​ชีวิตที่พอเพียง 2616a. อ่านหนังสือ อัตชีวประวัติ เหลียวหลัง แลหน้า ป๋วย อึ้งภากรณ์


ถ้าใครบอกเราว่ามีผู้นั้นผู้นี้สติปัญญาเลิศมนุษย์ ไม่ต้องเล่าเรียนอะไรนักหนา ก็สอบได้ดีและเด่น อย่าเชื่อ เพราะสติปัญญานั้น จริงอยู่ บางคนอาจมีดีกว่าคนอื่น แต่การฝึกฝนสติปัญญา นั้นไม่มีวิธีอื่น นอกจากใช้ ความอุตสาหะพากเพียร

ชีวิตที่พอเพียง 2616a. อ่านหนังสือ อัตชีวประวัติ เหลียวหลัง แลหน้า ป๋วย อึ้งภากรณ์

วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นวัน ๑๐๐ ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้ได้รับยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ปี ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐ มีงานใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมติดงานจึงไม่ได้ไปร่วม แต่ตอนบ่ายก็ได้รับหนังสือ ๕ เล่มที่แจกในงาน จาก นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้กล่าวปาฐกถา ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในงานอันยิ่งใหญ่นี้

ผมหยิบหนังสือ อัตชีวประวัติ เหลียวหลัง แลหน้า ป๋วย อึ้งภากรณ์ ขึ้นมาอ่านเป็นเล่มแรกเมื่อตอนสายๆ วันนี้ และอ่านจบในเวลาสามสี่ชั่วโมง

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ในงาน ๑๐๐ ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ นี้โดยเฉพาะ ผมอ่านแล้วพบว่าหลายส่วนผมเคยอ่านแล้ว แต่อ่านซ้ำก็ได้ความรู้สึกชุ่มชื่นในหลักปฏิบัติในชีวิตของท่าน โดยผมจะยกเอาบางส่วนที่ผมฉุกใจว่าสอดคล้องกับหลักวิชาการสมัยใหม่ เอามาเล่าต่อ

ในบทความเรื่อง เรียนให้เก่ง ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกปี ๒๕๑๐ ท่านให้คำแนะนำไว้ ๓ ข้อ คือ ความพากเพียร การจัดเวลาให้เหมาะ และ การถกอภิปราย เป็นคำแนะนำที่อกาลิโก เป็นจริงทุกยุคทุกสมัย เรื่องราวขยายความ ของแต่ละหัวข้อประเทืองปัญญายิ่ง แต่ที่ผมขอยกมากล่าวย้ำคือข้อแรก ความพากเพียร ท่านเขียนอธิบายไว้ดังนี้ “ถ้าใครบอกเราว่ามีผู้นั้นผู้นี้สติปัญญาเลิศมนุษย์ ไม่ต้องเล่าเรียนอะไรนักหนา ก็สอบได้ดีและเด่น อย่าเชื่อ เพราะสติปัญญานั้น จริงอยู่ บางคนอาจมีดีกว่าคนอื่น แต่การฝึกฝนสติปัญญา นั้นไม่มีวิธีอื่น นอกจากใช้ ความอุตสาหะพากเพียร”

ทำให้ผมตีความว่า อาจารย์ป๋วย ได้ดิบได้ดี ในชีวิตเพราะยึดถือคตินี้ในการดำรงชีวิต ซึ่งในสมัยใหม่นี้ เรียกว่า Growth Mindset คือเชื่อพรแสวง มากกว่าพรสวรรค์

ในหน้า ๑๑๗ - ๑๓๕ หัวข้อ เหลียวดูวิกฤตกาลในเรื่องงาน ผู้อ่านจะได้ตระหนักในความมั่นคง ต่อความถูกต้องซื่อสัตย์สุจริตของอาจารย์ป๋วย ในท่ามกลางอิทธิพลของทหารผู้มีอำนาจทางการเมืองในขณะนั้น ต้องอ่านเองนะครับ

ในหน้า ๘๖ และ ๑๔๒ ท่านเสนอลักษณะของบ้านเมืองที่พึงปรารถนาไว้ ๔ ประการคือ (๑) มีสมรรถภาพ ซึ่งอ่านแล้วคือ competency และ efficiency (๒) มีเสรีภาพ (๓) มีความยุติธรรม หรือความชอบธรรม (๔) มีความเตตากรุณา ลองพิจารณาดูนะครับว่าข้อใดที่ประเทศของเราดีขึ้นหรือเลวลง เวลานี้คนไทยเรามีเมตตา กรุณาต่อกัน หรือมีความเกลียดชังต่อกัน

เรื่องราวในหนังสือตอนท้ายๆ ที่ท่านเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ จะเห็นความวุ่นวายโกหกตอแหลทางการเมือง เพื่อสาดโคลนใส่อาจารย์ป๋วย จากทหารฝ่ายขวาจัด

ชมปาฐกถา “ชีวิตและผลงานอาจารย์ป๋วยกับอนาคตสังคมไทย” โดย ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่นี่ และมี ปาฐกถา ๑๐๐ ปี ป๋วย อึ้งภากรณ์ เผยแพร่ใน YouTube อีกหลายครั้ง สามารถค้นและชมได้

มีคนบอกผมว่าบรรยากาศในงาน ๑๐๐ ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ศักดิ์สิทธิ์มาก มีท่านผู้ใหญ่หลายท่านกล่าวนำก่อนที่หมอวิโรจน์จะกล่าวปาฐกถาป๋วย อึ้งภากรณ์ คำกล่าวของท่านผู้ใหญ่เล่าเรื่อง ที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน จะมีการนำขึ้น YouTube อย่าพลาดนะครับ

วิจารณ์ พานิช

๑๒ มี.ค. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 603334เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2016 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2016 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท