​การเข้าทรง-ทรงเจ้า : คุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม


การเข้าทรง-ทรงเจ้า : คุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (เผยแพร่ใน facebook page 5/2/2559)

หลักจากผมอ่านบทความเรื่อง "รัฐประหาร - ร่างทรง ถึงวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ไทย" โดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 37 วันที่ 3 มกราคม 2559 จบลง ผมรู้สึกว่าเรื่องร่างทรง การทรงเจ้าเข้าผีนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเอาเสียเลย

จากบทความแสดงให้เห็นว่าในปัจจุบัน มีร่างทรงแปลก ๆ เพิ่มมากขึ้นเช่น "ไจแอน" จากการ์ตูนญี่ปุ่น "ผีอีแพง" จากนวนิยาย-ละคร "ผีเสื้อสมุทร" จากวรรณคดี ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่มีร่างทรงเดิมในสังคมไทยมานานเช่น ร่างทรง เทพไทย เทพจีน เทพแขก กษัตริย์ วีรบุรุษ วีรสตรี เจ้าเมือง พระสงฆ์ เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่ เจ้าทาง กุมาร นางไม้ ฯลฯ

พิธีกรรมเกี่ยวกับร่างทรงมีมากมาย นอกจากการทรงแล้วยังมี การไหว้เซ่นสรวงประจำปี การไหว้ครู-ครอบครู โดนเฉพาะไหว้ครูจะมีรายละเอียดแยกย่อยเช่น การทำบายศรี ชุมนุมเทวดา มีปีพาทย์ เต้นรำของร่างทรง สวดโซฮา (การสวดมีทำนองและเครื่องประกอบจังหวะสนุกสนานสำเนียงแขก) ทำบุญทางพุทธ รับขันธ์ 5 ครอบครู ฯลฯ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในหลายพื้นที่ ทั้งมวลสร้างองค์ความรู้มากมายทั้งในทางคติชน การช่าง การฝีมือ

อย่างน้อยวงการเข้าทรงก็ทำให้ผมมีความรู้ด้านการทำบายศรี ขันธ์ครู การจัดดอกไม้ มีรายได้ต่อหนึ่งงานไม่น้อย
ในงานไหว้ครูหนึ่งงาน ผู้คน ญาติพี่น้อง รวมถึงลูกศิษย์จะเข้ามาช่วยงานจำนวนมาก มีการแบ่งงานกันตามความสามารถ
เริ่มตั้งแต่การช่วยกันทำดอกไม้บายศรี ทำกับข้าว ตัดเย็บตกแต่งเครื่องแต่งกาย จัดสถานที่ ซึ่งจะเริ่มก่อนวันงานจริงราว 3-5 วัน มีการจ้างวาน ครูผู้อ่านโองการ คณะปี่พาทย์ บางที่มีโขน มีละคร เครื่องไฟ เครื่องเสียง การนิ มนต์พระมาสวด การเช่า-ยืมเต้น โต๊ะ เก้าอี้ การยืมของวัด ฯลฯ

ทั้งมวลทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์ทางสังคม เกิดการพูดคุยกัน จากคนไม่เคยรู้จักกันก็รู้จักกันในงาน เกิดการถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน เกิดการติดต่องานกันเป็นเครือข่ายขยายออกไปเรื่อย ๆ เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ นั่นคือสิ่งดี แม้ใครหลายคนจะมองดูว่างมงายก็เถอะ

ในการทรงเจ้าเข้าผีนั้น ไม่ว่าใครจะมองว่างมงาย อุปทานหมู่หรืออะไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผมเคยเข้าไปคลุกคลีกับการเข้าทรง-ทรงเจ้าจำนวนมากในฐานะช่างทำบายศรีในงานไหว้ครูราว 16-18 ปีที่แล้ว (ราวปี พ.ศ 2543-2545) ได้รู้จักกับร่างทรงมากมายหลากหลายพื้นที่ ได้เห็นพิธีกรรม ได้เห็นความเชื่อ ได้เห็นในสิ่งแปลกตาแปลกใจจนไม่อาจอธิบายได้มากมาย ผมว่านั่นคือปรากฎการณ์ที่มีผลต่อสังคมไทยในระดับชาวบ้านอย่างสูงทั้งร่างกาย เช่นการรักษาโรคซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย และจิตใจ เช่น ความหวัง โชคร้าย ความรัก ของหาย คนหาย ความไม่สบายใจต่าง ๆ อีกทั้งยังทำให้เกิดการควบคุมทางสังคมในระดับหนึ่งในเรื่องการห้าม ข้อห้าม สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ รวมถึงการปลูกฝังเรื่องบุญบาปอีกด้วย

เมื่อมนุษย์เราอยู่ได้ด้วยความหวัง ความฝัน กำลังใจ และตราบใดที่ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคม ฐานะการเงิน ชีวิตความเป็นอยู่ หรือความไม่สมหวังร้อยแปด ความไม่มั่นคงในชีวิตต่าง ๆ นา ๆ ดังนั้น การทรงเจ้าเข้าผีก็ยังจะคงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป และดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในตอนท้ายบทความของอาจารย์พิพัฒน์สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า

"ก่อนที่เราจะปฎิเสธอะไรอย่างหัวชนฝา หรือไปลบหลู่คนที่ศรัทธานั้น เป็นผลมาจากการที่เราไม่เข้าใจความคิดของคนอีกฝ่าย และพยายามจัดวางตัวเองในมุมมองเพียงด้านเดียว เช่น จากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่โลกมันมีสองด้านเสมอ"

อย่าคิดว่าคนอื่นงมงาย เพราะเราคิดว่าเราไม่งมงาย แท้จริงแล้ว เราทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน นักปราชญ์ คนไม่รู้หนังสือ และทุกสาขาอาชีพ ก็ล้วนแต่มีความงมงายในบางสิ่งบางอย่างด้วยกันทั้งสิ้น

ภาพประกอบ การเข้าทรงปู่แสะของชาวลัวะ จากมติชนออนไลน์http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1357979866

หมายเลขบันทึก: 600469เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2016 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2016 09:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท