วิกฤตนิตยสารไทย : วิกฤตสิ่งพิมพ์


วิกฤตนิตยสารไทย : วิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (28/4/2559)

การออกมาประกาศปิดตัวของนิตยสารแฟชั่น เปรียว Cosmopolitan Thailand และ อิมเมจ (ไม่นับ The boy เธอกับฉัน) ทำเอาผมใจหาย ขนาดนิตยสารใหญ่ที่มีแต่โฆษณาเต็มเล่มยังไปไม่รอด เล่มเล็กเล็มน้อยก็อยู่ได้ไม่นาน

ดูจากร้านทำผม ร้านเสริมสวย ที่สมัยก่อนลูกค้าต้องเปิดดูหนังสือพลิกไปมาระหว่างทำผมเป็นภาพที่ชินตา ราวกับว่านิตยสารเป็นของคู่กันกับร้าน แต่มาถึงสมัยยุคโซเชียลมีเดียแทบจะไม่มีใครอ่านนิตยสารระหว่างทำผมอีกต่อไป ต่างคนต่างก้มหน้าเขี่ยโทรศัพท์ นิตยสารกลายเป็นหมาหัวเน่าวางในชั้นวางไร้คนเหลียวแล (แม้แต่การซุบซิบนินทาปล่อยข่าวชาวบ้านในร้านทำผมก็น้อยลง เพราะคนเราไม่ยอมคุยกันกับคนใกล้ตัวกันแล้ว เปลี่ยนไปเป็นคุยแนะนินทาคนผ่านแชทแทน)

คนเสพติดสื่อในโทรศัพท์กำลังหลงลืมเสน่ห์ของการอ่านจากหนังสือไปแล้ว เช่นรูปภาพสี่สีสวย ๆ บนกระดาษมันสวย ๆ กลิ่นของกระดาษใหม่ การค่อย ๆ พลิกดูไปทีละหน้า การส่ายสายตาไปมา การม้วนนิตยสารใช้ตบยุง (สมัยนั้นไม้ตียุงไฟฟ้ายังไม่มี) ตีแมลงสาบ หรือฝาดหัวกะบาลคน หากร้อนจัดก็จับมาพัดได้ หากมีรูปดาราสวย ๆ แต่งชุดว่ายน้ำ หรือดาราชายหล่อ ๆ เราก็จะตัดหน้านั้นเอามาแปะฝาบ้านนั่งดูแบบตาเย้มฝันหวานกันเลยทีเดียว

ยุคของการค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ ซึมซับ ค่อย ๆ ย่อยหมดไปนานแล้ว สวัสดียุคเร่งรีบฉาบฉวย

ผลกระทบตามมามหาศาลราวกับการล้มโดมิโน หรือจะพูดให้ใหญ่กว่าคือ "เด็ดดอกไม่สะเทือนดวงดาว" เช่น

สงสารคนที่จบวารสาร อนาคตคงหางานยาก ช่างภาพหนังสือคงลำบากแย่งงานกัน เพราะนิตยสารมักจะเลือกจ้างแต่ฟรีแลนซ์เพื่อประหยัดค่าจ้างแบบรายเดือน พนักงานกราฟฟิก พิสูจน์อักษร คงตกงานกันระนาว สะเทือนถึงไปทุกสาขาวิชาชีพกันเลยทีเดียว สะเทือนถึงครอบครัวอีกต่างหาก

โรงพิมพ์ก็อยู่ยาก นิตยสารน้อยลง โดยเฉพาะนิตยสารประเภทรอบในการพิมพ์น้อยวันเช่น รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน หากเลิกผลิตแล้ว โรงพิมพ์ก็แย่ มีหวังปิดโรงพิมพ์ พนักงานและคนข้างหลังก็ลำบากตาม

นักเขียนยิ่งแล้วใหญ่ ทุกวันนี้หากชื่อไม่ "ใหญ่" พอก็จะส่งงานยากขึ้น ขนาดนักเขียนชื่อ "ใหญ่" แล้วยังแย่งกัน พวกมือใหม่หัดเขียนแทบไม่มีวันได้เกิด โดยเฉพาะตระกูลเรื่องสั้น นวนิยาย จากเดิมกว่านิตยสารจะตอบรับตัองใช้เวลารออย่างน้อย 3 เดือน บางฉบับต้องรอ 6 เดือนกว่าถึงจะตอบกลับว่าจะเอาหรือไม่เอา ส่วน บก.ก็ต้องเคี้ยวหนักในการเลือกเรื่องมากกว่าเดิม หากเลือกเรื่องจากนักเชียนโนเนมมาลง ต่อให้เขียนดีคนก็ไม่อ่าน นิตยสารก็ขาดเสน่ห์ เพราะพฤติกรรมคนไทยเลือกอ่านจากชื่อนักเขียนมาก่อน (จึงเกิดอาชีพนักเขียนผี) สมัยก่อนกอง บก. ต่อ 1 เล่มมีหลายคนเฉพาะเรื่อง แต่เมื่อนิตยสารน้อยลง เพื่อประหยัดต้นทุนก็จะจ้างกอง บก. น้อยลง บก. คนเดียวจะต้องได้หลายแนว ใครคิดจะสมัครงานเป็นกอง บก. คงยากและคิดให้หนัก เลือกเรื่องไม่เวิร์คเจ้าของหนังสือคงไม่เลี้ยงไว้

ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ในโลกโซเชียลขาดวิจารณญาณอยู่แล้ว สังเกตจากการคอมเม้นท์ตามเพจสาธารณะที่มักใช้อาจมณ์มากกว่าเหตุผล บางเพจก็เขียนข่าวมั่วสงตนก็แชร์มั่ว หากคนยังชอบที่จะอ่านข่าวจากโซเชียลที่มีแอดมินหรือบรรณาธิการที่ไม่มีจรรยาบรรณ ความถูกผิดของเนื้อหาจะไม่สามารถแยกแยะได้เลย

โฆษณาก็อยู่ยาก มีพื้นที่น้อยลง ในนิตยสารค่าลงแม้จะแพงแต่ก็ยังน้อยมากหากเทียบกับโทรทัศน์ (ช่วงเวลาละครน้ำเน่า) ต่อไปคงเบียดเบียนตามเฟสบุ๊กค์ ตามยูทูป ตามเวปไซต์ ซึ่งปัจจุบันก็รำคาญจะแย่อยู่แล้ว

ร้านขายหนังสือก็ลำบากตาม ร้านย่อยตามหัวมุมถนน แผงขายเล็กก็อยู่ยาก ขนาดร้านใหญ่ในห้างฯ นิตยสารยังขายไม่หมด แม้แต่หนังสือพิมพ์รายวันยังขายไม่หมด มินานคงปิดแผงปิดร้านตามนิตยสาร

แต่ก่อนคนไทยอ่านหนังสือน้อยลงกว่าเดิม สมัย "แปดบรรทัดต่อปี" ว่าแย่แล้ว สมัยนี้ไม่ต้องพูดถึงเลย ขนาดขัอความในเฟสบุ๊คหากใคร "สะเออะ" เขียนเกิน 4 บรรทัดก็แทบไม่มีใครอ่านกันแล้ว (บทความนี้ใครอ่านมาถึงตัวอักษรนี้ได้ ผู้เขียนขอคาราวะ)

ไม่ใช่แค่นิตยสารที่เข้าข่ายวิกฤต หนังสือพิมพ์ก็อยู่ยาก หนังสือแนว best book ก็อยู่ยาก โดยเฉพาะรวมเรื่องสั้น-นวนิยายก็ยิ่งอยู่ยาก สมัยผมเริ่มอ่านหนังสือ อาจารย์ของผม "ตะวัน สันติภาพ" บอกผมว่า การพิมพ์วรรณกรรมขั้นต่ำราว 2,000 - 3,000 เล่ม สมัยนี้หลักพันต้น ๆ ก็ถือว่าเก่งแล้ว ส่วนพวกงานกวีนิพนธ์นี่หนักกว่าพิมพ์แค่หลักร้อย ขนาดนักเขียนมือรางวัลอย่างวินทร์ เลียววารินที่พิมพ์ขายเองยังบ่นอุบ

แม้แต่นิตยสารแนวปลุกใจเสือป่าอย่าง FHM Maxim Penhouses ยังประสบภาวะขาดทุน แต่ยังดีที่แบรนด์หนังสือยังต่อยอดงานอย่างอื่นได้ เช่น เช่นงานงานโชว์ตัว งานประกวด งานโฆษณาสินค้าต่าง ๆ (สาธุอย่าปิดตัวเลย ไม่งั้นผู้เขียนคงทำใจไม่ได้)

หลายแบรนด์พยายามปรับตัวไปตามกระแสด้วยการเข้าส่งระบบเวปไซด์อินเตอร์เน็ทแอพพิเคชั่นก็ยังไปไม่รอด ก็คนไทยอ่านหนังสือกันที่ไหนละครับ

แล้วอย่างนี้อย่าพูดเรื่องคิด วิเคราะห์ แนกแยะกันเลย เพราะพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือการอ่านนั่นเอง

ทุกอย่างเป็นไปตามวัฐจักร เกิดมา ตั้งอยู่ และดับไป ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง

ขอบคุณภาพประกอบ

เปรียว จาก daradaily.com

Cosmopolitan จาก women.kapook.com

อิมเมจ จาก matichon.co.th

FHM จาก painaidii.com

หมายเลขบันทึก: 605697เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2016 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2016 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท