การจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


การจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

24 มีนาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

การประชาคมจัดทำแผนของท้องถิ่น

เห็นข่าวรายงานจากสื่อสังคมออนไลน์ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ออกทำ “ประชุมประชาคมท้องถิ่น” เพื่อจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา และแผนพัฒนาสามปี” [2] หรือที่เรียกกันติดปากว่าทำ “แผนชุมชน” ตามประสาคนท้องถิ่น ทำให้อดยิ้มและเป็นกำลังใจให้กับคนท้องถิ่นด้วยกัน โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล ในป่าเขา ในทะเล ที่ไกลปืนเที่ยง เช่น ในท้องที่ป่าเขาจังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดน่าน หรือในทะเล “เกาะปันหยี” จังหวัดพังงา ซึ่งมีหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านประกอบรวมกันเข้าเป็นตำบล หรือเป็น อบต. แห่งหนึ่ง บาง อบต. มีจำนวนหมู่บ้านที่มากมายถึง 20 หมู่บ้าน และแต่ละหมู่บ้านก็อยู่ไกลกัน ข้ามป่าเขา การไปมาหาสู่กันต้องเดินเท้ารอนแรม หรือได้นอนค้างคืนกันในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการเข้าออกพื้นที่ เป็นที่น่าสงสารและเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จากเหตุร้ายใด ๆ รวมทั้งจากบรรดาผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายขออธิบายว่า คนท้องถิ่นทั้งพนักงาน ลูกจ้าง อบต. เทศบาล ที่ต้องลงประชาคมในพื้นที่ ก็เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไปทำหน้าที่ของเขา ไปสอบถามปัญหาความต้องการของชาวบ้าน ว่าหากมีงบประมาณจากรัฐ ชาวบ้านจะต้องการให้ อบต. เทศบาล พัฒนาในด้านใดตามความต้องการประชาชน ไม่ได้ทำในเรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางอุดมการณ์หรือทางการเมือง แม้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่นั้นจะเป็นตำแหน่งใดก็ตาม ไม่ว่าปลัด คลัง ช่าง หรือเจ้าหน้าที่อื่น หรือที่เป็นลูกจ้างพนักงานจ้างก็ตาม ขอได้โปรดเข้าใจและเห็นใจคนเหล่านั้นที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยปราศจากอาวุธ มีเพียงความปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น เขาเหล่านั้นไม่ได้รู้ว่าใคร หรือผู้ใดมีความขัดแย้งอะไรกัน ฉะนั้น ประชาชนคนในท้องถิ่นต้องให้การดูแล ช่วยเหลือพวกเขาเจ้าหน้าที่เหล่านั้นด้วย เพื่อเขาจะได้มีกำลังใจในการพัฒนาชุมชน สังคม ท้องถิ่นและแก้ไขปัญหาของบรรดาพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด ตรงวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของการปกครองท้องถิ่นที่ว่า “ความต้องการของชุมชน ย่อมได้รับการแก้ไข โดยคนของชุมชน” ซึ่งคนของชุมชนในที่นี้ก็คือ นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือ อาสาเข้ามาแก้ปัญหาของชุมชนนั่นเอง

เหตุใดต้องจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

หากจะถามว่าเหตุใดต้องจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ต้องตอบว่า แผนของท้องถิ่นนั้น มีความจำเป็นต่อการพัฒนาของแต่ละท้องถิ่นที่มีลักษณะภูมิประเทศ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ความเชื่อ โดยรวมก็คือ มีบริบท (Context) ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ฉะนั้น แผนที่จะแก้ไขปัญหา ของแต่ละท้องถิ่นจึงแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ “ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว” เหมือนดังเช่น โครงการรัฐบาลที่มีลักษณะสั่งการเป็นภาพรวมที่เหมือนๆกัน ด้วยข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน และได้รับนโยบายที่เหมือนกันมาปฏิบัติ เช่น ให้คนบนดอย ป่าเขา สำรวจและกำจัดผักตบชวา แล้วรายงานผลให้อำเภอ จังหวัดทราบ เพื่อรายงานกระทรวงมหาดไทยต่อไป หรือ ตัวอย่างโครงการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ที่สั่งการไปทุกจังหวัด แต่พื้นที่ทางภาคใต้เป็นพื้นที่อยู่บนเกาะล้อมรอบด้วยทะเล ผู้บริหารท้องถิ่นก็คงได้แต่รายงานผลงานไป พร้อมกับอมยิ้มไป

มิติของแผนท้องถิ่น เพื่อรวบรวมข้อมูลการพัฒนาและสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน

ความสำคัญของแผนพัฒนาท้องถิ่น มิใช่มีเพียงแค่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของแต่ละชุมชนเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงในการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น จะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันในหลายส่วน หลายมิติ ที่น่าสนใจ

ก่อนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ต้องมีการสำรวจจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่ปี 2533 เป็น “ข้อมูลในระดับครัวเรือน” ที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นพื้นฐานของคนในครัวเรือน หรือที่เรียกว่า ข้อมูล จปฐ. [3] ข้อมูลนี้จะใช้เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งในการพัฒนา ซึ่งหัวใจของการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานแท้จริงอยู่ที่ “ประชาชน” ที่สามารถทราบปัญหาของ “ตนเอง” ในเวลาที่จัดเก็บข้อมูล ประชาชนจะทราบได้ทันทีว่า “เขามีคุณภาพชีวิต เป็นอย่างไร ขาดข้อใด” จปฐ. จึงเป็นเสมือนวัฎจักรที่สามารถช่วยในการปรับปรุง “ตนเอง”

หากพิจารณาในแผนพัฒนาของท้องถิ่นจะเห็นอัตลักษณ์ (Identity) [4] ที่โดดเด่นซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไป เช่น หมู่บ้านชุมชนในท้องที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ผูกพันกับแม่น้ำป่าสัก การทำมาหากิน ผูกพันกับการเพาะปลูกข้าว การปลูกพืชผักด้านการเกษตร การจับปลา การถนอมอาหารจากปลา เพราะมีความอุดมสมบูรณ์เรื่องน้ำการเกษตร บวกกับวิถีชีวิตชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการทำอาหาร ถนอมอาหาร การแปรรูปอาหาร การทำปลากรอบเสียบไม้รมควัน ปลาแดดเดียว ที่มีชื่อเสียง จนเป็น “สินค้าชุมชน” หรือที่เรียกติดปากว่า “โอท็อป” (OTOP) [5]

หากหน่วยงานของรัฐที่เข้าไปทำงานร่วมกับท้องถิ่น ได้สนับสนุนชุมชนในด้านการเกษตร การถนอมอาหาร การสร้างสินค้าชุมชนโอท็อป โดยเฉพาะสินค้าชุมชนจากปลา แม่น้ำป่าสัก ก็จะประสบผลสำเร็จได้ง่ายกว่า การไปส่งเสริมอาชีพหรือส่งเสริมในเรื่องอื่น ฉะนั้น ในแต่ละท้องถิ่นจึงมีอัตลักษณ์ของตนเองที่แตกต่างกันไป ฉะนั้น การที่ภาครัฐจะเข้าไปพัฒนาหรือส่งเสริมอาชีพหรือกิจการใด หากได้นำแผนพัฒนาของ อปท.มาศึกษาก่อน ย่อมบังเกิดผลดีกว่าการส่งโครงการโดยตรงมาจากส่วนกลางที่เป็น “พิมพ์เดียวกัน” หรือเหมือนกัน

มิติของแผนท้องถิ่น ในปัญหาความต้องการ การพัฒนาที่เร่งด่วน

ประเด็นการจัดทำแผนพัฒนาที่เป็นประเด็นหลักที่ขาดเสียมิได้ก็ คือ “การสอบถามปัญหาและความต้องการ” หรือ “ความจำเป็นที่ชุมชนสังคมนั้นต้องการได้รับการพัฒนา” นี่เป็นหัวใจหลัก เพราะหากแผนพัฒนาไม่ได้มาจากความความต้องการของชุมชน เป็นแผนพัฒนาที่ส่งมาจากส่วนกลาง ด้วยความหวังดีว่าอยากให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี จึงจัดทำโครงการนี้ ประหนึ่งว่าได้คิดดีคิดถูกมาแล้ว ถามคนอื่นมาแล้ว อีกทั้งมีการเปิดตัวโปรโมทนำเสนอโปรเจ็กโครงการที่ยิ่งใหญ่ แต่ขาดอย่างเดียวเท่านั้น คือ “การถามความต้องการของประชาชน ที่มีส่วนได้เสีย และประเมินความพึงพอใจของผลงานจากประชาชน”

ในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะตั้งโจทย์ถามเลยว่าปัญหาของท้องถิ่นคืออะไร และ ความต้องการของท้องถิ่นคืออะไร อยากให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือหน่วยงานรัฐทำอะไร เพื่อตอบโจทย์ปัญหาเหล่านั้น หากผู้บริหารท้องถิ่นไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น ความพึงพอใจของประชาชนจะสะท้อนออกมาที่ “คะแนนเสียง” หรือความนิยมที่ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นจะได้กลับเข้ามาเป็นผู้บริหารต่อไปอีกครั้ง หรือ อาจมีเสียงยี้จากชุมชนเป็นแรงกดดันให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องทำตามความต้องการของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของปัญหาและความต้องการนั้นก็เป็นได้

มิติของแผนท้องถิ่น สะท้อนความคาดหวัง การพัฒนาปัญหาที่เกินศักยภาพ

การจัดทำแผนท้องถิ่น “สะท้อนความคาดหวัง” หาก อปท. เทศบาล หรือ อบต. ใดไม่สามารถจัดทำโครงการได้ หรือไม่มีงบประมาณดำเนินการ เพราะ “เกินศักยภาพเกินกำลัง” ของท้องถิ่นนั้น ผู้บริหารท้องถิ่น ก็จะนำแผนพัฒนานั้นไปประสานงานขอความช่วยเหลือยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานด้านพัฒนา ที่ตรงกับปัญหาความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ตัวอย่างเช่น ชุมชนในเขตป่าเขา ทุรกันดาร ที่ไม่มีระบบน้ำการประปาส่วนภูมิภาคเข้าไปบริการ เนื่องจากความไม่คุ้มค่าในต้นทุนหรืออาจยังไม่มีนโยบาย ในกรณีเช่นนี้ อปท. หลายแห่งก็จะคิดแก้ไขปัญหาตาม “วิถีดั้งเดิมของชุมชน” โดยการนำน้ำจากภูเขามาต่อเข้ากับระบบประปาให้ประชาชนได้อุปโภคใช้สอย ด้วยความติดขัดด้านงบประมาณ การต่อน้ำด้วย “ระบบประปาภูเขา” ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าจึงมีความเหมาะสมกว่า “ระบบการประปาภูมิภาค” เพื่อแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องน้ำ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง หรือใน อปท. ที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำห้วยที่มีน้ำไม่แห้ง ก็เลือกใช้วิถีสูบน้ำจากลำห้วยมามาท่อหรือร่องน้ำปล่อยให้ประชาชนได้ใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น

โลกปัจจุบันนับวันประชากรและความเจริญเพิ่มมากขึ้น ชุมชนมีความต้องการบริโภคน้ำสะอาดใน “ระบบน้ำประปา” ก็ยิ่งมากขึ้น อีกทั้งจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนในเขตป่าเขา พื้นที่สูง หรือทุรกันดาร จึงมีความคาดหวังต้องการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตเก็บกักน้ำประปาไว้ใช้สอย ที่จะลดภาระค่ากระแสไฟฟ้า หรือ หาหน่วยงานใดมาดำเนินในเรื่องน้ำประปาให้ เพราะเป็นกิจการหรือโครงการที่เกินศักยภาพของท้องถิ่น ไม่ว่าในเรื่องเทคนิค และงบประมาณ หรือความเป็นมืออาชีพ เพราะท้องถิ่นก็จะได้นำงบประมาณที่มีอย่างจำกัดไปพัฒนาด้านอื่นที่จำเป็นกว่าต่อไป

การค้นหา “แผนพัฒนาที่เกินศักยภาพของท้องถิ่น” ว่ามีอยู่ตรงไหน จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้ทุกหน่วยงานสามารถระดมเข้ามาแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างถูกจุดและตรงตามความต้องการของประชาชน ผลที่สุดการพัฒนาก็จะไปในทิศทางเดียวกัน ที่เรียกว่า “เกิดการบูรณาการ” อย่างแท้จริง

มิติของแผนท้องถิ่น ในแง่แนวนโยบายของรัฐ และวิสัยทัศน์ผู้บริหารท้องถิ่น

แผนพัฒนาท้องถิ่นประกอบไปด้วย แผนยุทธศาสตร์ แผนสามปี แผนปฏิบัติการ หรือแผนปี ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ และแผนสามปี จะมีการทบทวนปรับปรุงแผนทุกปี [6] เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของชาติ ยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด และความต้องการ ความเร่งด่วนของปัญหา เช่น นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ความปรองดองสมานฉันท์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และอื่น ๆ

แต่ในความแตกต่างกันในแต่ละ อปท. นั้นขึ้นอยู่กับ “วิสัยทัศน์ผู้บริหารท้องถิ่น” ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายของตนเองตามที่ได้แถลงต่อสภาท้องถิ่น และต้องชี้แจงผลการปฏิบัติงาน ความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรคในปีที่ผ่านมาต่อประชาชน

องค์กรที่ทำให้แผนพัฒนาท้องถิ่นมีประสิทธิภาพเป็น “กลไกขับเคลื่อน” การปฏิบัติงานที่มีผลสัมฤทธิ์ ก็คือ “คณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น, คณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผน และ คณะกรรมการติดตามประเมินผลแผนพัฒนาท้องถิ่น” ซึ่งแต่ละคณะถือเป็น “กลไก” แห่งความสำเร็จ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนได้ ในฐานะที่ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากประชาชน ทั้งในแง่ของการจัดทำแผน และ ติดตามนำแผนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่มีตัวชี้วัด ตรวจสอบได้ในความสำเร็จขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรอบปีการพัฒนาที่ผ่านมา

การประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการระดับสูง [7]

เป็นแนวความคิดที่ยอดเยี่ยมมาก ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการผู้ว่าราชการจังหวัดโดยรัฐมนตรีนั้น ควรถือผลการประเมินส่วนหนึ่งให้มาจากภาคประชาชนในชุมชนท้องถิ่นด้วย เพราะจะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใส่ใจสอบถามประชาชนบ้างว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทำให้ชาวบ้านพึงพอใจหรือไม่เพียงใด ปัจจุบัน ความจำเป็นในโครงสร้างพื้นฐาน (Infra structure) ยังมีอยู่ในท้องถิ่นทุกพื้นที่ โดยเฉพาะท้องถิ่นที่ห่างไกล ยังถือเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่อยู่ หากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานหมดไป การพัฒนาด้านอื่นตามความต้องการของชุมชน ก็จะถูกจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาตามมา

ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากไปถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน หากได้นำแผนพัฒนาของท้องถิ่นดังกล่าวมาเป็นแนวทางปฏิบัติงานภาคสนามและการพัฒนาชุมชนแล้ว ย่อมทำให้ประชาชนในชุมชนทุกท้องถิ่นอยู่ดีกินดี ประเทศเกิดการพัฒนาตรงตามความต้องการและบรรลุเป้าหมายของทุกหน่วยงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22977 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 27 วันศุกร์ที่ 25 – วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2559, หน้า 80, ‎เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] ดู ข้อ 16 ข้อ 17 แห่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 115 ง วันที่ 17 ตุลาคม 2548 หน้า 46-57, http://www.dla.go.th/work/planlocal/กฏหมาย ระเบียบ/ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาของ อปท. พ.ศ. 2548.pdf & หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.2/ว 0600 ลงวันที่ 29 มกราคม 2559 เรื่อง แนวทางและหลักเกณฑ์การจัดทำและประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

[3] คูมือการจัดเก็บขอมูลพื้นฐานป 2557-2559, http://www.rdic.cdd.go.th/BMN2557/6.คู่มือการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน.pdf

ข้อมูลพื้นฐาน คือข้อมูลในระดับครัวเรือนที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นพื้นฐานของคนในครัวเรือนในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเอาไว้ว่า คนควรจะมีคุณภาพชีวิตในแต่ละเรื่องอย่างไรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ

[4] มีข่าวการคัดค้านการควบรวม อปท. ของชมรมนายก อบต. จังหวัดสตูลด้วยเหตุผลว่า “…ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความขัดแย้งในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านการเมือง และความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นที่แตกต่างกัน…”

ดู ชมรมนายก อบต.สตูลยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ค้านแนวทางควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 18 มีนาคม 2559, http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000028499

& ทั่วประเทศค้านควบรวมท้องถิ่นหวั่นสร้างความขัดแย้งระดับพื้นที่, สยามรัฐรายวัน, บทความพิเศษ : ทีมข่าวภูมิภาค หน้า 10, 23 มีนาคม 2559

[5] ดู กัลยาณี สูงสมบัติ. “ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (Outlet To On-Shelf Peering Working) หรือ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์.” มหาวิทยาลัยเทคโนราชมงคลพระนคร, มปป.

กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ในปี พ.ศ. 2553 (OTOP Product Champion : OPC) นโยบายรัฐบาลยังคงใช้ชื่อ “โอทอป” (OTOP) แต่ปรับเปลี่ยนคำเดิม จาก “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ One Tambon One Product เป็น “ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น” หรือ Outlet To On-Shelf Peer working โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ โอทอปที่ผลิตโดยชุมชน เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” ซึ่งไม่จำเป็นว่า หนึ่งตำบลจะต้องมีหนึ่งผลิตภัณฑ์ อาจเป็นหลายชุมชนเป็นเครือข่าย และไม่จำเป็นต้องอยู่ในจังหวัดหรือภาคเดียวกัน ส่วนที่ 2 คือผลิตภัณฑ์มาจากผู้ประกอบรายเดียว เช่น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น” โดยมุ่งเน้นเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างรายได้ และกำไรให้กับชุมชนของตนเอง ส่วนการพัฒนาสินค้าชุมชน จะเน้นการเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้าน โดยให้นำศักยภาพทางการตลาดมาเป็นตัวนำในการผลิตสินค้า เพื่อเป้าหมายด้านรายได้และกำไร ตามระบบตลาด มาเป็นตัวนำในการผลิตสินค้า โดยมองว่า ที่ผ่านมาจะเป็นการดำเนินธุรกิจ โดยไม่มีการวางแผนถึงแนวทางการทำการตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ต้องล้มหายตายจากไป ไม่สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้

[6] ดูนิยาม ข้อ 4 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548, อ้างแล้ว

[7] ด่วน! “บิ๊กตู่” ใช้อำนาจม.44 สั่งออกมาตรการประเมินผลงาน “ขรก.”, 1 กุมภาพันธ์ 2559, http://www.matichon.co.th/news/22116 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559

ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ที่สำคัญได้แก่ ตำแหน่ง ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เอกอัครราชทูต ฯ

ผู้ประเมินที่สำคัญได้แก่ นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ รมว. รมช. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

หมายเลขบันทึก: 603937เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2016 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2016 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท