สานฝันคนสร้างป่า : "รับน้อง" สร้างสรรค์บนฐาน "เรียนรู้คู่บริการ"


จะว่าไปแล้วนี่คือกิจกรรม “รับน้องสร้างสรรค์” ในครรลองของ “กิจกรรมนอกหลักสูตร” เลยก็ว่าได้ โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นกิจกรรมรับน้องชมรมที่มีเหตุมีผลมากกว่าการรับน้องในประเพณีนิยมขององค์กรหลักเสียด้วยซ้ำที่มักเวียนวนอยู่ในกับดักของ “คลุกโคลน-เปื้อนแป้ง-เต้นแยกแข้งแยกขา-กรีดกรายกายาบนเวทีแสงสีเสียง”



โครงการสานฝันสานสัมพันธ์น้องพี่สามัคคีคืนป่า ครั้งที่ 5 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมไม่รู้สึกลังเลที่จะนำมากล่าวถึงในช่วงเวลานี้ ซึ่งจัดขึ้นโดย “ชมรมสานฝันคนสร้างป่า” ระหว่างวันที่ 15-19 ธันวาคม 2558 ณ บ้านน้ำทิพย์ ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

พิจารณาจากประเด็นชื่อโครงการจะเห็นได้ชัดเจนว่ายึดโยงอยู่กับวัตถุประสงค์หลักที่เป็นรูปธรรมอยู่ 2 ประการ นั่นคือการสานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้องในชมรม รวมถึงการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน –





จะว่าไปแล้วนี่คือกิจกรรม “รับน้องสร้างสรรค์” ในครรลอง “กิจกรรมนอกหลักสูตร” เลยก็ว่าได้

โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นกิจกรรมรับน้องชมรมที่มีเหตุมีผลมากกว่าการรับน้องในประเพณีนิยมขององค์กรหลักที่มักเวียนวนอยู่ในกับดักของการ “มอบคลานคลุกโคลน-เปื้อนแป้ง-เต้นแยกแข้งแยกขา-กรีดกรายกายาบนเวทีแสงสีเสียง”

ใช่ครับ,กิจกรรมที่ผมพูดถึงนี้โดยหลักแล้วมีสองกิจกรรมหลักแน่ๆ นั่นก็คือกิจกรรมสานสัมพันธ์น้องพี่และกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการแก่ชุมชนนั่นเอง





ฐานการเรียนรู้หลากรูปรส : บ่มรักและผูกพันสู่ความเป็นหนึ่งเดียว

ต้องยอมรับว่าการจัดกิจกรรมบนฐานวัฒนธรรมที่รุ่นพี่ส่งมอบชุดความรู้มายังน้องนั้นสำคัญมาก แทนที่จะรับน้องแบบสุดโต่งไปในด้าน “บันเทิง” (เฮฮา) เป็นหลัก หรือกระทั่งจัดในแบบการนั่งประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต พร้อมๆ กับการบอกเล่าตัวตนความเป็นชมรมให้น้องๆ ได้ซึมซับ เสมือนฉีดวัคซีนความเป็นองค์กรลงในตัวตนและกระแสเลือดของน้องใหม่ -

แต่ค่ายครั้งนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น




ค่ายครั้งนี้ถูกออกแบบเป็นฐานการเรียนรู้หลากหลายฐาน แต่ละฐานมีหลากรูปลักษณ์ในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต่อยอดมาจากค่ายก่อนๆ แต่โดยรวมแล้วก็คือการมุ่งสร้างสถานการณ์ให้ทั้งพี่และน้องในแต่ละกลุ่มได้เผชิญชะตากรรมเดียวกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งภายในฐานแต่ละฐานจะมีกิจกรรมต่างๆ ให้ลงแรงกายและแรงใจร่วมกัน

ทั้งนี้แต่ละฐานจะมีแนวคิดอันเป็นแก่นสารทางการเรียนรู้ต่างกันออกไป แต่ทั้งปวงก็ล้วนแล้วแต่มุ่งให้พี่และน้องในชมรม “ได้คิด ได้แก้ปัญหา ได้เรียนรู้อะไรๆ ในสถานการณ์เดียวกัน” เพื่อสร้างความเป็นทีม และเพื่อหลอมรวมจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันผ่านฐานการเรียนรู้สำคัญๆ จำนวน 6 ฐาน เช่น....

  • ฐานทอดสะพานกางเต็นท์ถ่ายรูป
  • ฐานใบ้คำ
  • ฐานเกมวัดดวง
  • ฐานส้มตำฮาเฮ
  • ฐานลูกโป่งน้ำ
  • ฐานคลำเหรียญ



ใช่ครับ-ถึงแม้แต่ละฐานจะมีบรรยากาศออกแนวทะลึ่งนิดๆ แต่ก็ยืนยันว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของทั้งปวง และไม่ใช่กิจกรรมหลัก หรือวัตถุประสงค์หลัก หากแต่เป็นวันวัยของพวกเขาเองที่คิดและออกแบบเพื่อการเรียนรู้ ในบางประเด็นผมเชื่อว่าพวกเขาแยกแยะได้ว่าอะไรหลักอะไรรอง หรืออะไรคือกาลเทศะที่ต้องใช้จริงๆ ในความจริงของชีวิต -




แต่อย่างไรก็เถอะ ค่ายครั้งนี้ทั้งพี่และน้องต่างได้สัมผัสรูปลักษณ์และรูปรสของกิจกรรมหลากหลายอย่างไม่ตั้งสงสัย เป็นการสัมผัสในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ที่ได้ทั้งความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาไปพร้อมๆ กับทักษะหลายอย่าง อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นนักออกแบบกิจกรรม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การบริหารคนกับงานภายใต้เวลาอันจำกัด การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี ประชาธิปไตยในกลุ่ม ---

และที่แน่ๆ คือการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีม นั่นเอง

รวมถึงการบ่มเพาะเรื่องจิตสาธารณะ จิตอาสา อาสามัคร หรือกระทั่งสำนึกรักษาบ้านเกิดอย่างเสร็จสรรพ ตลอดจนการบ่มเพาะว่าด้วยเรื่องอัตลักษณ์นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามว่าด้วยเรื่อง "ช่วยเหลือสังคมและชุมชน" ด้วยเช่นกัน





เรียนรู้คู่บริการ : นิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชน

สานฝันสานสัมพันธ์น้องพี่สามัคคีคืนป่า ครั้งที่ 5 ไม่ได้จ่อมจมอยู่แต่เฉพาะกิจกรรมสานความสัมพันธ์ภายในองค์กร/ชมรมเท่านั้น หากแต่มีกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปของ “เรียนรู้คู่บริการ” เพื่อสังคมไปพร้อมๆ กัน เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ในโรงเรียน การจัดทำโป่งเทียม การจัดทำฝายชะลอน้ำ การบวชป่า

กิจกรรมเหล่านี้เกี่ยวโยงกับ “อัตลักษณ์” ของชมรมโดยแท้จริง เพราะชมรมสานฝันคนสร้างป่าล้วนผูกพันสนิทแน่นอยู่กับวิถีแห่งการเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสถานะของนิสิตที่พึงกระทำได้

ค่ายครั้งนี้แทนที่จะบอกเล่าด้วยการบรรยายอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการให้น้องใหม่ได้รับรู้ถึงความเป็นชมรมหรือองค์กรว่า “ชมรมเป็นอย่างไร ทำกิจกรรมอะไร มีปรัชญา-ยุทธศาสตร์อย่างไร” ตรงกันข้ามกลับออกแบบการเรียนรู้ผ่าน “กิจกรรม” อย่างเต็มสูบ โดยกำหนดให้ “กิจกรรมและชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้" อย่างชาญฉลาด




ใช่ครับ-แกนนำชมรมที่เป็นรุ่นพี่ ใช้กิจกรรมและชุมชนทำหน้าที่เป็นสื่อและเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้อย่างหนักแน่น หรือในอีกสถานะหนึ่งก็คือการใช้กิจกรรมเป็น “กระบอกเสียง” ในการบอกเล่าสถานะขององค์กรอย่างแยบยล แทนที่จะสาธยายเป็นคำพูดก็กำหนดให้เรียนรู้อย่างเป็นทีมร่วมกันผ่านกิจกรรมสำคัญๆ คือ “ฝายชะลอน้ำ-โป่งเทียม-บวชป่า” หรือกระทั่งกิจกรรมฐานการเรียนรู้ที่หลากรูปรส



การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเช่นนี้ คือหลักคิดของการ “เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ” อย่างเป็นทีม— อีกทั้งยังได้รบพุ่งอยู่กับปัญหาอันเป็นสถานการณ์ต่างๆ บ่มเพาะการช่วยเหลือกัน ฝึกความอดทน ฝึกรุก-รับอยู่กับปัญหาจากมือที่มองไม่เห็นร่วมกัน ฯลฯ

ผมว่านี่แหละคือเสน่ห์อันชวนหลงรักและทรงพลังต่อการเติบโตของชีวิตในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือวิถีแห่งค่ายอาสาอันง่ายงาม –



มิหนำซ้ำพวกเขาก็มิได้พักนอนในโรงเรียนอย่างเปล่าดาย ทว่ายังบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ซ่อมแซมห้องน้ำห้องท่าไปด้วย เรียกได้ว่า “อยู่บ้านท่านไม่นิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น”

เช่นเดียวกับการมุ่งกระตุกเตือนให้นิสิตชาวค่ายได้เรียนรู้วิถีชุมชนอย่างเป็นจังหวะจะโคนในประเด็นของอาชีพในชุมชน การใช้ประโยชน์จากป่าในชุมชน วิถีความเชื่อ ประเพณีในชุมชน หรือกระทั่งมุ่งการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับชุมชน เป็นต้นว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับการบวชป่าในชุมชน องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำโป่งเทียมจากเจ้าหน้าที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ตลอดจนการเลือกพื้นที่ในการจัดทำฝายชะลอน้ำและโป่งเทียมบนฐานอันเป็นการตัดสินใจของชุมชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง –






4 คืน 5 วัน : บูรณาการกิจกรรมบันเทิงเริงปัญญา

การจัดค่ายด้วยเวลาเพียง 4 คืน 5 วัน แต่สามารถทำกิจกรรมอย่างหลากหลายให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์หลักและวัตถุประสงค์รองเช่นนี้ ผมว่าไม่ธรรมดา-




ไม่ธรรมดา เพราะได้ทั้งการรับน้อง เสริมสร้างมิตรภาพความรักระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ได้สร้างกระบวนการให้น้องใหม่ได้เข้าใจในความเป็นตัวตนของชมรม แม้กระทั่งรุ่นพี่เองก็เถอะย่อมตกผลึกในหลายเรื่องผ่านกิจกรรมในครั้งนี้เป็นแน่แท้ เพราะผมเชื่อว่ารุ่นพี่หลายคนที่ผ่านมาก็อาจยังไม่ตกผลึกเพียงพอต่อการงานและองค์กรของตนเอง

ไม่ธรรมดาในประเด็นถัดมาคือการได้จัดกิจกรรมบูรณาการการรับน้องควบคู่ไปกับ "กิจกรรมบริการสังคม" อันเป็นอัตลักษณ์หลักของชมรม คือการบวชป่า การสร้างฝายชะลอน้ำและการทำโป่งเทียม รวมถึงการบำเพ็ญประโยชน์ในชุมชนผ่านกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พึงกระทำได้

รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่หนุนเสริมบรรยากาศ หรือกระบวนการเรียนรู้ให้ครบครันในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา" เช่น การแข่งกีฬาฮาเฮ และการจัดกิจกรรมรอบกองไฟในค่ำคืนของคนค่าย หรือชาวค่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมรอบกองไฟในค่ำคืนนั้น ถือได้ว่าสำคัญไม่แพ้กิจกรรมอื่นๆ เพราะชุมชนได้มาเข้าร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง หลังจากกลางวันไม่ค่อยได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากหนัก เนื่องเพราะมีภารกิจ “ปากท้อง” เกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาที่ต้องตื่นตีสี่ตีห้าออกไป “ทำมาหากิน” อย่างหลีกหลบไม่ได้




จะว่าไปแล้ว กิจกรรมรอบกองไฟได้กลายเป็นกิจกรรมหลักอีกกิจกรรมนึ่งของชาวสานฝันคนสร้างป่าไปแล้วก็ว่าได้ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ในแบบบันเทิงเริงปัญญาอย่างเด่นชัด บางปีมีชุมชนมาร่วมแสดง บางปีก็เป็นการแสดงของนิสิตและนักเรียน –

เฉกเช่นกับครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่นักเรียนพักการเรียนเพราะมีภารกิจสำคัญเกี่ยวกับการสอบและกีฬา พลอยให้นิสิตต้องสรรค์สร้างกิจกรรมรอบกองไฟด้วยตนเองเป็นที่ตั้ง

กิจกรรมรอบกองไฟในครั้งนี้ คือการมอบหมายภารกิจให้พี่และน้องในแต่ละกลุ่มได้แสดงละครรอบกองไฟเท่าที่แต่ละกลุ่มพึงใจจะขับเคลื่อนได้ ซึ่งก็มีทั้งที่ประยุกต์เรื่องราวจากทีวี ดัดแปลงจากภาพยนตร์ บ้างก็สะท้อนเรื่องราวการปกปักษ์รักษ์โลกบนฐานคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

กิจกรรมเหล่านี้ ผมถือว่าเป็นการสะท้อนผลการเรียนรู้จากกิจกรรมค่ายนี้ในอีกมิติหนึ่ง หรือกระทั่งการชั่งวัดในเรื่ององค์ความรู้อันเป็นโลกทัศน์และชีวทัศน์ของนิสิตที่มีอยู่ในตัวเองด้วยเช่นกัน

เสียดายก็แต่ยังไม่มีการหยิบจับเรื่องราวอันเป็นสถานการณ์จริงที่ได้จากการเรียนรู้ชุมชน หรือเรื่องราวในค่ายครั้งนี้มาสื่อแสดงผ่านกิจกรรมรอบกองไฟเหมือนครั้งก่อนๆ เท่านั้นเอง





แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็นับได้ว่ากิจกรรมทั้งปวงได้ก่อเกิดพลังแห่งการเรียนรู้ภายในองค์กรของนิสิตอยู่ค่อยข้างมาก ส่วนชุมชนจะได้ประโยชน์จากกิจกรรมทั้งปวงที่นิสิตจัดขึ้นแค่ไหน ยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ต่อไป ---

หากแต่ ณ วินาทีนี้ต้องยอมรับว่านี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมสร้างสรรค์ที่น่าจับตามองในวิถีแห่งการรับน้องตามครรลองกิจกรรมนอกหลักสูตรอย่างแท้จริง และหากสามารถถอดรหัสกันจริงๆ ผมเชื่อว่ากิจกรรมที่ว่านี้สามารถพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นกระบวนการของการเรียนรู้คู่บริการของนิสิต หรือการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมได้ด้วยเช่นกัน

โปรดติดตาม ตอนต่อไป..... (นะครับ)




แหล่งข้อมูล

  • ภาพ/เรื่อง ชมรมสานฝันคนสร้างป่า : แสนชัย วรรณศิริ สุนทร ธรรมวงษ์ พรรณิดา ราชรี
  • ประสานงาน/กองกิจการนิสิต : รุ่งโรจน์ แฉล้มไธสงค์ เยาวภา ปรีวาสนา
หมายเลขบันทึก: 602512เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2016 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หนูทำหน้าที่เป็นฝ่ายอาคารและสถานที่ คอยจัดเตรียมสถานที่ให้ฝ่ายต่างๆ คอยจัดเตรียมที่พักให้น้อง ทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานลุยๆทำหมดค่ะ สิ่งที่หนูประทับใจมากคือตอนที่ต้องแต่งตัวตลกๆ น่ารักๆ ให้น้องๆเพื่อนๆ พี่ๆ ร่วมค่ายได้หัวเราะ เพราะหนูคิดว่าการที่ทุกคนหัวเราะเป็นการผ่อนคลายที่ดีมาก หลังจากทำงายมาเหนื่อยๆ ก็ได้หัวเราะบ้าง เสียงหัวเราะคือเสียงที่หนูอยากได้ยินจากชาวค่ายมากที่สุดค่ะ อุปสรรค์ในการทำงานในส่วนตัวของหนูนะคะคือหนูจะเป็นคนที่เหนื่อยมากๆไม่ได้ เป็นลมบ่อย แต่ก็ทำเต็มที่ เท่าที่จะทำได้สู้ไปพร้อมกับทุกคนในค่ายทุกคนไม่เคยทอดทิ้ง ทุกคนพร้อมจะเสียสละ หนูคิดว่า สิ่งนี้สานฝันทุกคนมีค่ะ

สวัสดีครับ พรรณิดา ราชรี


ขอบคุณที่แวะมาเติมเต็มเนื้อหานะครับ
พี่มองว่า การที่เราทำอย่างเต็มที่ ทำอย่างดีที่สุด และประมาณตนเอง เพื่อการเรียนรู้ของตนเอง โดยมิให้เป็นภาระผู้อื่น ถือว่า เรามีทักษะชีวิตที่ดีเยี่ยมเลยทีเดียว

ความเป็นค่ายมีหลายหน้าที่มากๆ ...คนทุกคนถูกมอบหมาย หรืออาสาในหน้างานต่างๆ นั่นแหละคือการเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า และสำคัญ ค่าย ไม่ใช่การเรียนรู้เชิงเดี่ยว แต่หมายถึงการเรียนรู้แบบกลุ่มทีม ตรงนี้แหละคือทักษะที่จะได้ใช้ในการออกไปทำงานและใช้ชีวิตหลังจบการศึกษา

ชื่นชมและให้กำลังใจ นะครับ



ขอบคุณนะค่ะ หนูหวังแค่ว่าสานฝันทุกคนจะรักและเป็นหนึ่งเดียวตลอด จะทำงานร่วมกัน อนุรักษ์ธรรมชาติร่วมกันแบบนี้ตลอดไปค่ะ

ครับ พี่ให้กำลังใจนะ (พรรณิดา ราชรี) และอย่าละทิ้งความฝัน ทำงานแล้วถอดบทเรียนเป็นระยะร่วมกัน มันจะยกระดับมาตรฐานของกิจกรรมไปได้ในที่สุด สำคัญคือ การสอนงานสร้างทีมในองค์กรก็สำคัญมากๆ...

ให้กำลังใจ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท