เรื่องเล่าระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2559


20 มีนาคม 2559

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหารและผู้อ่านที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2559. วันนี้นัดประชุม ผอ รร ไว้ที่วัดชลประทานราชรังสฤษดิ์ ท่านเจ้าคุณปัญญาฯ เจ้าอาวาสเป็นพระสุปฏิปันโน คือปฏิบัติดีและสอนดี วันนี้ท่านเมตตาจัดเวลามาปาฐกถากับผู้บริหาร. 2 ชั่วโมง สาระล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานทั้งสิ้น. อีกทั้งยังได้มีโอกาสรับทราบการเตรียมการงานสลายร่างหลวงพ่อปัญญานันทะ ในปี 2560. มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งมานำเสนอจำหน่ายหนังสือเล่มใหญ่เพื่อนำรายได้ถวายวัด เรื่องนี้อยู่ที่ดุลพินิจของโรงเรียน. เที่ยงวัดจัดอาหารไว้ที่ลานธรรม ไม่ได้กินข้าววัดมานาน ทำให้รู้สึกว่าร้านไหน ๆ ก็สู้ฝีมือแม่ครัววัดไม่ได้ บ่ายกลับสำนักงานเขตทำงานเอกสารต่าง ๆ มีเรื่องดำเนินการทางวินัยที่ไม่ถูกขั้นตอนสมัยปี 2553 ก.ค.ศ.ส่งกลับมาให้ดำเนินการใหม่ ย้ายมาอยู่นนทบุรี เขต 1 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 งานส่วนใหญ่คือการแก้ไขความผิดพลาดในอดีต การปรับเปลี่ยนระบบงานใหม่ การเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงาน จิ้มตรงไหนผุตรงนั้น นับเป็นเรื่องที่ท้อถอยในหัวใจ ฟังหลวงพ่อปาฐกถาวันนี้พอมีกำลังใจสู้ต่อ แม้แต่การอยู่เวรที่เสนอมาให้ลงนามในคำสั่งทุกเดือน ไม่น่ามีปัญหาอะไร อยู่ไม่ได้บางวันก็สับเปลี่ยนโดยขออนุมัติเป็นราย ๆ ไป แต่สำหรับที่นี่ทราบว่าคนที่อยู่ในคำสั่งไม่อยู่เลยให้ผู้อื่นอยู่แทนตลอดปีตลอดชาติ อย่างนี้คำสั่งจะไปมีความหมายอะไร เปลืองกระดาษและน้ำหมึกเปล่า ๆ นี่คือตัวอย่างที่ทยอยเข้ามาให้แก้ไข ยังไม่นับโรงเรียนที่มีแนวคิดแปลกใหม่ฟังแล้วสะอึก เช่น เงินโครงการอาหารกลางวันเหลือสะสมไว้มาก แปลว่านักเรียนได้รับอาหารเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพหรือเปล่า รัฐให้งบประมาณมาเพื่อให้อาหารเพียงพอสำหรับเด็กในวัยเรียน หากโรงเรียนเน้นเงินเหลือ ก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ที่น่าตกใจคือนำเงินยอดนี้ไปใช้ผิดประเภท ต้องสอบสวนต้องเรียกเงินคืนกันอีก เย็นเดินทางไปวัดบางระโหงเยี่ยมญาติที่มาจากชลบุรี เพื่อฟังสวดพระอภิธรรมศพในวัดนี้

วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2559. เช้าเดินทางเข้าสำนักงาน สกสค. ขับรถไปเอง สภาพจราจรไม่ติดขัดมากนัก ประชุมที่ห้องเทพหัสดิน ประชุมกรรมการ ช.พ.ค. ชุดบริหารรับทราบการจัดเก็บเงิน ช.พ.ค. เก็บได้เกินร้อยละ 90 มี 66 จังหวัด ยอดย่ำแย่ 12 จังหวัด นอกนั้นมีสมาชิกขอกลับมาใหม่อีกหลายราย บางรายไม่จ่ายเงินมากว่า 20 ปี ที่แย่สุดคือไม่เคยจ่ายเงินสงเคราะห์รายศพมาเกิน 5 ปี แต่เจ้าหน้าที่ไม่ถอนออกจากสมาชิกภาพ ตายลง เราต้องจ่ายเงินให้คนไม่มีวินัยเหล่านี้เกือบล้านบาท ไม่เป็นธรรมกับสมาชิกที่ดี ๆ คงต้องแก้ไขระเบียบใหม่ให้ชัดเจน บ่ายกลับมาทำงานเอกสารที่เขต ผจญภัยกับปัญหาต่าง ๆ เช่น การรับเงินบำนาญกรณีถูกรอเลื่อนเงินเดือน การเพิกถอนมติ อ.ก.ค.ศ.เขต เรื่องสับเปลี่ยนเวรก็ขึ้นมาถึงโต๊ะ เหตุผลแปลก เพื่อเฝ้าบ้าน เพื่อดูลูกที่ยังเล็ก ทุกทีเขาก็อนุญาตกันหมด มายุคนี้ต้องสะดุดหยุดลง รู้ว่าคงไม่ถูกใจ แต่ต้องเอาที่ถูกต้อง เย็น 16.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญ ผอ.เขต ทั้ง 3 แห่งพบที่ห้องทำงาน ตัวจริงมีเฉพาะผม ท่านพูดเรื่องโรงเรียนคุณธรรมอยากให้ทำโครงการเสนอของบประมาณจาก อบจ.นนทบุรี ท่านบอกว่าโรงเรียนในจังหวัดนนทบุรีเขาไม่เห็นเขตอยู่ในสายตาเลยนะ เขาแนบแน่นกับ อบจ.เพราะช่วยเขาทุกเรื่อง น่าจะจริงเพราะดูอาการจะเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับผมไม่ใช่เรื่องใหม่ อยู่ปทุมธานี ใช้เงิน อบจ.ไปกว่า 500 ล้านบาท ในการพัฒนาการศึกษา เป็นเงินที่ตัดมาตั้งจ่ายที่เขตก็มี เช่น การจ้างครูจะจ่ายอุดหนุนเขต 2 งวด เบิกจ่ายสะดวก สนับสนุนการจัดงานวันครู ขอเงินมาจัดแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ยิ่งใหญ่เท่าที่เคยมีการจัดมาถึง 11ครั้ง เป็นเงินสด 10 ล้านบาท สมทบกับ สพฐ. 25 ล้านบาท มีอีกหลายเรื่องที่เราผลัดกันรับผลัดกันให้เป็นเส้นทางที่ผ่านมาและประทับใจ เมื่อท่านให้ข้อมูลไม่ต้องไปแย้งไปถกเถียง เราฟังไป เรื่องจริงย่อมรู้อยู่แก่ใจ ศักดิ์ศรีคนไม่เท่ากัน ประสบการณ์คนไม่เท่ากัน โลกในความเป็นจริงคือการทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด การพึ่งพาอาศัยทรัพยากรภายนอกให้ทำเท่าที่จำเป็น ผู้ให้ย่อมมีเกียรติ ผู้รับย่อมจ๋องกว่า

วันพุธที่ 16 มีนาคม. 2559. เช้าเข้าสำนักงานเขต ทำงานเอกสาร บางเรื่องเชิญเจ้าหน้าที่มาอธิบายเพิ่มเติม เช่น การประเมินเพื่อพิจารณาความดีความชอบ เดิมกำหนดให้โรงเรียนส่งผลการประเมินเขต 24 มีนาคม 2559 ให้ปรับใหม่ เพราะรอบการประเมินเริ่ม 1 ตุลาคม 2558 - 31 มีนาคม 2559 ฉะนั้น การประเมินจึงเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 เป็นต้นไป ให้ไปปรับปฏิทินงานใหม่ ดูไปก็รู้สึกรำคาญตัวเองที่มองข้ามผ่านสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ ทั้งที่เขาอยู่กันมาได้ยาวนาน ต้องลงมาจับมาแก้เสียทุกเรื่อง คล้ายอ้ายตัวประหลาดก็มิปาน เที่ยงเดินทางไปประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินโครงการเงินกู้ ช.พ.ค./ช.พ.ส. ที่ห้องประชุมจรูญ มิลินทร์ ชั้น 7 สำนักงาน ก.ค.ศ. ข้อตกลงระหว่างธนาคารออมสิน กับ สกสค. มาสะดุดตรงเงินกองทุน 7 พันล้านบาท มองหน้าตาหัวหน้าตัวแทนฝ่ายธนาคารส่อแววตาบอกว่าพวกคุณจนแล้วเรื่องมาก ด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่ยากจะอธิบาย ความรู้สึกหนึ่งในเบื้องลึกกระซิบว่า ผู้ใหญ่เขาพูดกันรู้เรื่องแล้ว พวกคุณเด็ก ๆ อย่ายุ่ง เคยเห็นไหมเงินล้าน อยากจะบอกว่า ผมเคยบริหารเงินของกรรมาธิการคณะหนึ่งมาแล้วสมัย สสร. 2540 วงเงินสดในมือ 50 ล้าน โดยไม่เสียหายใด ๆ เมื่อคุยไม่ตรงกันเรื่องก็ไม่จบ สรุปนัดประชุมอีกครั้ง แต่จะบอกวันเวลาสถานที่ให้ทราบเมื่อกำหนดแน่นอน มึนตึบลงมาขึ้นรถเดินทางกลับเขต

วันพฤหัสบดีที่ 17. มีนาคม 2559. วันนี้ได้อยู่สำนักงานหนึ่งวัน เพราะปลอดการประชุม ไปนั่งคุยกับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานต่าง ๆ หลายคนบอกตรง ๆ ว่า กลัว เพราะเป็นคนดุ น่าจะจริงด้วยบุคลิก น้ำเสียง ทำให้หาคนเข้าใกล้ยาก ติดนิสัยมาจนอายุ 58 ปีแล้ว รักษาให้หายยาก ถ้าเป็นยาก็ขมปี๋ แม้คุณภาพดี ยากที่จะกลืนกิน ครั้นจะปล่อยตามยถากรรมเท่ากับไม่บริหารให้คุ้มที่หลวงจ้าง มอบหมายให้ท่านรองฯ อรวรรณ ประชุมผู้เชี่ยวชาญทั้งในเขตและโรงเรียน สังคายนาเอกสารประกอบหลักสูตร เอาให้เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็น เล่มไหนเป็นภาระแก่ครูโดยไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ตัดทิ้งเสียบ้าง จะได้มีเวลาคิดเรื่องสอนหนังสือ วันนี้มีหนังสือร้องเรียนเข้ามาอีกเป็นเรื่องโรงเรียนเรียกเก็บเงินหลายรายการ เรื่องนี้ได้ตั้งกรรมการระดับเขตตามหลักเกณฑ์ ที่ สพฐ.กำหนด จากที่ไม่เคยตั้งกันมาก่อน นี่คือ สาเหตุหนึ่งของปัญหา ที่โรงเรียนเรียกเก็บโดยไม่ทราบหลักเกณฑ์ ไม่ได้รับอนุมัติ ปัญหาเหล่านี้ค่อย ๆ แก้ไป ร้องเรื่องครูทะเลาะกัน สารพัด มีกลุ่มนักศึกษาปริญญาโท วิชาเอกการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง มาพบขอศึกษาระบบงานเขต ไปทำรายงาน ก็นั่งเล่าให้ฟังก่อนปล่อยไปเก็บข้อมูลที่กลุ่มงาน นั่งมองปฏิทินงานในสัปดาห์หน้าแบบพะอืดพะอมเต็มที วันที่ 21 เช้านัดประชุมคณะกรรมการเขตพิ้นที่การศึกษา บ่ายประชุมอีก 2 คณะ วันที่ 22 นัดประชุม อ.ก.ค.ศ.เขต วันนี้ สพฐ. แจ้งประชุม ผอ.เขต 21 - 23 สำนักงาน ก.ค.ศ. นัดประชุม 22 - 25 ภาษิตทางใต้เขาเรียกว่า ทำไม่สิ้น กินไม่พอ แต่ท้ายสุดอะไรมันก็ผ่านไป. คราวก่อนป่วยไม่ไปประชุมต้องชี้แจงเขาไปรอบหนึ่ง วันนี้เจ้าของเรื่อง ดร.ตำลึง โทร.มาหาบอกว่า ท่านเลขาธิการ กพฐ. ฝากบอกว่าไม่ต้องซีเรียส คงเห็นชี้แจงเป็นระบบพร้อมหลักฐานครบถ้วนแบบคำให้การเรื่องเขาพระวิหาร ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรเพราะป่วยจริง ๆ ที่ส่งเอกสารครบถ้วนตามข้อชี้แจงอาจเป็นเพราะเคยชินกับการทำสำนวนคดีความต่าง ๆ ต้องมีพยานหลักฐานครบถ้วน ต่อไปคงต้องเลือกไปตามนายสั่งเพราะขี้เกียจชี้แจง

วันศุกร์ที่ 18. มีนาคม. 2559. ถึงเขตเช้าเพราะต้องไปงานโรงเรียนเอกชนในอำเภอบางกรวย ถามคนรถว่ามีใครร่วมทางไปบ้าง ก็บอกว่าไม่มีใครประสานมา ออกรถกันไปเห็นมีเวลาเขาพาชมวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร เป็นวัดที่มีพื้นที่มากทั้งที่สังฆาวาส มีที่สำหรับให้ประชาชนเช่าอาศัย เป็นที่ถ่ายทำละครโทรทัศน์จักร ๆ วงศ์ ๆ เกือบทุกเรื่อง. ได้เวลาไปโรงเรียนรัตนบัณฑิตศึกษาวิทยาเพื่อมอบประกาศนียบัตรแก่นักเรียนโรงเรียนนี้และโรงเรียนศึกษาบัณฑิต ซึ่งอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน. เขาจัดเป็นพิเศษเหมือนงานรับปริญญา ผู้ปกครองมากันเพียบ มีดอกไม้ ตุ๊กตาขายบัณฑิตน้อย. จำนวนรวม 300 คนกว่า รู้สึกว่าหน้ามืดตาลายด้วยแสงไฟสปอตไลด์ที่ส่องหน้า

ออกจากโรงเรียนนี้เดินทางไปโรงเรียนบางบัวทองราษฎร์บำรุง ในตลาดบางบัวทอง เขาประชุมครูเอกชน มอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าอบรม 100 คนกว่า แล้วบรรยายพิเศษตามสมควร กลับเข้าเขตทานข้าวกลางวัน บ่ายเดินทางกลับบ้านพักเพื่อรับครูที่บ้านไปส่งสนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางไปเยี่ยมญาติและทัศนศึกษาประจำปีที่ประเทศอังกฤษ.เมืองยอร์ก เป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่ทางตอนเหนือของเกาะบริเตนใหญ่ ปีที่แล้วผมไปราชการที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี สก๊อตแลนด์ ได้มาแวะพักค้างที่ยอร์ก หนึ่งราตรี ก่อนลงไปเมืองอ๊อกฟอร์ดและลอนดอน ยังประทับใจในการวางผังเมืองและชีวิตของผู้คนที่เรียบๆ แบบเมืองชนบท ยอร์กเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีบทบาทมาเกือบตลอด 2,000 ปีที่ก่อตั้งมา เป็นเมืองป้อมปราการเอบอราคุม (Eboracum) ในปี ค.ศ. 71 โดยโรมัน และได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงของบริทาเนียน้อย (Britannia Inferior) ระหว่างสมัยโรมันบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เช่นจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราชมีส่วนเกี่ยวข้องกับเมือง จักรวรรดิโรมันทั้งหมดปกครองจากยอร์กเป็นเวลาสองปีโดยจักรพรรดิเซปตีมิอุส เซเวรุส (Septimius Severus) หลังจากชาวแองเกิลส์เข้ามาตั้งถิ่นฐานยอร์กก็ได้รับชื่อใหม่เป็น “Eoferwic” ของราชอาณาจักรนอร์ทธัมเบรีย เมื่อชนไวกิงเข้ายึดเมืองในปี ค.ศ. 866 ก็เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจอร์วิกของราชอาณาจักรจอร์วิก (Jórvík) ที่มีอาณาบริเวณครอบคลุมทางบริเวณตอนเหนือของอังกฤษเกือบทั้งหมด จนกระทั่งราว ค.ศ. 1000 เมืองจึงมารู้จักกันในชื่อ “ยอร์ก" ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 มีพระราชประสงค์ที่จะตั้งยอร์กเป็นเมืองหลวงของอังกฤษแต่ก่อนที่จะสำเร็จพระองค์ก็ทรงถูกถอดจากการเป็นพระมหากษัตริย์เสียก่อน หลังจากสงครามดอกกุหลาบ ยอร์กก็กลายเป็นที่ตั้งของสภาแห่งภาคเหนือ (Council of the North) และมีฐานะที่ยอมรับกันว่าเป็นเมืองหลวงของภาคเหนือ จนกระทั่งหลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์เท่านั้นที่ความสำคัญทางการเมืองของยอร์คเริ่มลดถอยลง ภาคยอร์กเป็นหนึ่งในภาคคริสตจักรในคริสตจักรแห่งอังกฤษเช่นเดียวกับภาคแคนเทอร์เบอรี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 คำว่า “นครยอร์ก” หมายถึงบริเวณที่รวมทั้งบริเวณรอบนอกออกไปจากเขตตัวเมืองเก่า บริเวณปริมณฑลยอร์กมีประชากรด้วยกันราว 137,505 คน แต่เมื่อรวมทั้งรอบนอกแล้วก็มีด้วยกัน 193,300 คน ส่งพอพบคณะที่จะไปด้วยกันจึงเดินทางกลับ ขากลับรถเริ่มติดแต่ก็ถึงเขตไม่มืดค่ำ กลับถึงบ้านทราบข่าวว่าครูคนหนึ่งที่จะไปด้วยกันลืมพาสปอร์ตจนต้องบินตามไปทีหลัง นับเป็นความประมาทอย่างร้ายแรงสำหรับคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ พาสปอร์ตคือเอกสารสำคัญที่สุดที่ต้องอยู่กับตัวหายไม่ได้เด็ดขาด เงินหมดยังหยิบยืมเพื่อนได้ พาสปอร์ตไม่อยู่กับตัว อย่าว่าขึ้นสวรรค์เลย นรกก็ลงไม่ได้

นายกำจัด คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 1

หมายเลขบันทึก: 603721เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2016 03:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2016 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท