ชีวิตที่พอเพียง 2641. เรียนรู้จาก สตีฟ จ๊อบส์


.............................ตอนหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ถามจ๊อบส์ ว่า เอาความรู้เรื่องการบริหารมาจากไหน คำตอบเชิงอธิบาย ของเขา ให้ข้อสรุปแก่ผมว่า จ๊อบส์เรียนจากการปฏิบัติ ดูผลที่ได้ แล้วไตร่ตรองสะท้อนคิด ซึ่งตรงกับหลักการเรียนรู้ ตาม neuroscience ในปัจจุบัน


ภาพยนตร์ สัมภาษณ์ สตีฟ จ๊อปส์ ในปี ค.ศ. 1995 (สิบปี หลังเขาถูกไล่ออกจากบริษัท แอปเปิ้ล ปีเศษๆ ก่อนที่เขาจะกลับเข้าไปฟื้นบริษัท แอปเปิ้ลขึ้นใหม่ ขณะให้สัมภาษณ์เขาอายุ ๔๐ ปี) ชื่อ Steve Jobs : The Loss Interview บอกผมว่า คนที่เป็นอัจฉริยะ เรียนจากการปฏิบัติ ตอนหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ถามจ๊อบส์ ว่า เอาความรู้เรื่องการบริหารมาจากไหน คำตอบเชิงอธิบาย ของเขา ให้ข้อสรุปแก่ผมว่า จ๊อบส์เรียนจากการปฏิบัติ ดูผลที่ได้ แล้วไตร่ตรองสะท้อนคิด ซึ่งตรงกับหลักการเรียนรู้ ตาม neuroscience ในปัจจุบัน

ดูหนังยังไม่จบเรื่อง ผมก็ต้องไปเอาหนังสือ Steve Jobs เขียนโดย Walter Isaacson มาค้นเพิ่มเติม และอ่านพบที่หน้า ๑๖ ว่าตัวอย่างพ่อ และประสบการณ์กับ Heathkit ทำให้เขามีความเชื่อตั้งแต่เด็ก ว่าเขาสามารถประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ได้ทั้งสิ้น

เขาเป็น “นักทำ” ตั้งแต่เด็ก คิดหาทางประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วจึงเรียนรู้หาวิธี ซึ่งโชคดีของจ๊อบส์ นอกจากพ่อและ Heathkit แล้ว ยังมี Hewlett – Packard Explorers Club อยู่ไม่ไกลบ้านนัก เป็นชุมนุมค่ำวันอังคาร สมาชิกประมาณ ๑๕ คน พบกันที่โรงอาหารของบริษัท มีวิศวกรนักวิจัยของบริษัทหมุนเวียนกันมาเล่า ว่าตนกำลังค้นคว้าอะไร

ตอนนั้น จ๊อบส์อายุ ๑๒ ปี การเป็นสมาชิกของ Hewlett – Packard Explorers Club จะได้รับการส่งเสริม ให้ทำโครงงาน เขาต้องการสร้างเครื่อง frequency counter สำหรับวัดความถี่ของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ และต้องการชิ้นส่วนที่ HP ผลิต แต่ไม่มีขายในท้องตลาด จึงยกหูโทรศัพท์พูดกับซีอีโอของบริษัท คือ Bill Hewlett และคุยกันยาวถึง ๒๐ นาที และนอกจากได้ชิ้นส่วนที่ต้องการแล้ว จ็อบส์ ยังได้งานทำที่บริษัท HP ในช่วงโรงเรียน ปิดเทอมอีกด้วย

ผมประทับใจการซักเรื่องผลจากการไปเยี่ยมชมห้องแลบวิจัยของ ซีร็อกซ์ และได้ไอเดียเรื่อง “กูอี้” (GUI – Graphic User Interface) มาคิดพัฒนาต่อ จ็อบส์บอกว่า Xerox PARC ให้เขาชมงานวิจัยและพัฒนาถึง ๓ เรื่อง แต่พอได้ฟังเรื่องแรกคือ กูอี้ เขาก็หูผึ่งสมองจดจ่อ ไม่สนใจอีกสองเรื่องเลย กูอี้นี่แหละที่ช่วยให้ จ็อบส์คิดประดิษฐ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไปโดยสิ้นเชิง

ตอนหนึ่ง จ๊อปส์ บอกว่าเมื่อบริษัทประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ก็จะเกิดความสับสนระหว่าง process กับ content และหลงคิดว่า process เป็น content เขาบอกว่า ผลสำเร็จในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่มาจาก content มากกว่ามาจาก process เขาบอกว่า มักขาดคนที่มี เพราะบริษัทมักให้ค่าตอบแทนคนที่มี content คือฝ่ายพัฒนา ผลิตภัณฑ์ น้อยไป หลงไปให้ค่าตอบแทนสูงมากแก่คนที่มี process คือฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย

ตอนกลางๆ เรื่อง เขากล่าวถึง โรคยึดมั่นกับ Great Idea หลงคิดว่า Great Idea นำไปสู่ Great Product ตามที่คิดไว้ โดยที่ในความเป็นจริง ระหว่างทางจาก Great Idea ไปสู่ Product นั้น ต้องใส่ความรู้เข้าไปอีกมากมาย และ Product ที่ได้ มักไม่เหมือนกับที่คิดไว้ตอนเริ่ม Great Idea นี่คือสัจธรรมของ CAS – Complex Adaptive Systems

ตามมาด้วยคำอธิบายว่า ในเส้นทางการทำงานระหว่าง Great Idea กับ Great Product นั้น ทีมงานจะมี ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน แต่ละคนจะเปลี่ยนแปลงไป เป็นคนที่ ฉลาดขึ้น มีความสามารถมากขึ้น เขามีเรื่องเล่าสมัยเด็ก ที่เป็นรูปธรรม ช่วยให้เขาจดจำเอาไว้เป็นคติประจำใจ เชื่อในพลังของทีม และนำไปสู่ความจริงว่าผลงานที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้มาจากคนคนเดียว แต่มาจากผลการทำงานเป็นทีม

ในหนังสือ หน้า ๙๕ ระบุปราชญ์ผู้มีวิสัยทัศน์ ชื่อ Alan Kay ที่กล่าวคติประจำใจไว้ ๒ ข้อ ที่จ๊อบส์นำมาใช้ คือ (๑) วิธีทำนายอนาคตที่ดีที่สุดคือสร้างมัน (๒) คนที่เอาจริงเอาจังเรื่อง software ต้องสร้าง hardware ของตนเอง โปรดสังเกตว่า ผู้ไม่เชื่อหลักการที่ ๒ คือ บิลล์ เกตส์ ก็ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่จากบริษัท ไมโครซอฟท์

ตามมาด้วยแนวคิดเรื่อง dynamic range ซึ่งหมายถึงความแตกต่างของคุณภาพการใช้งานระหว่างผลิตภัณฑ์ ที่คุณภาพกลางๆ กับที่ดีเลิศมักจะอยู่ในระดับ ๑ : ๒ คือดีกว่าเท่าตัวก็ถือว่าเลิศสุดๆ แต่ในเรื่อง software ความแตกต่างจะอยู่ที่ ๑ : ๑๐๐ หรือ ๑ : ๕๐ เขาบอกว่า ชีวิตของเขามุ่งผลิตผลิตภัณฑ์ที่มี dynamic range แตกต่างจาก ค่าเฉลี่ยในระดับนั้น และจะทำได้ต่อเมื่อหาคนเกรด เอ มาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ทำงานในหมู่คนเกรด ซี คนเกรด เอ เหล่านี้ จะมีปฏิสัมพันธ์กัน สร้างผลิตภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่

ฟังไปๆ ผมเกิดความรู้สึกว่า จ๊อบส์ เป็นนักรีดพลังความสร้างสรรค์ของมนุษย์ออกมาใช้งาน ซึ่งก็ตรงกับใน หนังสือ บรรยากาศการทำงานเป็นการตั้งเป้าที่สูงขนาดไม่น่าเชื่อว่าจะสำเร็จ แต่ต้องให้สำเร็จให้ได้ ทุ่มเทเวลา และแรงกายแรงสมอง แบบไม่หลับไม่นอนเป็นเวลาหลายๆ วัน เพื่อให้เสร็จทันเวลา

เคล็ดลับที่ผมจับได้จากวีดิทัศน์คือ หัวหน้าต้องรู้จักแบ่งงานออกเป็นชิ้นเล็กๆ มอบหมายให้ “คนเกรด เอ” แต่ละคนรับผิดชอบ เมื่อผลงานออกมา หัวหน้าต้องประเมินเป็น ว่าเป็นผลงานชั้นเยี่ยมตามที่ต้องการหรือไม่ หากไม่ใช่ ต้องบอกได้ ว่าทำไมไม่ใช่ และแนวทางปรับปรุงเป็นอย่างไร ที่จริงเป็นหลักการที่เราคุ้นเคยนะครับ แต่ในส่วนของ จ๊อบส์ ความยากอยู่ที่ธรรมชาติของงานของเขาเป็นการทำของที่ไม่เคยมีมาก่อน เกณฑ์คุณภาพ “ชั้นเยี่ยม” จึงอยู่ในจินตนาการเท่านั้น จินตนาการของ จ๊อบส์ ต้องชัดเพียงพอ ที่จะนำมาถกเถียงกับเจ้าของผลงาน แต่ละคน ว่าผลงานชิ้นนั้นยังไม่ดีพอสำหรับเป็นชิ้นส่วนในผลิตภัณฑ์คุณภาพเยี่ยมที่เป็นเป้าหมายสุดท้าย

หลักการที่ยิ่งใหญ่ในการทำงานแบบนี้ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในถูก-ผิด ยึดมั่นที่ความสำเร็จ เขาเล่าว่า เมื่อถกเถียงและทดลองไประยะหนึ่ง ตนเองก็ยอมรับว่าความคิดของตนผิด เป็นความคิดที่จะไม่นำไปสู่ความสำเร็จ ตามเป้าหมาย

คำให้สัมภาษณ์ช่วงท้ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนายอนาคตของคอมพิวเตอร์ ที่เขาให้ความสำคัญต่ออินเทอร์เน็ต ถูกต้องหมด และคำวิจารณ์ว่า ไมโครซอฟท์ ไร้รสนิยม ก็ได้รับการพิสูจน์ เมื่อเขากลับเข้าไปเป็นผู้นำบริษัทแอปเปิ้ลในปีต่อมา และผลิตผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนรสนิยมสูง ออกมาให้ผู้คนใช้

ผมตีความว่า คุณภาพของสมองของ จ๊อบส์ มาจากการลับด้วยการเรียนรู้ ตีความด้วยการสะท้อนคิด สิ่งที่ตนสังเกตเห็น จากการปฏิบัติ อยู่ตลอดเวลา



วิจารณ์ พานิช

๒๐ มี.ค. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 605033เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2016 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2016 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท