วัฒนธรรม “ตุ้มโฮม” เสน่ห์เมืองอีสาน ที่โนนข่า จังหวัดขอนแก่น



ชาวบ้านโนนข่า จ.ขอนแก่น แปลงพื้นที่โรงพักร้างให้กลายเป็นห้องเรียนแปลงผักรวม จัดสรรพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ รื้อฟื้นวัฒนธรรมตุ้มโฮม

ความโชคดีอย่างหนึ่งของคนอีสานคือ การเกิดมาพร้อมกับผืนดินและอากาศที่บริสุทธิ์ ยังไม่นับรวมถึงการมีระบบประเพณีและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ในอดีตเรามักจะเห็นการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันของพี่น้องชาวนา ไม่ว่าจะเป็นการลงแขกดำนา เกี่ยวข้าวหรือกระทั่งการขนข้าวมาเก็บไว้ในเล้า นอกจากนี้แล้วช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวก็เป็นช่วงปลูกผัก ทำสวน ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะทำในพื้นที่สาธารณะและทำรวมกันเป็นกลุ่ม บางหมู่บ้านโชคดีตั้งอยู่ติดลำน้ำก็มักปลูกกันตามฝั่งแม่น้ำ แต่ถ้าหมู่บ้านไหนไม่มีแม่น้ำก็จะใช้พื้นที่สาธารณะแหล่งอื่นๆในเขตชุมชนเป็นที่ปลูก โดยการจับจองพื้นที่และแบ่งสรรตามกำลังที่ทำได้ ซึ่งภาพเหล่านี้คิดว่าคนรุ่นก่อนคงเห็นจนชินตา

แต่หลังจากที่ระบบการเกษตรได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรม ชาวบ้านจากที่เคยปลูกข้าวไว้กินก็ต้องปลูกเพื่อขายให้โรงสี จนทำให้วิถีการผลิตเปลี่ยนไปโดยมีเครื่องจักรกลทั้งรถเกี่ยว รถสีข้าวและอุปกรณ์ทุ่นแรงอื่นๆเข้ามาแทนที่ ในขณะที่การปลูกผักตามริมฝั่งแม่น้ำก็โดนคุกคามจากการสร้างระบบชลประทาน โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำที่มักทำให้ตลิ่งริมน้ำพังจนไม่มีพื้นที่เพาะปลูกเหมือนที่เคยทำ ในที่สุดชาวบ้านต้องยกเลิกและเปลี่ยนวิถีไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ในเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านโนนข่า หมู่ที่ 6 ตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งชาวบ้านที่นี่ได้แปลงผืนที่รกร้างว่างเปล่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยการจัดสรรให้ทุกคนได้ปลูกผัก ที่นับเป็นการรื้อฟื้นวิถีการผลิตรวมกลุ่มและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

จากเดิมเนื้อที่ดังกล่าวเคยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เนื่องจากอดีตเคยเป็นสถานีย่อยของโรงพักอำเภอชนบทเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว และพอหลังจากยุบโรงพักก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไป เพราะเป็นที่ราชพัสดุ จึงทำให้เป็นพื้นที่รกร้าง มิหนำซ้ำยังกลายเป็นปัญหาต่อชุมชน เนื่องจากหน้าแล้งจะกลายเป็นที่ทิ้งขยะและหน้าฝนก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง นอกจากนี้ ชาวบ้านโนนข่า ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับระบบการทำเกษตรที่เปลี่ยนไปเหมือนที่ชุมชนอื่นๆเผชิญ กล่าวคือ ชาวบ้านส่วนมากกลายเป็นหนี้จากระบบสินเชื่อทางการเกษตรที่มาพร้อมกับปัญหาเรื่องการใช้สารเคมี ซึ่งข้อมูลเมื่อปี 2556 พบว่า มีผู้ได้รับอันตรายจากสารเคมี จำนวน 10 คน แถมยังมีเสียชีวิตอีก 1 ราย และมีจำนวนมากที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกาย และสิ่งที่ตามมาคือ ชาวบ้านที่เป็นวัยแรงงานต้องอพยพไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัดเพื่อไปหาเงินมาใช้หนี้และค่ารักษาพยาบาล ทิ้งคนแก่ให้อยู่บ้าน เกิดภาวะขาดความอบอุ่น ที่กลายเป็นปัญหาพ่วงตามกัน

ปี 2557 จากการก่อตัวของสภาผู้นำชุมชนบ้านโนนข่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีตัวเชื่อมเป็นพี่เลี้ยงจากทีมสนับสนุนชุดวิชาการภาคอีสาน ทำให้ชาวบ้านมีเวทีพูดคุยกันและนำประเด็นเรื่องพื้นที่รกร้างมาหารือเพื่อใช้ประโยชน์ ผลจากการคุยกันทำให้ชุมชนตกลงกันว่า ควรจะมีการพลิกฟื้นพื้นที่โรงพักเก่าให้เป็นแหล่งที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์


ซึ่งลักษณี ฐิติโชติรัตนา ผู้ใหญ่บ้านโนนข่าหมู่ที่ 6 เล่าว่า “ตอนแรกชุมชนคิดกันแค่อยากจะถางป่าให้โล่ง แต่พอเริ่มทำโครงการกับ สสส. และได้รู้จักกับพี่เลี้ยงที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ว่าชุมชนต้องการทำอะไร ประกอบกับเดิมทีชุมชนไม่มีที่สาธารณะที่อื่นนอกจากโรงพักเก่า ดังนั้น จึงตกลงกันว่าจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแปลงผัก เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้เวลาว่างหลังฤดูเก็บเกี่ยวให้เป็นประโยชน์ ดังนั้น ชุมชนจึงตกลงทำโครงการลดสารเคมีในแปลงผัก” ซึ่งก็เป็นผลดังที่คาดหวังไว้ เพราะสิ่งที่เห็นก็คือการเนรมิตพื้นที่ร้างให้กลายเป็นพื้นที่มีชีวิตผ่านแปลงผักอินทรีย์หลากหลายชนิด

กระบวนการทำงานที่สำคัญคือ การทำงานเป็นทีมและสิ่งสำคัญคือการเสริมแนวคิด ทั้งการอบรม การศึกษาดูงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในโครงการและมีสภาผู้นำชุมชนเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เพื่อให้ทุกคนได้ช่วยกันวิเคราะห์ถึงแนวทางการพัฒนาต่อยอดอย่างเป็นระบบ อีกทั้งการทำงานบนฐานข้อมูลก็มีผลอย่างยิ่งที่ทำให้งานของบ้านโนนข่ามีความก้าวหน้า ทำให้เห็นทั้งข้อมูลที่เป็นตัวเลขและสภาพปัญหาอันเกิดจากการใช้สารเคมี นำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อลดการใช้สารเคมีหันมาช่วยกันทำปุ๋ยอินทรีย์ผ่านกระบวนการกลุ่ม ประกอบกับการมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอชนบทโดยมีพัฒนากรประจำตำบลวังแสงเป็นพี่เลี้ยงประกบอย่างใกล้ชิดและยังช่วยประสานงานมูลนิธิโคคา-โคล่า ให้เข้ามาช่วยจัดการระบบน้ำเพื่อดึงน้ำจากแม่น้ำชีที่อยู่ไม่ไกลมาทำระบบประปาเพื่อใช้ในแปลงผักและเก็บค่าน้ำต่อแปลงในอัตราหน่วยละ 2 บาท เพื่อบำรุงค่าไฟในการผลิตน้ำ

ปัจจุบันแปลงผักรวมแห่งนี้มีสมาชิก 63 แปลง จากทั้งหมดในหมู่บ้าน 155 ครัวเรือน โดยมีขนาดเนื้อที่แต่ละแปลงกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร และเว้นช่องเพื่อทำเป็นถนนคล้ายหมู่บ้านจัดสรรเป็นช่วงๆ โดยสมาชิกที่เข้ามาทำเริ่มจากกลุ่มจิตอาสาที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่และนำร่องปลูกผักอินทรีย์ และหลังจากคนอื่นเห็นประโยชน์จึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของรายได้นั้นในช่วงแรกจะตกอยู่ที่ประมาณแปลงละ 30 บาทต่อวัน ต่อมาหลังจากมีกระบวนกาทำงานและนำข้อมูลมาช่วยกันวิเคราะห์ จึงทำให้เกิดระบบการจัดการที่มีแบบแผน โดยเฉพาะวิธีการขายผัก จากเมื่อก่อนที่ต่างคนต่างขาย แต่ปัจจุบันเวลาผ่านมาปีกว่าๆทุกคนได้ช่วยกันออกแบบระบบการขาย โดยให้มีตัวแทนรับผักจากสมาชิกเพื่อขายต่อให้พ่อค้า และส่งผักตามจำนวนและชนิดที่พ่อค้าต้องการ ทำให้สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยต่อแปลงเพิ่มขึ้นเป็น 80 บาทต่อวัน ซึ่งแม้จะเป็นเงินไม่มาก แต่ทุกคนก็มีความสุขเพราะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญแปลงผักแห่งนี้ได้ทำให้ชีวิตของคนแก่ในหมู่บ้านกลับมามีคุณค่า จากเดิมที่นั่งเหงารอลูกๆกลับจากการทำงานเพื่อหาเงินใช้หนี้ แต่มาวันนี้ชีวิตได้เปลี่ยนไปเพราะทุกคนออกมาดูแลและรดน้ำผักที่เป็นเสมือนการรดน้ำให้หัวใจแต่ละคนชุ่มฉ่ำ

ในส่วนของปุ๋ยที่นำมาใช้ในแปลงผักนั้น ทุกคนในหมู่บ้านจะเข้ามาช่วยกันทำ เพราะถือว่าการทำปุ๋ยอินทรีย์คือพื้นที่เรียนรู้ของทุกคน โดยใช้สภาผู้นำชุมชนเป็นเวทีในการนัดหมายว่าจะมีการกำหนดวันทำปุ๋ยเมื่อไหร่ หลังจากนั้นก็จะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ว่าใครจะทำอะไร เพราะการทำปุ๋ยแต่ละครั้งก็ต้องมีวัตถุดิบที่ต้องนำมาประกอบกันที่มีทั้งที่หาเองได้และที่ต้องซื้อมา รวมทั้งเรื่องงบประมาณที่ต้องนำมาหารือกัน ซึ่งชุมชนบ้านโนนข่าจะมีการทำปุ๋ยเฉลี่ยครั้งละประมาณ 2 ตัน ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีปุ๋ยอินทรีย์พอใช้อยู่ประมาณ 4 เดือน จึงจะได้ช่วยกันทำปุ๋ยในรอบถัดไป โดยทุกคนที่มาทำจะไม่ได้ค่าแรงเป็นเงินแต่จะได้รับปุ๋ยอินทรีย์เป็นค่าแรงคนละประมาณ 1-2 กระสอบ

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำแปลงผัก ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องรายได้หรือเรื่องการกินผักปลอดสารเท่านั้น หากแต่สิ่งที่ตามมาคือเรื่ององค์ความรู้อันเกิดจากการทำเกษตรแบบไร้สาร ที่พื้นที่ตรงนี้ได้กลายเป็นห้องเรียนมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ทำให้ทุกคนมาเจอกันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ดังจะเห็นได้จากภาพการพูดคุยกันจากแปลงข้างๆและเชื่อมโยงกันในทุกๆแปลง ทำให้ชุมชนมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างไม่รู้จบและยิ่งมีสภาผู้นำชุมชนที่เป็นเสมือนห้องเรียนที่ให้ทุกคนได้มาช่วยกันวิเคราะห์และทบทวนถึงกระบวนการต่างๆที่ทำมาด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นการเติมเต็มความรู้อย่างมีระบบที่สถานศึกษาไหนๆก็คงให้หลักสูตรและมอบองค์ความรู้เหล่านี้ให้ไม่ได้ เพราะการเรียนรู้ที่นี่คือการลงมือทำ สรุปผล และวิเคราะห์ไปพร้อมๆกัน

แปลงผักรวมของบ้านโนนข่า คือตัวแทนวัฒนธรรมการ “ตุ้มโฮม” ซึ่งเป็นวิถีที่ทำให้ความเป็นชุมชนอีสานสามารถดำรงอยู่ได้เรื่อยมา แต่ด้วยความเป็นสมัยใหม่ที่รุกคืบเข้าสู่หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายชุมชนตั้งรับไม่ทัน ซึ่งดูๆไปก็คล้ายกับมีข้าศึกมาโจมตีเพียงแต่ข้าศึกเหล่านี้ไม่ได้ขี่ม้าถือดาบและมองเห็นด้วยตา หากแต่ถือวัตถุอย่างอื่นที่มีการโฆษณาว่าเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก และสิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาสร้างความอ่อนแอให้ชาวบ้านจนทำให้ไม่อยากพึ่งตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านโนนข่าจึงเป็นเสมือนตัวแทนของการตั้งรับกับข้าศึกเพื่อให้ชุมชนอยู่รอดในสภาวะสงครามไร้เงาที่รุกคืบจากทั่วทุกทิศ

กมล หอมกลิ่น โครงการสื่อสารสาธารณะ อีสานสร้างสุข มูลนิธิสื่อสร้างสุข

หมายเลขบันทึก: 603476เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2016 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2016 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พลังสามัคคี ช่วยเหลือ เกื้อกูล แบ่งปัน .... ฟื้นฟูความเป็น "ชุมชน" นะคะ

สุดยอดไปเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท