ตำนานว่าด้วยเงินสะสมท้องถิ่น


ตำนานว่าด้วยเงินสะสมท้องถิ่น

10 มีนาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ในการประชุมมอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในส่วนภูมิภาค ให้แก่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเหนือ เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมพาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเหนือ เข้ารวมจำนวน 1,693 แห่ง แบ่งเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งผู้เข้ารวมการประชุม คือนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสิ้น 3,386 คน

สังคมท้องถิ่นต้องหันมาสู่ “ความพอเพียง”

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายที่สำคัญตอนหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อนเลย กรณีวัยรุ่น ก่ออาชญากรรม ทำร้ายผู้อื่น เพื่อหวังชิงโทรศัพท์มือถือราคาแพง เพียงเพราะอยากได้อยากใช้ตามสื่อ หรือตามพรรคพวกคนอื่นที่เขามีกัน แต่ตัวเองไม่มี และไม่มีรายได้เพียงพอที่จะหาซื้อมาได้ ในการนี้ท่าน รมต. มหาดไทยได้มอบนโยบายให้สังคมชนบท ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้หันกลับมาดำเนินการตามหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมปัจจุบัน ที่เน้นการบริโภคนิยม จนทำเกิดความวุ่นวาย ไม่เว้นแม้ในชนบท ในการก่ออาชญากรรมเพื่อหวังชิงสินค้าที่มีราคาแพงเช่นโทรศัพท์มือถือตามที่เป็นข่าว [2]

เงินสะสมท้องถิ่น

ปัญหาปัจจุบันประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายการเมืองท้องถิ่นได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงก็คือ ประเด็นการจ่ายขาดเงินสะสม หรือ “ปัญหาการใช้จ่ายเงินสะสมของท้องถิ่น” ที่ อปท. ไม่สามารถใช้จ่ายเงินสะสมของตนเองได้ และมียอดเงินสะสมเหลืออยู่จำนวนมากพอ ประกอบกับรัฐบาลไม่สามารถอุดหนุนงบประมาณมาให้เพียงพอต่อการพัฒนา

ด้วยข้อจำกัดในการใช้จ่ายเงินสะสมของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับ “การพัฒนาท้องถิ่น” ในปัจจุบัน (ไม่นับรวมการยืมเงินสะสม และการก้าวล่วงเงินสะสมตามวิธีการงบประมาณ) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 [3] เฉพาะใน 2 กรณีเท่านั้นคือ

ข้อ 89 (1) การใช้จ่ายเงินสะสมในอำนาจของสภา อปท. “ให้กระทำได้เฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเกี่ยวกับด้านการบริการชุมชนและสังคม หรือกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกิจการที่จัดทำเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน” [4]

ข้อ 90 “ภายใต้บังคับข้อ 89 ในกรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมได้ตามความจำเป็นในขณะนั้น” [5]

กล่าวโดยสรุปว่า การใช้เงินสะสมของ อปท. ได้เฉพาะกิจการในอำนาจหน้าที่ที่มีความจำเป็น หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือ การดำเนินแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นกรณีเร่งด่วน และในเหตุฉุกเฉินสาธารณภัยฯ อาทิเช่น น้ำท่วมสะพานถนนขาด หรือภัยธรรมชาติ สาธารณภัยต่างๆ แต่หากไม่จำเป็นเร่งด่วน หรือ การกระทำตามอำนาจหน้าที่ หรือนโยบายบริหารราชการตามปกติ ก็มักจะถูกตรวจสอบและทักท้วงจากหน่วยงาน สตง. และให้มีการชี้แจงสอบสวนเอาผิดแก่เจ้าหน้าที่ผู้ใช้จ่ายเงินสะสมที่ สตง. แจ้งว่าไม่ถูกต้อง

ฉะนั้น โดยสรุปก็คือเงินสะสมของ อปท. นั้นไม่สามารถนำมาใช้จ่ายอะไรได้ นอกจากเหตุจำเป็นดังกล่าว ดังนั้น ยอดเงินสะสมของ อปท. ในระยะหลัง ๆ จึงคงเหลือในคลังท้องถิ่นตามที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เสนอแนะรัฐบาล และให้ อปท. นำเงินดังกล่าวออกมาใช้ [6]

เปิดตำนานว่าด้วยเงินสะสมท้องถิ่น

แต่เดิมเริ่มนับจากระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 [7] นั้น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อปิดบัญชีรายรับ รายจ่ายแล้ว มีเงินที่เหลือจ่ายจากเงินรายรับตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินงบประมาณจำนวนนั้นก็จะตกเป็น “เงินสะสม” ซึ่งเป็นเงินงบประมาณที่ อปท. ไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ หรือเป็นเงินเหลือจ่ายสิ้นปี ก็จะตกเป็นเงินสะสมทั้งหมด

เงินสะสมมีไว้เพื่อรักษาสถานะทางการคลัง เช่นเดียวกับรัฐบาลกลางที่ต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ [8] เป็นเงินค้ำประกันตัว อปท. หากเกิดเหตุการณ์สถานการณ์การคลังคับขัน นอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ก็มีในกรณีอื่นอีกเช่น ในช่วงสามเดือนแรกของปีงบประมาณที่ยังไม่มีงบประมาณจัดสรรมาจากส่วนกลาง แต่ อปท. มีภาระค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายตามปกติ ก็สามารถยืมเงินสะสมดังกล่าวออกมาทดรองใช้ไปก่อนได้ เมื่อมีงบประมาณมา ก็ส่งใช้คืน [9] หรือ กรณีมีรายจ่ายด้านการบริหารงานบุคคลในระหว่างปีงบประมาณที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ ก็สามารถจ่ายขาดเงินสะสมมาใช้จ่ายได้ [10]

ในการช่วยเหลือประชาชนได้เพียงใดหรือไม่ โดยการอนุมัติของสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และทุนสำรอง “เงินสะสม” ตามกฎหมาย ว่าจะควรกันไว้เท่าไร จ่ายได้เท่าไร และส่วนที่เหลือ ก็มีหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติไว้แล้ว

พฤติการณ์การใช้จ่ายเงินสะสมในอดีตของ อปท.

แต่เดิมผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่นจะเป็นทีมเดียวกัน [11] เพราะนายก อปท. มาจากสมาชิกสภา อปท. และให้มีการกันยอดเงินสะสมไว้เป็นรายจ่ายประจำสามเดือนแรกของปีงบประมาณ และสำรองจ่ายฉุกเฉินร้อยละ 25 [12] ทำให้มียอดเงินสะสมเหลืออย่างน้อยร้อยละ 25 ของทุกปี

นอกจากนี้ฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาก็มีความร่วมมือกันในการจัดหางบประมาณเพื่อมาใช้จ่ายในการพัฒนา อปท. ต่าง ๆ ไม่ว่าการวิ่งงบประมาณการขอรับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ การกู้เงิน และที่สำคัญก็คือ การใช้จ่าย “เงินสะสม” ของ อปท. ที่เหลืออยู่ในคลัง อปท. นั่นเอง

ผู้บริหารท้องถิ่นกับสภาท้องถิ่นก็จะอาศัยช่องว่างช่วงใกล้หมดวาระสมาชิกภาพ เมื่อมียอดเงินสะสมเหลือจำนวนมากพอ จึงพยายามเสนอสภาอนุมัติงบประมาณ “จ่ายขาดเงินสะสม” เพื่อดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ จนไม่เหลือเงินยอดเงินสะสมเกินเกณฑ์ที่ระเบียบกำหนด ฉะนั้น อปท. บางแห่ง อ้างอำนาจหน้าที่ อปท. เสนอสภาท้องถิ่นอนุมัติงบประมาณจ่ายขาดเงินสะสม ด้วยการเลี่ยงบาลี พยายามจ่ายขาดเงินสะสมโดยสภาหลายครั้ง เพราะจะได้กันเงิน ไว้เป็นคราวๆ ไปจนใช้ยอดเงินสะสมได้มากที่สุด หรือจนหมด ทำให้เกิดปัญหา เช่นเมื่อมีเหตุสาธารณภัยที่ต้องใช้เงินมาก แต่ยอดเงินสะสมไม่เพียงพอ เป็นต้น นี่คือเหตุการณ์ก่อนหน้าในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ปี 2547

การตรวจสอบควบคุมการจ่ายขาดเงินสะสมที่เข้มงวด

เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสะสมถูกต้องตามวัตถุประสงค์ และมีการควบคุมการใช้จ่ายได้ ทำให้มีการจ่ายเงินสะสมของ อปท. ได้ยากขึ้น จึงมีการตราหลักการใหม่และระเบียบใหม่ขึ้น และมีการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. ที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น ไม่สามารถจ่ายเงินสะสมเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่มิใช่เรื่องเร่งด่วนได้ ต้องเป็นโครงการที่มีบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น ต้องมียอดเงินสะสมคงเหลือเพียงพอในการบริหารงาน [13] ทั้งนี้เพื่อกันเงินสะสมไว้ใช้ในเหตุสาธารณภัยต่าง เช่น กรณีอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2554 หรือกันไว้จ่ายในกรณีที่มีความจำเป็นอื่น ซึ่ง สตง. เองเห็นว่าการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. มักไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จึงเข้าตรวจสอบและพบเหตุผิดปกติอยู่เสมอ เช่น การไม่ปฏิบัติตามระเบียบของเจ้าหน้าที่ ไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของ อปท. เป็นต้น ผลของการเข็มงวด ตรวจสอบ ดังกล่าว จึงมีการลงโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด ฉะนั้นในระยะหลังที่ผ่านมา ท้องถิ่นจึงไม่สามารถใช้จ่ายเงินสะสมได้ เพราะมีเงื่อนไขมากขึ้น และการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น

ท้องถิ่นไม่มีเงินใช้จ่ายอยู่ไม่ได้

แต่ภาระหน้าที่และความจำเป็นในการพัฒนา ท้องถิ่นจึงต้องหาทางออกในเรื่องงบประมาณใช้จ่ายที่มีปัญหา กล่าวคือ ราว 5-6 ปีที่ผ่านมา พบว่า อปท. หลายแห่งเกิดกระแส “ลัทธิเอาอย่าง” มาจาก อปท. พี่ใหญ่ คือ “การกู้เงิน” เริ่มจาก อบจ. มาเทศบาลนคร มาเทศบาลเมือง มาเทศบาลตำบล และในที่สุดก็มา อบต. อปท. ทุกแห่งจึงมีการกู้เงินกันหมด

ทั้งแหล่งเงินกู้จากสมาคมในสังกัด จากสถาบันการเงิน ธนาคารของรัฐ และธนาคารเอกชน จากการตรวจสอบพบว่า อปท. หลายแห่งกู้ไปเรียบร้อยแล้ว [14] ทำให้ อปท. หลายแห่งมีภาระในการชำระคืนเงินกู้และค่าดอกเบี้ย จนไม่เหลืองบประมาณเพื่อเป็นรายจ่ายในการพัฒนา และในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทิ้งปัญหาให้ผู้บริหารคนต่อไปรับช่วงผิดชอบไป

มีข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่การกู้เงิน รวมถึงการใช้จ่ายเงินสะสมมักจะกระทำในปีสุดท้ายก่อนครบวาระ หรือ คิดว่าตนเองอาจไม่ได้กลับเข้ามาบริหารงาน อปท. อีกในสมัยเลือกตั้งหน้า

การเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านของตัวเองเป็นวิธีการสุดท้าย

กระทรวงมหาดไทยรู้ทาง อปท. จึงได้ออกกฎเกณฑ์การกู้เงินให้กู้ได้ยากขึ้น จึงเหลือวิธีการสุดท้าย คือ “การเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” ของตัวเองเป็นวิธีการสุดท้าย คือ แก้ระเบียบ หรือแนวทางปฏิบัติ ในการใช้จ่ายเงินสะสมเสียใหม่ เพื่อให้ใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น ในยามนี้เวลานี้อาจเป็นเวลาที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา ตามนโยบายรัฐบาล

ครั้นมาถึงนโยบายของ คสช. ที่ให้นำเงินสะสมของ อปท. ออกมาใช้ได้ร้อยละ 30 ของเงินสะสม ในด้านสังคม เศรษฐกิจพอเพียง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งน้ำ การเกษตร ส่งเสริมเรื่องยางพารา ซึ่งตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินสะสมของ อปท.ให้ดูความเดือดร้อนของประชาชน หรือกรณีฉุกเฉินเท่านั้น การโยนภาระการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ อปท. หากเกิดติดขัดในการบริหารและในระเบียบการเบิกจ่ายฯ อปท. คงโดน สตง. ตรวจสอบและจับผิดได้โดยง่าย

มีข้อท้วงติงว่า เงินสะสม อปท. ดังกล่าวนั้น ถือเป็นเงินก้อนสุดท้ายของท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ก็ขอฝากข้อคิดให้คิดกันให้ดีๆ ว่า ควรจะให้มีการใช้จ่ายจำนวนเท่าไร เหลือไว้เท่าไร เพราะเม็ดเงินจำนวนนี้หากหมดไป กว่าจะสะสมได้คืนคงใช้เวลาอีกหลายปี คงไม่ใช่การสะสมเม็ดเงินไว้ให้รัฐบาลได้พัฒนาตามนโยบาย ตามที่หาเสียงหรือสัญญากับประชาชนไว้ แต่มันเป็น “เม็ดเงินของ อปท.” ที่มีไว้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่างหาก

เหล่านี้คือข้อเท็จจริง ที่ชาว อปท. และหน่วยงานผู้กำกับดูแลพึงตระหนัก และให้ลองตรวจสอบดูว่าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างเพียงใดหรือไม่ ด้วยเกรงว่า “วินัยทางการเงินการคลัง” ของ อปท. จะยังพอมีเหลืออยู่บ้างหรือไม่ มิฉะนั้น เท่ากับไปซ้ำเติม อปท. ที่มีเม็ดเงินในคลัง แต่การบริหารงานงบประมาณที่ขาดวินัย



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22963 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น

[2] นโยบายสำคัญที่มอบ (1) การพัฒนาคน (2) ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (3) ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (4) การบริหารจัดการขยะ (5) ปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดย ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว., นายสุธี มากบุญ รมช., นายกฤษฎา บุญราช ปลัด มท., นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีสถ.

[3] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 9 ง ราชกิจจานุเบกษา 31 มกราคม 2548 หน้า 25-52, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0E/00153090.PDF & http://www.dla.go.th/work/e_book/local_co/supplement8.pdf& ระเบียบกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123/ตอนพิเศษ 12 ง/หน้า 12/26 มกราคม 2549, http://www.banglangdamcity.go.th/datacenter/doc_download/8_8.pdf & ระเบียบกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 2 - 6 เล่ม 132 ตอนพิเศษ 230 ง วันที่ 25 กันยายน 2558, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/230/2.PDF & แก้คำผิด ราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 132 ตอนพิเศษ 234 ง วันที่ 1 ตุลาคม 2558

[4] ข้อ 89 ** องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจใช้จ่ายเงินสะสมได้ โดยได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่นภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ให้กระทำได้เฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเกี่ยวกับด้านการบริการชุมชนและสังคม หรือกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกิจการที่จัดทำเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือตามที่กฎหมายกำหนด

(2) ได้ส่งเงินสมทบกองทุนส่งเสริมกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทตามระเบียบแล้ว

(3) เมื่อได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินสะสมแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีถัดไป หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้การใช้จ่ายเงินสะสมนั้นเป็นอันพับไป

ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมียอดเงินสะสมคงเหลือเพียงพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายประจำและกรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น โดยการใช้จ่ายเงินสะสมให้คำนึงถึงฐานะการคลัง และเสถียรภาพในระยะยาว

** ข้อ 89 แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548

[5] ข้อ 91 ภายใต้บังคับข้อ 89 ในกรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมได้ตามความจำเป็นในขณะนั้น โดยให้คำนึงถึงฐานะการเงิน การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

[6] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1438 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2559 เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น & หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ 02936 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง การใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ดู “สมคิด” โยกงบ 6 หมื่น ล.หารือ “อบต.-อบจ.” ลุยพัฒนาท่องเที่ยวท้องถิ่น, ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 7 มีนาคม 2559, http://www.thairath.co.th/content/587051 & ดร.จรัส แนะรัฐจับเข่าคุย สตง.ปูทางท้องถิ่นใช้งบฯ พัฒนา กระตุ้นเศรษฐกิจ, ใน isranews, 8 มีนาคม 2559, http://www.isranews.org/thaireform/thaireform-news/item/45342-community_45342.html#.Vt6VNHH0S6o.facebook & รัฐบาลล้วงเงินค้างท่อ 1 ทศวรรษ 'อปท.' หว่านกว่า3หมื่นล้านกระตุ้นรากหญ้า, วัฒนา ค้ำชู/สำนักข่าวเนชั่น, คม ชัด ลึก (กรอบบ่าย), 23 กุมภาพันธ์ 2559, www.komchadluek.net/detail/20160222/222876.html

ทำ ให้ทีมเศรษฐกิจต้องตั้งเป้านำมาตรการใหม่เตรียมนำเงินสะสมหรือเงินค้างท่อ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “อปท.” เม็ดเงินจำนวนกว่า 6 หมื่นล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุหลัง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เข้าหารือ โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที คาดการณ์จะนำเม็ดเงินมาใช้ได้จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายนนี้

การนำไปใช้ตามนโยบายรัฐบาลจะสามารถนำเงินไปใช้ตามเป้าที่วางเอาไว้ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 64,531 ล้านบาท ล่าสุดแว่วว่า หลังมีการพูดคุยหารือเคาะตัวเลขคร่าวๆ เอาไปใช้ปรับโครงสร้างด้วยการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมสภาพคล่องทุก พื้นที่ได้แค่ 3 หมื่นกว่าล้านบาท

& ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์,นำเงินสะสมท้องถิ่นมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ, คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ, มติชนรายวัน, 4 ธันวาคม 2558, http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1449217161

[7] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 61 ง วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 หน้า 4-16, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2541/E/061/4.PDF & ระเบียบกระทรวงมหาดไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 และ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2543, http://e-plan.dla.go.th/download/budget2541.pdf

ซึ่งระเบียบฯ นี้ได้ถูกยกเลิกโดย ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547

[8] ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ

[9] ข้อ 88 กิจการใดที่มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีอนุญาตให้จ่ายได้แล้ว แต่ระยะสามเดือนแรกของปีงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บรายได้เพียงพอที่จะดำเนินการตามงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจนำเงินสะสมทดรองจ่ายไปพลางก่อนได้

กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับแจ้งการจัดสรรเงินอุดหนุนที่รัฐบาลระบุวัตถุประสงค์ให้ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ยกเว้นงบลงทุน แต่ยังมิได้รับเงิน หากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินก่อน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจยืมเงินสะสมทดรองจ่ายไปพลางก่อนได้เมื่อได้รับเงินงบประมาณดังกล่าวแล้วให้บันทึกบัญชีส่งใช้เงินสะสมที่ยืมตามวิธีการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนด กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีกิจการพาณิชย์ หากมีความจำเป็นกิจการพาณิชย์อาจขอยืมเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปทดรองจ่ายเพื่อบริหารกิจการก่อนได้ โดยขอความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่นและให้ส่งชดใช้เงินยืมเงินสะสมเมื่อสิ้นปีงบประมาณ

กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด มีผู้รับบำนาญที่ย้ายภูมิลำเนาและประสงค์จะโอนการรับเงินบำนาญไปรับในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทเดียวกันในท้องที่ที่ย้ายไปอยู่ใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจยืมเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ทดรองจ่ายให้กับผู้รับบำนาญนั้นได้ โดยอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น และเมื่อได้รับเงินคืนให้บันทึกบัญชีส่งใช้เงินสะสมที่ยืมตามวิธีการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนด

[10] ข้อ 90 *** กรณีที่งบประมาณรายจ่ายประกาศใช้บังคับแล้ว มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะจ่ายหรือไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนั้นไว้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายขาดเงินสะสมได้ โดยได้รับอนุมัติจากผู้บริหารท้องถิ่นในกรณีดังต่อไปนี้

(1) รับโอน เลื่อนระดับ เลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานส่วนท้องถิ่น

(2) เบิกเงินให้ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการสภาท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ตลอดจนลูกจ้าง ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินอื่นตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ในระหว่างปีงบประมาณ

(3) ค่าใช้จ่ายตาม (1) และหรือ (2) ให้ถือเป็นรายจ่ายในปีงบประมาณนั้น

*** ข้อ 90 แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548

[11] ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาได้มีการแก้ไขกฎหมายจัดตั้ง อปท. ได้แก่ อบจ.เทศบาล และ อบต. ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดู (1) พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 109 ก หน้า 5-20 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2546, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00131876.PDF (2) พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546,

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 124 ก หน้า 1-15 วันที่ 22 ธันวาคม 2546, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00133923.PDF (3) พรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม120 ตอนที่ 124 ก หน้า 16-37 วันที่ 22 ธันวาคม 2546, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00133924.PDF

[12] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยเดิมที่ถูกยกเลิก พ.ศ. 2541

ข้อ 85 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ เมื่อได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่น โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. ให้กระทำได้เฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจัดทำเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ หรือกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกิจการที่จัดทำบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน

2. ได้กันเงินสะสมไว้เพียงพอที่จะสำรองจ่ายเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่เหลือ แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่าสามเดือน และอีกร้อยยี่สิบห้าของยอดเงินสะสมคงเหลือเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินอื่น ๆ

3. ได้ส่งเงินสมทบกองเงินทุนส่งเสริมกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบตามระเบียบแล้วโดยไม่มีค้าง

[13] ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0808.2/ว 2029 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท.

[14] ดูผลการศึกษาของ ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ พ.ศ. 2557 ดูใน รายงานการวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้านการเงินการคลังของเทศบาล” โดย ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ และคณะ ช่วงปี 2553/2554 ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2557 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) รางวัลระดับดี ใน คุยกับดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้เปิดข้อมูลความเสี่ยง “หนี้ท้องถิ่น”, 2 กุมภาพันธ์ 2558, http://isranews.org/thaireform/thaireform-talk-interview/item/36233-weerasak_36233.html#.VM7seNT13MA.facebook



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท