การปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย (๗)


โดยความคิดเห็นส่วนตัวและโดยหลักการแล้ว ผมไม่ได้คัดค้านโครงการใดๆ ที่รัฐบาลพึงจะมี ซึ่งจะลงทุนเพื่อพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นฐานของงานวิจัยสำคัญที่สุด และเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปงานวิจัยของประเทศ

การปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย กับงานวิจัยในมหาวิทยาลัย

ผมเขียนเรื่องนี้ ในขณะที่มาร่วมประชุมโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาครั้งที่ 4 (Higher Education Research Promotion Cogress IV หรือ HERP Congress IV) ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นการประชุมที่จัดโดยสำนักบริหารโครงการ NRU & HERP ภายใต้ สกอ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งรับเป็นเจ้าภาพในปีนี้ปี ผมมาร่วมประชุมทุกปี ติดต่อกันมา 4 ปี ย้ายสถานที่ไปคนละมหาวิทยาลัยในแต่ละปี ในฐานะผมเป็นกรรมการบริหารของสำนักบริหารโครงการฯ คนหนึ่ง

โครงการ NRU & HERP เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบงานประเทศไทยอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นโครงการที่พยายามผลักดันและยกระดับระบบงานวิจัยและการทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยของรัฐทั้งระบบรวม 79 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม NRU 9 แห่ง มหาวิทยาลัยกลุ่มเก่า 16 แห่ง และกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและมหาวิทยาลัยใหม่ 54 แห่ง

โครงการนี้แต่เดิมกำหนดไว้ 3 ปี (2554-2556) แต่โครงการฯ กลับขยายเป็น 6 ปี (2554-2559) ด้วยงบประมาณเท่าเดิม เพราะหลังจากปีแรก งบประมาณที่ตั้งไว้ กลับถูกนักการเมืองตัดลดลงอย่างมาก แต่ยังนับเป็นเรื่องที่ดีอยู่บ้างที่สำนักงบประมาณ ได้กันวงเงินเดิมไว้ และยืดเวลาออกให้ใช้งบประมาณตามวงเงินเดิมที่ได้จัดสรรไว้

แม้ว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จดีในระดับหนึ่ง ทำให้มหาวิทยาลัยเกิดความตื่นตัวทำงานวิจัยมากขึ้น พัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัย พัฒนาอาจารย์ นักวิจัยและบุคลากรด้านการวิจัย ผลิตบุคลกรระดับปริญญาโทและเอกเพิ่มขึ้น สร้างโครงการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมและรวมกลุ่มในการทำงานภายในมหาวิทยาลัย เป็นคลัสเตอร์ (cluster) และระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นซุปปราคลัสเตอร์ (supracluster) เพื่อทำงานวิจัยที่เป็นปัญหาและตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศ และได้รับผลงานเชิงประจักษ์จากโครงการจำนวนมากมาย

โดยทั่วไป ประชาคมนักวิจัยภายในมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการ NRU & HERP มีความตื่นตัว พอใจกับโครงการนี้ และเรียกร้องให้มีโครงการในเฟสที่สองต่อไปอีก ไม่อยากจะให้เลิก เมื่อโครงการนี้สิ้นสุดลง ภายในปี 2559

เพื่อพยายามดิ้นรนกันเอง ในขณะที่โครงการ NRU ใกล้จะสิ้นสุดลง มหาวิทยาลัย 7 แห่งในกลุ่ม NRU คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ม.ธรรมศาสตร์ ม.มหิดล และ ม.สงขลานครินทร์ ได้รวมตัวและร่วมมือกันทำงานวิจัยกันต่อไปเป็นเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network หรือ RUN) นอกจากร่วมมือกันทำวิจัยแล้ว ยังพยายามช่วยเหลือตัวเองและเพื่อร่วมกันขอทุนวิจัยสนับสนุนจากแหล่งทุนอื่น (เช่น วช.) ด้วย

การที่โครงการ NRU & HERP ถูกตัดงบประมาณตั้งแรกและงบประมาณรายปี (ซึ่งค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว สำหรับการจัดสรรให้มหาวิทยาลัย 79 แห่ง) และยืดเวลาโครงการฯ ยาวขึ้น ทั้งๆ ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการลงทุนทางด้านวิจัยเพิ่มให้มากกว่า 1% ของจีดีพี แต่รัฐบาลก่อนหน้านี้นำเงินไปใช้จ่ายในโครงการประชานิยมและทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นและเกิดความเสียหายหลายแสนล้านบาท ในขณะที่ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำให้การทำงานต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผน และด้วยงบประมาณที่น้อยทำให้ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้นักวิจัยและมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยได้อย่างเต็มกำลังและศักยภาพที่มีได้ หลายมหาวิทยาลัยได้ตัดลดโครงการและกิจกรรมต่างๆ ลง เช่น ลดจำนวนทุนบัณฑิตศึกษาและการผลิตบัณฑิตปริญญาโท-เอก ลดหรือตัดทุนนักวิจัยหลังปริญญาเอก ลดหรือตัดทุนจ้างผู้ช่วยวิจัย ฯลฯ ถือเป็นความอับจนทางสติปัญญาของผู้บริหารประเทศไทยในยุคสมัยนั้นอย่างยิ่ง

ปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยที่น้อย และขาดความต่อเนื่อง ยังเป็นปัญหาสำคัญทางด้านงานวิจัยของประเทศไทย นอกเหนือจากปัญหาอื่นๆ อีกหลายด้านที่จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูป ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป

ในขณะที่โครงการ NRU & HERP กำลังจะสิ้นสุดลง ได้มีการเสนอโครงการ World Class University (WCU) โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง ผ่าน สกอ.ไปยังรัฐบาล ซึ่งกำลังจะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ โดยความคิดเห็นส่วนตัวและโดยหลักการแล้ว ผมไม่ได้คัดค้านโครงการใดๆ ที่รัฐบาลพึงจะมี ซึ่งจะลงทุนเพื่อพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นฐานของงานวิจัยสำคัญที่สุด และเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปงานวิจัยของประเทศ แต่โครงการนี้ควรจะมีการวางแผนให้ละเอียดและรอบคอบ ทั้งแผนแม่บทหรือแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการและระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด โดยถือเอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง จึงควรจะต้องมีการฟังผู้มีส่วนร่วม (stakeholders) ให้มากที่สุด เพราะถือได้ว่าอาจจะเป็นเม็กกะโปรเจ็คโครงการหนึ่งของประเทศที่จะต้องมีการลงทุนงบประมาณนับหมื่นล้าน

ผมขอแสดงความคิดเห็นไว้ในเบื้องต้นว่า รูปแบบและวิธีการดำเนินการของ WCU ที่วางไว้ ซึ่งยังไม่เหมาะสมควรจะต้องมีการปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น (1) การจะใช้เงินจำนวนมากในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งจะต้องอิมพอร์ตผู้เชี่ยวชาญมาจากต่างประเทศ (2) การมีมหาวิทยาลัยเพียงจำนวนน้อย (เช่น 2-5 แห่ง) ที่จะมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเข้าร่วมโครงการและได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ WCU ในขณะที่มหาวิทยาลัยที่เหลืออีกจำนวนมาก อีกมากกว่า 70 แห่ง ยังต้องมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนางานวิจัยและด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและเป็นฐานในการพัฒนาประเทศเช่นกัน หากไม่สามารถจะเข้ามาอยู่ในโครงการ WCU ได้ ก็จำเป็นจะต้องมีโครงการอื่นมาสนับสนุนและส่งเสริมในการงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม (3) หากมีการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยที่เหลือซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่และมีจำนวนมากกว่าเข้าร่วมด้วย แต่บังคับให้มุ่งเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 13 กลุ่มเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมา บริบท ความเข้มแข็ง อัตลักษณ์และความหลากหลายของแต่ละมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาแบบทิ้งรากฐานของตนเอง หรือการพัฒนาแบบทำลายรากฐานของตนเอง จะทำให้เกิดความอ่อนแอและเสียหายต่อมหาวิทยาลัยและประเทศได้ (4) หากมีการดำเนินโครงการ WCU จริง กุญแจแห่งความสำเร็จและล้มเหลว (Key success and failure factors) ของโครงการนี้ คือ การบริหารจัดการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และการติดตามและประเมินผลที่เข้มข้นและจริงจัง ซึ่งคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากจะมีการดำเนินโครงการแบบเพียงแค่ส่งผ่านเงินงบประมาณจากสำนักงบประมาณและสกอ.และไปยังมหาวิทยาลัย โดยไม่มีการบริหารจัดการ ติดตามและประเมินผล ความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ NRU & HERP สามารถจะนำมาปรับให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ เข้มข้นและจริงจังขึ้นเพื่อใช้กับโครงการ WCU นี้ได้

ถึงแม้ผมจะเขียนมาค่อนข้างยืดยาว แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ หากมีเวลาและโอกาส ผมจะเขียนเพิ่มเติมอีก ท่านผู้สนใจโปรดติดตามอ่านต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 600792เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2016 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2016 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท