ดวงประทีปแห่งแรงบันดาลใจ ๒๔


เป้าหมายแห่งคุณค่า เข้ามาบันดาลใจ

ในชีวิตเราทุกคนมีมีเป้าหมายหรือจุดหมายที่ตั้งขึ้นเพื่อเดินทาง บางคนตั้งไว้สูง บางคนตั้งไว้พอดีตน หรือ บางคนตั้งเป้าหมายไว้หลายระดับ ซึ่งเป้าหมายชีวิตที่กล่าวมานี้ เเรงผลักดันสำคัญที่สุด คือ แรงบันดาลใจภายในตัวเราเองต่อเป้าหมายนั้นๆของชีวิต แรงบันดาลใจจึงเกี่ยวโยงโดยตรงกับเป้าหมายในชีวิตที่เราทุกๆคนกำลังจะเดินทางไปหามัน "ด้วยตนเอง"

ในความเป็นเป้าหมายหรือจุดหมายนั้นย่อมมีคุณค่าที่เรามองเห็นได้อย่างประจักษ์ เราจึงเลือกเป้าหมายนั้นเเล้วเดินทางไปที่นั่น คุณค่าที่เรามองเเตกต่างกันออกไป คุณค่าที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน ไม่มีชั้นวรรณะ แต่หากเราลองมามองคุณค่าของเป้าหมายเราสักนิด ว่าเป็นคุณค่าที่เเท้หรือเทียม เหมาะสมกับที่เราจะเดินทางไปหรือไม่ เเละเมื่อเดินไปเเล้วมันจะคุ้มค่ากันหรือไม่กับช่วงชีวิตอนน้อยนิดของคนเรา ความคิดแบบนี้เรียกว่า "คุณค่าเเท้เเละคุณค่าเทียม"

คุณค่าเเท้เเละคุณค่าเทียม มีในทุกเป้าหมาย ทุกความฝัน ซึ่งเราควรนำมาใคร่ครวญว่า สิ่งที่เรากำลังจะเดินทางไปนั้นมันเป็นคุณค่าที่เเท้จริงหรือเพียงคุณค่าเทียม หรือเป็นคุณค่าเทียมที่จะนำไปสู่ความเป็นคุณค่าเเท้ หรือทั้งสองส่วนอยู่ด้วยกัน

คุณค่าเเท้ คือ คุณค่าที่เกิดขึ้นมีผลทำให้เกิดความจริง ความดี เเละความงาม เช่น ความสุข ความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัวพร้อมความสุข ความพ้นทุกข์ ความละวางโลภ โกรธ หลง ความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต ความรัก-ความเมตตา เป็นต้น "ง่ายๆคือเป็นผลให้ใจสะอาด สว่าง สงบ"
คุณค่าเทียม คือ คุณค่าที่เกิดขึ้นมีผลทำให้เกิดโลภ โกรธ หลง ต่างๆนานา เช่น วัฒนธรรมการประกวด การมีบ้านมีรถถึงจะมีความสุข การเอาคะเเนนเท่านั้นวัดศักยภาพของเด็ก การสอนให้โตไปเป็นเจ้าคนนายคน การสอนให้ต้องรวยเป็นสำคัญที่สุดของชีวิต เป็นต้น "ง่ายๆคือเป็นผลให้เกิดการยึดเอาวัตถุหลอกตนเอง"

ใครบอกเธอ ว่าต้อง รวย สวย เเละเก่ง
ใครบอกเธอ ว่าต้องเบ่ง เป็นเศรษฐี
ใครบอกเธอ ว่ารวยเเล้ว จะสุขดี
ใครบอกเธอ ว่าให้หนี ไปจากใจ
ให้เธอมอง หัวใจ ที่ผาสุข
ให้เธอมอง ความทุกข์ เป็นสุขใส
ให้เธอมอง กายจิต คิดเป็นไป
ให้เธอมอง หัวใจ ใฝ่ความจริง

เป้าหมายเราเป็นคุณค่าเเท้หรือคุณค่าเทียม ?

เราควรใคร่ครวญมองดูอีกครั้ง เพราะหากเป้าหมายเราเป็นเพียงคุณค่าเทียมอย่างเดียว เราจะยิ่งเหินห่างเเละเพิกเฉยต่อใจตน ต่อภายในตนเองเพิ่มมากขึ้นไปทุกขณะ เมื่อเป้าหมายเป็นคุณค่าเทียมวิธีการ คือ "ให้เรารู้ว่ามันเทียม" แล้วเสริมความเป็นคุณค่าเเท้เข้าไปในเป้าหมายนั้นได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเป้าหมายชีวิต เช่น เป้าหมายคือความรวย ความเป็นเศรษฐี (คุณค่าเทียม) ให้เสริมคุณค่าเเท้เข้าไปในเป้าหมายด้วย เช่น ระหว่างจะรวยจะสร้างอะไรให้ผู้อื่นบ้าง รวยเเล้วเราจะมีความสุขโดยใจได้อย่างไร เเละเมื่อรวยเเล้วจะสร้างอะไรให้สังคมบ้าง เป็นต้น เเละหากเป้าหมายเป็นคุณค่าเเท้ "ให้รู้ว่าเป็นคุณค่าเเท้" เเล้วให้พยายามมุ่งไปสู่ความเป็นคุณค่าเเท้ของเป้าหมายนั้นอย่างเต็มที่โดยศึกษาใจเเละโลกไปด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าเเท้หรือคุณค่าเทียม ย่อมมีเเรงบันดาลใจในการเดินทางเหมือนกัน เเต่อาจต่างกันในวิธีการ เช่น คุณค่าเเท้ได้รับเเรงบันดาลใจจากภายใน ส่วนคุณค่าเทียมได้รับเเรงบันดาลใจจากภายนอก(แรงจูงใจ) ซึ่งทั้ง ๒ แรงบันดาลใจทั้งภายในและภายนอกนี้เชื่อมโยงไปสู่กันเเละกันในเป้าหมายของหลายๆคน บางมุมสังคมยอมรับความเป็นคุณค่าเทียม บางมุมสังคมยอมรับความเป็นคุณค่าเเท้ เเละบางมุมสังคมต้องการทั้งคุณค่าเเท้เเละเทียมในเรื่องเดียวกัน ฉะนั้นเเล้วในมิติสังคมเเละตนเอง ความเป็นคุณค่าเเท้เเละเทียมจะปะปนกันไป หน้าที่ของเรา คือ ให้เข้าใจความเเท้เเละความเทียม เมื่อมีเเต่เทียมให้เสริมเเท้ เมื่อมีเเต่เเท้ให้เน้นเเท้อย่างองอาจกล้าหาญเเล้วเดินต่อไป

เป้าหมายของปัจเจกชนทุกๆคน อาจมีความเเท้เเละความเทียมที่ปะปนกันไปตามตัวตน แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่ตามมาเมื่อตั้งเป้าหมาย คือ เเรงบันดาลใจที่จะเกิดขึ้นจากเป้าหมายนั้นๆ "เป้าหมายจึงบันดาลใจ" ให้เราทุกๆคนได้เดินทางไปหยุดที่นั่น ระหว่างทางยิ่งสำคัญ เพราะพลังใจเป็นเเรงผลักในการเคลื่อนไปสู่ความเเท้จริงแห่งชีวิต


ธีระวุฒิ ศรีมังคละ
๑๑ เมษายน ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 604847เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2016 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2016 12:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท