วิชาภาวะผู้นำ (2/2558) : รู้จักฉันรู้จักเธอ (อีกหนึ่งเครื่องมือว่าด้วยการเรียน การใช้ชีวิตและกิจกรรม)


กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ เป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการ (Action Learning) แถมเป็นปฏิบัติการแบบ “มีส่วนร่วม” อีกต่างหาก มิหนำซ้ำยังซ่อนงำ “เครื่องมือการเรียนรู้ชีวิต” ไว้อย่างหลากหลายเลยทีเดียว




วันที่ 11 และ 12 มกราคม 2559 เป็นกระบวนการเรียนรู้ก่อนเข้าสู่บทเรียนในรายวิชา “ภาวะผู้นำ” ประจำภาคเรียนที่ 2/2558 โดยนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนเรียนในรายวิชานี้ คือนิสิตชั้นปีที่ 1 รหัส “48” และวิชานี้ก็ถูกพัฒนามาจากวิชา “การพัฒนานิสิต” ที่กำลังจะปิดตัวลงในภาคเรียนนี้ –

สัปดาห์นี้เป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ (กิจกรรม) โดยมีทีมวิทยากร (ผู้ช่วยสอน) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้




คั่นเวลา : ดูคลิปเสริมสร้างอัตลักษณ์และค่านิยมความเป็นนิสิต


ก่อนถึงเวลาเรียนจริงๆ ทีมกระบวนการเปิดคลิปให้นิสิตได้ดูชมคั่นเวลา เสมอเหมือนการสร้างการเรียนรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์ เป็นการบ่มเพาะความเป็นตัวตน “มมส” แก่นิสิต เพราะคลิปที่นำมาเปิดให้ดูให้ชมนั้น คือคลิปที่ว่าด้วยเรื่องจิตสาธารณะ หรือจิตอาสาของนิสิตที่มีต่อการช่วยเหลือสังคมในแบบง่ายๆ โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวนี่แหละ เช่น การแต่งกาย การเข้าสถานบันเทิง การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุบนท้องถนน





ครับ, ง่ายงาม ไม่ซับซ้อน ดูเข้าใจง่าย ได้ฮา ได้สาระ และชวนหวนคิดทบทวนตัวเองในประเด็นที่ว่าด้วยอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) หรือ ค่านิยมนิสิต (MSU FOR ALL) ที่หมายถึง “พึ่งได้” (พึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้)

มิหนำซ้ำยังเป็นคลิปที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของนิสิตและศิษย์เก่า ซึ่งผมมองว่า แม้นไม่ยิ่งใหญ่อลังการ แต่ง่ายงามในนิยามของเราเอง






ย้อนเวลา : สะท้อน BAR เรียนทำไม ทำไมต้องลงเรียนวิชานี้

ก่อนเข้าสู่กระบวนการหลักของวันนี้ (รู้จักฉันรู้จักเธอ) ทีมกระบวนกร ได้สะท้อนผล BAR จากใบงาน
ในชั่วโมงที่แล้วให้นิสิตรับรู้ร่วมกันในประเด็น “เหตุผลของการลงเรียนวิชาภาวะผู้นำ” เช่น...

  • อยากเรียนรู้ความเป็นผู้นำ
  • ไม่อยากเป็นผู้ตามตลอดไป
  • เรียนง่าย สนุก เกรดดี
  • ผู้สอนน่าจะใจดี
  • อยากทำโครงการเพื่อสังคม
  • วิชาอื่นเต็ม ลงเรียนไม่ทัน
  • คณะแนะนำ
  • ชื่อน่าสนใจ ท้าทายดี
  • ไม่รู้.....




นอกนั้นยังจัดกระบวนการให้นิสิตแต่ละคนได้วิเคราะห์ความเป็นผู้นำ หรือภาวะผู้นำของตนเองในแบบคร่าวๆ – เป็นการวิเคราะห์ตัวเองโดยยังไม่ต้องเรียนว่า “ผู้นำที่ดี” เป็นอย่างไร “ผู้นำไม่ดีเป็นอย่างไร” หากแต่ใช้ตัวเองนั่นแหละเป็น “กรณีศึกษา”

ครับ-ผมว่าสำคัญนะ เพราะเรียนไปๆ จะได้มี “หมุดหมาย” เตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา หรือเอาง่ายๆ ก็คือมีตัวชี้วัดในตัวเอง จะได้ประเมิน “ความเปลี่ยนแปลง” ของตนเองเป็นระยะๆ ไปด้วยว่าที่สุดแห่งการเรียนรู้แล้ว มีความเป็นภาวะผู้นำเช่นใดกันแน่





รู้จักฉันรู้จักเธอ : กระบวนการเรียนรู้สู่การแบ่งปันหลากเครื่องมือ

และแล้วก็ถึงกระบวนการเรียนรู้หลักของชั่วโมง นั่นคือ "รู้จักฉันรู้จักเธอ" อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา" โดยเริ่มจากให้นิสิตจับคู่แนะนำชื่อเสียงเรียงนาม ชั้นปี-สาขา คณะ และหมุนเวียนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะให้สัญญาณว่า “หยุด”

ครับ-นั่นคือเครื่องมือง่ายๆ อย่างไม่เป็นทางการในมิติ สัมภาษณ์ หรือกระทั่งสังเกตการณ์ -

ถัดจากนั้นจึงเข้าสู่ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” แบบเต็มรูปแบบ – กล่าวคือ แบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ ให้แต่ละคน “วาดรูป” ในประเด็น “ความสุข-ความทรงจำอันดีงามของชีวิต” (ความสุขของฉัน) วาดเสร็จก็ให้แต่ละคนในกลุ่มได้ "บอกเล่า-เล่าเรื่อง" ให้เพื่อนในกลุ่มฟัง มีกติกาง่ายๆ “มีคนเล่า มีคนฟัง ห้ามถามซอกแซกระหว่างการเล่า” ฯลฯ


...
เมื่อฉันพูดเธอก็ฟังด้วยศรัทธา
เปิดประตูดวงตาสู่ประตูใจ
เมื่อเธอพูดฉันก็ฟังอย่างเป็นมิตร
เรื่องน้อยนิดจึงดูเป็นยิ่งใหญ่
โลกสองโลกจึงนิยามความเป็นไป
ว่าเราต่างก็ใช้ใจนิยาม”


นี่เป็นกระบวนการละลายพฤติกรรมเชิงความคิดที่เราออกแบบไว้ และให้ความสำคัญเอามากๆ สำหรับการปูพรมก่อนการเรียนรู้ตลอดภาคเรียน เพราะนี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่ซ่อนการเรียนรู้ว่าด้วย “เครื่องมือ” การเรียนรู้หลายๆ อย่างอยู่ในนั้น






มีความหมายใดในรู้จักฉันรู้จักเธอ

เอาจริงๆ เลยนะครับ-ในฐานะที่ผมนำร่องกระบวนการนี้มาหลายปี และแบกหามไปจัดในหลายเวทีเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและทีมงานมายาวนาน-

สรุปแบบตรงๆ เลยว่า นี่คือกระบวนการละลายพฤติกรรมที่มุ่งเปิดเปลือยตัวตนสู่กันและกัน ไม่เน้น “ดู โดด ดิ้น”หมือนวัยรุ่นทั่วไป

  • แต่เน้นการละลายพฤติกรรมจากภายในตัวเองเป็นสำคัญ
  • เน้นให้ตัวเองได้ฟังเสียงตัวเอง และหาญกล้าที่จะนำเรื่องราวตัวเองมาแบ่งปัน
  • เชื่อมร้อยสู่การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันเรื่องราวต่อกันและกัน
  • ฯลฯ

- ใช่ครับบางทีอาจเป็นเรื่องทัศนคติก่อนทักษะเสียด้วยซ้ำ

ทั้งปวงนั้น คือครรลอง “สัตว์สังคม” ที่รู้จัก “รัก” นั่นแหละ เพราะไม่มีใครอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวเป็นแน่




กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ เป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการ (Action Learning) แถมเป็นปฏิบัติการแบบ “มีส่วนร่วม” อีกต่างหาก มิหนำซ้ำยังซ่อนงำ “เครื่องมือการเรียนรู้ชีวิต” ไว้อย่างหลากหลายเลยทีเดียว เป็นต้นว่า

  • การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
  • ศิลปะบำบัด
  • บันไดแห่งปราชญ์ในวิถีพุทธ (สุ จิ ปุ ลิ)
  • จิตตปัญญา
  • การจัดการความรู้ (Km) เช่น การเล่าเรื่องผ่านภาพวาด การเล่าเรื่องด้วยวาจา การฟังแบบฝังลึก การทบทวนเรื่องดีๆ (สุนทรียสาธก : Appreciative Inquiring) โสเหล่ (สุนทรียสนทนา : Dialogue) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) การสังเกต-สัมภาษณ์ การถอดบทเรียนชีวิต (Lesson Learned) หรือฝึกการทบทวนผลการเรียนรู้ชีวิต (After action review : AAR)

เป็นไงครับ-ฟังดูซ่อนงำเครื่องมือการเรียนรู้ไว้หลายชิ้นเลยทีเดียว แต่ละเครื่องมือล้วนเกี่ยวโยงกับการใช้ชีวิต การเรียน และการทำกิจกรรม/โครงการฯ ในเวลาอันใกล้อย่างไม่ต้องสงสัย (แต่ขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่เฉลยตอนนี้)





ผลพวงการเรียนรู้ประจำวัน

ก่อนแยกย้ายกลับ ทีมกระบวนกร ไม่ลืมประเมินผลการเรียนรู้ ทั้งผ่านการ “โยนไมค์” และการ “เขียนใบงาน” ตามครรลอง “สุ จิ ปุ ลิ” เพื่อฝึกการ “สรุปความ” ของนิสิต (ผู้เรียน) รวมถึงฝึกการเขียน "ภาษาประจำชาติ" ....

เป็นต้นว่า

  • ได้เพื่อนใหม่ต่างสาขา
  • ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติกันและกัน
  • ได้ระลึก-ทบทวนถึงความสุขของตนเองและผู้อื่น
  • ได้ฝึกสมาธิว่าด้วยการใช้ชีวิตกับ "ความสุข" มากกว่า "ความทุกข์"
  • ได้ฝึกการรับฟังความคิดเห็นและเรื่องราวชีวิตคนอื่น
  • ได้ฝึกฝนการ "กล้าเปิดเผย" และ "การสื่อสาร" เรื่องราวอันสร้างสรรค์ของตนเอง



  • ได้ฝึกการนำเสนอความคิดผ่าน “ภาพวาด” และการ “เล่าเรื่อง”
  • ได้ฝึกการซักถาม กึ่งสัมภาษณ์ เช่น ชื่อ สาขา คณะ และเรื่องราวความสุข
  • ได้ระบายความสุขผ่านภาพวาด
  • ได้นั่งเรียนแบบชิวๆ
  • ได้ทำงานกลุ่มกับเพื่อนใหม่
  • ได้ฝึกการ “เอาตัวรอด” ผ่านสถานการณ์เฉพาะกิจในการจับกลุ่ม
  • ได้ฝึกการนำเสนอ “ความคิด” ของตนเอง
  • มีความสุข
  • ฯลฯ



หมายเหตุ : ภาพ โดย ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา เยาวภา ปรีวาสนา รุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง


หมายเลขบันทึก: 599453เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2016 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2016 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท