ตัณหากลับมาแล้ว


ถึงที่ทำงานเวลา ๐๗.๑๐ น. แต่น่าเสียดายที่ไม่ใช่คนแรก เมื่อถึงที่ทำงานเวลานี้ จึงมีเวลาอีกจำนวนหนึ่งก่อนเข้างาน เอ่อละเหยลอยชายให้ความคิดล่องลอยไปก่อน นึกขึ้นได้ว่า เช้านี้เดินตามหลังอาจารย์หญิงท่านหนึ่ง แอบสังเกตรูปร่างแล้วทำให้คิดว่า เดี๋ยวนี้ อาจารย์หญิงแต่ละคน รูปร่างทรวดทรงดูดี และที่ดูจะแตกต่างจากอาจารย์หญิงรุ่นก่อนๆคือ การแต่งกาย

อาจารย์หญิงรุ่นก่อนๆ ค่อนข้างจะแต่งกาย ปกปิด มิดชิด บางท่านจะเดินเยื้องกรายไปไหนก็ค่อยๆเดินอย่างสวยงามตามแบบไทย ดูแล้วน่าเคารพนับถือ แตกต่างจากอาจารย์หญิงในสมัยนี้ บางคนกระโดกกระเดก ตามประสา แต่บางคนเดินแล้วดูดีตามสมัย เหมือนกับนางงามที่เดินประกวดบนเวที ดูแล้วสง่างาม องอาจ ทำให้คิดว่า ความน่าเคารพนับถือทำให้เกิดความรู้สึกอะไร และความสง่างามทำให้เกิดความรู้สึกอะไร เท่าที่พอจะดูความรู้สึกได้ในเวลานี้คือ ความเคารพนับถือทำให้ไม่อยากครอบครอบ แต่จะถูกตั้งไว้บนความรู้สึกที่ดูแล้วสูงส่ง แตกต่างจากจากความสง่างามที่ทำให้อยากเข้าครอบครอง

อาจารย์หญิงที่ได้เดินตามไปอย่างเงียบๆ นั้น ดูแล้วเธอไม่ค่อยมั่นใจ เพราะจะพยายามเอามือมาจับที่จายกระโปรงบ่อยๆ เหตุที่ต้องจับชายกระโปรงบ่อยๆเพราะสวมใส่กระโปรงสั้น หากเราแยกขาข้างหนึ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนบนที่เลยเข่าขึ้นไป และส่วนล่างที่เลยเข่าลงมา โดยมีเข่าเป็นจุดกลาง กระโปรงสั้นที่กล่าวถึงนี้ เลยเข่าขึ้นไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของขาส่วนบน เมื่อเธอก้มตัวลงลายมือชื่อบนโต๊ะ การก้มตัวส่งผลต่อชายกระโปรงที่จะเลยขึ้นไปอีก สีสันและรูปทรงของกระโปรงดูสวยงาม ตามยุคสมัย ผนวกกับขาของอาจารย์หญิงท่านนี้ก็ดูจะมีผิวเรียบเนียน ไม่มีการใส่ถุงน่องปกปิดความขรุขระ หยาบกร้าน แตกลายงา หรือเลือดขอด เหตุที่ยังไม่มีสิ่งนี้อาจจะเพราะยังอยู่ในวัยแรกรุ่น เมื่อผ่านวัยเข้าสู่ชราภาพก็คงจะเหมือนๆคนชราทั่วไป แต่เราไม่ควรให้ความคิดสะดุดลงด้วยภาพผิวคนชรา เพราะกำลังกล่าวถึงความอภิรมย์ในการมองเห็นหญิงสาว ขอแทรกตรงนี้เล็กน้อย เมื่อวานไปสัมมนาที่โรงแรมเซ็นจูรี่ฯ แทนอาจารย์ท่านหนึ่งที่ลาป่วยเพราะอัคคีภัยเป็นเหตุ ระหว่างที่ฟังอยู่นั้น วิทยากรวัยเกษียณแต่มีพลังท่านแรก ได้กล่าวชื่นชมหญิงสาวในหนังเรื่องมู่หลาน ว่ามีความสวยมากๆ สวยงามจริงๆ ทำให้คิดว่า ผู้สูงอายุชายยังมองเห็นความสวยงามของหญิงสาวอยู่อีกหรือ? จึงหันไปถามตรงๆกับอาจารย์ชายที่นั่งอยู่ข้างๆว่า "อาจารย์ครับ อาจารย์ยังมองเห็นความสวยงามของหญิงสาวอยู่หรือครับ" ท่านเป็นอาจารย์ที่เกษียณอายุไปแล้ว และกลับมารับหน้าที่เป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาหลังวัยเกษียณ ตำแหน่งพนักงาน ท่านตอบว่า "ใช่ ยังมองเห็นความสวยงามของหญิงสาวอยู่" จริงๆแล้ว เคยสังเกตมาว่า ในคราวที่ท่านไปคุยกับผู้ชาย ท่านจะมีแววตาและอารมณ์แตกต่างจากคราวที่ท่านไปคุยกับผู้หญิง ในคราวที่ท่านไปคุยกับผู้หญิงท่านจะยิ้มแบบเต็มอิ่ม แววตาแสดงถึงความเบิกบาน ทำให้คิดว่า คนเรานั้นมีรสนิยมที่แตกต่างกัน "ผู้หญิงอาจไม่ได้พึงพอใจกับการได้อยู่ใกล้ๆผู้ชาย แต่อาจสนุกกับการอยู่ในกลุ่มผู้หญิงด้วยกัน แล้วคุยกันสนุกสนาน" (ข้อสังเกตนี้เขียนหลอกล่อให้ผู้หญิงคิดปฏิเสธและบอกว่าจริงๆแล้ว ฉันเป็นอย่างไร ซึ่งการเป็นอย่างไรนั้น หลายคนไม่กล้าที่จะสื่อออกมา อาจจะเพราะเกณฑ์ทางสังคม)

ระหว่างที่กำลังแอบพิจารณาผิวสรีระส่วนที่เป็นขาของร่างกายมนุษย์ผู้หญิงอยู่นั้น รู้สึกได้ว่า หัวใจสั่นคลอน อุทานในใจว่า "เอาละสิ แค่การมองเห็นก็สะเทือนถึงความรู้สึกเชียวหรือ" มีความคิดอีกอันหนึ่งบอกว่า "ตัณหากลับมาแล้ว" และ "น่าเสียดายที่กลับมาในวัยชรา ในวัยที่สังคมจะหยามเหยียดได้ว่า แก่ตัณหากลับ" อย่างไรก็ตาม การกลับมาของตัณหาในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น น่าจะเป็นการดี เพราะทำให้หัวใจสั่นคลอนโดยไม่ต้องกินกระทิงแดงเกินวันละ ๒ ขวด และน่าเสียดาย มีความคิดอีกอันหนึ่งทอดแทรกเข้ามาว่า "เราควรเตือนเขาหรือไม่ เกี่ยวกับการแต่งกายที่เหมาะสมกับสถานภาพ อันจะได้เป็นแบบอย่างของเด็กๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่วัยทำงาน" ความคิดโต้แย้งบอกว่า "อย่าเลย...ด้วยเหตุผลที่ว่า ประการที่ ๑) ไม่เหมาะที่เราจะเข้าไปก้าวก่ายในชีวิตของผู้อื่น อาจโดนด่ากลับมาก็ได้ ด้วยคำพูดว่า "คุณมายุ่งอะไรกับชีวิตฉัน" ๒) เขาอาจค่อยๆเรียนรู้เกี่ยวกับการแต่งกายในสถาบันการศึกษาต่อไป และอาจพัฒนาให้แต่งกายสอดคล้องกับแบบที่สถาบันการศึกษาพยายามให้นักศึกษาหญิงแต่งกายแบบกระโปรงเลยเข่าลงไป ๓) การแต่งกายแบบไหน มันเกี่ยวอะไรกับการที่คนๆหนึ่ง มีความรู้พอที่จะแนะนำคนอื่นในชั้นเรียนได้ว่า เราจะมีวิธีการแสวงหาความรู้อย่างไร? ๔) การที่อาจารย์หญิงท่านนี้แต่งตัวดูสอดคล้องกับยุคสมัย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพูดคุยกับคนวัยหนุ่มสาวในชั้นเรียนได้อย่างเข้าอกเข้าใจกันมากกว่าความคิดโบราณ..กระมัง นอกจากนั้น อาจสร้างแรงจูงใจในการเข้าชั้นเรียนของหนุ่มสาวก็เป็นได้ ๕) คนเราทั้งชายหญิง เมื่อปลดเปลื้องเสื้อผ้าออกทั้งหมด ก็คงไม่แตกต่างกัน และคงไม่เป็นแรงจูงใจให้ต้องใฝ่หาแอบมองในสิ่งลี้ลับอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม การปกปิดไว้บ้าง อาจสร้างจินตนาการอย่างกระชุ่มกระชวยให้ผู้ตามมอง ผู้เฝ้ามองจะได้ใช้ตาและอารมณ์ให้เป็นประโยชน์ เป็นการบริหารอารมณ์ให้กระชุมกระชวย แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะอารมณ์ที่ผู้มองสร้างขึ้นมานั้น ล้วนแต่สร้างขึ้นด้วยตัวเอง และหลอนตัวเองให้กระชุ่มกระชวย เพราะสิ่งที่ถูกมองอาจไม่ใช่ความจริงที่สอดคล้องกับอารมณ์ของผู้มองที่กำลังจินตนาการบางอย่าง" คิดได้ดังนี้แล้ว จึงปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามที่โลกต้องการจะเป็น

ปัญหาเกี่ยวกับคำว่า "ตัณหา" ที่กล่าวถึงนี้ ในพุทธศาสนาได้แบ่งตัณหาออกเป็น ๓ ประการคือ ๑) ความอยากในสัมผัสทั้ง ๕ (ตา+รูป, หู+เสียง, จมูก+กลิ่น, ลิ้น+รส, กาย+สัมผัสกาย, ใจ+อารมณ์ที่กระทบใจ) รวมเรียกว่า "กามตัณหา" ๒) ความอยากมี อยากมีนั่น อยากมีนี่ อยากมีความเป็นนั่น เป็นนี่ รวมเรียกว่า "ภวตัณหา" และ ๓) อยากที่จะไม่มี อยากที่จะไม่เป็น จากสิ่งที่มีที่เป็นอยู่แล้ว รวมเรียกว่า "วิภวตัณหา" อาจพิจารณาง่ายๆ ตัณหา คือความอยาก มี ๓ คือ ๑) อยากสัมผัส แตะต้อง ๒) อยากมีนั่น อยากมีนี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ และ ๓) อยากที่จะพรากพ้นไปจากที่มีที่เป็น

"ตัณหาที่กลับมาแล้ว" นั้น จะอยู่ใน "๑)" เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสอย่างน้อยคือ ตา+รูป และ ใจ+อารมณ์ที่กระทบใจ หลายคนรู้สึกดีเมื่อ "ตัณหากลับมาแล้ว" เพราะที่ผ่านมา มันหายไปด้วยเหตุผลบางอย่าง หนึ่งในบางอย่างคือ การพยายามไม่หลอกตัวเองว่าน่าอภิรมย์สัมผัส และอาจไม่หลอกไปถึง "แท้จริงสิ่งนั้นไม่น่ามอง" โดยที่คนทั่วไปมองว่า การไม่หลอกตัวเองที่ว่านั้นคือการหลอกตัวเอง ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะความเป็นจริงคือมีความสวยงาม การมองว่าสวยงามน่าอภิรมย์นี้ หลายคนอาจไม่รู้สึกดี เพราะคำถามที่ว่า ทำไมต้องเกิดในวัยที่ผู้คนมองว่าควรยุติเรื่องตัณหาได้แล้ว ทั้งที่ตัณหาจริงๆนั้นยุติได้ยาก เพราะตา ยังต้องมอง ใจยังไม่เข้มแข็งพอ

น่าเสียดาย อาจารย์หญิงที่นำมาบันทึกไว้อ่านคนเดียวนี้ เกิดจากการเห็นเพียงด้านหลัง เป็นไปได้ไหม การเห็นข้างหลังแล้วอยากเห็นหน้า และเห็นหน้าแล้วอยากหงายหลัง (อันนี้เป็นมุข) อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงทุกคนเป็นคนสวย ถ้าเราคิดว่าเราไม่สวย ขอให้อยู่คนเดียวแล้วมองที่กระจก จะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ใครสวยที่สุดถ้าไม่ใช่เรา นอกจากนั้น ความงามกิริยา วาจา และความคิด ยังคงเป็นเครื่องประดับที่สวยงามสำหรับผู้หญิงทุกคนในสังคม...กระมัง

หมายเลขบันทึก: 601114เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2016 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

From "western medical" point of view -- sensual arousal is "healthy" (indicating "good hormonal level") but expressing "sensual desire" is definitely a no-no in either eastern or western culture.

I can see you have trained in "mindfullness" and have recognised your fall into a trap.

Sadhu.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท