ยินดีกับเพื่อน


เย็นวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เพื่อนสมัยหลังอายุ ๑๒ ปี สามสี่คน นัดกันว่า จะพา "เทพ" เพื่อนคนหนึ่งพร้อมด้วยภรรยาที่เพิ่งเรียนจบ ป.เอก บริหารการศึกษา ไปเลี้ยง และ "นุ่น" เพื่อนชายอีกคนหนึ่งที่เพิ่งจบภาวะผู้นำทางการศึกษา แท้จริงการพาไปเลี้ยงนั้นไม่ใช่เป้าหมายหลักในใจ เป้าหมายหลักในใจคือการพบปะพูดคุยพบหน้าพบตากันมากกว่า ตัวเสนอความคิดนี้คือ แหบ (เปี๊ยก) ผู้มีพื้นเพเดิมอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม แต่เราพบกันเพราะเรียนหนังสือกันที่ชุมพร สนองความคิดโดยผมและเอี้ยง เดิมทีนัดแนะว่าจะเลี้ยงที่อำเภอวังหน้อย เพราะสะดวกกับการเดินทาง แต่ "เทพ" เสนอว่า อาจารย์ที่เคยสอนพวกเรามาตั้งแต่เล็ก ทุ่มเทเพื่ออนาคตของพวกเรา อยู่ที่ไหน น่าจะเชิญท่านมาด้วย" ผมไม่รอช้าในการติดต่ออาจารย์ท่านนี้ และเป็นความโชคดีของพวกเรา เมื่ออาจารย์กำลังอยู่ที่เชียงราย และกำลังจะเดินทางกลับ กทม.ในวันที่ ๕ ก.พ. จากนั้น ๒๑.๓๐ น.ของวันที่ ๖ ก.พ. อาจารย์จะเดินทางกลับชุมพร เราต้องเปลี่ยนแผนจากจัดเลี้ยงกันที่อำเภอวังน้อย เป็นความสะดวกของอาจารย์ที่สุด เพราะอาจารย์จะพักอยู่ที่ปิ่นเกล้า ดังนั้น จึงรบกวนแหบซึ่งทำธุรกิจอยู่ที่ท่าอิฐ นนทบุรี ในการหาร้านอาหารที่สามารถคุยกันได้ง่าย

ผมไปรับเอี้ยงที่ มจร.วังน้อย เวลา ๑๖.๐๐ น. บึ่งหน้าไปร้านอาหาร.... (ร้านนี้ไม่แนะนำ เพราะหลังจากินแล้วหิวน้ำมากๆ นั่นหมายความว่า มีผงชูรสเยอะ) ผมกับเอี้ยงไปถึงก่อน จึงไปสั่งอาหารและนั่งรอ ระหว่างทางเราคุยกันหลายเรื่อง เรื่องทั้งหมดไม่มีเรื่องเที่ยว ไม่ใช่เรื่องสนุกเฮฮา หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่ต่างพื้นที่กัน

นั่งรอที่ร้านอาหารไม่นาน แหบซึ่งทำหน้าที่ไปรับอาจารย์ ก็เดินทางมาถึง เราคุยกันไปเรื่อยๆ ไม่นานเทพกับภรรยาก็เดินทางมาถึง เราแสดงความยินดีกับเพื่อนที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษา เมื่อมองย้อนไป เราไม่เห็นเลยว่าอนาคตของแต่ละคนนั้นจะเป็นอย่างไร พ่อแม่หรือก็ไม่ได้วางแผนไว้สำหรับลูกว่าจะต้องเรียนจบถึงชั้นนั้นชั้นนี้ แม้จะรู้ดีกว่า ชั้นของการเรียน เป็นมายาทางสังคม ที่สังคมกำหนดไว้ แต่เราก็ต้องเดินไปตามมายาของสังคมอย่างมีสติ เทพเป็นคนอัธยาศัยดี มีจิตใจงาม ไม่ต่างจากแหบและเอี้ยง เอี้ยงอาจเป็นคนไม่ค่อยชอบพูดเล่นพูดหัวกับอาจารย์ จึงให้แหบและเทพนั่งขนาบข้างกับอาจารย์ เพื่อหวังว่าจะเป็นเพื่อนคุยกับอาจารย์ระหว่างทานข้าว บนโต๊ะอาหารเล็กๆ เราคุยกันถึงอดีต ที่อาจารย์ท่านนี้ได้อุตสาหะพากเพียรพยายามในการสร้างเด็กตัวน้อยๆ ขึ้นมาให้มีความรู้ พวกเราถูกปูพื้นฐานการเรียนรู้และฝึกฝนการทำงานจากพื้นที่เดียวกัน และอาจารย์คนเดียวกัน อาจารย์ท่านนี้คือ อาจารย์ประมวล ท่านไม่ใช่ญาติของพวกเรา และเราก็ไม่ใช่เด็กกำพร้า แต่เรามองอาจารย์ของเราอย่างเคารพ ความเคารพดังกล่าวมาจากการที่อาจารย์ได้เสียสละทุกๆอย่างให้กับพวกเรา จำได้ว่า สมัยนั้น แต่ละคนรู้สึกเบื่อหน่าย กับการพร่ำสอนของอาจารย์ ใครที่ซุกซนจะถูกเฆี่ยนตี พร้อมด้วยการพร่ำสอนให้รู้ว่า อะไรควรไม่ควร เทพนั้นเป็นคนเรียบร้อยมาตั้งแต่เด็ก จิตใจดี ร่าเริง ปัจจุบันทำหน้าที่บริหารงานโรงเรียนขุมทองวิทยา นี้เป็นผลผลิตหนึ่งจากแรงกายแรงใจของอาจารย์ประมวล น่าเสียดายอีกผลผลิตหนึ่งไม่ได้มาด้วย นั้นคือ "นุ่น" เข้าใจว่า น่าจะติดธุระอยู่ที่วังน้อย

ระหว่างที่นั่งกินกันไปคุยกันไป เวลาก็เลยไปอย่างรวดเร็ว "จิม" ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นพี่ของพวกเรา ก็มาถึงพอดี พร้อมด้วยของฝากติดไม้ติดมือมามอบให้อาจารย์ (ในความคิดของผม เราไม่ควรมอบให้อาจารย์ เพราะจะเป็นภาระของอาจารย์ในการเดินทาง) อาจารย์ไม่ได้ปฏิเสธ พร้อมกับยิ้มอย่างไมตรีจิต ที่น่าแปลกใจคือ อาจารย์พูดน้อยลง ใบหน้าอิ่มเอิม ไม่ดุเหมือนเมื่อก่อน

เมื่อพี่จิมมาถึง โต๊ะอาหารค่อนข้างมีรสชาติ เพราะพี่จิมเป็นคนค่อนข้างตลกขบขัน ทำเอาอาจารย์ยิ้มชอบใจ เพราะพี่จิมจะแซวถึงความซุกซนสมัยก่อน เมื่อครั้งอยู่ในความดูแลของอาจารย์ เราคุยกันไป แซวกันไป โดยเฉพาะเรื่อง "หัวแหน่ง" ที่ฮือฮามาก ประมาณ ๒ ทุ่มครึ่ง ผม เอี้ยง และแหบ รับภาระในการเป็นเจ้าภาพอาหารมื้อนี้ จากนั้นจึงไปส่งอาจารย์ที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่

อาจารย์ขึ้นรถไปแล้ว เทพกับภรรยาเดินทางกลับบ้าน แหบเดินทางกลับสำนักงาน ส่วนผมกับเอี้ยงเดินทางกลับอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หวนคิดถึงความคิดอันหนึ่ง สำหรับชีวิตของพวกเรานั้นเด็กๆนั้น อยู่ในกรอบ ระเบียบ ถูกอบรมพร่ำสอนทุกวัน แตกต่างจากเด็กทั่วไป แต่เราก็ซุกซนตามประสาเด็ก มาถึงวันนี้ ทุกคนมีการมีงานทำ ความเป็นไปของชีวิตเด็กเหล่านี้ น่าจะทำหนังได้สักเรื่อง หรือเขียนออกมาเป็นนิยายสักเล่ม เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับศิษย์ร่วมสำนัก โดยการรวบรวมข้อมูลจากเพื่อนๆนี่เอง ในหนังสือเล่มนี้ ควรสอดแทรกคำสอนของอาจารย์ประมวลเป็นระยะ

คำสำคัญ (Tags): #เพื่อน#อาจารย์
หมายเลขบันทึก: 600611เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท