การปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย (๔)


ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องการปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย หลังจากได้ฟัง พล.อ.อ. ดร. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องนี้ ในการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่...พบ...เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ ๑๕ จัดโดย สกอ. ร่วมกับ สกว. เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งรัฐบาลจะระดมความคิดและจัดเตรียมในเรื่องนี้ โดยใช้เวลา ๔ เดือน (ม.ค.-เม.ย. ๒๕๕๙)

ใน ๓ ตอนที่ผ่านมา ผมยังไม่ได้เขียนเข้าเรื่อง เนื่องจากตอนที่ ๑ เป็นการเกริ่นน้ำ ตอนที่ ๒ เขียนโต้เรื่องที่มีคนกล่าวหาว่าการวิจัยพื้นฐานทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยพัง และตอนที่ ๓ เขียนเรื่องปัญหางานวิจัยยางพารา ในตอนที่ ๔ และตอนต่อๆ ไป ผมคงจะได้เขียนถึงการปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย อย่างจริงจังเสียที

ก่อนอื่นคงจะต้องกล่าวถึงปัญหาระบบงานวิจัยของประเทศไทย เสียก่อนว่า ระบบงานวิจัยของประเทศไทยมีปัญหาและความอ่อนแออย่างไร เรื่องความอ่อนแอของระบบงานวิจัยของประเทศไทย แม้จะเกิดมาเป็นเวลาที่ยาวนาน คนไทยส่วนใหญ่ ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกวงการวิจัย ไม่ค่อยจะตระหนัก จนเมื่อประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะติดกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) คือมีรายได้ต่อหัวประชากรน้อยกว่า ๑๑,๗๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ (เมื่อปี ๒๐๑๐ คนไทยมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ ๙,๑๔๓ ดอลลาร์สหรัฐ) ประเทศไทยไม่สามารถจะแข่งขันในทางเศรษฐกิจได้โดยอาศัยแรงงานราคาถูก ในระบบการผลิตแบบเดิม ซึ่งค่อนข้างล้าสมัย เพราะค่าแรงสูงที่ขึ้นและราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย มีมูลค่าเพิ่ม (value added) น้อย ไม่สามารถจะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้ อีกทั้งประเทศไทยไม่สามารถจะผลิตสินค้าที่เกิดจากนวัตกรรม ซึ่งใช้ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงได้

ด้วยเหตุดังกล่าว ประเทศไทยจึงเริ่มตระหนักถึงปัญหาและพูดถึงความสำคัญของงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ซึ่งเป็นฐานของการผลิตของสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหาค่อนข้างช้าและไม่ได้เตรียมตัวที่จะแก้ปัญหานี้ไว้อย่างดีพอ การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและจะต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวนานพอสมควร นอกจากนี้ หากผู้ที่มีภาระหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ไม่เข้าใจปัญหาในเรื่องระบบงานวิจัยอย่างถูกต้องถ่องแท้แล้ว การแก้ปัญหาก็อาจจะเกิดความผิดพลาด และเป็นไปได้ที่จะเกิดความล้มเหลว

การจะแก้ปัญหาระบบงานวิจัยของประเทศไทยอย่างถูกต้องและได้ผล ทำอย่างไร โปรดติดตามอ่านในตอนต่อๆ ไป

หมายเลขบันทึก: 599789เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2016 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2016 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท