การปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย (๓)


การทำวิกฤตให้เป็นโอกาส - การแก้ปัญหายางพารา ด้วยงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตยางพาราปริมาณมาก จนมียางพาราล้นตลาด ราคาตกต่ำเหลือกิโลกรัมละประมาณ ๒๕ บาท จากที่เคยมีราคากิโลกรัมละมากกว่า ๑๐๐ บาท (เคยมีราคาสูงถึง ๑๘๐ บาท) เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน และรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือด้วยงบประมาณนับหมื่นล้านบาท

แม้ประเทศไทยมีการปลูกยาง (และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ) มานาน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นเงินจำนวนมาก แต่ประเทศไทยกลับลงทุนในการทำวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม อย่างเป็นระบบและครบวงจร จนถึงขั้นการนำใช้ประโยชน์และสร้างผลิตภัณฑ์ทางอุตสากรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high value added) ด้วยงบประมาณวิจัยที่น้อย เพราะงบประมาณวิจัยโดยรวมของประเทศ มีการจัดสรรที่น้อยอยู่แล้ว คือ เพียงร้อยละ ๐.๒๕ ของจีดีพีมาเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี (แม้ว่าในระยะหลังจะเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย) ทำให้ไม่มีการลงทุนเพื่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในเรื่องยางพาราอย่างพอเพียง และมีการใช้งบประมาณในการทำวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์จากยางพาราน้อย นอกจากนี้ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอุตสาหกรรมที่จะต่อยอดจนนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์อย่างเพียงพอด้วย

พืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา (รวมทั้งพืชเศรษฐกิจอื่นๆ) นี้ ประเทศไทยควรสร้างสถาบันและศูนย์วิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ให้ครบห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม และสนับสนุนส่งเสริมภาคเอกชน ทั้งเอสเอ็มอี (SME) และอุตสาหกรรมระดับใหญ่ ให้นำยางพารามาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด สร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์และสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกรูปแบบ ซึ่งสามารถจะนำมาใช้ประโยชน์และเป็นส่วนประกอบในด้านต่างๆ ได้มากมายหลายชนิดและรูปแบบ เช่น การทำถนน ระบบขนส่ง ระบบราง ยานพาหนะ เครื่องจักร การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม เครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรม อาคารบ้านเรือน อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์ของใช้ในครัวเรือน เครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องประดับ อุปกรณ์การแพทย์และโรงพยาบาล เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องกีฬา รองเท้า เครื่องสำอางค์ ฯลฯ ซึ่งบางอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและหน่วยงานอื่นๆ ได้ดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีบ้างแล้ว แต่ยังสามารถขยายอย่างเป็นระบบได้อีกมากมาย

ยางพารา จึงสามารถใช้เป็นต้นแบบของการนำการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม มาแก้ปัญหาและเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เป็นอย่างดี ซึ่งควรจะขยายไปยังพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นๆ เช่น ข้าว มันสัมปะหลัง ผลไม้ ด้วย

หมายเลขบันทึก: 599541เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2016 08:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2016 08:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท