เก็บภาพตลาดน้ำคลองแดน-->สัมมนาจริยธรรมการวิจัยในคน


เช้าวันเสาร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๙ หลังจากออกไปเดินออกกำลังกาย กวาดบ้าน ถูบ้านเรียบร้อย นำข้าวที่เหลือกินจากห้องทำงานออกจากตู้เย็น ใส่ลงในหม้อไฟฟ้า เติมน้ำพอเหมาะ เพื่อเป้าหมายคือ ข้าวต้ม ๓ มื้อ จวบจนเวลาประมาณ ๘ โมงเช้า เสียงโทรศัพท์ดัง เมื่อรับก็ไม่ใช่เสียงใคร แต่เป็นเสียงคนสำคัญโทรมาจากสงขลา แปลกใจว่า วันนี้น่าจะเป็นวันทำงาน ทำไมจึงโทรมาได้ ทราบว่าเป็นวัดหยุดพิเศษ เมื่อได้รับชักชวนก็รีบนำเข้าต้มใส่ถุงมัดเรียบร้อย ใส่เข้าตู้เย็น ล้างภาชนะให้สะอาด รีบอาบน้ำ แต่งตัว สะพายกระเป๋าไปลุยเอาข้างหน้า เมื่อไปถึงสนามบินดอนเมือง หาเที่ยวบินที่น่าจะราคาถูกที่สุด แต่ก็ไม่ได้ถูกธรรมดา ในใจคิดอยู่ว่า เรานี่ มันขาดความยั้งคิดจริงๆ ต้องเสียเงินไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องแบบนี้หรือ แต่แล้วเมื่อคิดไปคิดมา "ในเมื่อคิดจะทำก็ต้องทำ" ซื้อตั๋วของค่ายสิงโต มุ่งสู่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ กว่าจะถึงก็ล่วงไปบ่ายสองกว่า สาวน้อยนำรถมารับ จากนั้นจึงแวะที่บ้าน แล้วลุยไปที่ "ตลาดน้ำคลองแดน" อยู่ชายแดนจังหวัดสงขลาและจังหวัดนครศรีธรรมราช

ตลาดน้ำคลองแดน ดังกล่าวนี ผมเคยไปครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร การไปครั้งนั้นเป็นการไปเพราะอยากรู้ แต่รอบนี้ไปเพราะมีเป้าหมายที่จะเก็บภาพ เพื่อนำมาประกอบการเขียนบทความทางชุมชน อาจจะลงทุนมากไปหน่อยกับการขึ้นเครื่องด่วนโดยไม่ได้มีการวางแผนอะไร แต่ส่วนหนึ่งคิดเสียว่าได้กลับบ้านด้วย

ตลาดน้ำคลองแดนแห่งนี้ ผมเพิ่งทราบเมื่อไม่นานมานี้ว่า เกิดจากผลการวิจัยของ มทร.สงขลากับชุมชน จากการที่ได้เข้าอบรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมเมื่อหลายเดือนก่อนที่โรงแรม...แถวๆดินแดง-อนุสาวรีย์ การเข้าอบรม/ประชุมในครั้งนี้ ทำให้ผมทราบว่า แต่ละพื้นที่เดินเครื่องทางวัฒนธรรมไปไกลมาก ขณะที่ มทร.สงขลา ก้าวไปสู่ "การสังคมสงเคราะห์" ผมได้รับฟังเรื่องแบบนี้แล้วตาสว่าง อย่างไรก็ตาม เขาพัฒนามาเป็น ๑๐ ปีแล้ว กว่าจะได้เดินมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งขอแสดงความชื่นชมทีเดียว

เมื่อไปถึงตลาดน้ำคลองแดน ผมพยายามเก็บภาพหลายๆภาพที่จำเป็น แต่เมื่อนำมาเปิด ปรากฎว่า ภาพหลายภาพกลายเป็นภาพฝ้าฟางไป ซึ่งน่าเสียดายทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ต้องการภาพมากมาย กับการใส่เข้าไปใสบทความ ดังนั้น เท่าที่มีก็น่าจะเพียงพอแล้ว

มีอยู่ภาพหนึ่งตรงใจผมทีเดียว จากที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน คือภาพป้าย "ชุมชนวิถีพุทธ" ซึ่งไม่คิดว่าจะมีในภาคใต้ ชุมชนแบบนี้น่าจะพัฒนาได้ดีหากเกิดทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ การเดินชมตลาดน้ำ กิจกรรม ที่ทางชุมชนได้นำเสนอมานั้น สร้างความเพลิดเพลินได้ทีเดียว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากรู้คือ เขาจัดการได้อย่างไร ช่วง ๖ โมงเย็น ทางชุมชนเปิดเพลงชาติ ทุกคนที่กำลังกินอาหาร หรือทำกิจกรรมอื่นใด ต่างยืนขึ้นแสดงความเคารพตามกฎหมาย อันที่จริงทางโฆสกเสียงดีแต่หน้าตาน่ากลัวได้ประกาศไว้ก่อนแล้วว่า เราจะเคารพธงชาติกันในเวลา ๖ โมงเย็น โดยขอให้ทุกท่านร่วมกันแสดงออกซึ่งสิ่งนี้ เท่าที่ผมไปเที่ยวตลาดน้ำมานั้น ยังไม่พบกิจกรรมแบบนี้ นอกจากกิจกรรมนี้แล้ว ยังมีการแสดงมโนราห์เด็ก อันเป็นวิถีทางภาคใต้ของไทย มีการแสดงดนตรีเพื่อชีวิตแบบสด จากนักร้องที่ผมก็ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมาก่อน จึงคาดเดาว่าเป็นนักร้องชุมชน ส่วนเพลงนั้นเป็นเพลงที่แต่งเกี่ยวกับคลองแดน มีอยู่ครั้งหนึ่ง โฆสกประกาศให้ทราบว่า ที่แห่งนี้ไม่มีการขายของมึนเมา ไม่มีวัยรุ่นนั่งดื่มของมึนเมา ทำให้ผมเชื่อมโยงไปถึง "ชุมชนวิถีพุทธ" อย่างที่ป้ายชุมชนซึ่งผมเก็บภาพไว้นั้น อย่างน้อยสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พุทธมองว่าไม่ดี (ของมึนเมา) ซึ่งสอดคล้องกับอิสลามที่ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับของมึนเมา เราเดินดูโน้น ดูนี้ ซื้อของกิน ฯลฯ จวบจนค่ำนิดๆ จึงเดินทางกลับบ้านที่หาดใหญ่

วันอาทิตย์เพื่อนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มาเที่ยวสงขลา จึงเป็นไกด์ให้จากบ่ายๆถึงค่ำ หลังจากส่งเพื่อนเดินเล่นที่กรีนเวย์ จึงขอตัวไปเยี่ยมญาติที่ รพ.มอ. เช้ารุ่งขึ้น รีบเดินทางกลับจังหวัดปทุมธานี เพื่อเข้าอบรม/สัมมนา/ประชุม จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ตามคำสั่งราชการ

ภาคเช้า บรรยายโดยศาสตราจารย์ หญิง จากจุฬา เสียงของท่านอาจฟังแล้วขัดอกขัดใจเหมือนกับคนเป็นหวัด แต่ท่วงท่าในการบรรยายฟังแล้วราบรื่น และที่ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้ที่ท่านเสนอมา น่าจะเป็นความรู้ชนิดตกตะกอนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมฟังอย่างใจจดใจจ่อ กระหายในความรู้ แต่เมื่อถึงช่วงบ่าย รู้สึกได้ว่า ไม่สะใจ ผมนั่งกระสับกระส่าย ง่วง (ช่วงนี้สุขภาพไม่ค่อยดี/ หูมีอาการบางอย่าง คือมีเสียงเหมือนล้อรถบดถนนในเวลาเราขับรถบนถนน เสียงดังกล่าวนี้ดังอยู่ตลอดเวลา ครางหึ่งๆๆๆๆๆ/ มีอาการวูบ ซึ่งไม่รู้สาเหตุ ประมาณ วึบๆ) โชคร้ายที่นั่งชิดกับคณบดี ต้องข่มจิตข่มใจ แต่สุดท้ายเมื่อมีช่วงพัก (บ่ายสามกว่าๆ) จึงขอตัวท่านก่อน ท่านขอให้ผมฟังให้จบ ท่านบอกว่า จะให้ผมเป็นกรรมการจริยธรรมการวิจัยฯ ผมปฏิเสธท่านไปว่า "ไม่เอา ผมไม่เอาครับ" ผมคิดในใจว่า เมื่อมีใครพูดถึงจริยธรรมแล้ว นึกถึงตัวผมเองแล้วกระดากใจ เราไม่ได้มีจริยธรรมอะไรเลย ผมรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับการจะมีจริยธรรม ผมฟังวิทยากรในภาคเช้าแล้วให้รู้สึกถึง"ความสะอาดในการวิจัยในคน" แต่ก็พูดกับเพื่อนระหว่างกินข้าวเที่ยงกันว่า ถ้าทำได้อย่างที่วิทยากรภาคเช้าพูด จะเป็นการดีไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ปัญหาคือ พวกเราชอบวิ่งเบื้องหลังสถานการณ์เสมอ เช่น ทำวิจัยโดยไม่ได้มีคำอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย เมื่อต้องส่งบทความตีพิมพ์ ทางวารสารขอหลักฐานการอนุญาตให้ทำวิจัยในคน พวกเราก็วิ่งขอคำอนุญาตย้อนหลังก่อนทำการวิจัย การขออนุญาตย้อนหลัง คือความไม่ตรงไปตรงมา/ไม่ซื่อสัตย์ ตั้งแต่ตอนต้นแล้ว ดังนั้น ถ้ามานั่งดูแลจริยธรรมการวิจัยในคน ดูเหมือนจะลำบากเปล่าๆ คนดูแลที่เป็นกรรมการก็ไม่มีจริยธรรม (ผม) คนส่งวิจัยก็ซ่อนวาระไว้ในโครงการวิจัย (เช่น คิดรายการจ่ายเกินจริง) สุดท้ายก็ได้แค่ชื่อสวย การคิดแบบนี้อาจเป็นการมองโลกว่ามีปัญหา ดังนั้น ถ้ามองว่ามีปัญหาก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว อีกความคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ก็ทำไปตามกรอบที่ตนเองทำได้ อย่างไรก็ตาม ได้ปฏิเสธท่านไปแล้ว

โดยสรุป จากการเข้ารับการฟังบรรยายในวันนี้ ทำให้ทราบว่า การทำวิจัยนั้นจะยากขึ้น นอกจากจะผ่านการพิจารณาจากนายทุนวิจัยแล้ว ยังต้องเดินไปตามความเห็นของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ที่อาจมองจริยธรรมต่างๆกันไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าทำได้จะดีไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะระบบการวิจัยจะมีความสะอาดมากขึ้น อนึ่งระหว่างฟังบรรยายในช่วงเช้า มีความคิดหนึ่งเกิดขึ้น กรณี "เคารพในบุคคล" ดูเหมือนแนวคิดนี้มีอยู่ในพุทธศาสนาแล้ว แต่เราไม่ได้นำมาปัดฝุ่น สิ่งที่เรานำมาใช้เป็นแนวคิดฝรั่งเสียมากกว่า ส่วนการฟังในช่วงบ่าย มีความคิดเกิดขึ้นระหว่างที่วิทยากรพูดภาษาไทยคำ ภาษาอังกฤษคำ บางทีพูดคำภาษาอังกฤษและพยายามจะแปลเป็นภาษาไทย แต่นึกคำแปลไม่ออก ผมเขียนในสมุดไว้ว่า สิ่งนี้น่าจะคือปรากฎการณ์การหมดไปของภาษาไทย กับการที่เราไม่สามารถคิดออกเป็นภาษาไทยได้

หมายเลขบันทึก: 603443เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2016 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2016 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท