ความพยายามจะ "พูนพลังครู" ทั่วประเทศไทย ของผู้หลักผู้ใหญ่จิตอาสา


วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ CADL ได้รับโอกาสและการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้เข้าร่วมเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ "การถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้และเสริมพลัง" ผมตีความว่า นี่เป็นความพยายามของ มูลนิธิฯ ที่จะเพิ่มอัตราของการพูนพลังครูเพื่อศิษย์ โดยเฉพาะครูเพื่อศิษย์จิตอาสา ที่ดูเหมือนจะเป็น "หัทยปัจจัย" ในการปฏิรูปการศึกษา ตามเจตนาของผู้หลักผู้ใหญ่จิตอาสาที่มาร่วมด้วยเพื่อช่วยยกระดับของการเรียนรู้และมาร่วมเสริมพลังครู



กระบวนการเรียนรู้และเสริมพลัง

๐) เริ่มด้วยการรวบรวมสมาธิ เตรียมความพร้อมภายใน ด้วยการนำสแกนกายส่วนต่างๆ

๑) กระบวนทางการเริ่มเมื่อคุณปริ๋ม (พิธีกรวงใหญ่) จับไมค์แนะนำผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาเป็นวิทยากรวันนี้ ได้แก่ ศ.นพ.วิจารณ์ รศ.ประภาภัทร รศ.ดร.สุธีระ รศ.ไพโรจน์ ครูใหญ่วิเชียร ดร.เจือจันทร์ ดร.เลขา คุณณัฐรส ครูปราชญ์และครูใหม่จากเพลินพัฒนา คุณประสาน และคุณเปา แล้วแนะนำเครือข่ายภาคี ก่อนเชิญพิธีกล่าวเปิดงานโดย ศาสตราจารย์หมอวิจารณ์


ท่านบอกว่า การปลดลดหนี้ครูจะไม่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา แนวทางที่เราทำกันมานี้เป็นความหวังและอนาคตของการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูก คือการเสริมพลังให้กับครูเพื่อศิษย์

๒) เรียนรู้จากครูต้นเรื่อง ขั้นตอนนี้คือการเปิดวีดีทัศน์ครูต้นเรื่อง ครูสัญญา สอนบุญทอง (คลิกดูด้านล่าง)


ครูสัญญาได้รับการเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด มีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบสูง และชอบช่วยเหลือคน ต่อมาโตขึ้นรับราชการเป็นทหาร เมื่อมีโอกาสได้ไปเห็นบริบทปัญหา (อ.สุธีระ ท่านเรียก "บริบทพิเศษ") จึงเกิดการจุดระเบิดของ "ครูเพื่อศิษย์" ครูสัญญา สอนบุญทอง ครูเจ้าฟ้าฯ ปี ๕ ท่านนี้

ครูสัญญาบอกว่า สิ่งที่ท่านทำคือ ทำให้นักเรียนมี "ความกล้า" วิธีการคือ ทำให้อ่านออก เขียนได้ และทำได้ด้วยตนเอง เด็กที่ทำได้ก็จะเกิดความกล้า ความกล้าจะเป็นที่มาของการเรียนรู้ด้วยตนเอง...

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และจะนำมาใช้หลังจากดูวีดีทัศน์ คือ รูปแบบการนำเสนอวีดีทัศน์ ที่ให้ครูเป็นผู้เล่าเรื่อง และเดินเรื่อง ด้วยการเริ่มจาก บริบทพื้นฐาน -> ปัญหานักเรียน -> กระบวนการหรือวิธีการ ->จบด้วยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยแทรกกรณีตัวอย่างของแต่ละเรื่องตามสมควร

๓) คำถามเพื่อการเรียนรู้และเสริมพลัง

รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม และอาจารย์ณัฐรส วังวิญญู ออกมาเป็น "คุณอำนวย" ท่านทั้งสอง พูดใส่ไมค์แบบไม่มีสคลิป ผ่อนคลาย ชวนให้ทุกคนทดลองตั้งคำถาม จากนั้นผู้ทรงทุกคนก็ทยอยบอกคำถามของตนออกไมค์

ที่น่าสนใจที่สุดคือ กระบวนการที่ให้ "ระดมตั้งคำถาม" โดยที่ยังไม่ให้ครูต้นเรื่องตอบ วิธีการนี้น่าจะนำไปใช้ในการฝึกตน ฝึกครู หรือฝึกนักเรียน ในการตั้งคำถามได้ดี โดยเฉพาะถ้ามีคำถามจากผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแบบนี้ ต่อไปนี้เป็นคำถามที่ประทับใจ เลยทำให้จำได้

  • ทำไมถึงทำแบบนั้นได้ ..... เมื่อผมฟังคำถามนี้ ใจผมบอกว่าต้องเติมคำเข้าไปว่า ทำไมถึงมีความสุขกับการทำแบบนั้น
  • บริบทปัจจัยอะไร ที่ทำให้ตัดสินใจทำแบบนั้น .....
  • คุณค่าของการทำสิ่งนี้คืออะไร คุณค่าของ... อยู่ที่ไหน
  • อะไรที่ท่านได้เรียนรู้มากที่สุดตลอดระยะเวลาที่ทำมา
  • หากย้อนเวลากลับไปได้... อะไรที่จะไม่ทำอีก
  • หากย้อนเวลากลับไปได้... สิ่งได้ที่จะไม่ทำอีก แต่จะไม่มีวันลืม
  • หากย้อนเวลากลับไปได้... อะไรที่จะทำอีก หรือจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นอีก
  • มีใครบ้างที่มีส่วนสำคัญในความสำเร็จ อะไรคือปัจจัยของความสำเร็จ
  • เริ่มต้นทำสิ่งนั้นตอนไหน อะไรคือจุดเริ่มต้น
  • เคยท้อแท้หรือไม่ และทำอย่างไรเมื่อท้อแท้
  • ฯลฯ

สรุปตอนท้าย อาจารย์ประภาภัทร และอาจารย์ณัฐรส แบ่งประเภทของคำถามออกเป็น ๓ หมวด คือ ๑) คำถามประเภทที่ทำให้ใคร่ครวญถึง "คุณค่า" เกี่ยวกับ "ศรัทธา ไมตรี" ที่จะสะท้อนถึงกัลยาณมิตร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งมักเป็นคำถาม "ทำไม" ที่ต้องใช้เหตุและผลในการอธิบาย ๒) คำถามถึงการกระทำหรือกระบวนการ ซึ่งมักมีคำถามหลักว่า "อย่างไร" "เมื่อไหร่" และ ๓) คำถามถึงผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่คุณครูทำแล้ว ซึ่งมักใช้คำถามว่า "อะไร" เช่น "เกิดอะไรขึ้นบ้าง" หรือ "ได้อะไร" ฯลฯ

จะสังเกตว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ คำถามส่วนใหญ่เป็นประเภท "คุณค่า" และ "ผลลัพธ์" โดยเฉพาะคำถาม "ทำไม" ที่มุ่งตรงสู่การใคร่ครวญด้วยใจ โดยมุ่งผลไปที่การ "เสริมพลังใจ" ของครูต้นเรื่อง ... ผมตีความว่า นี่คือจุดมุ่งหมายหลักของการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ และเป็นประเด็นเดียวกับที่คุณเปา บอกว่า อยากให้มีการถอดบทเรียนที่ "ลุ่มลึก" มากขึ้น

๔) เรียนรู้จากคำตอบของครูต้นเรื่อง

หลังจากสรุปการเรียนรู้จากการ "ตั้งคำถาม" อาจารย์ประภาภัทร ได้เปิดโอกาสให้ครูต้นเรื่องเลือกตอบคำถาม โดยไม่จำเป็นต้องตอบทุกข้อคำถาม แต่ให้ตอบตามอัธยาศัยเท่าที่จำได้ ... ครูสัญญาบอกว่า ท่านสามารถตอบได้ทุกคำถาม แต่ขอใช้วิธีเล่าเรื่อง "เรื่องเล่า" เพื่อแลกเปลี่ยนจะดีกว่า ....

ศ.นพ.วิจารณ์ ลุกขึ้นชมเชยและเน้นให้เห็นว่า การตอบคำถาม แบบเล่าเรื่องจริง หรือเน้นฐานการปฏิบัติของครูสัญญาเป็นวิธีที่จะทำให้ปัญญากับคนฟังได้มาก โดยหลังจากฟังแล้ว ก็ให้แต่ละคนในวงได้ "ตีความ" ในความหมายที่ตนเข้าใจ สะท้อนแลกเปลี่ยนกันไปมา

๕) ปฏิบัติการ "ถอดบทเรียน"

หลังเบรคเช้า เป็นการแบ่งกลุ่มย่อยให้แต่ละกลุ่มได้ฝึกปฏิบัติการ "ถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้และเสริมพลัง" โดยมุ่งฝึกฝนคนที่จะไทำหน้าที่ "ฟาครู" ที่แต่ละภาคีส่งมา และมีผู้ทรงคุณวุฒิคอยสะท้อนและป้อนกลับเพื่อยกระดับความเข้าใจ และมีคุณลิขิตมาช่วยจับประเด็นอีก ๒ ท่าน

เทนนิคที่วางไว้คือ จัดให้แต่ละกลุ่มย่อยมีครูต้นเรื่อง ๒ คน และกำหนดเวลาให้ ๒ ช่วง คือหลังเบรคเช้าและช่วงหลังทานข้าวเที่ยง เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มย่อยได้สะท้อน BAR หรือ AAR และสังเกตการพัฒนาของแต่ละกลุ่ม




๖) ให้สะท้อนการเรียนรู้

กิจกรรมสุดท้ายเป็นการให้แต่ละกลุ่มย่อย ออกไปเสนอบทสะท้อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างกลุ่มย่อย คือ ๑) คุณค่าของงานครูต้นเรื่อง และ ๒) มีข้อเรียนรู้อย่างไรในการตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้แลเสริมพลัง โดยกำหนดให้ตัวแทน ออกมานำเสนอ แล้วให้ผู้ทรงคุณวุฒิสะท้อนเพิ่มเติม

ผมตีความว่า ที่กำหนด ๒ ประเด็นนี้ เพราะมูลนิธิฯ อยากประเมินว่า กิจกรรมที่ทำตลอดวันในวันนี้ ทำให้ภาคีเข้าใจการถอดบทเรียนเพื่อหา "คุณค่า" หรือ Value ของครูต้นเรื่องได้หรือไม่ และสามารถจับหลักในการใช้คำถามได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร





เรากำลังทำอะไร มั่นใจไหมว่าจะสำเร็จ

จากการเรียนรู้วันนี้ ผมตีความว่า.....

๑) ยุทธศาสตร์ของมูลนิธิฯ คือ การพูนพลังคนที่จะไปพูนพลังครู โดยการมุ่งสร้างคนในเครือข่ายภาคีให้มีศรัทธา+ไมตรี+วิธี และ+เครื่องมือ ในการไปพูนพลังครูในพื้นที่ โดยมูลนิธิฯ จะทำบทบาท หนุน แบก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่ยกย่องเชิดชูครูผู้มีพลังพูนเต็มหัวใจ

๒) วิธีการของมูลนิธิฯ คือ ใช้การจัดการความรู้แบบอินไซด์ (KM Inside) มาสาธิตแบบมีส่วนร่วมให้กลุ่มคนภาคีดู ว่า วิธีการ "พูนพลังครู" นั้นทำอย่างไร โดยเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่ต้องใช้คือ "การถอดบทเรียนเพื่อการเรียนรู้และเสริมพลัง"

ต้องใส่ใจ ๒ คำนี้ แยกกัน คำแรกคือ "เพื่อเรียนรู้" ซึ่งครูหรือคนส่วนใหญ่ จะเรียนสิ่งใหม่ๆ ด้วยการ "ฟัง+คิด" เท่านั้น ไม่เข้าถึงการ "+รู้ขณะจิตใจ" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการ "เสริมพลัง" (อย่างยั่งยืน)

อีกมุมหนึ่งที่ต้องใส่ใจ ของคำว่า "เสริมพลัง" คือ สิ่งที่กำลังทำนั้นเป็นการเสริมพลังแบบชั่วคราว ใจพองโตไม่นาน ไม่มีเงินงานก็ไม่มี หรือ จะเป็นวิธีที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในได้อย่างยั่งยืนแบบ "ตื่นรู้"

๓) สมมติฐานของมูลนิธิฯ คือ หากค้นพบครูต้นเรื่องที่เหมือนเทียนที่ยังไม่มอดหมดไป แล้วใช้ การถอดบทเรียนและเสริมพลังใจครูเพื่อศิษย์ ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบสะท้อนตีความป้อนกลับ จะทำให้ครูมั่นใจขึ้น ภูมิใจขึ้น เหมือนเชื้อฟืนเอามาต่อไฟ และถ้าต่างภาคีต่างทำ ต่างคนต่างทำ ก็จะกลายเป็นกองไฟใหญ่ที่ให้แสงและพลังงานต่อไป

๔) มูลนิธิฯ อยากให้แต่ละภาคีพูนพลังครู มี "คุณอำนวย" ที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ หรือทำ "ฟาครู" ได้ถึงขั้นเสริมพลัง มี "คุณเอื้อ" ที่ทำงานต่อเนื่องและมีบารมี (เช่นหัวหน้าภาคีเครือข่าย) มี "คุณกิจ" เป็นครูเพื่อศิษย์ต้นเรื่อง และมี "ผูู้หนุนนำ" ทำให้ครูต้นเรื่องประสบความสำเร็จ ... อาจเป็นผู้บริหารโรงเรียนซึ่งพบเจอในหลายกรณี แต่ผมคิดว่ามีหลายกรณีเหมือนกันที่ ครูเพื่อศิษย์นั้นคิดทำและต่อสู้ด้วยจิตวิญญาณภายในของครูเองลำพัง

๕) คำถามคือ สิ่งที่มูลนิธิฯ กำลังทำ ในโครงการ "พูนพลังครู" นั้น ท่านเสริมพลังใคร? คำตอบคือ เสริมพลังครูต้นเรื่องใช่ไหม? เมื่อพบครูต้นเรื่องแล้ว หน้าที่การขยายผลของความสำเร็จออกไปเป็นบทบาทของใคร ด้วยวิธีใด? .... หากจะหวังให้ขยายผลออกไปด้วยการผลิตสื่อให้อ่าน ผมคิดว่าในกาลนี้ ยังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด

ขอสะท้อนตอนท้ายเชิงวิพากษ์ว่า การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นส่วนผลึกของอารยธรรมฐานของแต่พื้นที่ ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของวัฒนธรรมของคนไทยในแต่ละพื้นที่ ย่อมมีประสิทธิผลที่จำกัด เช่น

๑) สังคมไทยไม่อ่าน คนอ่านมีน้อย แต่คนไทยชอบคุยชอบเล่าเรื่อง ดังนั้น การทำ PLC บนพื้นฐานการคุย จะได้ผลดีกว่าการตีพิมพ์ให้อ่าน

๒) คนไทยยึดถือตัวบุคคล น้อบน้อม เมตตา อุปถ้มภ์ ดังนั้น วิธีการขยายผลที่ดี คือค้นหาคนดี ครูดี แล้วสนับสนุนให้ครูดีนั้นขยายผลอย่างเต็มที่ด้วยวิธีของตนและคนในพื้นที่

๓) วิธีทำงานแบบ KPI แบบโครงการและรายงานประจำปี มีดีเพียงแค่การบอกผู้บริหารว่าได้ทำ และนำไปประกอบพิจารณาผลตอบแทน

จบเท่านี้ครับ


หมายเลขบันทึก: 601796เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2016 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2016 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Wow!

If we could translate 10% of what described here into 'result', Thai children would have 100% better outcome for their education. Seriously!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท