สาเหตุที่นักเรียนมีคะแนนผลสอบ O-NET ต่ำ และแนวทางการยกระดับคุณภาพผลสัมฤทธิ์ O-NET


สาเหตุที่นักเรียนมีคะแนนผลสอบ O-NET ต่ำ

และแนวทางการยกระดับคุณภาพผลสัมฤทธิ์ O-NET

โดย

ถวิล อรัญเวศ

รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

รายงานการวิจัยเรื่อง ปัจจัยเชิงสาเหตุที่ทำให้คะแนนการทดสอบ O-NET

ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่ำ ผู้วิจัยเอื้อมพร

หลินเจริญ สิริศักดิ์ อาจวิชัย ภีรภา จันทร์อินทร์ ได้รับทุนอุดหนุนในการทำวิจัยจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

คณะผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์การศึกษาไว้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุ

ที่มีอิทธิพลต่อผลการสอบ O-NET ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่ำ ใน
การวิจัยครั้งนี้ได้ใช้เทคนิคการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ในโรงเรียนที่มีคะแนน O-NET ต่ำ ใน 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดนครสวรรค์

แบ่งตามขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ในเมืองและนอกเมือง โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและ

การสนทนากลุ่มสามารถสรุปผลการวิจัยได้ 9 ประเด็นโดยเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย ดังนี้

1. การเห็นความสำคัญของการสอบ O-NET

1.1.นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ยังให้ความสำคัญต่อการสอบน้อยเนื่องจาก

ยังไม่รู้ว่าจะนำผลจากการสอบไปใช้ทำอะไร เมื่อไร

1.2.นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถจำแนกนักเรียนออกได้ 3 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มที่ได้โควตารับตรงจากมหาวิทยาลัย

2) กลุ่มไม่เรียนต่อในมหาวิทยาลัย

3) กลุ่มที่ได้โควตารับตรงจากมหาวิทยาลัยแต่ยังไม่พอใจกับคณะ สาขาที่ได้

ซึ่งในกลุ่มสุดท้ายจะให้ความสำคัญต่อการสอบ O-NET มากกว่ากลุ่มที่ 1 และ 2 จะมี

การเตรียมตัวมีความสนใจและตั้งใจสอบมากเป็นพิเศษ ส่วนในกลุ่มที่ 1 และ 2 นั้น

การสอบ O-NETเป็นเพียงเพื่อให้จบตามกระบวนการเท่านั้นไม่มีการเตรียมตัวและตั้งใจสอบ

2. นโยบายของโรงเรียนในการพัฒนาคุณภาพวิชาการ

ในโรงเรียนมัธยมศึกษาส่วนใหญ่ผู้บริหารมุ่งเน้นที่จะให้มีการยกระดับผลสัมฤทธิ์

ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความพร้อมของโรงเรียนและบุคลากร

อย่างไรก็ตามในการจัดการเรียนการสอนผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่จะดำเนินตาม

นโยบายของกระทรวงที่มุ่งเน้นให้เกิดความเสมอภาค นักเรียนทุกคนได้รับความรู้อย่างทั่วถึงไม่เน้นการจัดการเรียนการสอนที่ตัวบุคคลเพื่อที่จะทำให้มีผลการสอบ O-NET ที่สูงขึ้นอย่างเดียว

3. สภาพแวดล้อมของโรงเรียน

โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่นอกเมืองจะมีการแข่งขันทางด้านวิชาการ และมีความกระตือรือร้นความเอาใจใส่ในการเรียนน้อย ส่งผลให้คะแนน O-NET ต่ำเมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองที่มีการแข่งขันทางด้านวิชาการสูง

ตัวป้อน (นักเรียน)ของโรงเรียนส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 จะมีนักเรียนที่มีความตั้งใจ กระตือรือร้นและให้ความสำคัญกับการสอบ O-NET มาก จึงส่งผลให้ ผลการสอบ

O-NET ในโรงเรียนนั้นสูงจนเป็นที่น่าพอใจของคณะครูในโรงเรียน

4. การเข้าถึงข้อมูลของครูยังมีน้อย

โรงเรียนบางแห่งที่นักเรียนมีคะแนน O-NET ต่ำ ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบบางโรงเรียนมีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วหรือแม้แต่ครูบางคนมีปัญหาเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูล

5. พฤติกรรมการสอนของครู

ครูส่วนใหญ่พยายามคิดหาวิธีการสอนที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมให้

นักเรียนเกิดความรู้เกิดทักษะในการเรียน แต่พบว่ายังมีครูที่ใช้วิธีการสอนแบบบรรยาย

มุ่งเน้นให้เด็กท่องจำ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นครูเป็นสำคัญมากกว่าการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในรายวิชาที่ต่างกันครูก็จะมีเทคนิคการสอนที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่เป็นปัญหาทำให้ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไม่ดีขึ้นหรือคะแนนสอบ O-NET ต่ำ อาจจะเนื่องมาจากความพร้อมของนักเรียน ความพร้อมของโรงเรียนทางด้านสื่ออุปกรณ์

ความเพียงพอทางด้านบุคลากรโดยเฉพาะโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่นอกเมืองจะประสบปัญหาดังกล่าวมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมือง

6. ระดับความยากของข้อสอบ

พบว่ามีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าข้อสอบ O-NET

มีความยากง่ายแตกต่างกันไป วิชาที่นักเรียนส่วนใหญ่คิดว่ายากมากคือวิชาภาษาอังกฤษ

และวิชาคณิตศาสตร์ รวมถึงข้อสอบที่ออกในแนวคิดวิเคราะห์ซึ่งก็ตรงกับความคิดเห็นของ

ครูผู้สอนที่มีความเห็นว่าข้อสอบค่อนข้างยากเกินกว่าที่นักเรียนจะสามารถทำได้

7. ช่วงเวลาในการสอบและการแจ้งผลการสอบล่าช้า

ทำให้เด็กไม่เห็นความสำคัญ นอกจากนี้การแจ้งผลการสอบที่ล่าช้า ทำให้ผู้บริหารและครูไม่สามารถให้ข้อมูลย้อนกลับกับนักเรียนเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาได้ทันท่วงที

8. คุณวุฒิของครูไม่ตรงตามสาระการสอน/ครูไม่ครบตามกลุ่มสาระ

ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดกลางหลายแห่งที่นักเรียนมีคะแนน

การสอบ O-NET ต่ำ พบว่ามีจำนวนครูไม่พอเพียงในบางกลุ่มสาระ ผู้บริหารต้องแก้ไขโดยการนำครูในกลุ่มสาระอื่นไปสอนในกลุ่มสาระที่ครูขาด ทำให้คุณวุฒิของครูไม่ตรงตามสาระการสอนส่งผลถึงคุณภาพการสอนของครู ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่ดีขึ้น

9. ภาระงานของครูมีมาก

โรงเรียนหลายแห่งครูมีงานอื่นๆ เช่น งานพัสดุ งานการเงิน งานธุรการ รวมถึงงานโครงการพิเศษของโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นโครงการอาหารกลางวัน โครงการที่ทำร่วมกับชุมชนซึ่งเป็นงานที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมจากงานการสอนทำให้ครูมีเวลาใน

การเตรียมการสอนน้อยลงไม่สามารถสอนได้เต็มที่ จึงส่งผลให้คะแนน O-NET ของนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวต่ำลงไปด้วย

ข้อเสนอแนะในการพัฒนา

1. ควรมีนโยบายในการนำคะแนนผลการสอบ O-NET มาใช้ประโยชน์ให้มาก เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของการสอบ O-NET เช่น การนำคะแนนการสอบ O-NET มาใช้ในการพิจารณาการจบช่วงชั้นที่ 2 และ 4 ซึ่งจะทำให้เด็กเห็นความสำคัญ

มากขึ้น

2. ควรกำหนดช่วงเวลาในการสอบและการแจ้งผลการสอบ O-NET ให้เร็วขึ้น

เพื่อที่จะทำให้สถานศึกษาต่าง ๆ สามารถนำผลการสอบ O-NET ไปใช้เป็นข้อมูลย้อนกลับ

สำหรับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและพัฒนานักเรียนได้ และใช้ประกอบการพิจารณาการสอบเข้าศึกษาต่อได้อย่างแท้จริง อันจะส่งผลให้ สถานศึกษา ตลอดจนตัวนักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของการสอบ O-NET มากขึ้น

3. สำนักทศสอบทางการศึกษา (องค์การมหาชน) ควรหาแนวทางในการแจ้งผลการสอบให้ครูผู้สอนสามารถทราบผลการสอบของนักเรียนที่ครูสอนเพื่อที่จะได้นำผลการสอบไปเป็นข้อมูลย้อนกลับสำหรับการพิจารณาการจัดการเรียนการสอนและพัฒนานักเรียนของตนเองได้ทันเวลา

4. ควรมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการสอบ O-NET โดยใช้สื่อและวิธีการที่หลากหลายโดยเน้นการประชาสัมพันธ์ทางสื่อที่สามารถทำให้ครู นักเรียนและผู้ปกครอง สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เช่น ทางวิทยุ ทางโทรทัศน์

5. ในการดำเนินการออกข้อสอบควรมีการนำครูในโรงเรียนต่าง ๆ ไปร่วมกันพิจารณาออกข้อสอบ หรือควรมีข้อสอบประจำภูมิภาคต่างเพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบของนักเรียน

ในมุมมองของผู้เขียน เชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้นักเรียน ชั้น ป. 6 ม.3 และ ม.6 มีผลสอบ O-NET ต่ำ น่าจะมาจาก

1. นักเรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์

เนื่องจากแบบทดสอบ O-NET จะเน้นการคิดวิเคราะห์หาคำตอบมากกว่าการจดจำ คำถามประเภทความจำมีน้อยมาก เพราะฉะนั้น เมื่อนักเรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์แล้วก็ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง

2. นักเรียนตีโจทย์ปัญหาไม่แตก

ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ ก็ตาม ถ้านักเรียน

ตีโจทย์ปัญหาไม่แตกแล้วก็ยากที่จะทำให้ตอบคำถามได้ตรงประเด็น

3. ผู้ออกข้อสอบไม่ได้สอน ผู้สอนไม่ได้ออกข้อสอบ

เมื่อผู้ออกข้อสอบไม่ได้สอน คนสอนแต่ไม่ได้ออกข้อสอบ จึงทำให้

การนำเนื้อหาที่นำมาออกข้อสอบ O-NET กับความรู้ของนักเรียนไม่สัมพันธ์กัน เอาอะไรมาวัดความรู้ของนักเรียนก็ไม่รู้ ไม่ตรงประเด็น ขาดความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาทำนองนี้ครับ

4. หวงวิชา

แบบทดสอบที่สอบแล้ว แทนที่จะเอาไว้ให้ครูนำมาฝึกสอนนักเรียน กลับนำเอาไปทำลายทิ้งจึงปิดกั้นไม่ให้ครูนำเอาข้อสอบเก่า ๆ มาเป็นแนวทางให้นักเรียนได้ฝึกทำ ต้องขโมยเอา บ้าง หรือ ได้จากผู้มีส่วนไปทำหน้าที่บ้าง

เพราะฉะนั้น เมื่อพบจุดอ่อน ควรจะได้นำจุดอ่อนไปเป็นแนวทางแก้ไข พัฒนาทักษะของผู้เรียนได้อย่างถูกต้องครับ ไม่ควรนำข้อสอบไปทำลาย ควรมอบให้โรงเรียนไว้ให้ครูนำไปฝึกสอนนักเรียนให้เคยชินกับการทำแบบทดสอบ จาก สทศ. พร้อมเฉลย โดยเฉพาะเฉลยพิสดาร คือแนวตอบที่สามารถให้นักเรียนได้ทราบอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 599289เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2016 02:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2016 02:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท