การเรียนการสอนอย่างปรัชญา


แม้จะมีเนื้อหาในการอบรมสั่งสอน แต่วิธีการสอน (literacy teaching) ที่จะต้องอบรมสั่งสอนกันตลอดชีวิตนั้นก็เป็นอีกเนื้อหาที่สำคัญ อบรมสั่งสอนอย่างไรจึงจะมีความรู้และมีสมรรถภาพคิดได้อย่างเหมาะสมตลอดชั่วชีวิตของผู้รับการอบรม การอบรมซ้ำๆ เท่านั้นเพียงพอหรือไม่ มีวิธีการสอนใดที่เป็นหลักคิดในการสอนที่จะทำให้การเชื่อได้ว่าผู้รับการอบรมจะเป็นผู้มีคุณธรรมได้ย่อมเป็นปัญหาทางปรัชญาเช่นกัน กีรติ บุญเจือได้เสนอวิธีการสอนสำหรับการสอนปรัชญา (กีรติ บุญเจือ, ๒๕๔๖) ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับการอบรมสั่งสอนคุณธรรม ได้แก่

  • ตวงข้าวใส่กระสอบ คือ ในการอบรมครั้งแรกๆ ผู้เข้าอบรมเหมือนผู้ที่ยังไม่มีความรู้คล้ายกับกระสอบเปล่า การอบรมย่อมต้องให้ความรู้เข้าสู่สมอง ท่องจำ จดบันทึกเพื่อให้เขาได้มีองค์ความรู้เสียก่อน เหมือนการตวงข้าวให้เต็มกระสอบ เมื่อข้าวเต็มกระสอบแล้วก็ย่อมเป็นกระสอบข้าวที่มีคุณค่า ตรงส่วนนี้คือการที่ยอมรับว่าเนื้อหาคุณธรรมสอนกันได้
  • ปลูกกล้วยไม้ คือ เมื่อผู้เข้าอบรมมีความรู้แล้วก็ให้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้น ในเขาบันทึกจดจำแล้วก็มีการสอบวัดว่ารู้ได้มากน้อยเท่าใด เหมือนปลูกกล้วยไม้ก็ต้องบำรุงปุ๋ยและน้ำให้เหมาะสม อย่าได้ขาดและก็ไม่มากเกินไป และต้องให้มันออกดอกกล้วยไม้สวยๆ ได้ นั่นก็คือ การสอบวัดได้คะแนนสอบที่ดีนั่นเอง ในขั้นนี้อาจมีประกาศนียบัตรรับรองได้ แต่ละคนก็จะมีชุดความรู้เฉพาะตนซึ่งเขาสามารถนำไปขยายผลต่อได้
  • ปลูกกุหลาบ คือ เมื่อผู้เข้าอบรมมีความรู้พื้นฐานแล้ว การอบรมสั่งสอนจะต้องเน้นการค่อยๆ ให้เนื้อหาความรู้เพื่อให้เขาฝึกคิดวิเคราะห์ แยกแยะ มองหาส่วนดี มองหาการประยุกต์ใช้ตามหลักยึดเหนี่ยวของเขา เหมือนการปลูกต้นกุหลาบ เราต้องเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน รอให้กุหลาบออกดอก หากมันไม่พร้อมก็ยังไม่ออกดอก แต่ถ้าออกดอกแล้วก็สวยงาม กลิ่นหอมขจรขจาย และสามารถออกดอกไปได้เรื่อยๆ นั่นคือเขาเอาความรู้คุณธรรมไปปฏิบัติด้วยปัญญา เกิดเป็นปัญญาปฏิบัติซึ่งจะต่อยอด ขยายผลอย่างไมสิ้นสุด และเขาก็จะเป็นตัวแบบที่ดีของคนอื่นให้ทำตามได้อีกด้วย

วิธีการสอนทั้ง ๓ แบบนี้ เหมาะสมกับช่วงเวลาในการอบรมสั่งสอนต่างๆกัน และผู้สอนจะต้องตระหนักว่า เรื่องไหนผู้เข้าอบรมยังไม่รู้และจำเป็นต้องรู้ก็ต้องตวงข้าวใส่กระสอบ เรื่องไหนควรศึกษาเพิ่มเติมให้รู้ก็คือ ปลูกกล้วยไม้ เรื่องไหนเป็นความสนใจของผู้เข้าอบรมโดยจำเพาะก็ต้องปลูกกุหลาบจึงจะทำให้ผู้เข้าอบรมได้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและมีสมรรถนะคิดได้เต็มศักยภาพต่อไป

เอนก สุวรรณบัณฑิต. (2559). การสอนธรรมาภิบาลตามแนวทางปรัชญา. (ส่วนหนึ่งของบทความเพื่อการนำเสนอในการประชุมทางวิชาการ)

หมายเลขบันทึก: 607077เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2016 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2016 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท