​เขาแช่งอะไรกันในลิลิตโองการแช่งน้ำ


เขาแช่งอะไรกันในลิลิตโองการแช่งน้ำ

วาทิน ศานติ์ สันติ (31-1-2559)

ลิลิตโองการแช่งน้ำ หรือ ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า เป็นวรรณคดีเก่าแก่มากที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย มีความสำคัญทั้งด้านวรรณคดี นิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมของไทย โดยเฉพาะสังคมเก่าของไทยที่มีรูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช พิธีถือน้ำสาบานเกิดขึ้นแล้วอย่างช้าที่สุดช่วงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พ.ศ. 1983 โดยเอ่ยพระนาม “สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช”

มีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น โองการแช่งน้ำพระพัทธ์ (การสาปแช่งน้ำสาบาน ผูกมัด) พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (น้ำแห่งความสัตย์อันรุ่งเรือง) พิธีศรีสัจจปานกาล (จิตร ภูมิศักดิ์. 2524 : 2 – 6)

จิตร ภูมิศักดิ์ (2524 : 2 – 6) อ้างถึงที่มาของพิธีดื่มน้ำสาบานว่ามาจาก จารึกกรอบประตูปราสาทพิมานอากาศ ราวพุทธศตวรรษที่ 17 กล่าวถึงข้าราชการ “พระตำรวจ” ถวายคำสาบานต่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ปรากฏคำว่า “กัดไดถวายอายุ” แปลว่า เชือดแขนถวายชีวิต กระทำในเดือน 10 ตรงกับไทย ปรากฏคกว่า “พระพัทธประติชญา” แปลว่าสาบาน คำว่า “วทฺธ” ในจารึกเขาพนมรุ้ง 2 แปลว่า สาบาน คำว่า “สัจจปาน” คือ “สัตยปาน แปลว่า สาบาน

ลิลิตโองการแช่งน้ำ เริ่มต้นด้วยร่ายดั้นโบราณ 3 บท สรรเสริญพระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหมตามลำดับ ต่อจากนั้นบรรยายด้วยโคลงห้า และร่ายดั้นโบราณสลับกัน กล่าวถึงไฟไหม้โลกเมื่อสิ้นกัลป์แล้วพระพรหมสร้างโลกใหม่ เกิดมนุษย์ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ การกำหนดวัน เดือน ปี และการเริ่มพระราชาธิบดีในหมู่คน แล้ว อัญเชิญพระกรรมบดีปู่เจ้ามาร่วมเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ตอนต่อไปเป็นการอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรืองอำนาจอันมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยดา อสูร ภูตปีศาจ ตลอดจนสัตว์มีเขี้ยวเล็บเป็นพยาน ลงโทษผู้คิดคดกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนผู้ซื่อตรงภักดี ขอให้มีความสุขและลาภยศ ตอนจบเป็นร่ายยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน

ลักษณะคำประพันธ์ เป็นโคลงกัยร่ายสลับกันเป็นช่วงๆ

ร่าย เช่น “โอมสิทธิสรวงศรแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์จักร คทาธรณีกีรุอวตาร อสุรแลงลาญทัก ททัคนีจรนาย”

โคลงเช่น
“นานา อเนกน้าว เดิมกัลป์ จักร่ำ จักราพาฬ เมื่อไหม้ กล่าวถึง ตระวันเจ็ด อันพลุ่ง น้ำแล้งไข้ขอดหายฯ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีบทร้อยกลองเพิ่มเข้ามาดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตยาธิฐานสบถสาบานถวายแต่พระเจ้าอยู่หัวจำเพาะพระพักตร์ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ด้วยข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำราชกาลฉลองพระเดชพระคุณโดยสัจสุจริต ซื่อตรง แต่ความสัจจริง มิได้กบฏประทุษร้าย มิได้เอาน้ำใจไปแผ่เผื่อไว้แก่ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน เพื่อจะให้กระทำประทุษร้ายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถ้ามีการศึกยกมากระทำแก่พระนครก็ดี พระพุทธเจ้าอยู่หัวจะใช้ข้าพระพุทธเจ้าไปกระทำสงครามแห่งใด ตำบลใดก็ดี ถ้าข้าพระพุทธเจ้าเกรงกลัวข้าศึกมากกว่าเจ้า ไม่ทำการเอาชัยชนะข้าศึกได้ ขอให้เทพยเจ้าอันรักษาโลกในมงคลจักรวาฬ หมื่นโกฎิจักรวาฬแสนโกฏิจักรวาฬ มาเข้าดลพระทัยพระเจ้าอยู่หัว ให้ตัดหัวผ่าอกข้าพระพุทธเจ้า แต่ในปัจจุบันขณะเดียวนี้เถิด...” (ดูใน เบญจมาศ พลอินทร์, 2532 : 23)

วรรณกรรมลิลิตโองการแช่งน้ำ มีอิทธิต่อความเชื่อของคนไทยในด้านการแสดงผลร้ายอันเกิดจาการกระทำที่ไม่ดี ยิ่งเป็นการสาปแช่งด้วยแล้วยิ่งแกรงกลัวผลนั้น จึงกล่าวได้ว่า งานวรรณกรรมทั้งสองเป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมสังคมได้อย่างเห็นผล เช่น การควบคุมพระบรมวงศานุวงศ์ การควบคุมขุนนาง ทหาร เจ้าประเทศราช ในพระราชพิธี 12 เดือน เป็นต้น
คำสาปแช่งที่ปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำ

‪#‎แช่งให้ตายรวดเร็ว‬
“พนธุพวกพ้องญาติกามาไสร้ ไขว้ใจจอด ทอดใจรัก ชักเกลอสหาย ตนทั้งหลายมาเพื่อจะทำขบถ ทดโหร่ห์แก่เจ้าตนไสร้ จงเทพยดาฝูงนี้ ให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี อย่าให้มีศุขสวัสดิเมื่อใด ฯ”

‪#‎แช่งให้น้ำสาบานกลายเป็นเปลวไฟตัดคอ‬
“บ่ซื่อ มล้างออเอา ใส่เล้า
บ่ซื่อ น้ำอยาดท้อง เปนรุ่ง
บ่ซื่อ แร้งกาเต้า แตกตา”

‪#‎ให้น้ำสาบานที่ตกถึงท้องคนคิดทรยศกลายเป็นสัตว์ร้าย‬
“เจาะเพาะพุง ใบแบ่ง บ่ซื่อ หมาหมีหมู เข่นเขี้ยว เขี้ยวชาชแวง ยายี ยมราชเกี้ยว ตาตาว ช่วยดู ฯ”

‪#‎ให้ผีทำร้ายตกนรกอเวจี‬
“จุ่งมาสูบเอา เขาผู้บ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถเกียจกาย หว้ายกะทู้ฟาดฟัน คว้านแคว้นมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าทก หลกเท้าให้ไป่มิทันตาย หงายระงมระงม ยมพบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี”

‪#‎ให้ข้าวที่กินร้อนเป็นไฟ‬ พึ่งน้ำไม่ได้จนตาย
“อย่ากินเข้าเพื่อไฟ จนตาย อย่าอาไศรยแก่น้ำ จนตาย”

‪#‎ให้ไปเกิดเป็นปล่องไฟที่ถูกไฟเผาตลอดเวลา‬,นอนในบ้านให้หญ้าคาที่มุงบ้านเป็นดาบทำร้ายเอา,ให้ฟ้าถล่มทับ,แผ่นดินสูบ,ให้กินแต่ไฟ
“นอนเรือนคำรนคา จนตาย ลืมตาหงายสู่ฟ้า จนตาย ก้มหน้าลงแผ่นดิน จนตาย สีลองกินไฟต่างง้วน จนตายฯ”
คำสาปแช่งในคำประกาศถวายสัตย์สาบานในรัชกาลที่ 5

‪#‎ให้เทพดลพระทัยพระเจ้าอยู่หัวประหารชีวิต‬
“...ถ้ามีการศึกยกมากระทำแก่พระนครก็ดี พระพุทธเจ้าอยู่หัวจะใช้ข้าพระพุทธเจ้าไปกระทำสงครามแห่งใด ตำบลใดก็ดี ถ้าข้าพระพุทธเจ้าเกรงกลัวข้าศึกมากกว่าเจ้า ไม่ทำการเอาชัยชนะข้าศึกได้ ขอให้เทพยเจ้าอันรักษาโลกในมงคลจักรวาฬ หมื่นโกฎิจักรวาฬแสนโกฏิจักรวาฬ มาเข้าดลพระทัยพระเจ้าอยู่หัว ให้ตัดหัวผ่าอกข้าพระพุทธเจ้า...”(เบญจมาศ พลอินทร์, 2523 : 23)

‪#‎ให้เทวดามาเอาชีวิตไป‬
“...ถ้าข้าพระพุทธเจ้ามิได้ ตั้งอยู่ในความสัจสาบานดุจกล่าวมานี้ ขอจงภูมิเทวดา อารักษเทวดา อากาศเทวดา รุกขเทวดา ท้าวจตุโลกบาล ท้าวอัฐโลกบาล ท้าวทัศโลกบาลอันมีฤทธิ์สิทธิศักดิ์ลงสังหารผลาญชีวิต ฯ...”(เบญจมาศ พลอินทร์, 2523 : 23)

‪#‎ไม่ให้พบรัตนตรัย‬
“...ครั้งสิ้นกรรมจากที่นั้นแล้ว แล้วจงไปบังเกิดในภพใด ๆ อย่าให้ข้าพระพุทธเจ้าพบพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ซึ่งจะมาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เลย...” (เบญจมาศ พลอินทร์, 2523 : 23)

‪#‎ให้ตายด้วยภัยธรรมชาติ‬ อาวุธเทวดาและสัตว์ร้าย
“...ให้ฉินทภินทะพินาศ ด้วยอุปะปีฬก, อุปเฉทคกรรมุปะฆาฏด้วยอัสนีบาตรสายฟ้าฟาด ราชสัตถาวุธดาบ องครักษ์จักรนารายณ์ กระบือเสี่ยว ช้างแทง เสือสัตว์อันร้ายในน้ำในบก จงพิฆาฏอย่าให้ปราศจากปัญจวีสติมหาภัย 25 ประการ และทวดึงส์ กรรมกรณ์ 32 ประการ...”(เบญจมาศ พลอินทร์, 2523 : 23)

‪#‎ให้ตายด้วยโรคร้ายภายในสามวันเจ็ดวัน‬ “...ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัจจาธิษฐานนี้แล้ว จงบันดาลให้เกิดฝีพิษ ฝีกาลอติสารชราพาธ ฉันนะวุติโรคร้าย 96 ประการ ให้อกาลมรณภาพตายด้วยความทุกข์เวทนาลำบากให้ประจักษ์แก่ตาโลกใน 3 วัน 7 วัน...” (เบญจมาศ พลอินทร์, 2523 : 23)

‪#‎ให้ตกนรกหมกไหม้‬ “แล้วจงไปบังเกิดในมหานรกหมกไหม้อยู่สิ้นแสนกัลป์อนันตชาติ”(เบญจมาศ พลอินทร์, 2523 : 23)
ข้อสังเกตของคำสาปแช่งสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ รัชการที่ 5

สมัยอยุธยา ไม่ปรากฏการให้พรผู้ดื่มน้ำสาบานที่ทำตามคำสาบาน การประพันธ์ร่าย และโครง อ้างอำนาจเทวดาและความเชื่อศาสนาพราหมณ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น คำสาปแช่งไม่หลากหลาย

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการให้พรมากมายเพื่อตอบแทนที่ตนปฏิบัติตามคำสาบาน การประพันธ์แบบความเรียง อ้างอำนาจพระรัตนตรัยเป็นส่วนใหญ่และความเชื่อตามศาสนาพุทธ คำสาปแช่งมีมาก เน้นโรคร้าย

การสาปอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มานานแสนนาน มีอยู่ทุกชนชาติ มักแช่งให้ตาย เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อตานไปแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าจะให้ดีอย่างแช่กันเลย มันบาป?

ภาพ พรหมณ์ประกอบพิธีแช่งน้ำ จากhttp://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=12179.0 ค้นเมื่อ 27 มกราคม 2559

อ้างอิง
จิตร ภูมิศักดิ์. โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา. พิมพ์ครั้งที่สอง.กรุงเทพฯ ดวงกมล. 2524.

เบญจมาศ พลอินทร์. วรรณคดีขนบประเพณีพระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 2523.

บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2545.

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :โอเดียนสโตร์. 2536.

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. “ขนบธรรมเนียมประเพณี : ความเชื่อและแนวการปฏิบัติในสมัยสุโขทัยถึง สมัยอยุธยาตอนกลาง .” โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2535.

คำสำคัญ (Tags): #โองการแช่งน้ำ
หมายเลขบันทึก: 600470เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2016 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2016 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท