ชีวิตที่พอเพียง ๒๖๔๐. ยุคแห่งสตรีเพศ (๒)



ตอนที่ ๑

ภาพยนตร์ บีบีซี เรื่อง The Ascent of Woman ตอนที่ 3 Power หรือสตรีกับอำนาจในการจัดการ กิจการสาธารณะพาไปเยือนกรุงคอนสแตนติโนเปิล หรืออิสตันบูลในปัจจุบัน ที่ในอดีตเป็นศูนย์กลาง ของศาสนาคริสต์ในดินแดนโรมันตะวันออก ที่เรียกว่า อาณาจักรไบซันไทน์ แต่เวลานี้ตุรกีเป็นประเทศอิสลาม

พาไปรับรู้เรื่องราวของ Empress Theodora ที่อดีตเป็นหญิงกลางถนน เป็นโสเภณี เป็นนักแสดง และต่อมากลายเป็นราชินี ปกครองบ้านเมือง

ต่อไปที่ปารีส ไปเรียนรู้เรื่องราวของ Christine de Pizan นักเขียนและกวีสตรีในคริสตศตวรรษที่ ๑๕ ที่เปิดช่องให้มีราชินีหลายองค์ในยุโรป เช่นเอลิซาเบธของอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงด้านส่งเสริมศิลปะวิทยาการ และนักปราชญ์ราชบัณฑิต

การเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้หญิงโสด ในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่ง่าย เขาเล่าวิธีการที่ Queen Elizabeth I ใช้ในการสร้างการยอมรับ คือใช้ภาษา

ศตวรรษที่ ๑๗ ในยุโรป เป็นยุค(กล่าวหาว่าเป็น)แม่มด ชื่อไทยบอกอยู่แล้วว่าเพศหญิงตกเป็นเหยื่อ มากกว่าชาย ชมภาพยนตร์มาถึงตอนนี้ ผมนึกขึ้นว่าเหมือนกับสังคมไทยตอนนี้ ที่เป็นยุค(กล่าวหาว่า)หมิ่น พระบรมเดชานุภาพ

เรากลับไปที่ตุรกี หรืออาณาจักรอ็อตโตมาน ยุคสุลต่านสุไลมาน (Suliman) ที่ถือเป็นมหาราช มีมเหสี ชื่อ Roxelana เป็นคนที่เคยตกเป็นทาสและทาสทางเพศ แต่ด้วยความปรีชาสามารถและความงาม สุลต่านก็ยกย่องให้เป็นราชินี เราได้ไปทำความรู้จักฮาเร็ม ว่าเป็นสถานให้กำเนิดสุลต่านองค์ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องเต็มไปด้วยเรื่องราว ทางการเมือง แย่งชิงความเป็นคนโปรดของสุลต่าน และแย่งชิงโอกาสเป็นสุลต่าน คนต่อไปให้ลูกชาย Roxelana ประสบความสำเร็จยิ่งกว่านั้น คือลูกชายได้เป็นสุลต่าน และลูกสาวได้เป็นคนที่ทรง อิทธิพลที่สุดทางศิลปะของประเทศ เขาบอกว่า เป็นตัวอย่างของสตรี ที่มีส่วนปกครองประเทศอยู่เบื้องหลัง แบบไม่เปิดเผย แบบเดียวกับราชินีของกษัตริย์ราชวงศ์โมกุลของอินเดีย

เมื่อ ๓๘ ปีมาแล้ว ผมไปเยี่ยมภาควิชาโลหิตวิทยาที่อิสตันบูล ได้มีโอกาสไปเที่ยวเมือง แวะไปชมวัง และสถานที่ที่เดิมเป็นฮาเร็ม คำบอกเล่าของไกด์ ทำให้ผมนึกสงสารทั้งสุลต่าน และสงสารนางในทั้งหลาย เพราะในฮาเร็มมีนางในตั้งสามพันคน และมีนางที่สาวกว่าเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ และหากมีการผลัดเวรอย่างเท่าเทียมกัน นางในแต่ละคนต้องรอตั้ง ๑๐ ปี จึงจะถึงคิว และจริงๆ แล้ว สุลต่านต้องพยายามให้มีรัชทายาท จึงต้องเป็นคิว ของมหารานีบ่อยหน่อย โอกาสของนางในก็ยิ่งลดลงไปอีก แต่ความคิดทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า สุลต่าน คึกทุกคืน ซึ่งไม่น่าจะจริง

ที่สุดท้ายที่เราไป คืออินเดียไปเรียนรู้เรื่องของราชวงศ์โมกุลที่สืบเชื้อสายจากเจงกีสข่านของมองโกล ที่ราชินี Nur Jahan ของกษัตริย์ Jahankir สามารถแหวกม่านประเพณีชายเป็นใหญ่ ขึ้นมามีอิทธิพลในกิจการ บ้านเมืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาศิลปะลูกผสมระหว่างอินเดียกับเปอร์เชีย ในเมาโซเลียมของพ่อแม่ ของพระนาง ซึ่งนำไปสู่การก่อสร้างสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของโลกคือ ทัชมาฮาล โดยชาห์จาฮาน ลูกเลี้ยงของพระนาง

ตอนที่ 4 Revolutionเรื่องราวของสตรีที่เปลี่ยนแปลงโลกสมัยใหม่ เริ่มด้วยเรื่องราวของการปฏิวัติใหญ่ ของฝรั่งเศสในปี 1789 ที่ผมเพิ่งรู้ ว่าหัวขบวนในการเดินขบวนไปขับไล่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และครอบครัวออกจาก พระราชวังแวร์ซายส์ คือเหล่าสตรี และที่เด่นคือ Olympe de Gouges นักเขียนผู้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิสตรี จนในที่สุดถูกพวกจาโคแบงจับและได้รับโทษประหารฐานทรยศต่อคณะปฏิวัติ การเรียกร้องสิทธิสตรีเท่าเทียมชาย เป็นความผิดโทษประหาร เพิ่งปี 1946 นี่เอง ที่ผู้หญิงฝรั่งเศสมีสิทธิเลือกตั้ง

ศตวรรษที่ ๑๙ ผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์ทั่วโลกที่มีผู้หญิงลุกขึ้นมาร่วมเรียกร้อง เอกราชเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายในเมืองขึ้น Alexandra Kollontai เป็นนักปฏิวัติ นักการเมือง และนักสิทธิสตรี ของรัสเซีย ตามมาด้วย Magaret Sanger พยาบาลของสหรัฐอเมริกา ที่เขียนเรียกร้องสิทธิของสตรีในการเข้าถึงยา คุมกำเนิด ในศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ และเป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า birth control รวมทั้งร่วมมือกับสตรีผู้มั่งคั่งท่านหนึ่ง ลงทุนจัดให้มีการพัฒนายาคุมกำเนิดขึ้น ใช้เงิน ๑ ล้านเหรียญ

ผมตกใจ ที่ภาพยนตร์บอกว่า ในทศวรรษที่ 1960 และ 1970 สังคมในสหรัฐอเมริกายังไม่ค่อยยอมรับ การที่สตรีใช้ยาคุมกำเนิด เพราะในปี 1967 – 1968 ผมเรียนอยู่ในอเมริกา และสังเกตว่าการใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัย เป็นของธรรมดา และความสัมพันธ์ทางเพศแบบฉาบฉวยเป็นเรื่องปกติ

ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงด้วยการสื่อสารว่า การที่สตรีเพศได้รับโอกาสต่างๆ ในชีวิตเท่าเทียมกันกับชาย เป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่ต่อสตรี แต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม ผมคิดว่าการมีกฎหมาย หรือประเพณี ลดทอนโอกาสของสตรีเพศ ไม่ว่าในเรื่องใดๆ เป็นโทษต่อสังคม มนุษย์เราไม่ว่าเพศใด ควรได้รับการส่งเสริม ให้ได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อชีวิตที่ดีของตนเอง และเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

ขอขอบคุณ อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ที่ส่งภาพยนตร์นี้มาให้


วิจารณ์ พานิช

๑๙ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 605032เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2016 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2016 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท