื่อลูกหลานอย่างแท้จริง

(5) ยกตัวอย่างการปลูกสวนป่า [12] เช่น เกษตรกรมีที่ดินแปลงหนึ่ง อยากสร้างมูลค่า เกษตรกรปลูกต้นสัก กว่าจะตัดไม้ได้ครั้งแรก ก็ 5 ปี ถึงจะสางได้ และการสางครั้งที่ 2 ก็อีก 5 ปีต่อมา รวมแล้ว 10 ปี การสางครั้งที่ 3 ก็อีก 5 ปีถัดมา รวมแล้วก็ 15 ปี และกว่าจะตัดรอบต่อไปก็อีก 5 ปีต่อไป นั่นหมายความว่า เรามีพื้นที่ป่าตลอด 20 ปี แต่ด้วยระเบียบและกฎหมายปัจจุบัน เอกชนหรือชาวบ้านธรรมดาหากไม่มีเส้นสาย ยากจะตัดไม้ที่ตนเองเป็นผู้ปลูกเองได้ ด้วยข้อจำกัดการชักลาก การแปรรูป ก็ต้องขออนุมัติอนุญาต จึงทำให้ชาวบ้านไม่คิดที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่

(6) ยิ่งปัจจุบันไม้พะยูง มีราคาสูง ถูกลักลอบตัดทำลายมาก การทดลองปลูกไม้พะยูงเพียงไม่กี่ปีก็โตแล้ว หากรัฐส่งเสริม และปรับแนวคิดภาครัฐในเรื่องกรรมสิทธิ์ ในเรื่องกฎระเบียบให้กระชับ ง่าย ต่อปฏิบัติ มิใช่การออกกฎระเบียบที่เอาไว้ป้องกันการปฏิบัติ ปรับขั้นตอน ระยะเวลาการดำเนินการ ระยะเวลาอนุมัติ อนุญาต กำหนดไว้ให้ชัดเจน ภายในกี่วัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าจะได้รับการปฏิบัติ ในระยะเวลาตามที่กำหนดมิใช่การเลือกใช้ดุลพินิจที่ไม่มีกติกา และขอบเขตแน่นอน

(7) ในกรณีที่ประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิ์ รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนเขาถึงสิทธิ์ครอบครองในที่ดินของตนเอง เช่นเดียวกับในเรื่องสัญชาติสถานะบุคคล เมื่อเขาครอบครอง หรือทำกินในที่ดินผืนนั้นอยู่ เขาย่อมมีสิทธิ์ทำกินในที่ดินผืนนั้น ข้ออ้างว่ามีเจ้าหน้าที่รังวัดน้อยจึงมิใช่ปัญหาของภาครัฐ นอกจากนี้ รัฐต้องปลูกฝังแนวคิดการปลูกพืชปลูกต้นไม้ให้แก่ประชาชน เช่น กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน ยกเว้นไม้ยืนต้นบางอย่างกินไม่ได้ แต่ก็ใช้สอยได้ ต้นคูณ กระถินณรงค์ ฉำฉา (จามจุรี) กินไม่ได้ เป็นต้น

ประการที่สาม แนวคิดเรื่องป่าชุมชน [13]

(1) ป่าชุมชน ที่ชุมชนได้ใช้อาศัย ทำมาหากิน และเลือกใช้ประโยชน์ โดยชุมชนเป็นผู้วางแผน ตัดสินใจว่าต้องการอะไรจากป่า ชาวบ้านจึงต้องมีป่าชุมชน เพื่อประโยชน์ในปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร สมุนไพร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยมาช้านาน นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้พึ่งพาน้ำจากป่าใช้ทำนา อาศัยผลผลิตจากป่าเป็นเพื่อสร้างรายได้พอยังชีพ อีกทั้งป่ายังเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อ ประเพณี ซึ่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ของชุมชน

(2) เมื่อป่าอันเป็นฐานชีวิตของพวกเขากำลังถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการสัมปทานไม้ในยุคก่อน การขยายตัวของพืชพาณิชย์ที่ต้องการใช้พื้นที่มาก การเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมที่เข้ายึดครองพื้นที่ป่า การเข้ามาตัดไม้ เก็บผลผลิตจากป่าจากบุคคลภายนอก หรือแม้กระทั่งภายในชุมชนเองที่จะทำให้ป่าเสื่อมโทรมได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่สามารถเข้ามาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ได้ หรือหลายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกลับปล่อยปละละเลยให้เกิดการทำลายป่า หรือยึดพื้นที่ป่าเป็นของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ การมีโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้ายึดครองพื้นที่ป่าของชุมชนและกีดกันไม่ให้ชุมชนพึ่งพาป่าได้อีกต่อไป

(3) ป่าชุมชนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ โดยเฉพาะการเป็นที่มาของทรัพยากรอาหาร (food resource) ให้แก่ชุมชนในประเทศ จนในปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มเห็นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร (food security) อันเป็นหนึ่งในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ (human security) เป็นการป่าไม้เพื่อประชาชน (Forestry for People) [14]

จากแนวทางข้อสังเกตข้อเสนอแนวทางตอบโจทย์ข้างต้น หากเป็นเวลาในสถานการณ์ปกติ การแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติราชการอาจล่าช้า ยุ่งยาก แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เรามีมาตรการตามกฎหมายพิเศษ มาตรา 44 [15] แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ถือเป็นทางออกเพื่อการแก้ไขปัญหาได้ คือ “ปัญหาการเพิ่มพื้นที่ป่า” และ “การแก้ไขความแห้งแล้งของไทยอย่างยั่งยืน” จึงขอน้อมนำคำพูดของ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวไว้ว่า “อะไรที่เป็นปัญหา หากอยากแก้ ก็ให้บอกมา...” ฉะนั้น เมื่อเรามีกฎหมายพิเศษ หากไม่ดำเนินการแก้ไขเสียในตอนนี้ ต่อไปก็คงจะแก้ไขไม่ได้ เพราะหากว่าแก้ไขได้ ป่านนี้เราคงแก้ไขไปนานแล้ว



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-Art Saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 23047 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น

[2] ดูใน “สมเด็จพระบรมราชินีนาถนักพัฒนา เพื่อปวงประชาสุขศานต์”, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, 2555, http://www.crownproperty.or.th/public/upload/media/th/dlBook_20121002125232.pdf

& โครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ, “พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ”, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, http://61.19.246.102/~lovewater/work.php

“...พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า” พระราชทานแก่ราษฎรบ้านถ้ำติ้ว ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนครเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525

เป้าหมายสำคัญในการทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถคือ ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และความสงบร่ม เย็นของประเทศชาติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ลูกหลานไทย โดยมีแนวพระราชดำริว่า คน ป่า และสัตว์ป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างอาศัย เกื้อกูลกัน โดยต่างให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน คนสามารถใช้ประโยชน์จากผืนป่ามาสร้างอาชีพและรายได้อย่างพอเพียง ในลักษณะของ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” คนที่เคยตัดไม้ทำลายป่าก็กลับใจมาช่วยปกป้องและพิทักษ์รักษาป่า รวมทั้งขยายพันธุ์สัตว์ป่าให้คงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป ช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่แก่ตนเองและชุมชน ในฐานะ “ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า” ตลอดจนเกิดความรักความสามัคคีในชุมชน ทรงใช้หลักการ “ปลูกป่าในใจคน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ การปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน รวมถึงการปลูกไม้ใช้สอย ไม้ผล และไม้ยืนต้น ที่จะเติบโตเป็นป่า

& ดู "สุขสงบ ณ คีรีวง หมู่บ้านที่มีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย", 8 กันยายน 2558, http://travel.kapook.com/view128615.html

บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ชื่อว่ามีแหล่งอากาศดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย อีกทั้งยังรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Thailand Tourism Awards) ประจำปี 2541 ประเภทเมืองและชุมชน เพราะเป็นชุมชนเข้มแข็งต้นแบบการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาและสายน้ำ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตสุขสงบแบบเครือญาติ

[3] ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น

เกษตรผสมผสานจากต้นแบบของนายมนู มีชัย เป็นเกษตร 5 ชั้น มีการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ระดับพื้นผิวดิน โดยปลูกพืชหลากหลายชนิดให้อยู่ร่วมกัน ในแปลงเดียวกัน หลุมเดียวกัน แต่มีความสูงต่างระดับกัน จะทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่าง ดังนี้

(1) ชั้นที่ 1 คือชั้นสูงสุด ในกลุ่มนี้จะปลูกไม้ใหญ่ ไม้ยืนต้น ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ อีกทั้งเป็นการออมเพื่ออนาคตสำหรับตนเอง และลูกหลานโดยในสวนจะปลูกต้นยางนา สะแบง ประดู่ สัก กฤษณา เป็นหลัก

(2) ชั้นที่ 2 คือ ชั้นระดับกลาง เป็นชั้นที่มีความสูงเป็นรองกลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่พวกไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง มะขาม ลิ้นจี่ เงาะ ไผ่ เป็นต้น

(3) ชั้นที่ 3 คือ ชั้นระดับต่ำ เป็นการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่มีทรงพุ่มเตี้ย ได้แก่ ผักเม็ก ผักติ้ว มะกรูด มะนาว กระสัง กล้วย แก้วมังกร เป็นต้น

(4) ชั้นที่ 4 คือ ชั้นระดับผิวดิน โดยจะปลูกพวกพืชผักสวนครัวเป็นหลัก เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ หอมเป (ชีฝรั่ง) สะระแหน่ บัวบก และพวกสมุนไพร เป็นต้น

(5) ชั้นที่ 5 คือ ระดับชั้นใต้ดิน โดยจะปลูกพวกพืชหัว เพื่อเป็นอาหาร ได้แก่ มันสำปะหลัง มันเทศ

ดู “ภูมิปัญญาเกษตร 4,5,7,9 ชั้น”, 21 ธันวาคม 2555, http://www.kasetporpeangclub.com/forums/บทความเกษตรพอเพียง/2131-ภูมิปัญญาเกษตร-4-5-7-9-ชั้น.html

หรือเรียกว่า “ สวนผสมผสานปลูกป่า 5 ชั้น” หรือ เกษตรผสมผสาน 5 ชั้น โดยการปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์ 5 ชั้น

ป่าไม้แบบผสมผสาน ใช้เทคนิคการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างได้แก่ 1.ป่ากินได้ 2.ป่าไม้โตเร็ว 3.ป่าไม้เศรษฐกิจ

สวนป่าผสมผสาน คือ สวนป่าที่ปลูกไม้ป่าหลายๆ ชนิด ปนๆกันไป อย่างมีระเบียบ คือ ต้นไม้แต่ละชนิดจะปลูกเป็นแถว เช่น แถวที่ 1 ไม้แดง ก็ปลูกไม้แดงทั้งแถว แถวที่สอง ปลูก ต้นตะเคียนทอง ก็ปลูกต้นตะเคียนทองทั้งแถว โดยปลูกสลับกันไป

[4] โครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ , เดลินิวส์ออนไลน์, 13 พฤษภาคม 2559, http://www.dailynews.co.th/agriculture/397099

เมื่อปี พ.ศ. 2517 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านปากน้ำปราณบุรี ทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลน

& ทวงคืนผืนป่า ‘ชาวดาราอั้ง’ บ้านแม่จอน เชียงดาว-ชาวบ้านกว่า 100 รายได้รับผลกระทบ, 31 พฤษภาคม 2559, https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/31/maejon_reclaimforest/

ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่าของคสช.ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ซึ่งมีวิถีชีวิตและการทำมาหากินสัมพันธ์กับที่ดินและป่าไม้ ได้รับผลกระทบจากการถูกประกาศยึดคืนพื้นที่ หรือถูกจับกุมดำเนินคดี

[5] ประกาศนโยบายรับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ถูกต้อง, เดลินิวส์, 26 สิงหาคม 2558, http://www.dailynews.co.th/regional/344192

นโยบายรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สามารถยืนยันความถูกต้องถึงแหล่งที่มา และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดย บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับโรงงานอาหารสัตว์ซีพีเอฟ

[6] สุรัตน์ อัตตะ, วางกรอบภาคการเกษตรไทย สู่รูปแบบ 'สมาร์ทฟาร์มเมอร์', 28 ธันวาคม 2555, http://www.komchadluek.net/detail/20121228/148201/วางกรอบเกษตรไทยสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์.html

& ดร. ฤทัยชนก จริงจิตร, เจาะลึก “Smart Farmer” แค่แนวคิดใหม่ หรือจะพลิกโฉมการเกษตรไทย, นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ, 2556, http://www.qsds.go.th/newqsds/file_upload/2013-05-08-เจาะลึก”SmartFarmer”.pdf

[7] ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC), Ministry of Foreign Affairs, Jun 12, 2015, http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/other-20150612-172511-932159.pdf

[8] พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484, http://kromchol.rid.go.th/person/main/images/low_rid_pdf/006.pdf

[9] พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507, http://portal.dnp.go.th/DNP/FileSystem/download?uuid=188000d3-7cf7-40a6-acf7-084562da32cb.pdf

[10] ดูใน รายงานการเสวนาเรื่อง “แนวเขตที่ดินป่าไม้” วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2550 เวลา 13.30-14.30 น. ณ ห้องประชุม 2 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่), www.dnp.go.th/fca16/file/ro6ebch3r56engl.doc

มติ ครม.16 กันยายน 2540, 30 มิถุนายน 2541 และ 11 พฤษภาคม 2542 เกี่ยวกับราษฎรทำกินในเขตพื้นที่ป่าไม้ ขาดการปฏิบัติต่อเนื่อง ทำให้การแก้ไขปัญหาคาราคาซังมาตลอด

การพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่ป่าไม้ล่าช้า ตั้งแต่ปี 2542 หากทำให้สำเร็จเมื่อปี 2543 2544 2545 ก็ไม่ก่อปัญหาเสียหายต่อป่าไม้บานปลายมาถึงปี 2550 นี้

& ศาลฎีกาตัดสินคดีที่ดินลำพูน จำคุก 1 แกนนำ1 ปีไม่รอลงอาญา อีก2ยกฟ้อง, คอลัมน์ประชาธรรม, 6 มิถุนายน 2555, http://prachatai.com/journal/2012/06/40878

& ดู ผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะแนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามข้อเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ของป.ป.ช., 2558, http://paro3.com/แบบรายงานมาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้%20%20อันส่งสแกนในเวป.doc

ได้เสนอการลดพื้นที่ปลูกพืชในเขตป่าของสินค้าเกษตรที่มีการบุกรุกป่าจำนวนมาก ได้แก่ (1) ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตป่า จำนวน 3.2 ล้านไร่ ภายในปี 2562 (2) ลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในเขตป่า จำนวน 1.8 ล้านไร่ ภายในปี 2562

[11] Anusorn Tamajai, 21 พฤษภาคม 2559

[12] “สร้างสวนป่า 42”, โดย ลุงพูน, 22 กรกฎาคม, 2557, บ้านสวนพอเพียง - หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบนอินเทอร์เน็ต : แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง, http://www.bansuanporpeang.com/node/28393

[13] ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องป่าชุมชน, 3 พฤศจิกายน 2548, จาก www.pachumchon.com , http://prachatai.com/journal/2005/11/6266

ป่าชุมชน คืออะไร

ป่าชุมชน คือ พื้นที่ป่าทั้งที่เป็นป่าบก และป่าชายเลน (รวมทั้งผืนดิน ต้นไม้ ทุ่งหญ้า พันธุ์พืช สัตว์ป่า แหล่งน้ำ และสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด) รอบชุมชน หรือใกล้เคียงกับชุมชน (อาจจะเป็นชุมชนทางการ เช่น หมู่บ้าน , อบต . หรือชุมชนตามประเพณีก็ได้ และก็อาจจะเป็นหนึ่งชุมชน หรือหลายชุมชนที่มาจัดการร่วมกันก็ได้) โดยที่ชุมชนใช้อาศัย ทำมาหากิน และเลือกใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และการรักษาระบบนิเวศ โดยชุมชนเป็นผู้วางแผน ตัดสินใจว่าต้องการอะไรจากป่า ต้องการเมื่อไร จะดูแลรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาป่าชุมชนอย่างไร มีขอบเขตขนาดไหนที่ชุมชนจะดูแลได้ทั่วถึง โดยทั้งนี้แผนการจัดการป่าของชุมชน อาจจะกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นจารีตประเพณี เป็นวิถีชีวิตในการจัดการป่าก็ได้ขึ้นอยู่กับชุมชนเป็นผู้กำหนด

[14] บัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ,การเมืองเรื่องป่าชุมชน, นิสิตปริญญาตรี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2554, http://midnightuniv.org/การเมืองเรื่องป่าชุมชน

[15] มาตรา 44 ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557, http://th.wikipedia.org/wiki/

ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1 – 17, เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก วันที่ 22 กรกฎาคม 2557,

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF

เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 19 จัดร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลังจากที่ได้กระทำการรัฐประหารเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 มี 48 มาตรา โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

หมายเลขบันทึก: 607632เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2016 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2016 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท