ปัญหาการกำจัดขยะต้องจัดการเชิง “บูรณาการ”


ปัญหาการกำจัดขยะต้องจัดการเชิง “บูรณาการ”

31 มีนาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1] 

การแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองเป็นวาระปฏิรูปแห่งชาติ

เมื่อ 26 สิงหาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย [2] ซึ่งในปีต่อมาได้ประกาศแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองเป็นวาระเร่งด่วน มีการศึกษารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง การปฏิรูประบบกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ในระบบบริหารจัดการทรัพยากร [3]

โดยการจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัด (Cluster base) ที่เรียกว่า “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม” โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาดำเนินในระดับจังหวัดในรูปของ “คณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัด” [4] โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เป็นเลขานุการ

ต่อมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไปเพื่อให้ท้องถิ่นทั่วประเทศมีอำนาจจัดการขยะได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถออกเทศบัญญัติและข้อบัญญัติจัดเก็บค่าบำบัดขยะได้ครัวเรือนละ 150 บาท [5] 

แต่ดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องเดียวที่ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรในความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม หรือยังไม่มีที่ใด หรือจังหวัดใดได้ดำเนินการแล้วเสร็จ แม้ว่าจะผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้วก็ตาม เพราะในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มิใช่จะแก้ไขได้ด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพียงหน่วยงานเดียว ต้องมีการบริหารจัดการเชิงบูรณาการ (Integrated) จึงจะเป็นผลสำเร็จที่มีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะระบบกลุ่มจังหวัด (Cluster base) ดังนี้ 

ขั้นตอนแรก รวมกลุ่ม “คลัสเตอร์” (cluster) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มารวมกลุ่มพื้นที่เพื่อดำเนินการจัดการขยะ หรือทิ้งขยะรวมกัน เป็นกลุ่ม เป็นเขต เป็นโซนไป โดยหลาย อปท. รวมกันด้วยความสมัครใจ ให้มารวมกันเป็นโซน หรือ คลัสเตอร์ ให้มีจำนวนน้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อลดพื้นที่ทิ้งขยะที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันให้น้อยแห่งลง โดยมีเป้าหมายการรวบรวมขยะชุมชนให้ได้อย่างน้อย 500 - 700 ตัน/วัน เป็นจุดหมาย [6]

ขั้นตอนที่สอง หา “วิธีกำจัดขยะอย่างเหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมาย” กล่าวคือ ในวิธีการจัดการขยะนั้นต้องได้รับอนุมัติวิธีการจากกรมควบคุมมลพิษก่อนการดำเนินการ ตามกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม หรือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 [7]

ขั้นตอนที่สาม หา “สถานที่ที่ทิ้งขยะหรือที่กำจัดขยะ” ให้เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ ซึ่งมีหน่วยราชการครอบครองอยู่ที่จะต้องขออนุญาตใช้พื้นที่เสียก่อน หากมีพื้นที่เกินกว่า 20 ไร่ต้องขออนุมัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดูแลพื้นที่นั้น เช่น หากเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ [8] ไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และต้องชดใช้ค่าปลูกป่าทดแทนในอัตรา 10,960 บาทต่อไร่ [9] ซึ่ง อปท. จะต้องจ่ายชำระค่าปลูกป่าให้แก่กรมป่าไม้เพื่อนำไปปลูกป่าทดแทนต่อไป

หลักเกณฑ์ความเหมาะสมของพื้นที่ที่กำหนด [10] อาทิเช่น ไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี อยู่ห่างจากโบราณสถานไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร ถ้ามีเตาเผาต้องเป็นพื้นที่โล่งไม่อยู่ในที่อับ ห่างจากสนามบินไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร ห่างจากบ่อน้ำดื่มหรือโรงผลิตน้ำประปาไม่น้อยกว่า 700 เมตร ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น หรือพื้นที่ชุ่มน้ำไม่น้อยกว่า 300 เมตร พื้นที่ใต้ดินมั่นคงแข็งแรงพอที่จะรองรับน้ำหนักขยะและเครื่องมืออุปกรณ์ได้ เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึก และผ่านการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว

ขั้นตอนที่สี่ “ขั้นตอนงบประมาณ” เมื่อได้รับอนุมัติจากกรมควบคุม ถึงวิธีการกำจัดขยะ และได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว จึงจะมาดำเนินการ ได้แก่ การของบประมาณ หรือการหาบริษัท เอกชน เพื่อมาดำเนินการกำจัดขยะตามแผนตามโครงการที่ได้จัดทำไว้

ปัญหาอุปสรรคขั้นตอนการดำเนินงาน

ปัญหาอุปสรรคการดำเนินการมีเกือบทุกขั้นตอน เพียงคิดจะเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนก็ค่อนข้างยุ่งยาก ขอยกตัวอย่างในขั้นตอนการดำเนินการจริง ดังนี้

ขั้นตอนแรก เช่น ในอำเภอหนึ่ง มีกลุ่ม “คลัสเตอร์” หนึ่งประกอบด้วย อบต. ก ข ค และเทศบาล ง ได้ประชุมมีมติกำหนดจุดพื้นที่ที่ทิ้งขยะว่า จะใช้พื้นที่ว่างเปล่า หรือที่ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้านชุมชน เพื่อเป็นสถานที่กำจัดขยะ และเลือกวิธีกำจัดขยะ โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งในแง่ปริมาณขยะ ความคุ้มทุน เทคโนโลยี ความเป็นไปได้ ตลอดจนการหาบริษัทเอกชนเพื่อเข้ามาร่วมลงทุน

กล่าวโดยสรุปก็คือ การหาวิธีการกำจัดขยะให้เหมาะสมนั่นเอง ปัญหาที่ประสบก็คือ “การคัดค้านประท้วงของชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียง” ที่ไม่อยากให้ที่ทิ้งขยะอยู่ใกล้เขตหมู่บ้านชุมชน หรือตำบลของตนเอง ฉะนั้น ในการหาพื้นที่ที่เหมาะสมจึงต้องหาสถานที่อยู่ห่างไกลชุมชน สังคมไม่ถูกกระทบ คำตอบส่วนใหญ่จึงเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนที่เสื่อมโทรม สำหรับพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชุมชน ก็จะได้รับการคัดค้านต่อต้านจากชาวบ้าน จนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะการจัดทำประชาพิจารณ์ [11] การประชุมประชาคมนั้น ต้องรับฟังเสียงของชาวบ้านชุมชนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบในที่ทิ้งขยะ หรือ ที่การกำจัดขยะไปตั้งอยู่

ขั้นตอนที่สอง เมื่อ อปท. ที่รวมกันเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ได้เลือกวิธีการกำจัดขยะและหาสถานที่ได้เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ทั้งภาคเหนือ และภาคอีสาน จะเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หากเป็นพื้นที่เอกชนก็จะง่ายต่อการดำเนินการ อปท. ต้องทำหนังสือให้กรมควบคุมมลพิษเข้ามาตรวจสอบก่อนว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมเพียงใดหรือไม่ และจะไม่กระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมใด ซึ่งระยะเวลาที่กรมควบคุมมลพิษจะเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ถึงความเหมาะสม ก็มิได้มีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จที่แน่นอนไว้ หากมีการขอดำเนินการที่พร้อมกันในหลายพื้นที่แล้ว ระยะเวลาในการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษยิ่งต้องยาวนานยิ่งขึ้น ในทางปฏิบัติคงไม่มีหน่วยงานใดที่จะคอยเร่งรัดกรมควบคุมมลพิษได้ เพราะไม่มีกำหนดระยะเวลาเร่งรัดในการปฏิบัติงานของกรมควบคุมมลพิษไว้แต่อย่างใด

ขั้นตอนที่สาม เมื่อกรมควบคุมมลพิษได้ออกหนังสือ อนุญาตว่าพื้นที่ใดเหมาะสมจะใช้วิธีฝังกลบ หรือวิธีการอื่นใด ตามที่หลักวิชาที่เหมาะสมแล้ว ขั้นตอนต่อไป อปท. ต้องทำหนังสือแจ้งผ่านอำเภอ จังหวัด ไปถึงกรมป่าไม้ ผู้ดูแลป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งในรายละเอียด และเอกสารที่ตระเตรียมไว้มีจำนวนมาก และค่อนข้างยุ่งยาก เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้ และนอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ อปท. ต้องชดใช้หรือออกเงินค่าปลูกป่าทดแทนอีกไร่ละ 10,960 บาท ซึ่งปัญหาทางปฏิบัติก็อยู่ที่ “ระยะเวลาดำเนินการที่ไม่มีกำหนดที่แน่นอน” ใครหรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้เร่งรัดให้มีการอนุมัติดำเนินการได้ ปกติระยะเวลาการดำเนินการขออนุญาตส่วนใหญ่จะค่อนข้างยาวนาน เพราะระยะเวลาการขออนุญาต ขออนุมัติก็มิได้กำหนดไว้ตายตัว

ขั้นตอนที่สี่ เมื่อได้รับอนุมัติ อนุญาตให้ใช้ที่ดินเรียบร้อยแล้ว ในการจัดหางบประมาณนั้น อปท. สามารถตั้งงบประมาณดำเนินการได้เอง และหรือขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานอื่น เช่นกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA-Environment Impact Assessment) [12] เสียก่อน เพราะมิฉะนั้น จะไม่รับการพิจารณา ซึ่ง อปท. ต้องหาเงินงบประมาณมาเพื่อการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกส่วนหนึ่ง สำหรับระยะเวลาการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ในรอบงบประมาณปีหนึ่ง สามารถของบประมาณได้เพียงหนึ่งครั้ง ตามห้วงระยะเวลางบประมาณที่กรมควบคุมลพิษกำหนดระยะเวลาไว้ กล่าวโดยสรุปได้ว่า ของบประมาณปีนี้ จะได้ปีหน้า หรือได้ปีต่อๆไป ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะได้งบประมาณเมื่อใด สำหรับการใช้งบประมาณของ อปท. เองนั้น ในปัจจุบันเห็นว่าไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ ด้วย อปท. ไม่มีงบประมาณมากพอที่จะดำเนินการ ด้วยเป็น “โครงการที่เกินศักยภาพของ อปท.” สำหรับการดึงภาคเอกชนมาร่วมลงทุนนั้น เอกชนก็จะพิจารณาถึงความคุ้มค่า หากเป็น อปท. เล็ก อำเภอเล็ก จังหวัดเล็กขยะไม่เพียงพอในการบริหารจัดการ เอกชนก็ไม่ให้ความสนใจ ทั่วประเทศมีเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไม่มากนัก ฉะนั้น ปริมาณขยะย่อมไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการกำจัดของบริษัทเอกชน

การคัดแยกขยะในชุมชน ก็มีปัญหาในการออกกฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขเรื่องค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บหรือการกำจัดขยะ รวมทั้ง ออกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการ “ตราข้อบัญญัติของท้องถิ่น” เพราะกฎหมายหลักดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุง ทำให้การตราเป็นกฎหมายลูกของท้องถิ่นในรูปของข้อบัญญัติท้องถิ่น ยากที่จะทำได้

การรณรงค์ พร้อมการตรากฎหมาย บอกถึงแนวทางในการกำจัดขยะ หรือการจัดการอย่างมีแบบแผนในแต่ละ อปท. จึงมีลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งบางชุมชนก็มีความพร้อม ก็มีการคัดแยกขยะ เอาขยะไปทำปุ๋ย หากชุมชนใดไม่พร้อมก็ปล่อยเลยตามเลย ทำบ้างไม่ทำบ้าง ซึ่งส่วนกลางควรมีมาตรการเร่งรัดการแก้ไขปรับปรุงและออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้มีผลทางปฏิบัติ พร้อมกำหนดบทลงโทษ เพื่อเป็นบรรทัดฐาน กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บ การขน การกำจัดขยะ ให้เป็นอัตราค่าชำระในอัตราก้าวหน้า ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ได้มีการออกกฎหมายการจัดการขยะ [13] ที่สามารถบังคับใช้ได้ จนกระทั่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสังคมของชาวญี่ปุ่นไป

ข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งในการดำเนินการมีหลายด้าน อาทิเช่น ด้านระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจ หากเป็นฝ่ายการเมืองเลือกตั้งอยู่ต่างกลุ่มขั้วกัน ก็ยากที่จะประสานความร่วมมือกันได้ ด้านข้อจำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ อปท. แต่ละประเภทที่แตกต่างกัน และมีขนาดมีศักยภาพที่แตกต่างกันไป หากเป็นการดำเนินงานนอกเขตพื้นที่หรือเป็นการดำเนินการร่วมกันของหลายท้องถิ่น กฎหมายระเบียบยังไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินการได้โดยสะดวก ด้วยมีระเบียบกฎหมายหลายฉบับ ทำให้มีขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยาก ปัญหาขาดคนกลางที่ใกล้ชิดและจริงจังด้านการประสานแผนงานและแผนดำเนินงาน ในการที่จะประสานแผนงานให้สำเร็จลุล่วง เป็นต้น

บทสรุป

ปัญหาการจัดการขยะ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่เล็ก ๆ แต่หากเปรียบเทียบกับการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงแล้ว เห็นว่าการแก้ไขปัญหาขยะค่อนข้างยุ่งยากกว่า เพราะการบริหารจัดการมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากกว่า ฉะนั้น ในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะให้เป็นรูปธรรม หากไม่มี “การบูรณาการ” ในหลาย ๆ ส่วนอย่างจริงจัง เห็นว่าอีกสัก 100 ปีก็คงไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะ “ปัญหาการจัดการขยะ” เป็นปัญหาที่เกินศักยภาพของ อปท. ครับ


 

[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22984 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 28 วันศุกร์ที่ 1 – วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2559, หน้า 80, ‎เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] วิจารย์ สิมาฉายา, แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อน Roadmapการจัดการขยะมูลฝอยและขงเสียอันตราย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559, กรมควบคุมมลพิษ, 2557, http://oops.mnre.go.th/download/download05/new210958/แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อน%20Roadmapการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย%20ในปีงบประมาณ%202559.pdf

[3] ดู ประธาน สปช. ยืนยัน หารือนอกรอบ คงกรอบ 37 วาระปฏิรูป และ 6 วาระการพัฒนา, 16 มิถุนายน 2558, http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=4479#.VZwFtbXl-fE & ดู รายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ วาระปฏิรูปที่ 25 : ระบบการบริหารจัดการทรัพยากร เรื่อง การปฏิรูประบบกำจัดขยะเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ตามหนังสือประธานกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ด่วนที่สุดที่ (สปช) 3459/2558 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เรื่อง รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการอภิปรายกันเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558

[4] ดูตัวอย่างใน จันทนา ภาคย์ทองสุข, แนวทางการดําเนินการตาม Roadmap การจัดการขยะมูลฝอย จังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา), http://www.koratnreo.org/Filedownload/22-10-2557/1.pdf

[5] “ขยะ...ล้นเมืองหลวง” ไม่จบแค่จ่าย150บาท, เดลินิวส์คอลัมน์ : มุมคนเมือง โดย “เทียนหยด”, 19 พฤษภาคม 2558, http://www.dailynews.co.th/article/322057 

[6] ดูใน รายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อ้างแล้ว.

ขยะชุมชน (Municipal solid waste) หมายถึง ขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น ตลาดสด บ้านพักอาศัย ธุรกิจร้านค้าสถานประกอบการ สถานบริการสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งเศษวัสดุก่อสร้าง (กรม คพ.,2547)

การจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัด (Cluster base) หมายถึง การรวมกลุ่มพื้นที่เก็บรวบรวมขยะในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือพื้นที่ใกล้เคียงกันให้เป็นกลุ่มเดียวกัน โดยมีเป้าหมายการรวบรวมขยะชุมชนให้ได้อย่างน้อย 500 - 700 ตัน/วัน เป็นจุดหมาย จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยสามารถแบ่งการจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัดได้ 6 ระบบกลุ่มจังหวัด ดังนี้ (1) การจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัดภาคตะวันตก รวม 6 กลุ่มจัดการ รวม 5 จังหวัด (2) การจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ รวม 9 จังหวัด (3) การจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก รวม 7 จังหวัด (4) การจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ รวม 14 จังหวัด (5) การจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 20 กลุ่มจัดการ รวม 20 จังหวัด (6) การจัดการขยะระบบกลุ่มจังหวัดภาคกลาง (ไม่รวม กทม.) รวม 21 กลุ่มจัดการ รวม 21 จังหวัด 

[7] ดู ส่วนที่ 6 มลพิษอื่นและของเสียอันตราย มาตรา 78-79, พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 37 วันที่ 4 เมษายน 2535, http://www.onep.go.th/images/stories/file/1_NEQA1992.pdf & http://sakaeo.mnre.go.th/sk1/images/PDF/lawPDF/env_law4-6.pdf

[8] ตามแบบ ป.ส. 17 หรือ คำขอใช้พื้นที่ของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐภายในเขตปาสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 13 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507, http://pmchai29.ipower.com/formuse_nationforest.pdf 

[9] กรมป่าไม้แจ้งปรับปรุงอัตราค่าปลูกป่าทดแทน, สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน, 21 กุมภาพันธ์ 2557, http://oopm.rid.go.th/subordinate/opm11/events/2557/comunicate001-03-57.aspx

ตามมติที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 กำหนดให้อัตราค่าปลูกป่าทดแทนในอัตราไร่ละ 10,960 บาท ในอายุครบ 10 ปี 

[10] ดู เกณฑ์ มาตรฐาน และแนวทางจัดการขยะมูลฝอยชุมชน, การคัดเลือกพื้นที่ของสถานที่จัดการขยะมูลฝอย, 2544, หน้า 11-12, http://infofile.pcd.go.th/waste/CopMuniWaste.pdf?CFID=2735237&CFTOKEN=25234418

[11] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ประกาศ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

[12] ดู ระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย, http://www.onep.go.th/eia/index.php?option=com_content&view=article&id=30&Itemid=127 

ขั้นตอนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย (1) การกลั่นกรองโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (2) การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (3) การพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (4) การติดตามตรวจสอบ 

[13] ดู มหานครโตเกียว…โมเดลการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ครัวเรือน, 27 กรกฎาคม 2557, http://thaipublica.org/2014/07/tokyos-waste-management/

หากมองฉากมหานครโตเกียวจากเบื้องบนจะพบแสงไฟฉวัดเฉวียนสูบฉีดหล่อเลี้ยงเมืองอย่างไม่จบสิ้น การเผาผลาญพลังงานและการผลิตขยะเกิดขึ้นทุกวินาทีในเขตเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของทั้งประเทศ จำนวนประชากรรวมทั้งหมดมากกว่าประเทศไทยเกือบเท่าตัว แต่เหตุใดจึงมีการกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากความเป็นระเบียบของประชากรญี่ปุ่นเองแล้ว การแยกขยะก่อนทิ้งเป็นสิ่งที่แต่ละครัวเรือนต้องมีความรับผิดชอบ และการกำจัดขยะอย่างได้ผลสัมฤทธิ์ที่สุดต้องอาศัยระบบที่ดีด้วย 

หมายเลขบันทึก: 604331เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2016 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2022 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท