แบ่งปัน...เรื่องเรา...จากการไปดู....กังฟูแพนด้า3


วันนี้สร้างกุศล โดยพาเด็ก 3 คนไปดูหนัง "กังฟูแพนด้า3" หนังการ์ตูนที่เด็ก ๆ 3 คนนี้เฝ้าฝันอยากจะดู (เป็นนางฟ้าสร้างความฝันเด็กให้เป็นจริง) ได้เจริญสติเรื่อย ๆ ขณะขับรถไปและกลับ ด้วยต้องขับรถออกนอกเส้นทางปกติในชีวิตประจำวัน เส้นลาดพร้าว บางกะปิ รถเยอะ ทั้งรถใหญ่ รถเล็ก เจอการขับในแบบฉบับของคนบนถนนเส้นนี้ ต้องสูดลมหายใจลึก ๆ ยาว ๆ เข้าและออกหลาย ๆ ที เพื่อทำให้ใจเป็นปกติฮ่าๆๆ

+++

ลมหายใจช่วยได้ ๆ ขากลับหลงทางอีก (ฮาอีกรอบ) เป็นการ หลงผิด เพื่อจะได้เรียนรู้ทางที่ถูก ไม่เครียด และขำกลิ้งกันไป เด็ก ๆ แรก ๆ ก็เหมือนจะเครียดที่ คนนำทางพาหลง แต่เมื่อผู้นำ ไม่เครียด เด็ก ๆ จึงเริ่มผ่อนคลาย จากนั้น เราก็เรียนรู้การใช้เวลาบนรถให้เป็นประโยชน์ เราชวนกันแบ่งปัน ข้อคิดดี ๆ ที่ได้จากการดูหนังเรื่องนี้ที่คิดว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้และบอกเหตุผลว่ามันดีต่อตัวเองหรือผู้อื่นอย่างไร คนละ 3 ข้อ(ไม่ซ้ำกัน) บอกด้วยว่า ตอนไหนหนอที่ทำให้ถึงบางอ้อนึกถึงข้อคิดดี ๆ นี้

+++

เจ้าลูกชายหัวไว คิดได้รวดเร็ว แต่พอตอนให้เหตุผลว่า ถ้านำข้อคิดนี้มาใช้ในชีวิตจริงมันจะดีต่อชีวิตตัวเองหรือผู้อื่นอย่างไร ก็ต้องหยุดคิดพอสมควร พี่สาวที่ไปด้วยกันก็คิดได้เร็วเช่นกัน และก็มาสะดุดเวลาที่ต้องให้เหตุผลในแบบเดียวกัน และคนสุดท้ายเพื่อนสนิทสุดที่รัก รายนี้คิดช้า(มาก เป็นปกติ) จนโดนเพื่อนและพี่พูด ว่า หน้าแบบนี้ "ไม่ได้คิดแหงๆ " คือ เขาจะเหม่อ ๆ ตาลอย มองไปนอกรถ ( มองผ่านกระจกหลัง) จากพลังภายในที่สัมผัสได้(ไม่ได้มีญาณวิเศษนะคะ555) เขาคงรู้สึกกดดัน เครียด ที่ตัวเองคิดช้ากว่าคนอื่น คงจดจ่อกับการตำหนิตัวเองจนเงียบไปเลย ไม่พูด ไม่คุย ผิดปกติอย่างรู้สึกได้ชัด รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จึง...

แม่/อา/น้า “รู้ได้อย่างไรว่า พี(นามสมมุต)ไม่ได้คิด...ถามพีหรือยัง” (คุยยิ้ม ๆ ไม่เครียด ไม่ได้จ้องตำหนิ เหมือนการบอกเล่า ใจร่ม ๆ เย็นๆ เข้าใจ)

มีเสียงหนึ่งตอบว่า “ก็ดูเหม่อ ๆ มองไปแต่ข้างนอกตลอดแบบนี้ ไม่ได้คิดอยู่แล้ว”

แม่/อา/น้า “อย่าด่วนตัดสินความคิดคนอื่น เราไม่ใช่เขา ถามพีก่อน” (เช่นเคยคุยสบาย ๆ เสียงสบาย ๆ ใจสบายๆ)

แม่/อา/น้า “พีครับ...ที่พีนั่งมองไปนอกหน้าต่าง พีกำลังคิดเรื่องที่น้าดาวถามหรือเปล่าครับ”

พี ....................................................................เงียบ ไม่ตอบ ไม่สบตา รู้ว่าได้ยิน แต่ไม่ตอบ ยังคงมองไปนอกหน้าต่าง จึงเพิ่มระดับเสียงดังขึ้นแต่ใจสงบนะคะ พูดประโยคเดิม ขณะนั้นรถติดอยู่จึงหันไปคุยด้วยได้ ยังคงมีอาการเช่นเดิม จึงใช้มือสะกิด ส่งยิ้ม สบตา

แม่/อา/น้า “งั้นน้าดาว เปลี่ยนคำถามใหม่ พีครับ ที่พีมองไปนอกหน้าต่าง พี่กำลัง........

ก. กำลังคิดหาคำตอบอยู่แต่ยังคิดไม่ออก ข. ไม่ได้คิดอะไรเลย...เพราะกำลังชื่นชมวิวข้างทางอยู่

ค. ไม่ถูกทั้งข้อ ก.และ ข. (โปรดระบุ)

สบตา ส่งยิ้ม ใจเป็นมิตร ไม่เร่ง รอได้ หากไม่ตอบ ถามคำถามนี้ 2 รอบ เพราะต้องให้เขาค่อย ๆ คิดประมวลผล

พี อืม........................................................................................................................... ข้อ ก. ครับ

แม่/อา/น้า (ไชโยดัง ๆ ในใจ) ขอบคุณครับที่พีตั้งใจฟังและตอบคำถามน้าดาว

ลูก แม่ของพีให้เวลาพีมากๆ เถอะ....ไว้ค่อยส่งการบ้านพรุ่งนี้ได้ไหมแม่ (เข้าใจ เห็นใจเพื่อนและกลัวว่าจะไม่ได้เล่นกับเพื่อนเมื่อกลับไปบ้าน)

แม่/น้า/อา ไม่มีปัญหา สำหรับพี พรุ่งนี้ส่งก็ได้ แต่ข้อดีของการคิดวันนี้ คือ พียังมีพวกเราที่ไปดูหนังเรื่องนี้ด้วยกัน เราสามารถช่วยเหลือกันได้ แล้วแต่พีเลือกเลย พีคิดว่าอย่างไรครับ ทำวันนี้ หรือจะมาส่งพรุ่งนี้ดี

พี (สบตา ตอบหนักแน่น มั่นใจ) ทำวันนี้ครับ

+++

กับพีนั้นตัวเอง เห็นเขามาตั้งแต่เล็ก ค่อนข้างใกล้ชิดครอบครัวเขา จึงรู้ว่า ที่เขาคิดช้านั้น ส่วนหนึ่งเป็นจากการทำงานของสมองเขาส่วนหนึ่ง เกิดจากการเลี้ยงดูด้วยส่วนหนึ่ง และเกิดจากการเรียนรู้ในสังคมโรงเรียนเขาด้วยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจมีตัวแปรอื่น ๆ อีกก็ได้ ที่ทราบแน่ ๆ คือ เด็กคนนี้คลอดก่อนกำหนดตอนอายุครรภ์ 7 เดือน ด้วยปัญหาน้ำคร่ำแห้ง...แม่เขาบอกเช่นนั้น แต่เดาว่าน่าจะน้อยมากกว่าแห้งเนาะ และคลอดมาตัวเล็กมาก น้ำหนักประมาณ 1500 กรัม แม่เขาบอกว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะรอดมาได้

+++

ซึ่งเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่ ที่เมื่อลูกเกิดมาในภาวะเช่นนี้ ก็มักจะยิ่งทำให้แม่นั้นยิ่งทุ่มเท ห่วงใย ใส่ใจลูกคนนี้เป็นพิเศษ และเป็นลูกคนเดียวด้วย ( ณ ปัจจุบัน) แม่มักปกป้อง ระแวดระวัง ทุกอย่างที่จะมาข้องเกี่ยวกับลูกแทบทุกเรื่อง มักคิดแทนลูก (ด้วยเข้าใจว่า ลูกคิดเองไม่เป็น คิดได้ไม่ดี...แม่เขาบอก ) และสอนแบบ สั่งสอน คือ สั่งว่าต้องทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร แม้กระทั่งการใส่เสื้อผ้า รวมไปถึงทรงผม ก็ต้องตามแม่สั่ง ถ้าขัดคำสั่งคือ “ผิด” ลูกจึงไม่ได้ใช้ความคิดอะไรมากมายเมื่ออยู่บ้านกับแม่

+++

เหล่านี้เราก็ได้พูดคุยแบ่งปันกันเรื่อย ๆ ในบางโอกาสที่เห็นว่ามีช่องทางเข้าไปถึงใจได้ ก็จะชี้ชวนให้คิด หรือชวนคุย ซึ่งบางครั้งก็เป็นประเด็นปัญหาที่ แม่กลุ้มใจ เครียดนำมาปรึกษา ก็เป็นอีกช่องทางที่ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งแม่เองก็เห็นด้วย เข้าใจ แต่ยังทำใจ ตัดใจที่จะปล่อยวางไม่ได้

+++

กับครูที่โรงเรียน ดุมาก มีการทำโทษด้วยการตี ครูเสียงดังเมื่อทำอะไรไม่ถูกใจ ที่คิดไม่ออก ก็เพราะเกิดจากความกลัว จนสมองส่วนหน้าหยุดการทำงานชั่วขณะ..เรื่องราวเหล่านี้ก็ประมวลผลเองจากการที่ชวนพีพูดคุยกัน เพราะครูดาวนั้นก็มีสอนแบบขำ ๆ กันเองที่บ้านบางโอกาส (อารมณ์เล่นบทบาทสมมุติ คุณครูกับนักเรียน) จะเห็นว่าพีนั้น ไม่ค่อยกล้าคิด มีอาการกลัว กดดัน หวาดระแวง พอใกล้ชิดเล่นบทบาทสมมุติกันบ่อย ๆ หลัง ๆ ก็เริ่มชินกับครูดาวมากขึ้น กล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น ขณะที่อยู่กับครูดาวที่บ้าน (ขอเล่าข้ามสังคมเพื่อนซึ่งถ้าเล่าไปจะยาวจบเรื่องไม่ลงง่ายๆ)

+++

ขับรถไปเรื่อย ๆ รถติด ๆ เด็ก ๆ ก็ส่งเสียงคุยกันเรื่องข้อคิด เหตุผลบ้าง คุยเรื่องความสนุกของหนังบ้าง คุยกันเรื่องแม่/น้า/อา หลงทางบ้าง(คือกลับมากังวลว่า เธอจะพาฉันกลับบ้านถูกไหม หรือจะโผล่มีนบุรีฮ่าๆๆๆ) และไม่เกินความสามารถมนุษย์แม่เยี่ยงเรา หลงเอง ก็หาทางกลับเอง แบบไม่ถามใคร(คือช่วงนั้นประเมินแล้วว่าทุกคนที่รู้จักคงยุ่ง ๆ กันอยู่) ไม่พึ่ง GPS เพราะ GPS บอกเส้นทางที่คำนวณจากสมอง(ปลาทอง)แล้วว่า มันจะติดมหาศาลหากไปเส้นทาง เกษตร-นวมินทร์ ซึ่งบ้านข้าพเจ้าอยู่แถวหมอชิต

+++

อันที่จริงเมื่ออดีตเมื่อนานๆๆๆๆมา (ก) แล้วนั้นก็เคยทำงานผ่านๆ เส้นทางแถว ๆ นั้นอยู่ แต่เดินทางโดยรถประจำทาง ไม่ได้ขับเอง และขึ้นรถได้ก็มักหลับฮ่าๆๆๆ ขึ้นนรถปั๊บ คอหักพับ สโลแกนประจำตัวตั้งแต่เล็ก (เด็กๆ นี่ขึ้นรถเมารถตลอด) อาการดีขึ้นเมื่อลูกเข้าเรียน ตั้งใจ จำเส้นทางมากขึ้น แต่ก็ยังจำได้น้อยมากกว่าคนปกติ (อันนี้มีเรื่องของการทำงานของจิตใต้สำนึกตั้งแต่วัยเด็กที่พ่อแม่คอยย้ำ สร้างตราประทับไว้ให้ตั้งแต่เด็กๆจนโต) ดังนั้นก็ยังพอเดา ๆ ทางพอได้ (แต่ก็ งงมากฮ่าๆๆ) ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เวลาอะไรนานมากนัก ออกจากสถานที่ดูหนัง ประมาณ 14.30 น. วนหลงสักพักจนเจอทางกลับ...มาถึงบ้านก็เกือบๆ 16.00 น. สบาย ๆ ใจร่ม ๆ

+++

เมื่อถึงบ้าน เจ้า 2 คนหัวไว ก็คิดและจดบันทึกความคิดกันเอาไว้เสร็จใส่ในกระดาษ รอลงกระดาษจริงที่จะส่งอีกที เพราะขอให้มีชื่อเรื่องภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วาดภาพที่ประทับใจประกอบ ใส่เนื้อหาข้อคิดเหตุผลลงไป จดบันทึกลงวันที่และสถานที่เอาไว้ เป็นความทรงจำดี ๆ เนาะ

+++

เมื่อถึงบ้าน ก็ให้ทุกคนเล่นอิสระ เล่นเกมส์บ้าง เล่นของเล่นบ้าง และสุดท้ายก็ได้เวลาทำการบ้านส่งครูดาว มีอีกคนติดธุระขอแยกย้ายกลับบ้านไปก่อน จึงเหลือกัน 2 คน ก่อนทำการบ้าน ก็ต้องคุยเพื่อปลุกพลังบวก ๆ ในใจพีกันสักหน่อย ต้องคอยกระตุ้นชาร์ตพลังบวก ๆ ในใจเรื่อย ๆ (ห่าง ๆ กันไปหลายไป กลับต่างจังหวัด) สบตา ส่งยิ้มส่งพลังบวก ๆ

น้า "พีน้าดาวเชื่อว่าหนูคิดได้นะ...จำตอนที่เล่นเกมคิดคำ “พลังบวก” ได้ไหม ตอนแรก ๆ ที่เล่นพีคิดคำไม่ออกเลยใช่ไหม แต่หลัง ๆ ล่ะ เป็นอย่างไร”

พี (ยิ้มแป้น) “ คิดได้เยอะมาก ๆ เลยครับ”

น้า “ใช่...ไม่ใช่แค่คิดได้เยอะนะ แต่ละคำทีพีคิดได้ เป็นพวกคำคุณธรรมดี ๆ ทั้งนั้นเลย”

พีดูสดชื่นขึ้นมา แววตาเริ่มเปล่งประกาย อย่างกับต้นไม้ที่ขาดน้ำหลายวันแล้วได้รับน้ำมารดหล่อเลี้ยง

น้า “การคิดช้า แต่เราก็ได้คิด เมื่อเราได้คิด เราก็จะได้คิด ไม่สำคัญว่าใครคิดได้ก่อน ไม่ต้องแข่งกับใคร ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง จงเป็นตัวเองและภูมิใจในตัวเอง แบบโปในเรื่องกังฟูแพนด้า กับเหล่าแพนด้าทั้งหลายในเรื่อง ดีในแบบของเรา ทุกคนมีดี เห็นไหม ขนาดแพนด้าตัวเล็ก ๆ ก็มีดี มีความสามารถในแบบของเขา หรือจะเจ้าแพนด้าจอมกอด ก็ยังใช้พลังกอดที่เขาชอบในการช่วยเหลือโปในการสู้กับข้าศึกที่มาบุกรุกบ้านเมืองเขาได้ พีเองก็มีดีเหมือนกัน น้าดาวก็เห็นหลายเรื่อง เช่น พีเป็นคนที่มีความอดทนและมีความพยายามในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเรียน และก็ทำผลสอบได้ดีด้วย พีมีน้ำใจชอบช่วยเหลือดูแลเพื่อน ๆ ได้ดีมาก พีล่ะเห็นตัวเองไหมว่าตัวเองมีดีอะไรอีก...ยังไม่ต้องรีบตอบไปค่อย ๆ คิด ทำความรู้จักตัวเอง ชื่นชมและเข้าใจตัวเอง”

(พิมพ์แล้วเหมือนยาว ตอนพูดนี่แป๊บเดียวฮ่าๆๆ)

+++

พีหยิบกระดาษ ดินสอ และมานั่งคิด ต่อ (ลืมบอกไปว่าคิดได้แล้ว 1 ข้อบนรถ โดนการสะกิดใจ เติมพลังเล็ก ๆ บนรถก่อนแล้ว แต่บนรถส่งพลังไม่ถนัด ทำได้ไม่เต็มที่ ขับรถไปด้วย หลงไปด้วย) การบ้านนี้อาจยากสำหรับพีมาก แต่ก็แค่ยาก ณ ขณะนี้ หากพีได้ฝึกการใช้ความคิดบ่อย ๆ เขาก็จะพัฒนาคิดได้เร็วขึ้น ดีขึ้น ดังนั้นเพื่อนคือตัวช่วย และเมื่อเพื่อนตัน(คิดไม่ออก เพราะ ข้อตกลงคือ ขอว่า อย่าซ้ำกัน พีคิดคนสุดท้ายจึงยากสักหน่อยที่จะไม่ซ้ำคนอื่น) จึงมาถึงน้าดาวช่วยคิด ส่วนตัวแล้ว ไม่ได้ช่วยคิดแบบคิดแทน แต่จะยกตัวอย่างตอนมาเล่า แล้วถามเขาว่า ตอนนี้คิดว่าอย่างไร เขาก็จะเห็นภาพชัดขึ้น คิดได้ง่ายขึ้น บางข้อคิดไม่ออกก็ขึ้นประโยคให้ แล้วให้เขาค่อย ๆ ต่อขยายความเองตามความคิดเขา ฝึกคิดและฝึกเขียน สรุปว่าคิดจนเสร็จและจดบันทึกไว้ พรุ่งนี้ค่อยกลับมาส่งแบบสมบูรณ์อีกครั้ง

+++

ขากลับระหว่างเดินไปส่งพีกลับบ้าน ด้วยความอยากเข้าใจ (ไม่ใช่แค่เดาใจ) จึงถามความรู้สึกขณะที่พีอยู่บนรถ ก่อนถามความรู้สึก ก่อนเปิดใจ ต้องใส่ความฮานำไปก่อน ชวนพูดคุยเรื่องความสนุกของหนังในวันนี้ แบ่งปันตอนที่ตัวเองนั้นประทับใจ เล่าแบบฮาเฮ ได้ทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ จากนั้นใช้สัมผัสดี ๆ เกาะไหล่เบาๆ ส่งพลังความรัก เมตตาและความใส่ใจส่งผ่านไป ถามพีว่า

น้า “น้าดาวมีคำถาม เป็นเรื่องคาใจ อยากจะรู้ อยากเข้าใจพีมาก ๆ พี่พอจะช่วยตอบคำถาม ให้น้าดาวหายสงสัยได้ไหม จะได้นอนตาย เอ้ย นอนตาหลับฝันดี (ยิงมุกเล็ก ๆ ให้เด็กฮา)

พี (ยิ้ม) ได้ครับ

น้า “น้าดาวสงสัยว่า ตอนที่พีอยู่ในรถ ที่พี่และเพื่อนตอบคำถามกัน แล้วพีก็เงียบ มองไปนอกหน้าต่าง เพราะพีรู้สึกเครียด กดดัน อึดอัดใช่ไหม ถ้าไม่ใช่เนี้ย...บอกเลยนะ ว่าไม่ใช่ น้าดาวเข้าใจผิด คือ อยากรู้ อยากเข้าใจพีจริง ๆ”

พี “ครับ รู้สึกเครียด อัดอัด กดดัน”

น้า “รู้สึก...มากไหม”

พี “อืม...............ครับมากเหมือนกัน”

น้า ส่งพลังทางสัมผัสกาย สายตา “แย่เลยเนาะ ที่รู้สึกแบบนี้...........แล้วตอนนี้ล่ะ รู้สึกยังไง” (อันที่จริง ณ ความรู้สึกตัวเอง ณ ขณะนั้น มีความรู้สึกผิด อยากขอโทษ แต่ด้วยข้อจำกัดด้วยระยะทางสั้น ๆ และสิ่งที่อยากจะพูดอื่น ๆ เลยปล่อยคำว่า “ขอโทษ” เลยผ่านไป กลับมาอยากจะเขกกะโหลกตัวเองจริง ๆ )

พี “สบายใจขึ้นแล้วครับ”

น้า “น้าดาวขอบคุณนะที่พีไว้ใจกล้าบอกความรู้สึกของตัวเองกับน้าดาว และดีใจมากที่รู้ว่าพีสบายใจขึ้นแล้ว”

ส่วนตัวจากแววตา รอยยิ้ม ของพี ที่ตัวเองรู้สึกได้ คือ เขาสบายใจขึ้นจริง ๆ เขาไม่ได้โกหก เพราะดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ อยากรู้ความจริงให้มองที่ดวงตา และส่งใจเราเขาไปสัมผัสความจริง

+++

ผ่านไปอีก 1 วัน อันที่จริงที่เงียบหายไป ไม่ใช่ไม่มีเรื่องจะมาแบ่งปัน เพียงแต่ต้องขออนุญาตจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ว่าขอเรื่องนี้มาพิมพ์ลงได้ไหม (ถึงไม่ลงชื่อจริงก็เถอะ) เมื่อคนต้นเรื่องอนุญาตจึงนำมาแบ่งปัน เมื่อก่อนไม่ได้คิดเรื่องนี้เท่าไหร่ คิดว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เป็นเรื่องราวที่เป็นกรณีศึกษาที่ดี แต่พอผ่านการ เรียนรู้และผ่านเรื่องราวมาจึงเข้าใจว่า เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ


+++

กังฟูแพนด้า3 การ์ตูนดี ๆ ที่อยากชวนกันไปดูค่ะ เนื้อหาดี มีข้อคิดดี ๆ มากมาย ถูกใจเป็นพิเศษกับข้อคิดที่ตัวเองได้คือ เรื่องของการกลับมาเข้าใจ เรียนรู้ที่จะรู้จักและเข้าตัวเอง เชื่อมั่น ภูมิใจในตัวเอง ค้นหาความสามารถดี ๆ ที่มีในแบบของตัวเอง (ไม่ต้องเลียนแบบใคร) ทุกคนมีดีในแบบของตัวเอง ค้นหาให้เจอ และพัฒนามันขึ้นมา นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์และเป็นสุข หากในทางจิตวิทยาเขามักใช้คำว่า "การเห็นคุณค่าในตัวเอง" (Self Esteem) (ภาษาตัวเองคือ รู้จักรักตัวเองให้เป็น) ซึ่งเรื่องนี้ โดยส่วนตัวแล้วให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องนี้ ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะเป็นแม่และเป็นแม่แบบที่ดีในเรื่องนี้ เพื่อส่งต่อให้ลูกของตัวเองและผู้อื่น(เท่าที่จะทำได้)

+++

หมายเหตุ

เกมคิดคำพลังบวก จะผลัดกันพูดไปเรื่อย ๆ สลับกันไปตามลำดับ ไม่ซ้ำกัน ใครคิดไม่ออกจะนับ 1-10 แล้วถ้าคิดไม่ออกก็ออกจากวงไปก่อน เล่นไปจนกว่าจะได้ผู้ที่คิดออกได้เยอะที่สุดคนสุดท้าย ขณะเล่นบรรยากาศคือ มีความสุขร่วมกัน ฮาๆ ไม่ได้แข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย เจ้า 2 เด็กหัวไว มักคิดคำ เช่น รวย ประสบความสำเร็จ มีความสุข สนุกสนาน แต่พีคำที่เขาคิดได้ คือคุณธรรม ที่ส่วนใหญ่มีในตัวเขา เช่น อดทน พยายาม มีน้ำใจ ซื่อสัตย์ หลัง ๆ เจ้า 2 เด็กหัวไว ลอกเพื่อนโดยเอาคุณธรรม 12 ประการมาเล่นฮ่าๆๆ




หมายเลขบันทึก: 604343เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2016 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2016 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท