ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Customs Transit System: ACTS) ตามพิธีสาร 7 ภายใต้ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit: AFAFGIT)


ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ACTS

สรุปสาระสำคัญ ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Customs Transit System: ACTS) ตามพิธีสาร 7 ภายใต้ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit: AFAFGIT)

สงวนสิทธิทุกประการ ผู้ใดนำไปใช้โดยไม่อ้างอิง จะถือเป็นการละเมิด

1. ความหมาย “การขนส่งผ่านแดน” หมายถึง การผ่านแดนของสินค้าและพาหนะในการขนส่งสินค้าข้ามดินแดนของภาคีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งหรือมากกว่านั้น โดยการผ่านดินแดนหนึ่ง หรือหลายดินแดนดังกล่าว ไม่ว่าโดยมีการถ่ายลำ (with or without transshipment) การเก็บของในคลังสินค้า (warehousing) การนำสินค้าขึ้นจากเรือ (breaking bulk) หรือเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (change in the mode of transport ) หรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็เพียงส่วนหนึ่งของการเดินทางทั้งเที่ยว (only a portion of a complete journey) ซึ่งเริ่มต้นและสิ้นสุดนอกเหนือพรมแดนของภาคีคู่สัญญาที่มีการผ่านแดนนั้น[1]

2. ความหมาย “พิธีการศุลกากรผ่านแดนอาเซียน” คือ การประสานกฎระเบียบ พิธีการศุลกากร ของบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนให้เรียบง่ายและมีความสอดคล้องกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอำนวย ความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามอาณาเขตของประเทศภาคีหนึ่งหรือหลายประเทศผ่านดินแดนหนึ่ง หรือหลายดินแดนดังกล่าวภายในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้กระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าจะต้องถูกดำเนินการภายใต้ พิธีการควบคุมทางศุลกากร[2]

3. การควบคุมทางศุลกากร กระบวนการควบคุมทางศุลกากรจะเริ่มต้นจากประเทศต้นทาง (ที่ทำการศุลกากรต้นทาง) มายังประเทศที่ถูกผ่าน (ที่ทำการศุลกากรผ่านแดน) ตามจุดผ่านเข้าและผ่านออกอาณาเขตของประเทศภาคีที่ถูกผ่านตามลำดับ และจะไปสิ้นสุดนอกเหนือพรมแดนของประเทศภาคีคู่สัญญา ที่มีการผ่านแดนนั้น (ที่ทำการศุลกากรปลายทาง)

4 ขอบเขตการบังคับใช้ ใช้บังคับกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนทั้งหมด อย่างไรก็ตามสินค้าบางชนิดต่อไปนี้จะอนุญาตให้ขนส่งได้ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

1 สินค้า/วัตถุอันตราย จะอนุญาตให้ขนส่งผ่านแดนได้ หากมีใบอนุญาตพิเศษจากภาคีคู่สัญญาที่มีการขนส่งดังกล่าวเกิดขึ้น (กำหนดไว้ในพิธีสาร 9)

2. สินค้าต้องกำกัด อนุญาตให้ทำการขนส่งผ่านแดนได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กฎหมายภายในของประเทศนั้น ๆ เช่น ต้องมีใบอนุญาต หรือนำเอกสารประกอบมาแสดง

3. สินค้าต้องห้ามทุกชนิดไม่อนุญาตให้ทำการขนส่งผ่านแดน

ทั้งนี้ 2 . และ . 3 เป็นไปตาม ข้อ 21 ของกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit: AFAFGIT) (บทบัญญัติพิเศษ เรื่องการขนส่งสินค้าต้องห้ามและ/หรือสินค้าต้องกำกัด) กำหนดไว้ว่า “Transit transport of goods prohibited and/or restricted in the transit territory of Contracting Party, to be specified in Protocol 7, shall not be permitted under this Agreement” ภายใต้ความตกลงนี้ ไม่อนุญาตให้ขนส่งสินค้าต้องห้ามและ/หรือสินค้าต้องกำกัดที่จะกำหนดในแนบท้ายพิธีสาร 7 ผ่านดินแดนของภาคีคู่สัญญา

5. องค์ประกอบของระบบศุลกากรผ่านแดน ประกอบด้วย

(1) เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือ เจ้าหน้าที่อื่นใดซึ่งรับผิดชอบในการนำข้อกำหนดตามพิธีสาร 7 ไปใช้ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรของประเทศภาคีทั้งหลาย[3]

(2) ตัวการ คือบุคคลซึ่งนำสินค้ามาดำเนินพิธีการศุลกากรผ่านแดนอาเซียน จะเป็นตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจก็ได้ (ตัวแทนรับผิดเสมือนตัวการ) ตัวการต้องรับผิดชอบต่อการชำระหนี้ศุลกากรใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบ/และหรือการกระทำอันมิชอบ (irregularity) ที่เกิดขึ้นก่อนกระบวนการขนส่งผ่านแดนได้เสร็จสิ้น โดยต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงินสูงสุดแต่ต้องไม่เกินหนี้ศุลกากรที่ถึงกำหนดชำระ[4] นอกจากนี้ตัวการต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวกับระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียนให้ครบถ้วน

(3) ผู้ค้ำประกัน คือบุคคลที่สามไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ซึ่งผูกพันตนเองโดย ลายลักษณ์อักษร ที่จะชดใช้หนี้ศุลกากรที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับตัวการตามจำนวนที่ค้ำประกัน (รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับตัวการ)

ทั้งนี้ความรับผิดของผู้ค้ำประกันต้องครอบคลุมสินค้าตามใบขนสินค้าผ่านแดน สินค้าอื่นใดที่ที่อาจบรรจุอยู่ในการบรรทุกปกติของยานพาหนะในการขนส่งหรือตู้สินค้า และผู้ค้ำประกันต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ต้องได้รับการรับรองโดยสำนักงานกำกับดูแลการวางหลักประกันในประเทศที่มีการวางประกัน ต้องมีที่อยู่สำหรับการ ให้บริการในอาณาเขตของประเทศภาคีทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการผ่านแดนทั้งหมด (หากไม่มีที่อยู่เช่นว่านี้ผู้ค้ำประกันต้องแต่งตั้งตัวแทนในแต่ละประเทศภาคีทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งผ่านแดนดังกล่าว)[5]

อนึ่ง โครงการ Pilot Project ตกลงร่วมกันว่าให้เฉพาะธนาคารเท่านั้นเป็นผู้ค้ำประกัน

(4) สำนักงานการกำกับดูแลการวางหลักประกัน คือ หน่วยงานที่ประเทศภาคีได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อจัดการและเตรียมการภายในประเทศของตน ในการอนุญาตให้รับประกัน และกำกับดูแลการค้ำประกันให้ครอบคลุมการขนส่งสินค้าผ่านแดน[6]

6 ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน เป็นระบบการให้บริการผ่านพิธีการ

ศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับการดำเนินพิธีการศุลกากรผ่านแดนอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ (Fully computerized) ตั้งแต่ที่ทำการศุลกากรต้นทาง มายังที่ทำการศุลกากรผ่านแดน และสิ้นสุดพิธีการผ่านแดน ณ ที่ทำการศุลกากรปลายทาง โดยไม่ใช้ทรัพยากรบุคคลในการดำเนินการด้านเอกสาร เว้นแต่มีเหตุขัดข้องทางคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เพื่อการอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าผ่านแดนอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตและผู้ค้ำประกัน การบริหารจัดการความเสี่ยง การควบคุม การกำกับดูแล กระบวนการตรวจปล่อยสินค้า และการขนถ่ายสินค้า (processing and discharge) รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ กระบวนการต่างๆเหล่านี้จะถูกดำเนินการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด

ระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียนเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการทุกรายที่เหมาะสม (open to all “suitable” traders) เข้ามาเป็นผู้ประกอบการผ่านแดนกับศุลกากรได้โดยไม่คำนึงถึงประเภทธุรกิจ และไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมก็สามารถเข้าเป็นผู้ประกอบการผ่านแดนได้

7. การดำเนินพิธีการศุลกากรผ่านแดนอาเซียนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีกระบวนการ ดังนี้

1. ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตต้องทำการยื่นใบสินค้าผ่านแดนศุลกากรแต่ละฉบับโดยต้องสำแดงสินค้าที่บรรทุก (lodgement) ยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งจากที่ทำการศุลกากรต้นทางโดยวิธีการประมวลผลข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใบขนสินค้าผ่านแดนต้องเป็นรูปแบบที่ใช้ร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ และต้องมีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือรับรองความแท้จริงโดยวิธีอื่นแทนการลงลายมือชื่อ

2. ศุลกากรต้นทางจะรับลงทะเบียนใบขนสินค้าผ่านแดนภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ ใบขนสินค้า ผ่านแดนมีข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน ได้แนบเอกสารที่จำเป็น เช่น บัญชีรายการสินค้า (Invoice) หนังสือรับรอง (certificate) เป็นต้น สินค้าที่สำแดงในใบขนสินค้าผ่านแดนต้องนำมาแสดงต่อศุลกากรตามที่มีการกำหนด (กรณีหากมี การร้องขอ)

3. ศุลกากรต้นทางต้องส่งรายละเอียดใบขนสินค้าผ่านแดนอาเซียนและส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้

ส่งข้อความ “บันทึกการผ่านแดนที่ส่งมาล่วงหน้า”(Anticipated Transit Record: ATR) [7] ไปยังที่ทำการศุลกากรผ่านแดน เพื่อแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าสินค้าหรือการบรรทุกสินค้าจะมาถึงที่ทำการศุลกากร

ผ่านแดนภายในวันเวลาใด

ส่งข้อความ “การแจ้งการมาถึงอย่างเป็นทางการ” (Anticipated Arrival Record: AAR) ไปยังที่ทำการศุลกากรปลายทางเพื่อแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าสินค้าหรือการบรรทุกสินค้าจะมาถึงที่ทำการศุลกากรปลายทางในวันเวลาใด

4. เมื่อสินค้าได้ผ่านที่ทำการศุลกากรผ่านแดนแล้ว ที่ทำการศุลกากรผ่านแดนต้องส่งข้อความ “ การแจ้งการข้ามพรมแดน” (Notification Crossing Frontier) [8] ให้ที่ทำการศุลกากรต้นทางทราบ ทั้งนี้เพื่อแจ้งให้ทราบว่าสินค้าอยู่ภายใต้การควบคุมของศุลกากรอย่างต่อเนื่อง[9]

5. เมื่อสินค้าได้มาถึงที่ทำการศุลกากรปลายทางแล้ว ที่ทำการศุลกากรปลายทางต้องส่งข้อความ

“เวลามาถึงอย่างเป็นทางการ” (Arrival Advice)[10]ไปยังที่ทำการศุลกากรต้นทางเพื่อแจ้งให้ทราบว่าสินค้าจากต้นทางมาถึงเรียบร้อยแล้ว การแจ้งข้อความเวลาที่สินค้ามาถึงอย่างเป็นทางการเช่นว่านี้ให้แจ้งไม่ช้ากว่าวันถัดจากวันที่สินค้านั้นได้นำมาแสดง ณ ที่ทำการศุลกากรปลายทาง

เมื่อที่ทำการศุลกากรปลายทางได้ประมวลผลข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งด้านควบคุมสินค้าและเอกสารที่เกี่ยวข้อง หากตัวการได้ปฎิบัติถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น สินคาถูกขนส่งตามเส้นทางที่กำหนด ดวงตราประทับไม่ถูกทำลาย ไม่มีการละเมิดกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธีการผ่านแดน หลังจากนั้นที่ทำการศุลกากรปลายทางต้องส่งข้อความ “ผลการควบคุม” (Control Result)[11] ไปยังที่ทำการศุลกากรต้นทาง เพื่อบอกล้างหลักประกัน (Discharge of Guarantee)



[1]Article 3 of ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit.

[2] Article 1 (a) of Protocol 7 Customs Transit System.

[3] Article 1 (c) of Protocol 7 Customs Transit System.

[4]Article 1 (m) & Article 5 of Protocol 7 Customs Transit System.

[5] Article 1 (k) of Protocol 7 Customs Transit System , Article 13 paragraph 2 of Technical Appendix ASEAN Customs Transit Rules and Procedures of Protocol 7 Customs Transit System

[6] Article 1 (l) of Protocol 7 Customs Transit System

[7] Article 5 paragraph 1 of Technical Appendix ASEAN Customs Transit Rules and Procedures of Protocol 7 Customs Transit System

[8] ในภาษาอังกฤษ มีคำว่า border, boundary, frontier และ march ยุโรปใช้ frontier หมายถึง international border แต่ของอเมริกัน frontier หมายถึงพื้นที่ที่เป็นพรมแดน รศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข , การบริหารจัดการชายแดนกับความมั่นคงของชาติ, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : จุลสารความมั่นคงศึกษา กุมภาพันธ์ 2552 ฉบับที่ 53

สำหรับกรอบความตกลงผ่านแดนอาเซียนและพิธีสาร 7 จะได้รับแนวทางการร่างกฎหมายและยึด Model Law ความตกลงผ่านแดนจากยุโรป จึงควรแปลคำว่า frontier แบบยุโรป

[9] Article 5 paragraph 2 of Technical Appendix ASEAN Customs Transit Rules and Procedures of Protocol 7 Customs Transit System

[10] Article 5 paragraph 3 of Technical Appendix ASEAN Customs Transit Rules and Procedures of Protocol 7 Customs Transit System

[11] Article 5 paragraph 6 of Technical Appendix ASEAN Customs Transit Rules and Procedures of Protocol 7 Customs Transit System

หมายเลขบันทึก: 607017เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2016 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2016 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท