ปกป้องหาดอ่าวน้อยมรดกแห่งอ่าวไทย


มีความเข้าใจผิดที่พบเสมอ ว่า การกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาและจะต้องมีการป้องกัน

ร่วมปกป้องหาดอ่าวน้อย มรดกล้ำค่าแห่งอ่าวไทย

โดย รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เมษา 59

1) หาดอ่าวน้อย เสถียรภาพท่ามกลางการคุกคามจากมนุษย์

ายหาดอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์มีความยาวประมาณ 51 กิโลเมตร (รูปที่ 1) ได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชายหาดอ่าวน้อยและหาดคั่นกระไดที่มีโครงการก่อสร้างกำแพงชายฝั่ง เพื่อความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของชายหาดอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ การศึกษานี้จึงรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทำการสำรวจภาคสนามคุณลักษณะของหาดทราย การใช้ประโยชน์หาดทรายและประเภทของสิ่งก่อสร้างชายฝั่ง เปรียบเทียบกับการแปลภาพถ่ายทางอากาศจาก Google Earth เพื่อประเมินสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปของชายหาด ผลการศึกษาพบว่า หาดอ่าวน้อย หาดอ่าวมะนาว และหาดประจวบฯอยู่ในระบบกลุ่มหาด S2 และ S3 ที่จัดเป็นหาดสมดุลที่มีเสถียรภาพ

รูปที่ 1 ชายฝั่งอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ศึกษาหาดอ่าวน้อยและเขาคั่นกระได

าดอ่าวน้อย เป็นหาดทรายความยาว 1.3 ก.ม. อยู่ระหว่างเขาคั่นกระไดทางทิศเหนือและเขาตาม่องล่ายทางทิศใต้ จึงมีลักษณะเป็นหาดทรายอ่าวกระเปาะ (Pocket Beach) ที่มีเสถียรภาพสูงแบบสมดุลสถิต แต่ยังคงอ่อนไหวต่อสิ่งก่อสร้างรุกล้ำชายหาด เช่น กำแพงชายฝั่ง เพราะคลื่นที่เข้าหาฝั่งจะปะทะกับกำแพงและสะท้อนกลับ พัดพาทรายหน้ากำแพงออกไปนอกชายฝั่ง ทำให้หน้าหาดต่ำและแคบลงและหายไปในที่สุด ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่น หาดชลาทัศน์ อ.เมืองสงขลา และหาดพัทยา ชลบุรี เป็นต้น

ส่วนหาดเขาคั่นกระได เป็นชายหาดทรายที่ยาวต่อเนื่องเขาคั่นกระไดไปจนถึงเขตอำเภอกุยบุรีทางทิศเหนือ มีความยาวมากกว่า 20 ก.ม. การเคลื่อนที่ของทรายชายหาดอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสน้ำชายฝั่งที่มีทิศทางสุทธิไปทางทิศเหนือ ดังนั้นจึงอ่อนไหวต่อสิ่งก่อสร้างชายฝั่งทุกประเภท เช่น เขื่อนกันคลื่นและกำแพงชายฝั่ง เพราะนอกจากคลื่นที่ปะทะกับสิ่งก่อสร้างจะพัดพาทรายหายไปแล้ว ยังไปหยุดยั้งการเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่งทำให้สมดุลธรรมชาติสูญเสียไป ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับ ชายฝั่งจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช และในที่อื่นๆตลอดแนวชายฝั่ง

จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศพบว่า ชายหาดอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ส่วนใหญ่มีเสถียรภาพไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นบางพื้นที่ที่มีกิจกรรมของมนุษย์อย่างหนาแน่น เช่น ที่คลองวาฬมีสิ่งก่อสร้างชายฝั่งจำนวนมาก ทำให้สูญเสียหาดทรายไปยาวกว่า 1 ก.ม. รองลงมาคือบริเวณที่เป็นหมู่บ้านชาวประมง เช่น อ่าวน้อยและเขาคั่นกระได เนื่องจากมีการทำกำแพงชายฝั่งอยู่บ้าง จึงทำให้หาดทรายถูกกัดเซาะไปบางส่วน


2) ชายหาดอ่าวน้อยและแผนงานก่อสร้างกำแพงชายฝั่ง

ายหาดโดยทั่วไปมีสภาพที่สมบูรณ์ ยกเว้นบริเวณหมู่บ้านชาวประมงที่มีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตแนวดิ่ง (รูปที่ 2) ส่งผลกระทบทำให้หาดทรายถูกกัดเซาะหายไป และทางจังหวัดมีโครงการสร้างกำแพงคอนกรีตชายฝั่งแบบเอียง ตลอดแนวชายหาด ซึ่งจะทำให้หาดทรายธรรมชาติสูญเสียไป ทำให้มีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการรักษาหาดทรายไว้

รูปที่ 2 หาดอ่าวน้อยมีสภาพสมบูรณ์ และแบบกำแพงคอนกรีตรุกหาดอ่าวน้อย


3) ข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์หาดอ่าวน้อยและเขาคั่นกระไดอย่างยั่งยืน

พื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ประโยชน์จากชายหาดอ่าวน้อยอย่างยั่งยืน จึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

3.1 เนื่องจากหาดทรายจัดเป็นส่วนหนึ่งของทะเล จึงมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำแนวหาดทราย ดังนั้นในการออกแบบสิ่งก่อสร้างจึงต้องมีการศึกษาในห้องปฏิบัติการด้วยแบบจำลองที่ได้มาตรฐาน และตรวจสอบด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เชื่อถือได้ แต่ยังไม่ได้ศึกษาดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการออกแบบที่ไม่ถูกต้องและบกพร่องตามหลักวิชาวิศวกรรมชายฝั่ง

3.2 มีความเข้าใจผิดที่พบเสมอว่า การกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหา และจะต้องมีการป้องกัน ซึ่งแท้จริงแล้วการกัดเซาะชายฝั่งเป็นกระบวนการตามปกติของธรรมชาติ เนื่องจากทรายชายหาดจะเคลื่อนที่ไปตามการพัดพาของคลื่นและลม เป็นความสมดุลท่ามกลางการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ การกัดเซาะของชายหาดในช่วงฤดูมรสุมจะถูกทดแทนด้วยทรายที่ถูกพัดคืนกลับมาตามเดิมในฤดูที่คลื่นลมสงบ กระบวนการตามธรรมชาตินี้จะสมดุลเมื่อไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์

3.3 การกำหนดแนวถอยร่นชายฝั่ง (Setback) เป็นมาตรการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ดีที่สุดในการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืน เพราะแนวถอยร่นจะเป็นกันชนระหว่างการเปลี่ยนแปลงปัจจัยตามธรรมชาติกับการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมของมนุษย์ในบริเวณชายหาด ดังแสดงในรูปที่ 3 ซึ่งในหลายประเทศมีการประกาศระยะแนวถอยร่นไว้เป็นกฎหมาย


รูปที่ 3 แนวถอยร่นและการใช้ประโยชน์ชายฝั่งอย่างยั่งยืน


3.4 การให้ความรู้ที่ถูกต้องทั้งในระดับประชาชนและการเรียนในสถาบันการศึกษา จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและร่วมมือในการรักษาหาดทรายได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

3.5 มาตรการที่ช่วยป้องกันและฟื้นฟูหาดทรายให้กลับคืนมา มี่ดังนี้

- รื้อถอนสิ่งก่อสร้างชายฝั่งที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อคืนสมดุลการเคลื่อนที่ของทรายชายหาดตามธรรมชาติ

- การเติมทรายและการถ่ายเททรายจากที่ถูกดักตามบริเวณสิ่งก่อสร้างชายฝั่งต่างๆ ไปสู่หาดที่ถูกกัดเซาะ เป็นวิธีที่ช่วยสร้างเสถียรภาพที่ดีและลดปัญหาได้อย่างรวดเร็ว (รูปที่ 4) และยังช่วยเสริมความมั่นคงให้กับชายหาดส่วนอื่นๆ

รูปที่ 4 การถ่ายเททรายจากแหล่งสะสมทรายที่เขื่อนกันทรายฯไปสู่หาดที่ถูกกัดเซาะ


------------------------------------------------------


หมายเลขบันทึก: 604471เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2016 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท